เครื่องเขิน


เครื่องเขินเป็นงานศิลปกรรมอีกอย่างหนึ่งของล้านนาและเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ที่เกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวล้านนาในอดีตเป็นอย่างมากจนอาจจะกล่าว ได้ว่าเครื่องเขินนั้นเป็นผลิตผลทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและแสดงถึง คุณลักษณะของชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี เมื่อกล่าวถึงเครื่องเขินแล้ว โดยทั่วไปจะ หมายถึง ภาชนะเครื่องใช้ที่สานด้วยไม้ไผ่แล้วเคลือบด้วยรักเขียนลวดลายประดับ ตกแต่งด้วยชาดทองคำเปลวหรือเงินเปลวที่ผลิตขึ้น โดยชาวเชียงใหม่ ที่มีเชื้อสายสืบมาจากไทเขินแต่ โบราณในพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่าหมายถึง เครื่องสานที่ลงรักฉาบชาด ทองคำเปลวหรือเงินเปลว ที่ผลิตขึ้นโดย ชาวเชียงใหม่ที่มีเชื้อสายสืบมาจาก ไทเขินแต่โบราณ ในพจนานุกรมได้ให้ความหมาย ไว้ว่าหมายถึงเครื่องสานที่ลงรักฉาบชาดสิ่งของ เครื่องใช้ในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ในภาคกลาง ก็เคยปรากฏมีอยู่แต่เรียกว่า”เครื่องกำมะลอ”

โดยข้อเท็จจริงแล้วชาวล้านนาแต่ดั้งเดิมมิได้มีคำเรียกผลิตภัณฑ์งานเครื่องสาน ที่ลงรักฉาบชาดเหล่านี้เป็นการเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ประการใด คงเรียกสิ่ง ของเครื่องใช้ประเภทนี้รวม ๆ ไปว่าครัวฮักครัวหางบ้าง เครื่องฮักเครื่องหางหรือ เครื่องฮักเครื่องคำ (ทอง) บ้างทั้งนี้เป็นไปตามลักษณะการประดับตกแต่งว่าจะตก แต่งด้วยชาดหรือปิดทองคำเปลวและจะเรียกชื่อผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นไปตามหน้าที่การใช้สอยของภาชนะนั้น ๆ เช่น ขันดอก ขันหมาก ขันโอ หีบผ้า แอ๊บ อูบ ปุง เป็นต้น ในการที่ต้องการเรียกให้เห็นถึงความแตกต่างของวัสดุที่ใช้ทำภาชนะนั้น ก็จะเรียกภาชนะนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ขันอัก (พานที่เป็นเครื่องรัก) หรือบางที ก็อาจจะเรียกไปตามวัสดุที่ใช้ตกแต่งว่า ขันฮักขันหาง หรือ ขันฮักขันคำ (ทอง) เป็นต้นส่วนคำว่า “เครื่องเขิน” นั้นคงเป็นคำเรียกขานที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้อาจ เป็นคำเรียกของคนภาคกลางหรือหน่วยงานราชการเมื่อประมาณ 100 ปี ที่แล้วที่ เรียกไปตามชื่อกลุ่มชนไทยเขินหรือไทยขืน ซึ่งเป็นผู้ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ชนิดนี้ ไว้ใช้สอยในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นสินค้าให้คนอื่น ๆ ได้ใช้กันโดยทั่วไปดังนั้น คำว่า “เครื่องเขิน” จึงเป็นชื่อที่เรียกไปตามชื่อของหมู่บ้านและกลุ่มชนที่ผลิต ซึ่งรวมหมายถึงเครื่องใช้ไม้สอยของชาวเขินนั่นเอง

ประวัติความเป็นมาของเครื่องเขิน

ประวัติความเป็นมาของเครื่องเขินกล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากจีน โดยกรรมวิธี การทำเครื่องเขินได้เริ่มในสมัยฉางโจวเมื่อประมาณสี่พันปีมาแล้วโดยพบหลักฐานชิ้น ส่วนและตัวภาชนะเครื่องเขินในหลุมศพของบุคคลสำคัญหลายแห่งต่อมาวัฒนธรรม เครื่องเขินคงได้มีการแพร่หลายไปสู่เกาหลี ญี่ปุ่นจีนตอนใต้ เวียดนาม และเอเชียอาค เนย์แต่ก็มีแนวคิดแยกออกไปที่เชื่อว่าวัฒนธรรมเครื่องเขินน่าจะเกิดขึ้นก่อนในเขต มณฑลยูนานและรัฐฉานเพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการผลิตเครื่องเขิน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ ๆ มีการผลิต และใช้เครื่องเขินอย่างเข้มข้น ต่อมาค่อยแพรหลายเข้า ไปสู่จีนภายหลัง คนจีนรู้จักพัฒนาความรู้และการผลิตตลอดจนเก็บรักษาที่เก่งและดีกว่า ทำให้มีหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องเขินค่อนข้างดีและสมบูรณ์ตราบเท่าปัจจุบันนี้

เครื่องเขินของล้านนา

จากการสำรวจและศึกษาเครื่องเขินล้านนาที่ได้รวบรวมเก็บรักษาไว้ในส่วนของ เอกชนในเขตจังหวัดเชียงใหม่นั้นอาจจะแบ่งกลุ่มเครื่องเขินที่พบในเขตจังหวัด เชียงใหม่ไปตามลักษณะรูปทรงและเทคนิคการประดับตกแต่งได้ 2 กลุ่ม ดังนี้

1.      เครื่องเขินแบบพื้นบ้าน จะมีลักษณะเป็นงานเครื่องสานที่ทาด้วยยางรักเพียงไม่กี่ครั้ง และตกแต่งประดับประดาอย่างง่าย ๆ สำหรับเป็นของใช้ใน ชีวิตประจำวัน เครื่องเขินชนิดนี้ส่วนมากจะเป็นสิ่งของเครื่อง ใช้ที่เป็นเครื่องสานและลงรักสีดำหากจะมีการตกแต่งให้สวย งามอย่างมากก็ทาสีแดงชาดอย่างเรียบ ๆ เครื่องเขินชนิดนี้ เองที่ควรจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่ชาวล้านนาแต่ดั้งเดิม สามารถผลิตขึ้นใช้เองภายในครัวเรือนได้

2.เครื่องเขินเชียงใหม่หรือเครื่องเขินนันทาราม เครื่องเขินชนิดนี้มีโครงสร้างเป็นโครงสานลายขัดด้วยเส้นตอกไม้ไผ่ที่มีการเหลาให้ได้ ขนาดเล็กเรียบบางคล้ายทางมะพร้าวสานขัดกับตอกเส้นบางแบนเป็นรูปแฉกรัศมีจาก ก้นของภาชนะจนได้รูปทรงตามความต้องการ โดยไม่ต้องมีการดามโครงให้แข็งเป็นที่ ที่เครื่องเขินชนิดนี้จะมีโครงที่แน่นแข็งแรงเรียบเสมอกันโดยตลอด เมื่อทารักสมุกแล้ว ขัดก็จะได้รูปภาชนะที่ค่อนข้างเรียบเกลี้ยงบาง และมีความเบาการตกแต่งของเครื่องเขิน ชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่นิยมการขูดลาย หรือภาษาพื้นถิ่นว่า “ฮายดอก”

เทคนิคการตกแต่งผิวภาชนะด้วยวิธีการขูดลายนี้ ภาชนะที่จะทำลวดลายได้จะต้อง มีผิวบางรักที่แห้งสนิทและเรียบ การฮายดอกต้องใช้เหล็กปลายแหลมคล้ายเหล็กจาร ใบลานกรีดลงไปบนผิวยางรักของภาชนะการฮายดอกต้อง อาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก โดยที่ไม่ให้เกิดเส้นลึกมาก จนยางรักกระเทาะออก หรือแผ่วเบาเกินไปจนทำให้ลวดลาย มองเห็นได้ยากเมื่อฮายดอกเสร็จแล้วจึงนำยางรักที่ผสมกับ ชาดสีแดงถมลงไปในร่องที่กรีดไว้รอให้แห้งอีกหลายวันแล้ว จึงขัดส่วนนอกสุดออกจนมองเห็นเส้นลวดลายสีแดงฝังอยู่ในพื้นที่สีดำของยางรัก จากนั้นจะเคลือบด้วยยางรักใสหรือรักเงา เพื่อเป็นการปิดเคลือบลวดลายทั้งหมดให้ ติดแน่นกับภาชนะเทคนิคการฮายดอกของเครื่องเขินชนิดนี้เองที่เป็นเอกลักษณ์ของ เครื่องเขินเชียงใหม่มาแต่เดิมซึ่งต่อมาพม่าได้กวาดต้อนเอาช่างเครื่องเขินที่ทำด้วย เทคนิคชนิดนี้ว่า “โยนเถ่” สำหรับเครื่องเขินที่ผลิตขึ้นจากแหล่งบ้านนันทารามใน ปัจจุบันนั้น มีเทคนิคการเขียนลวดลายที่ผิวภาชนะเป็นอย่างเดียวกันแต่เป็นผลิตผล ที่เกิดขึ้นจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้ามาเป็นพลเมืองเชียงใหม่กลุ่มใหม่ ดังนั้นจึง อาจจะเรียกเครื่องเขินชนิดนี้ว่า เครื่องเขินเชียงใหม่รุ่นหลังก็ได้

ปัจจุบันการผลิตเครื่องเขินแบบนันทารามดูเหมือนว่าจะสิ้นสุดลง เหลือเพียงแต่ การผลิตเพื่อการตลาดการท่องเที่ยว เป็นของที่ระลึกราคาถูก ที่ไร้คุณภาพและรสนิยม การฮายดอกทำกันอย่างลวก ๆใช้สีฝุ่นสีน้ำมัน และสีสะท้อนแสงแทนชาดไม่มีการเคลือบ ลวดลายให้ติดแน่นกับผิวภาชนะดังนั้นสีสันจึงมักจะหลุดหายไปอย่างรวดเร็วดูเหมือน ว่าเครื่องเขินใหม่จากเมืองพุกามเท่านั้นที่ยังคงเป็นงานเครื่องเขินแท้ ๆ ถ้าเปรียบเทียบ กับเครื่องเขินที่ผลิตในเมืองไทย

ประวัติความเป็นมาเครื่องเขินของล้านนา

เครื่องเขินมิใช่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ชนิดที่เพิ่งเข้ามาสู่ดินแดนล้านนาในยุคฟื้นฟู เมืองเชียงใหม่แต่เครื่องเขินนั้นถือเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีใช้อยู่อย่างแพร่หลายในล้านนา มาก่อนหน้านั้นนานแล้ว (เมื่อราวปี พ.ศ. 2100 ) ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพม่าเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ได้กวาดต้อนเอาชาวเมืองเชียงใหม่และช่างผีมือไปไว้ ในเมืองพม่าหลายครั้ง ปัจจุบันชาวล้านนาเหล่านั้นยังคงมีการทำเครื่องเขินชนิดขูดขีดเป็น ลายเส้น แล้วถมลายเส้นด้วยสีต่าง ๆ อยู่ที่เมืองพุกามซึ่งพม่าเรียกเครื่องเขินชนิดนี้ว่า “โยนเถ่” ซึ่งแปลว่า เครื่องยวน หรือ เครื่องประดิษฐ์ขึ้นโดยชาวไทยยวนหรือล้านนาเครื่อง เขินของพม่ามีลวดลายประดับแบบหนึ่งซึ่งว่า “ซินเม่” ซึ่งคำว่าซินเม่นี้ หมายถึง เชียงใหม่ น่าจะเป็นลวดลายดั้งเดิมจากเชียงใหมตั้งแต่ปลายสมัยราชวงค์มังราย ปี พ.ศ. 2100

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในเรื่องเที่ยวพม่า พ.ศ.2478 ว่าได้รับความรู้แปลกทางโบราณคดี เรื่องการทำของลงรักในเมืองพม่าไว้อย่างหนึ่ง จะกล่าวไว้ตรงนี้ด้วย “ฉันได้เห็นในหนังสือพงศาวดารพม่าฉบับหนึ่งว่าวิชาทำนอง ลงรักนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ไปจากเมืองไทย (คือว่าได้ช่างรักไทยไปเมื่อ ตีกรุงศรีอยุธยา ได้ใน พ.ศ. 2112 ถ้าจริงดังว่าก็พึงสันนิษฐานว่าครั้งนั้นได้ไปแต่ วิธีทำรัก “น้ำเกลี้ยง” กับทำ “ลายรดน้ำ” จึงมีของพม่าทำเช่นนั้นแต่โบราณแต่วิธี ที่ขูดพื้นรักลงไปเป็นรูปภาพ และลวดลายต่าง ๆ นั้นพวกช่างชาวเมืองพุกามเขา บอกฉันว่าพึ่งได้วิธีไปจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อครั้งหลัง”

มีหลักฐานบางอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการใช้ยางรักสำหรับเคลือบผิวภาชนะต่าง ๆ ก่อนยุคราชวงค์ มังรายคือในสมัยหริภูญชัย เช่นที่อาจารย์ จอห์นชอร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาไทยได้ค้นพบว่า เครื่องปั้นดินเผาบางชิ้นในวัฒนธรรมหริภูญชัยมีการ เคลือบยางรัก ส่วนเครื่องจักสานและไม้ที่เคลือบด้วย ยางรักในยุคนั้น คงเปื่อยผุและสลายไปกับกาลเวลา เพราะเป็นสารอินทรีย์ ถ้าไม่เก็บรักษาอย่างดีทำให้ ยางรักแปรสภาพภายในไม่กี่สิบปีส่วนที่ติดอยู่ดินเผาในหลุมศพนั้นบังเอิญมีการห่อหุ้ม อย่างดี ทำให้ยางรักบางส่วนตกค้างเป็นหลักฐานให้เห็นถึงปัจจุบัน ที่พิพิธภัณฑ์ Tokugawa นครนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดแสดงของใช้ส่วนตัว ของโชกุนหลาย ๆ อย่าง มีของใช้ชิ้นหนึ่งเป็นตลับเครื่องเขินทรงกลมที่เป็นแอ๊ปหมาก (ตลับหมาก) ของเชียงใหม่ สีดำแดงตามแบบฉบับของเชียงใหม่ทุกประการ แต่คำอธิบาย บอกว่าเป็นของขวัญจากอยุธยาได้มาเมื่อปีพ.ศ.2200 เข้าใจว่าเครื่องเขินคงแพร่หลาย จากเชียงใหม่ลงมาถึงอยุธยาและเป็นของส่งออกตามเส้นทางค้าขายชายทะเลด้วย

เครื่องเขินของล้านนาในปัจจุบัน

แหล่งผลิตเครื่องเขินแหล่งใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีและยังคงมีการผลิต เครื่องเขินเป็นสินค้าจำหน่ายให้แก่ผู้คนทั่วไปนั้นจะอยู่ที่บ้านเขินนันทารามในเขตเมือง เชียงใหม่ชาวบ้านนันทารามจะกล่าวกันว่าพวกตนนั้นเดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเชียงตุง ซึ่งอยู่ในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำขืนหรือแม่น้ำเขิน ในเขตรัฐฉาน ประเทศพม่าในทุกวันนี้ ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกขานกลุ่มชนนี้ว่า “ชาวขืน” หรือ “เขิน” ในช่วงเวลาเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองเพื่อฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่นั้นชาวเขินได้ถูกกวาดต้อนมาเป็นไพร่พลเมือง ของเมืองเชียงใหม่อยู่หลายแห่งกลุ่มชาวเขินที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณกำแพงเมือง ชั้นนอกฟากประตูเชียงใหม่และบริเวณโดยรอบวัดนันทารามนั้นคงจะเป็นไพร่พลเมือง ของเมืองเชียงใหม่อยู่หลายแห่งกลุ่มชาวเขินที่ตั้งบ้านเรือน อยู่ในบริเวณกำแพงเมืองชั้นนอกฟากประตูเชียงใหม่และ บริเวณโดยรอบวัดนันทารามนั้นคงจะเป็นไพร่พลชั้นดีด้วย มีความรู้ความชำนาญในการทำสิ่งของเครื่องใช้ประเภท เครื่องฮักเครื่องหางจึงถูกกำหนดให้อยู่ภายในเมืองและคง มีหน้าที่ผลิตเครื่องฮักเครื่องหางสำหรับเจ้านายในเมือง เชียงใหม่ในระยะแรกคงจะมีการผลิตสำหรับเจ้านายและ ใช้สอยเองภายในครัวเรือนต่อมาคงได้มีการผลิตเป็นสินค้า จำหน่ายให้แก่ชาวเชียงใหม่ตลอดจนชาวเมืองอื่น ๆ อีกด้วยดังนั้นสินค้าที่เป็นเครื่อง ฮักเครื่องหางที่ผลิตโดยชาวเขินจึงถูกเรียกว่า เครื่องเขิน ในเวลาต่อมากลุ่มชาวเขิน บ้านนันทารามนั้นจะถูกกวาดต้อนให้อพยพมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ครั้งใดไม่ ปรากฎแน่ชัด

จากการตรวจสอบภาคเอกสารปรากฎว่าในช่วงเวลาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่และ ดินแดนล้านนา ในสมัยพระเจ้ากาวิละนั้น ได้มีการยกทัพไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ของแคว้น เชียงตุงหลายครั้ง แต่สำหรับการตีเมืองเชียงตุงมีเพียงครั้งเดียวในพ.ศ.2345 ในครั้ง นั้นไม่ได้ไพร่พลชาวเมืองเชียงตุงมาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่เพราะเจ้าเมืองเชียงตุง ยกครอบครัวไพร่พลเมืองหนีออกจากเมืองไปต่อมาพ.ศ.2347 เจ้าหอคำเมืองเชียงตุง จึงได้สวามิภักดิ์พาชาวเมืองและไพร่พลลงมาเป็นข้าราชการอยู่ในเมืองเชียงใหม่และใน พ.ศ.2395 ได้มีการยกทัพไปตีเมืองเชียงตุงอีกครั้งแต่ไม่ได้เนื่องจากมีเหตุจำเป็นต้อง ถอยทัพกลับคืนมาดังนั้นจึงเชื่อว่ากลุ่มชาวเขินบ้านนันทารามนั้นคงจะเป็นกลุ่มที่อพยพ เข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่เมื่อครั้งเจ้าเมืองเชียงตุงได้พาไพร่พลเข้ามาสวามิภักดิใน พ.ศ. 2347 โดยเหตุที่กลุ่มชาวเขินเมืองเชียงตุงกลุ่มนี้เป็นไพร่พลเมืองชั้นดีและมีผีมือ ในการทำเครื่องฮักเครื่องหางจึงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตกำแพงเมืองชั้นนอกซึ่งชาวเขิน เหล่านี้นี่เองที่ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องเขินสืบทอดต่อมาจนทุกวันนี้

ประเภทของเครื่องเขิน

การใช้เครื่องเขินเป็นศิลปะวัฒนธรรมอย่างหนึ่ของภาคพื้นเอเชียอาคเนย์โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ชาวล้านนาที่ใช้เครื่องเขินมาช้านานแล้ว และ มีรูปแบบรูปทรงที่หลากหลาย สนองตอบการใช้สอย ค่านิยม และรสนิยมของสังคม รูปแบบที่แพร่หลายและมีลักษณะเด่นเฉพาะเครื่องเขินล้านนามีดังนี้

นอกจากนี้ประเภทของเครื่องเขินตามที่ได้กล่าวมาแล้วที่ถือว่าเป็นแบบมาตราฐาน ทั่ว ๆ ไปในล้านนายังมีเครื่องเขินรูปแบบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายหลายประเภทโดยเฉพาะ อย่างยิ่งเครื่องเขินนันทาราม เช่น หมวกนักรบโบราณ ขันน้ำพานรอง คนโฑ ถาด กระโถน ตะกร้าหมาก กระเป๋าหมาก ถ้วยฝาปิ่นโต พานโตก ซึ่งนิยมในกลุ่มสังคมระดับหนึ่ง ของเมืองไทยเมื่อประมาณ 40 ถีง 80 ปีที่แล้ว อ่างล้างหน้า เหยือกน้ำ กล่องสบู่ กล่องยาสีฟัน แปรงสีฟัน ที่ใส่ซองจดหมาย โต๊ะทำงานและ ตู้โชว์ของตามแบบแผนวัฒนธรรมตะวันตก ก็มีอยู่บ้าง ประกับคัมภีร์โบราณ ฝาบาตร เชิงบาตร กล่องพระธรรม ก็มีปรากฎตามวัด วาอารามบางแห่งสนองตอบกิจกรรมของสงฆ์ และศาสนา

ปัจจุบันการผลิตเครื่องเขินแบบนันทารามดูเหมือนว่าจะสิ้นสุดลง เหลือเพียงแต่ การผลิตเพื่อการตลาด การท่องเที่ยว เป็นของที่ระลึกราคาถูก ที่ไร้คุณภาพและรสนิยม การฮายดอกทำกันอย่างลวก ๆ ใช้สีฝุ่นสีน้ำมันและสีสะท้อนแสงแทนชาด ไม่มีการเคลือบ ลวดลายให้ติดแน่นกับผิวภาชนะดังนั้นสีสันจึงมักจะหลุดหายไปอย่างรวดเร็ว ดูเหมือน ว่าะครื่องเขินใหม่จากเมืองพุกามเท่านั้นที่ยังคงเป็นงานเครื่องเขินแท้ ๆ ถ้าเปรียบเทียบ กับเครื่องเขินที่ผลิตในเมืองไทย

ปุง

ตั้งแต่โบราณมาแทบทุกครัวเรือนของชาวล้านนาจะมีภาชนะประเภทนี้ไว้ใช้ในเรือน อย่างน้อย 2 ถึง 3 ใบปุงมีโครงเป็นเครื่องสานคล้ายกล่องข้าวเหนียวมีก้นสี่เหลี่ยมส่วน ใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 นิ้ว สูงประมาณ 18 นิ้วคอคอดทรงกระบอกฝาปิด คล้าย ๆ ขวดโหลแก้ว ฐานของปุงทำด้วยไม้จริงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสสูงประมาณ2 – 3 นิ้ว คาดรัดติดกับปุงด้วยเส้นหวายถักยึดกับคอของภาชนะตัวของปุงมีลักษณะอ้วนป่องทา ด้วยยางรักหนาพอสมควรจึงมีลักษณะแข็งแรงรองรับการกระทบกระทั่งได้ดีการตกแต่ง ส่วนใหญ่เป็นการเขียนลวดลายด้วยชาดเป็นลายพันธุ์พฤกษาแบบพื้นเมืองไม่นิยมมีรูป สัตว์ลวดลายตกแต่งจะเน้นด้านข้างสี่ด้านของภาชนะ เปิดเป็นลายช่องกระจก ไม่ปรากฎ ว่ามีการปิดทองคำเปลว หรืองานประดับกระจกปกติจะมีรูสำหรับร้อยเชือกจากฐานไม่โยง ผ่านหูปลอกหวายที่คอของภาชนะสำหรับหิ้วหรือหาบดั้งเดิมมีหน้าที่ใช้สอยสำหรับเก็บ เมล็ดพันธุ์พืชและของใช้ส่วนตัวมิได้ใช้รับแขกหรือเป็นหน้าตาของเจ้าของบ้านไม่ปรากฏ ว่ามี ปุงที่ตกแต่งด้วยเทคนิคการฮายดอก ส่วนใหญ่เจ้าของบ้านทำขึ้นใช้เอง หรือไหว้วาน เพื่อนบ้านคนคุ้นเคยทำให้ มิได้ทำสำหรับการซื้อขาย ดังนั้นขีดความสามารถ ทักษะอารมณ์ และความเฉพาะตัวทางศิลปะจึงดูเหมือนว่ามีความชัดเจนมากลวดลายประดับปุงอาจ กล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างงานศิลปะพื้นบ้านแท้ ๆ ของล้านนาปราศจากกรอบและแบบแผน ของสกุลช่างที่เป็นกฎเกณฑ์บังคับ

ขันหมาก

การกินหมากเคี้ยวหมากเป็นวัฒนธรรมของคนเอเชียโดยทั่วไป ภาชนะของประกอบ การกินหมากภาษาไทยกลางเรียกว่า เชี่ยนหมาก ชาวล้านนาเรียกว่า ขันหมาก ลักษณะ ของขันหมากพื้นเมืองของชาวล้านขนาดเฉลี่ยมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหรูหรากว่าภาชนะ ที่เกี่ยวข้องกับการกินหมากในภูมิภาคอื่นขันหมากล้านนามีโครงเป็นไม้ไผ่สานและขดเป็น ทรงกระบอกกลมหรือหักเหลี่ยมโค้งกว้างประมาณ15 นิ้ว สูง 12 – 20 นิ้วเป็นกล่องขนาด ใหญ่สำหรับใส่ใบพลูชั้นล่างและมีถาดเป็นฝาปิดข้างบนเพื่อรองรับตลับหมากขนาดเล็ก ใช้ใส่เครื่องเคี้ยวอื่น ๆ รวมทั้งมีดผ่าหมากและเต้าปูน ขันหมากส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยการ เขียนลวดลายสีชาด และรักพิมพ์ บางครั้งมีการเติมด้วยทองคำเปลวเพิ่มความสวยงาม หรูหรามากขึ้น การติดเบี้ยที่ตีนขันหมากแสดงออกถึงความร่ำรวยและมีกินมีใช้ของเจ้า ของบ้านแล้วยังเป็นหน้าเป็นตาและความภูมิใจของเจ้าของเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน การต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือนในอดีตเจ้าของเรือนจะนำเอาขันหมากใบสวยงามออกมา ต้อนรับแขกที่มาถึงบนเรือนเป็นการแสดงถึงไมตรีและการให้เกียรติอีกทั้งเป็นการแสดง ออกถึงรสนิยมที่ดีและความมั่งมีของเจ้าของเรือน แต่เดิมชุดตลับเล็ก ๆ บนถาดฝา ขันหมากเป็นไม้กลึงสวยงามบางครั้งก็เป็นตลับขดด้วยตอกไม้ไผ่ทารักเช่นเดียวกับตัว ขันหมากในสมัยหลัง ๆ นิยมใช้ตลับเงินตีดุนเป็นลวดลายแทนไม้กลึงทำให้ดูหรูหราภูมิฐาน มากขึ้น

การผลิตขันหมากพื้นเมืองแต่ละพื้นที่จะมีผู้ชำนาญการ หรือผู้ผลิตในเชิงธุระกิจ นับตั้งแต่ การขึ้นโครงสาน การทารักทาชาดและเขียนลวดลายประดับประดา รูปแบบ ของงานจะปรากฎออกมาเป็นกลุ่มสกุลช่างประจำถิ่น พบอยู่กันเป็นละแวกกว้าง ๆ แต่รัศมีไม่ไกลจากแหล่ง ผลิตเท่าใดนักลูกค้าหรือผู้ซื้อจะมาสั่งทำเป็นราย ๆ มิได้มีการผลิตแล้วนำไปเร่ขายทั่ว ๆ ไป ดังนั้นความ หรูหราวิจิตร จะขึ้นอยู่กับผู้สั่งทำขันหมาก ประกอบกับ ขีดความสามารถและทักษะของช่างผู้ผลิตบางครั้งพบ ว่าช่างเครื่อเขินพื้นเมืองประเภทนี้เป็น ภิกษุ สามเณรที่ชำนาญทางด้านศิลปะและงานช่าง ทั่วไปและทำงานเครื่องเขินเป็นงานอดิเรก เช่น อดีตเจ้าอาวาสวัดต้นแหนน้อย เชื้อสาย ไทเขิน ที่บ้านทุ่งเสี้ยว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามรูปแบบขันหมากพื้นเมืองนี้ค่อนข้างจะมีโครงสร้างและการตกแต่ง คล้าย ๆ กัน คือมีโครงสานด้วยตอกแบน ดามด้วยตอกเส้นหนา ขดเป็นวงกลมเสริม ให้แข็งแรงเป็นปล้อง ๆ ตีนขันหมากจะผายออกเล็กน้อย ถาดฝาบนตัวขันหมากมีขอบ สูงป้องกันตลับกลิ้งตกจากขันหมากช่วงตัวตอนกลางจะมีลวดลายประดับเป็นลวดลาย หลักใช้รักสีดำและชาดสีแดงตัดกันเป็นองค์ประกอบทางศิลปะลักษณะรูปทรงเช่นนี้ จะพบทั้วไปอย่างหนาแน่นในเขตเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางแพร่ น่าน และประปรายใน พื้นที่ใกล้เคียง

ขันหมากแบบวัวลายมีลักษณะต่างจากขันหมากพื้นเมืองมากพอที่จะเห็นข้อแตกต่าง อย่างชัดเจน เช่น โครงสานทำด้วยตอกเส้นกลมเล็กสานลายขัดกับตอกเส้นแบนที่จัดเป็น รัศมีจากลางของก้นขันหมากออกไป เมื่อสานได้เป็นวงกลมขนาด 12 นิ้ว ก็จะหักขึ้นและ สานต่อเป็นทรงกระบอกเตี้ยๆ สูงประมาณ 6 – 8 นิ้ว ไม่นิยมรัดขอบเป็นปล้อง ดังนั้น จึงมีรูปทรงเป็นกระบอกเกลี้ยงถมด้วยสมุกและขัดให้เรียบหลาย ๆ ครั้งก่อนที่จะตกแต่ง ด้วยการฮายดอกด้านนอกของรูปทรงกระบอกภายในทาสีแดงชาดเรียบ รวมทั้งถาดปิด และก้นขันหมากลวดลายขูดจะมีโครงลายที่ค่อนข้างแน่นอนแต่มองเห็นไม่ค่อยชัดเจน เพราะลวดลายมีพื้นผิวและสีสันที่ทำให้แลดูเสมอกันทั่วทั้งภาชนะ คือเป็นสีแดงคล้ำ ๆ ตัดกับสีแดงของชาดและก้นภาชนะ ลวดลายที่นิยมกันแต่อดีตเป็นลักษณะดอกไม้ที่ก้าน ต่อที่เรียกว่าดอกก๋ากอก และดอกสารภี บางครั้งเป็นลักษณะเป็นก้านเกสรดอกไม้ หรือ ดอกบัวเล็ก ๆ เต็มเป็นพื้นคลุมทั้งภาชนะการผลิตที่ทำกันอย่างพิธีพิถันเพราะเป็นงาน ผีมือที่ละเอียดอาศัยช่างผู้ชำนาญที่ทำกันเป็นกลุ่ม มีการผลิตตลอดปีโดยที่ไม่ต้องรอการสั่งของลูกค้า บางทีมีการทำเก็บเอาไว้มาก ๆ เมื่อได้จำนวนตาม ต้องการก็เดินทางไปจำหน่ายในตลาดต่างบ้านต่าง เมือง ในสมัยโบราณมีการหาบคอนเป็นคาราวาน เพื่อนำขันหมากเครื่องเขินนันทารามไปขายตามเมืองสำคัญในล้านนาและพื้นที่ใกล้เคียง ขันหมากแบบนันทารามเป็นที่นิยมของผู้อยู่ในเมืองมากกว่าชนบทอีกทั้งยังมีราคาสูง สำหรับชาวบ้านธรรมดาเมื่อเทียบกับเครื่องเขินพื้นเมือง ดังนั้นขันหมากแบบนันทาราม ส่วนใหญ่จึงปรากฎพบในเขตเมืองสำคัญของล้านนาในพื้นที่ที่กว้างและไกลชุดขันหมาก นันทารามบางทีขายพร้อมกับตลับชุดที่มีลวดลายแบบเดียวกัน หรือเป็นตลับเงินซึ่งก็ ผลิตจากแหล่งเดียวกับตัวขันหมาก

ขันหมากนันทารามนี้โดยหลักการแล้วถือว่าเป็นการผลิตงานหัถตอุตสาหกรรม ตามเทคนิคของช่างไทเขินในรัฐฉาน แต่รูปแบบของภาชนะได้ปรับให้คล้อยตามกับ หน้าที่ใช้สอยใหม่ที่นิยมกันในเขตล้านนา ทั้งคุณภาพและรูปแบบนับว่าประณีตและ วิจิตรเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นงานที่ดีมีคุณค่าทางศิลปะอีกทั้งเป็นตัวแทน

ขันดอกและขันโตก

พานใส่ดอกไม้และเครื่องเซ่นไหว้ของชาวล้านนาเรียกว่าขันดอกมีลักษณะคล้าย จานที่มีฐานยกสูงขึ้นไป เข้าใจว่าคงได้รูปแบบหรืออิทธิพลมาจากจานเชิงของจีนซึ่ง เป็นเครื่องปั้นดินเผาแต่ว่าขันจะมีส่วนจานและฐานเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายอย่างชัดเจน หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่าฐานปัทม์ส่วนใหญ่ขันดอกแบบโบราณจะทำมาจากไม้สักกลึง สองหรือสามตอนมาสวมต่อกันเป็นรูปพานทาด้วยยางรักและตกแต่งด้วยการเขียน ลวดลายสีดำสีแดงเป็นกลีบบัวสอดไส้ขนาดทั่ว ๆ ไปของขันดอกสูงประมาณ 12 นิ้ว และเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว ใช้สำหรับใส่ข้าตอกดอกไม้ธูปเทียนไปวัดหรือ ในพิธีกรรม บางทีก็ใช้ใส่เครืองเซ่นไหว้และของที่มอบให้เป็นทางการในพิธีสำคัญ

ขันดอกไม้กลึง เป็นขันดอกประเภทหนึ่งที่ชาวล้านนาได้รับอิทธิพลและรูปแบบ จากขันดอกของชาวไทเขินเรียกว่า “ขันซี่” หรือ “ขันตีนถี่” ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่เด่นมาก กล่าวคือช่วงที่เชื่อมระหว่างตัวพานไม้กลึงกับฐานไม้กลึงแทน ที่จะเป็นไม้กลึงทรงบัวลูกแก้ว ก็จะเป็นซี่ไม้กลึงขนาดเล็ก ๆ เรียงชิดกันเป็นแถวรอบฐานทรงกลมคล้ายขันโตกขันซี่ทั่วไป จะทาสีแดงชาดเท่านั้นไม่นิยมมีลวดลายประดับเหมือนขันดอก แบบพื้นเมือง ขันซี่บางชุดมีการกลึงลวดบัวที่มีสัดส่วนสวยงาม แปลกตา บางชุดก็มีความกล้างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว หรือมากกว่านั้น ใช้สำหรับเป็นขันตั้งหรือภาชนะในพิธีสำคัญทางศาสนา ซี่ไม้ที่เป็นขามีการเหลาเป็น ปล้อง ๆ สวยงามเมื่อเรียงเป็นแถวจะมีลักษณะคล้ายลูกกรงระเบียงบ้าน

ขันโตกเป็นภาชนะที่มีโครงสร้างและวัสดุเช่นเดียวกับขันดอก แต่ว่ามีขนาดการ ตกแต่งและประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกันออกไปปกติขันโตกจะเป็นไม้กลึงขนาดเส้น ผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 -20 นิ้วมีขาเป็นไม้กลึงเรียกว่า ลูกติ่ง (ลูกกรง) 6 หรือ 8 ขา เชื่อมระหว่างตัวโตกและฐาน ขันโตกทีชาวบ้านใช้กันทั่วไปเป็นโตกไม้ธรรมดา หรือทา ยางรักสีดำสำหรับเป็นภาชนะรองถ้วยใส่อาหาร ขันโตกสำหรับชนชั้นสูงและพระสงฆ์ ส่วนมากนิยมทาชาดสีแดงมีขนาดใหญ่กว่าขันโตกของชาวบ้านบางครั้งมี ฝาชีครอบทำ ด้วยเครื่องสานหรือไม้จริงเรียกว่า อูบข้าว (ตะลุ่ม) ขันโตกทาชาดสีแดง บางครั้งก็ใช้ใน พิธีกรรม เช่น การจัดขันตั้ง (ขันไหว้ครู) ขันขวัญ (บายศรี) และขันใส่เครื่องไทยทาน ถวายพระเป็นต้น

ขันดอกของเชียงใหม่ที่นิยมกันมาแต่อดีตมีโครงเป็นไม้ไผ่ขดเป็นโครงสร้างเกือบ ทั้งใบตั้งแต่ฐานจนถึงขอบของพานจะเป็นส่วนที่เป็นการสานลายขัดก็เฉพาะก้นของ ตัวถาดเพียงเล็กน้อย ส่วนมากทาสีแดงชาดเช่นเดียวกับขันซี่ยกเว้นกลุ่มที่ผลิตขึ้นไป เขตบ้านวัวลาย บ้านนันทารามซึ่งนิยมทำขันดอกมีลวดลาย การฮายดอกเป็นกลีบบัว และลวดลายแปลก ๆ แลดูละเอียดประณีตมีรสนิยมสวยทั้งรูป ทรงและลวดลายตกแต่ง ปรากฎแพร่หลายในตัวเมืองสำคัญ ต่าง ๆ ในล้านนา ขันดอกแบบวัวลายบางชุดมีการตกแต่งด้าน นอกเป็นลายปิดทองรดน้ำ แบบพานแว่นฟ้าของไทยภาคกลาง ซึ่งน่าจะปรากฎขึ้นในยุคหลังใช้สำหรับตั้งเครื่องพิธี เพราะว่า ลายทองไม่เหมาะสำหรับหน้าที่ใช้สอยของตัวภาชนะทองคำเปลวจะหลุดเมื่อมีการสัม ผัสถูไถบ่อย ๆ ถึงแม้ขันดอกจะมีรูปทรงคล้ายขันโตก แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่ใช้สำหรับ ใส่อาหารรับประทานจะใช้เฉพาะของแห้งและเครื่องไหว้เท่านั้น

ภาชนะเครื่องรักที่มีรูปทรงที่พัฒนามาจากกระบุงไม้ไผ่สานสำหรับใส่ของหลาย ประเภทในพิธีกรรมและการไปทำบุญเรียกว่าขันโอ รูปทรงของขันโอเหมือนกระบุง ขนาดเล็กป้อม ๆ เตี้ย ๆ ทาด้วยยางรักเรียบ ด้านนอกสีดำด้านในสีแดง มีหูเล็ก ๆ สี่หู สำหรับร้อยเชือกหาบปากขันโอมีถาดวางปิดไว้ก้นขันโอมีการเสริมปุ่มสี่ปุ่มด้วยการปั้น ยางรักให้หนารองรับการถูไถได้ดีบางทีก็ใช้หอยเบี้ยเสริมความแข็งแรงของปุ่มรองก้น ขันโอจะนิยมผลิตเป็นคู่เสมอ เรียกว่าเป็นหาบไม้คานหาบส่วนใหญ่จะเป็นไม้คานเรียว เล็กดัดปลายทั้งสองให้งอนขึ้น หรือแกะสลักเป็นลวดลายสวยงาม ขันโอที่เป็นใบเดี่ยว ไม่มีคู่จะมีขนาดเล็กกว่า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 ถึง 12 นิ้วประดับด้วยลวดลาย การเขียนสีหรือปิดทอง ไม่มีหูร้อยเชือก เพราะใช้อุ้มเหมือนขันเงินหรือสลุงเงิน น่าจะ เป็นอิทธิพลจาก “ก๊อกโอ” หรือ”ซ้าข้อง” ของชาวไทเขินจากเชียงตุง

ขันโอที่ผลิตขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งละแวกบ้านวัวลาย จะมี โครงสร้างเป็นลายขัดตอกคล้าย ๆ ขันหมากวัวลาย คือมีทรงกลมผสมกับทรงกระบอก มิได้มีก้นและตัวแบบกระบุง รูปทรงเหมือนขันน้ำทั่ว ๆ ไป ขันโอบ้านวัวลายจะมีขนาดใหญ่เกือบเท่ากระบุงทายางรักสี แดงทั้งนอกและใน ไม่มีหูร้อยเชือก แต่ใช้สาแหรกหวายรอง รับสำหรับการหาบ ขันโอวัวลายบางชุดมีการตกแต่งด้วยการ ฮายดอกด้านนอกของภาชนะ แต่ลวดลายค่อนข้างใหญ่ตาม ขนาดภาชนะคือใหญ่กว่าลวดลายของขันดอกไม้และขันหมาก

ขันโอบ้านวัวลายได้พัฒนาไปสู่รูปแบบของขันน้ำพาน รองและขันน้ำสาครตามความต้องการของตลาดในยุคสมัย รัชกาลที่ 6 เพื่อส่งไปยังภาคกลางพร้อมกับของใช้ของที่ระลึกอื่น ๆ ในยุคนั้นขันโอวัวลาย น่าจะให้อิทธิพลต่อการตีขันเงินและสลุงเงินแบบต่าง ๆ ของเชียงใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สลุงเงินดอกที่นิยมผลิตเป็นคู่ ๆ แบบเดียวกับขันโอเครื่องเขิน

หีบผ้าใหม่

ในอดีตเมื่อผู้ชายชาวล้านนาจะเข้าพิธีแต่งงานและย้ายไปอยู่กับฝ่ายภรรยาสิ่งที่ ต้องนำติดตัวไปก็คือ ดาบประจำตัวและหีบผ้าใหม่สำหรับใส่เสื้อผ้าในการย้ายบ้านเพื่อ เป็นการแสดงความมีหน้ามีตาและรสนิยมของวงศ์ตระกูล พ่อแม่และญาติของฝ่ายชาย จะสรรหาหีบผ้าใหม่สำหรับงานแต่งงานที่หรูหราและวิจิตรเลอค่าตามยุคตามสมัยในอดีต หีบผ้าเครื่องเขินทรงแปดเหลี่ยมยาวสำหรับใส่ผ้าพับขนาดกว้างประมาณ 10 นิ้ว ยาว 18 นิ้ว สูงประมาณ 15 นิ้วเป็นที่นิยมกันมากเทคนิคการสานไม้ไผ่คาดด้วยตอกยางรักสีดำ สีแดงในลักษณะต่าง ๆ เป็นแบบมาตราฐานของหีบผ้าใหม่ผู้มีฐานะดีจะว่าจ้างช่างให้ตก แต่งเขียนลวดลายพันธุ์พฤกษาด้วยชาดและแต้มทองคำเปลวอย่างสวยงามฝาด้านบนของ หีบผ้าจะอูมนูนเน้นความรู้สึกเกี่ยวกับความมั่งครั่งมีอุดมสมบูรณ์ เชิงของหีบผ้าจะบาน ผายออกคล้ายกับขันหมากพื้นเมือง ไม่ปรากฎว่ามีการตกแต่งหีบผ้าใหม่ด้วยการฮายดอก หรือ ติดกระจกแก้วอังวะ หีบผ้าใหม่จะเป็นจุดสนใจในพิธีแต่งงาน แต่จะถูกเก็บไว้ใน ห้องนอนอย่างมิดชิดเป็นสมบัติของลูกหลานต่อไปหลังจากเสร็จพิธี

ในช่วง 80 ปีมานี้ ความนิยมใช้หีบผ้าเครื่องเขินได้ ลดน้อยลง ส่วนใหญ่หันมาใช้หีบไม้สักมีขาแบบกำปั่น จีนต่อมานิยมกำหั่นเหล็กแบบฝรั่งแทน ปัจจุบันนี้ใช้ กระเป๋าเดินทางหรือไม่ก็เป็นตู้

เสื้อผ้าสมัยใหม่ไปเลย หีบผ้าใหม่จึงเป็นรูปแบบของเครื่องเขินในอดีตเท่านั้น

วัสดุอุปกรณ์ในการผลิต

การผลิตเครื่องเขินต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อันประกอบด้วย

โครงภาชนะ โครงภาชนะได้จากวัสดุพวกไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ต้นเฮียะ” ซึ่งลำใหญ่ ยาว ปล้องห่างมากมีเนื้ออ่อนเหนียวสามารถขดเป็นรูปภาชนะได้ง่าย ส่วนใหญ่ จะมีมากในภาคเหนือเท่านั้นนำไม้ไผ่มาจักเป็นตอกบาง ๆ จึงสานหรือขดเป็นรูปร่างตาม หุ่นภาชนะที่จะทำ วัสดุที่นิยมใช้ทำโครงรองลงมา ได้แก่ ไม้ โลหะต่าง ๆ พลาสติก ดินเผา โครงอัดจำพวกไม้อัดกระดาษอัด
น้ำรัก

น้ำรักที่ใช้ในการทาเครื่องเขินต้องนำ มาผสมกับน้ำมันสน กวนให้เข้ากันดี กรอง ด้วยผ้าขาวบาง 2 ชั้น ตรงกลางใสกระดาษ สา รอง 4 – 5 ชั้น รักที่กรองได้ต้องใส่ภาชนะ ปิดด้วยกระดาษสีน้ำตาลชุบน้ำ เพื่อไม่ให้ น้ำรักแห้งและสกปรก
รักสมุก

รักสมุกเป็นรักที่ผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ ใช้ทารองพื้นหรือทาอุดส่วนที่เป็นร่องหรือทา ปะมุมเพื่อให้ผิวภาชนะเรียบ สมุกรองพื้นได้จากน้ำรักผสมกับผงอิฐ ผงดินขาว ในอัตรา ส่วน 5 : 5 : 1 โดยน้ำหนัก ส่วนสมุกละเอียดได้จากน้ำรักผสมกับผงอิฐขาว ในอัตราส่วน ที่เท่ากัน

น้ำยาหรดาน

น้ำยาหรดานเป็นน้ำยาที่ใช้เขียนลายทำจากหรดานซึ่งเป็นหินสีเหลืองอ่อนนำมาบด ให้เป็นผงละเอียดผสมด้วยยางมะขวิดและน้ำฝักส้มป่อย เมื่อผสมเข้ากันดีแล้วต้องนำ มากรองเอากากออกเสียก่อนจึงนำไปใช้ได้
ทองคำเปลวเงินเปลวชาด

เป็นวัสดุที่ใช้ปิดทับหรืออุดลงไปบนผิวภาชนะเพื่อให้เกิดลวดลายและสีสันตาม ที่ต้องการ

เครื่องมือ

เครื่องมือที่ใช้ในการทำเครื่องเขิน ได้แก่ มีดปลายตัด มีดปลายแหลม มีดขุด สมุกยาร่อง มีดเซาะร่อง เหล็กจาร แปรงทารัก กระดาษทราย หิน

การผลิตเครื่องเขินที่สานมาจากไม้ไผ่

นำโครงภาชนะที่เตรียมไว้ทาด้วยกากกรักบาง ๆ เพื่อให้ยางรักประสานเส้นตอก ที่สานหรือขดให้แน่น บริเวณขอบภาชนะใช้รักขันทา เป็นการยึดไม่ใด้ตอกเคลื่อนที่ ทิ้งไว้จนกระทั้งรักแห้งดีแล้ว ใช้มีดหรือสิ่วขูดเอาส่วนที่ขรุขระออกจนผิวเรียบดี จากนั้นใช้รักสมุกชนิดหยาบ ทารองพื้นให้ทั้วภาชนะทั้งด้านนอกและด้านใน ปล่อย ทิ้งไว้จนกระทั่งแห้งดีแล้ว จึงนำมาขัดหรือกลึงด้วยหินสีแดงจนเรียบลงด้วยรักสมุก อีกครั้งหนึ่ง รักสมุกที่ทาครั้งนี้ควรเหลวกว่าครั้งแรกเล็กน้อย ครั้นแห้งดีให้ขัดด้วย กระดาษทรายน้ำละเอียด จนผิวเรียบเป็นมัน จับดูรู้สึกลื่นมือ ทาด้วยรักน้ำใสหรือรัก ผิวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยให้ผิวเรียบ และดำเป็นมันเงาดี นำไปอบให้รักแห้งสนิท ขั้น ต่อมาจึงเป็นขึ้นตอนการแต่งลวดลาย ซึ่งทำได้ 2 ชนิด คือ ชนิด ลายรดน้ำ และ ชนิดลายขุด

ลายรดน้ำใช้น้ำยาหรดานเขียนลาย จามที่ออกแบบไว้ส่วนใดที่ไม่ต้องการให้ติดสีเงิน หรือสีทองต้องใช้น้ำยาหรดานทาถมลงไปให้ทั่ว ทิ้งไว้จนย้ำยาแห้งพอสมควรทาด้วยน้ำรักใส อย่างดีเพียงบาง ๆ นำทองคำเปลวหรือเงินเปลว ปิดทับลงไปบนลวดลายจนเต็ม ถูทองคำเปลว ให้ติดแน่นดี นำไปแช่น้ำ หรือรดน้ำ ทองเปลวหรือเงินเปลวที่ปิดไว้บนส่วนที่เขียนน้ำยา หรดาน จะพองตัวหลุดร่อนออกไปเหลือแต่ส่วนที่เป็นลวดลายไว้

ลายขุด ใช้เหล็กจารขุดลายให้เป็นร่องลึกลงไปในพื้นรักร่องที่ขุดนี้ ต้องไม่ลึกหรือตื้นเกินไปใช้น้ำมันมะมือทาลงไปในร่องให้ทั่ว โรยผงสีที่ต้องการลงไปในร่องที่ขุดจนเต็มน้ำมันที่ทานี้จะ ช่วยใหสีติดแน่นดีขึ้นเช็ดส่วนที่ไม่ต้องการออกเป็นอันเสร็จ

การผลิตเครื่องเขินที่ทำจากวัสดุอื่น

ประเภทกล่องหรือของที่เป็นเหลี่ยม

ขัดภาชนะที่ทำเสร็จแล้วด้วยกระดาษทรายให้มีผิวเรียบพอสมควรพื้นผิวภาชนะ ส่วนใดมีร่อง หรือรอยแตก ต้องเซาะให้เป็นร่องแล้วอุดด้วยสมุกยาร่องหรือก๊กโซจน เต็ม ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งประมาณหนึ่งคืนเมื่อก๊กโซแห้งดีแล้วขูดก๊กโซออกให้เรียบ ถ้าขูดแล้ว ร่องยังไม่เต็มต้องใช้ก๊กโซอุดใหม่จนเต็มแล้วจึงขูดออกให้เรียบ ปะมุมด้วยกระดาษสา ทิ้งไว้ให้แห้ง ขั้นต่อมาใช้สมุกหยาบทา รองพื้นชั้นแรก ทิ้งไว้จนแห้งขัดด้วยหินหยาบให้เรียบ ทาอีก ครั้งด้วยสมุกละเอียด กระทั่งแห้งดีจึงขัดด้วยหินละเอียดจน ผิวเรียบดีจึงใช้รักรองพื้นทา เมื่อแห้งดีนำมาขัดด้วยกระดาษทรายน้ำเสร็จแล้วลงรักอีกชั้น หนึ่งจึงนำเข้าตู้อบ อบให้รักแห้งเมื่ออบดีแล้วนำมาขัดด้วยกระดาษทรายน้ำอย่างละเอียด ให้เรียบทาทับด้วยรักเงาอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย นำไปอบให้แห้งสนิท จึงนำไปเขียน ลวดลายเป็นขั้นตอนสุดท้ายต่อไป

 

ประเภทถาดหรือภาชนะกลม

กรรมวิธีการผลิตคล้ายคลึงกับการทำประเภทของเหลี่ยม เพียงแต่เว้นข้ามตอนการ ปะมุมด้วยกระดาษสาไปเท่านั้น

ใส่ความเห็น