ผ้าและสิ่งทอ

 
         การทอผ้าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่คนไทยรุ่นปัจจุบันต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ในสมัยก่อน ผู้หญิงไทยจะทำเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านเอง งานสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำเสื้อผ้า ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ไว้ใช้กันในครอบครัว ในพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ก็ต้องใช้ผ้า ผ้าทอจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตคนไทย
         กรรมวิธีเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวยลายต่างๆ เป็นเทคนิคและความสามารถของแต่ละคน หลักใหญ่ของการทอผ้าคือ การนำเส้นฝ้ายหรือไหมมาขัดกันให้เป็นลายโดยขึงเส้นกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก เรียกว่า เส้นยืน 


          แล้วใช้อีกเส้นหนึ่ง เรียกว่าเส้นพุ่ง สอดตามขวางของเส้นยืน เมื่อสานขัดกันก็จะเกิดลวดลายต่างๆ ผ้าบางชนิด ผู้ทอจะคิดหาวิธีสอดด้ายและสอดสีสลับกัน บางวิธีก็จะจับผูกและมัดเน้นเป็นช่วงๆ หรืออาจจะยกด้ายที่ทอเป็นระยะๆ ทำให้เกิดลวดลายสวยงาม ผู้ทอต้องสามารถจดจำลวดลายที่ตนคิดประดิษฐ์ได้ ถึงแม้แต่ละลวดลายจะมีความซับซ้อนและหลากหลาย แต่เขาก็สามารถนำมาประสานกันได้อย่างเหมาะเจาะ งดงามแสดงถึงภูมิปัญญาและความสามารถของชาวชนบทเป็นอย่างดี
            ผ้าทอมือจึงมีเทคนิคการทอและความสวยงามเป็นที่สุดผ้าทอของชาวบ้านมีรูปแบบ ระเบียบลาย ที่บ่งชี้ถึงกลุ่มของคนไทยสายต่างๆ ได้  ผ้าซิ่นที่นุ่ง ก็มีการทอให้แตกต่างกัน สามารถบอกได้ว่า หญิงคนใดยังเป็นโสดและหญิงคนใดแต่งงานแล้ว           


           ผ้าซิ่นของหญิงมีสามีจะเป็นซิ่นที่นำผ้าสามชิ้นมาต่อกัน แบ่งเป็นส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนเชิงแต่ละส่วนจะทอเป็นลวดลายแตกต่างกันทั้ง 3 ส่วน ผ้าซิ่นของหญิงสาวจะเป็นผ้าผืนเดียวกันตลอดทั้งผืน อาจใช้วิธีมัดหมี่เป็นดอกเป็นลวดลายอย่างเดียวสวยงามมาก

         
              
ชายผ้าซิ่นแทบทุกผืนจะมีวิธีทำลวดลายแปลกๆ เช่น อาจจะจกไหมสลับกับฝ้ายในรูปแบบของการทอผสมปักกลายๆ แต่แทนที่จะใช้เข็มปัก เขาจะใช้ขนเม่นทำลวดลาย    วิธีนี้เรียกว่า    จก  แต่ละบ้านจะมีลวดลายของตน        
               ผ้าตีนจกที่นิยมกันมากคือ ผ้าตีนจกของหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย เป็นศิลปะพื้นบ้านลวดลายสวย สีงาม งานประณีต นอกจากผ้ามัดหมี่ ผ้าจกแล้ว ยังมีผ้าแพรวาซึ่งใช้เป็นผ้าคลุมไหล่ หรือห่มเฉียงไหล่ ผ้าขิตซึ่งมีลวดลายเป็นแนวเดียวกันตลอด นิยมใช้ทำหมอน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง ผ้ายกดอก เป็นศิลปะการทออีกแบบหนึ่งคล้ายกับผ้าขิตแต่จะทอด้วยไหมทั้งผืน และยกดิ้นเงินหรือดิ้นทอง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชื่อเสียงในการทอผ้ายก เรียกว่า ผ้ายกเมืองนคร
             
 ผ้าพื้นและผ้าอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นผ้าที่ทอใช้กันทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า เป็นส้นขัดตาตารางหรือเป็นลายเส้นธรรมดา

วิวัฒนาการของการทอผ้าเป็นอย่างไร    
               วิวัฒนาการของการทอผ้าในประเทศไทย แม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดมาใช้อธิบายเรื่องจุดกำเนิดของการทอผ้าในประเทศไทยก็ตาม แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การทอผ้าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์ในสมัยโบราณที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้รู้จักทำขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์           

               ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำเช่นที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว มีรูปมนุษย์โบราณกับสัตว์เลี้ยง เช่น ควายและสุนัข แสดงว่ามนุษย์ยุคนั้นรู้จักเลี้ยงสัตว์แล้ว ลักษณะการแต่งกายของมนุษย์ยุคนั้นดูคล้ายกับจะเปลือยท่อนบน ส่วนท่อนล่างสันนิษฐานว่าจะใช้หนังสัตว์ หรือผ้าหยาบๆ ร้อยเชือกผูกไว้รอบๆ สะโพก บนศีรษะประดับด้วยขนนก            

               จากภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่พบบริเวณถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอนอายุประมาณ 7,000-8,000 ปีมาแล้ว พบว่ามีการตกแต่งด้วยรอยเชือกและรอยตาข่ายทาบ ทำให้เราสันนิษฐานว่า มนุษย์น่าจะรู้จักทำเชือกและตาข่ายก่อน โดยนำพืชที่มีใยมาฟั่นให้เป็นเชือก แล้วนำเชือกมาผูกหรือถักเป็นตาข่าย จากการถักก็พัฒนาขึ้นมาเป็น การทอด้วยเทคนิคง่ายๆ แบบการจักสาน คือนำเชือกมาผูกกับไม้หรือยึดไว้ให้ด้ายเส้นยืน แล้วนำเลือกอีกเส้นหนึ่งมาพุ่งขัดกับด้ายเส้นยืนเกิดเป็นผืนผ้าหยาบๆ ขึ้น เหมือนการขัดกระดาษหรือการจักสาน เกิดเป็นผ้ากระสอบแบบหยาบๆ

            เราพบหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีที่บริเวณบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เช่น พบกำไล สำริด ซึ่งมีสนิม และมีเศษผ้าติดอยู่กับคราบสนิมนั้น นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สนิมเป็นตัวกัดกร่อนโลหะซึ่งเป็นอนินทรียวัตถุแต่กลับเป็นตัวอนุรักษ์ผ้าซึ่งเป็นอินทรียวัตถุไว้ไม่ให้เสื่อมสลายwbr>wbbr>r ที่แหล่งบ้านเชียงนี้ เรายังพบแวดินเผา ซึ่งเป็นอุปกรณ์การปั่นด้ายแบบง่ายๆ และพบลูกกลิ้งแกะลายสำหรับใช้ทำลวดลายบนผ้าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่ามนุษย์อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเชียงเมื่อ 2,000-4,000 ปีมาแล้ว รู้จักการปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมสีและพิมพ์ลวดลายลงบนผ้าอีกด้วย

เราใช้อะไรเป็นวัตถุดิบในการทอผ้า
วัตถุดิบสำหรับการทอผ้านั้นคงจะมีการพัฒนากันขึ้นมาเป็นลำดับแต่เราก็พอจะสันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดี ีที่พบในประเทศไทยได้ว่า ในสมัยโบราณมนุษย์คงจะได้แสวงหาพืชในท้องถิ่นที่มีเส้นใยแข็งแรง เช่น ปอ ป่าน กัญชา กล้วย สับปะรด มาปั่นเป็นเกลียวเชือกใช้ก่อน ต่อมาจึงนำเชือกมาถักทอเป็นตาข่ายและเป็นผืนผ้าเป็นลำดับเศษใยผ้าที่พบที่บ้านเชียงเชื่อว่าเป็นเศษใยกัญชา การใช้เส้นใยพืชเป็นวัตถุดิบในการทอผ้านี้ ก็ยังมี ผู้คนบางท้องถิ่นในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ทำใช้กันอยู่บ้างในปัจจุบัน เช่น ในภาคเหนือของไทยและในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีการทำผ้าจากใยของป่านกัญชา ซึ่งมีลักษณะเหมือนผ้าลินินอย่างหยาบๆ ในโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ก็มีการทอผ้าจากใยของต้นกล้วย ในบอร์เนียวและในฟิลิปปินส์ก็ยังใช้ใยสับปะรดทอผ้าใช้กันอยู่ ผ้าป่านใยสับปะรดของฟิลิปปินส์ได้มีการพัฒนาเทคนิคการฟอก จนกลายเป็นผ้าป่านแก้วที่ทนทานสวยงามและราคาแพง นิยมใช้กันในสังคมชั้นสูงของฟิลิปปินส์จนถึงทุกวันนี้

            วัตถุดิบอื่นๆ ที่นิยมนำมาใช้ทอผ้า ได้แก่ ไหม ฝ้าย และขนสัตว์นั้น นักวิชาการเชื่อกันว่า มีกำเนิดจากดินแดนอื่นนอกประเทศไทย ไหมนั้นเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วนำไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น อินเดีย รวมทั้งดินแดนต่างๆ ในเอเชีย และยุโรป ส่วนฝ้ายเชื่อกันว่าอาจมาจากอาหรับและเผยแพร่เข้ามาใช้กัน อย่างกว้างขวางในอินเดียก่อน จึงเข้ามาในแถบประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงภายหลัง จนกลายเป็นพืชพื้นเมืองในแถบนี้ไป สำหรับขนสัตว์เป็นวัสดุที่เหมาะกับอากาศหนาว เชื่อกันว่านำมาใช้ทำผ้าในยุโรปตอนเหนือก่อน แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ดินแดนอื่นๆ


          วัตถุดิบที่ใช้ย้อมสีผ้านั้น เชื่อกันว่าคนโบราณรู้จักนำพืชสมุนไพรและเปลือกไม้ที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่นของเรามาใช้ย้อมผ้า และทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ที่สืบทอดและค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้สีธรรมชาติจากพืชมาย้อมผ้ากันอยู่ เช่น นางแสงดา บัณสิทธิ์ ที่บ้านไร่ไผ่งาม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ศิลปินแห่งชาติด้านการย้อมสีธรรมชาติและทอผ้าแบบล้านนาเดิม ในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดสุรินทร์ ก็ยังมีการย้อมผ้าด้วยพืชพื้นบ้านกันในหลายๆ อำเภอ เป็นต้น พืชพื้นบ้านเหล่านี้ สามารถนำเอาดอก ใบ เปลือกไม้ และเมล็ด มาต้มเคี่ยวให้เกิดเป็นสีเข้มขึ้น แล้วนำน้ำสีมาย้อมผ้า เช่น ย้อมรากยอเป็นสีแดง ย้อมครามเป็นสีน้ำเงิน ย้อมมะเกลือเป็นสีดำ ย้อมขมิ้นชันหรือแก่นขนุนเป็นสีเหลือง ย้อมลูกสมอหรือใบหูกวางหรือเปลือกมะกรูดเป็นสีเขียว ย้อมลูกหว้าเป็นสีม่วง ย้อมเปลือกไม้โกงกางเป็นสีน้ำตาล เป็นต้น


อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้ามีอะไรบ้าง

           อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำคัญในการทอก็คือเครื่องทอ ซึ่งคนไทยพื้นบ้านในภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสาน เรียกกันว่า กี่ หรือหูก ภาคใต้เรียกว่า เก
           กี่หรือหูก พัฒนาขึ้นมาจากหลักการเบื้องต้นที่ต้องการให้มีการขัดลายกันระหว่างด้ายเส้นยืนกับด้ายเส้นพุ่ง เป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะให้เกิดเป็นผืนผ้าขึ้น

ด้ายเส้นยืน (บางแห่งก็เรียกเส้นเครือ) จะมีจำนวนกี่เส้นหรือมีความยาวเท่าใดก็ตาม จะต้องมีการขึงให้ตึงและยึดอยู่กับที่ในขณะที่ด้ายเส้นพุ่งจะต้องพันร้อยอยู่กับเครื่องพุ่งซึ่งคน ไทยเรียกว่ากระสวย สำหรับใช้พุ่งด้ายเข้าไปขัดกับด้ายเส้นยืนทุกเส้น และพุ่งกลับไปกลับมาจนเกิดเป็นเนื้อผ้าตามลวดลายและขนาดที่ต้องการ

             เครื่องมือทอผ้าที่ง่ายและมีลักษณะธรรมชาติที่สุดในโลกเห็นจะได้แก่ การผูกด้ายเส้นยืนเข้ากับนิ้วมือข้างหนึ่ง และใช้นิ้วมืออีกข้างหนึ่งพุ่งด้ายเข้าไปถักทอ โดยอาจใช้เข็มหรือกระดูกช่วย วิธีนี้ใช้กันอยู่ในหมู่ชาวอินเดียนแดงในสหรัฐอเมริกา การทอแบบนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ฟิงเกอร์ วีบวิ่ง (finger weaving) หรือทอด้วยนิ้ว ผ้าที่ได้จะมีลักษณะแคบและยาว เช่น ผ้าคาดเอว แต่ก็สามารถนำมาเย็บต่อเป็นเสื้อผ้าได้ เป็นต้น

            ในปัจจุบันนี้ ชาวบ้านในประเทศไทยที่ทอผ้าใช้เองหรือทอขายเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน ต่างนิยมใช้กี่ที่ปรับปรุงให้ทอผ้าได้ง่ายและสะดวกขึ้นกี่ที่ใช้กันอยู่จึงมีโครงไม้ที่แข็งแรง มีที่นั่งห้อยเท้า บางแห่งก็ใช้กี่แบบพื้นบ้านโบราณที่มีโครงไม้ขนาดเล็ก เรียกว่า “ฟืมเล็ก” และใช้

ต่อมาในปี พ.ศ.2478 กระทรวงกลาโหม ได้ตั้งโรงงานทอผ้า สำหรับใช้ในราชการทหารขึ้น เรียกว่า “โรงงานฝ้ายสยาม” เพื่อผลิตเสื้อผ้าและสำลีสำหรับทหาร มีการสั่งเครื่องจักรทอผ้าและฝ้ายจากต่างประเทศเข้ามา นับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการทอผ้าด้วยเครื่องจักรสามารถผลิตผ้าได้จำนวนมาก และไม่ต้องมีลวดลายตามแบบผ้าพื้นบ้าน

การส่งเสริมผ้าพื้นเมืองในอดีตและปัจจุบันเป็นอย่างไร

ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า ในประเทศไทยมีประวัติการทอผ้าใช้กันในหมู่บ้านและในเมืองโดยทั่วไปมาตั้งแต่โบราณกาล แต่การทอผ้าด้วยมือตามแบบดั้งเดิมนั้นก็เกือบจะสูญหายไปโดยสิ้นเชิง หากไม่ได้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาได้ทันกาล ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยเป็น ประเทศเปิด มีการค้าขายกับต่างประเทศมาเป็นเวลานาน สามารถซื้อผ้านอกที่สวยงามแปลกใหม่และราคาถูกได้ง่ายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

            หลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2398 ไทยก็สั่งสินค้าผ้าจากต่างประเทศมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสำรวจพบว่าไทยสั่งผ้าจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ทำให้สิ้นเปลืองเงินตราปีละมาก ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มฟื้นฟูส่ง เสริมการเลี้ยงไหมและทอผ้าไทยกันอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2452 โปรดฯให้สถาปนากรมช่างไหมขึ้น และโปรดฯให้ตั้งโรงเรียนช่างไหมที่วังสระปทุม ซึ่งต่อมาขยายสาขาออกไปยังจังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ ทรงจ้างครูชาวญี่ปุ่นมาสอนชาวบ้าน แต่การส่งเสริมได้ผลไม่คุ้มทุน ต่อมาจึงเลิกจ้างครูญี่ปุ่นและชาวบ้านก็หันมาทอผ้าตามวิธีพื้นบ้านเช่นเดิม

          เห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ ผ้าพื้นเมืองของไทยในภาคต่าง ๆ กำลังได้รับการส่งเสริมให้นำมาใช้สอน      ในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวางมาก        ดังนั้นจึงเกิดมีการผลิตผ้าพื้นเมืองในลักษณะอุตสาหกรรมโรงงาน โดยมีบริษัทจ้างช่างทอ     ทำหน้าที่ทอผ้าด้วยมือตามลวดลายที่กำหนดให้   โรงงานหรือบริษัทจัดเส้นไหมหรือเส้นด้ายที่ย้อมสีเสร็จแล้วมาให้ทอ เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพ บางแห่งจะมีคนกลางรับซื้อผ้าจากช่างทออิสระซึ่งเป็นผู้ปั่นด้าย ย้อมสี และทอตามลวดลายที่ต้องการเองที่บ้าน      แต่คนกลางเป็นผู้กำหนดราคาตามคุณภาพและลวดลายของผ้าที่ตลาดต้องการ     ในบางจังหวัดมีกลุ่มแม่บ้านช่างทอผ้า  ที่รวมตัวกันทอผ้าเป็นอาชีพเสริมและนำออกขายในลักษณะสหกรณ์ เช่น กลุ่มทอผ้าของศิลปชีพ อย่างไรก็ตามในสภาพที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เป็นการทอเพื่อขายเป็นหลัก ดังนั้นจึงได้มีการปรับปรุงพัฒนาสีสัน คุณภาพ และลวดลายให้เข้ากับรสนิยมของตลาด

การทอผ้าแบบพื้นบ้าน พื้นเมืองในภูมิภาคต่างๆเป็นอย่างไร

            ในปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองหลายแห่งยังทอลวดลาย สัญลักษณ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะในชุมชนที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์บางกลุ่มที่กระจายตัวกันอยู่ในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ศิลปะการทอผ้าของกลุ่มชนเหล่านี้จึงนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มอยู่จนถึงทุกวันนี้ หากจะแบ่งผ้าพื้นเมืองของกลุ่มชนเหล่านี้ตามภาคต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ก็อาจจะแบ่งคร่าว ๆ ได้ดังนี้


1. การทอผ้าในภาคเหนือแถบล้านนาไทย (จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน) โดยเฉพาะในกลุ่ม ชาวไทยโยนกหรือไทยยวน และชาวไทยลื้อ ซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมของล้านนาไทย มีความเชื่อเรื่องการตั้งถิ่นฐานในสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขาและมีทางน้ำไหล ผู้หญิงไทยยวนและไทยลื้อในปัจจุบันนี้ยังรักษาวัฒนธรรมการทอผ้าในรูปแบบและลวดลายที่สืบทอดกันมา โดยเฉพาะการทอซิ่นตีนจก ผ้าขิต และผ้าที่ใช้เทคนิค “เกาะ”      เป็นต้น
การทอผ้าไหมยกดอกและการทอซิ่นไหมต่อตีนจกยกดิ้นเงินดิ้นทองนั้น รู้จักกันในหมู่เจ้านายชั้นสูงในภาคเหนือ ซึ่งได้ฝึกอบรมให้หญิงชาวบ้านตามหมู่บ้านหลายแห่ง เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน รู้จักทอจนทำกันเป็นอุตสาหกรรมในหมู่บ้านหลายแห่งจนถึงทุกวันนี้

2. การทอผ้าในภาคกลาง ในภาคกลางตอนบน (จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ และสุโขทัย) และภาคกลางตอนล่าง (จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ) มีกลุ่มชนชาวไทยยวนและชาวไทยลาว อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในช่วงต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ไทย พวกไทยลาวนั้นมีหลายเผ่า เช่น พวน โซ่ง ผู้ไท ครั่ง ฯลน ซึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้ามาเพราะสงครามหรือสาเหตุอื่น ๆ คนไทย พวกนี้ยังรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ได้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าของผู้หญิงที่ใช้เทคนิคการทำตีนจก และขิต เพื่อตกแต่งเป็นลวดลายบนผ้าที่ใช้นุ่งในเทศ กาลต่าง ๆ หรือใช้ทำที่นอน หมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า ฯลฯ แม้ว่าในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไปมาก คนไทยเหล่านี้ก็ยังยึดอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพรองต่อ จากการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก และเช่นเดียวกันกับผ้าในภาคเหนือ ลวดลายที่ตกแต่งบนผืนผ้าที่ทอโดยกลุ่มชนต่างเผ่ากันในภาคกลางนี้ก็มีลักษณะและสีสันแตกต่าง กันจนผู้ที่ศึกษาคุ้นเคยสามารถจะระบุแหล่งที่ผลิตผ้าได้จากลวดลายและสี

3. การทอผ้าในภาคอีสาน ในภาคอีสานมีชุมชนตั้งถิ่นฐานโดยอาศัยบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์จากลำห้วย หนองบึง หรือแม่น้ำ กลุ่มคนไทย เชื้อสายลาวเป็นชนกลุ่มใหญ่ของภาคอีสาน กระจายกันอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ และมีวัฒนธรรมการทอผ้าอันเป็นประเพณีของผู้หญิงที่สืบทอดกันมาช้านานเกือบทุกชุมชน แต่ละกลุ่มแต่ละเผ่าก็จะมีลักษณะและลวดลายการทอผ้า ที่แปลกเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่ ผ้าขิต และผ้าไหมหางกระรอก

4. การทอผ้าในภาคใต้ ภาคใต้มีแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง โดยเฉพาะแหล่งทอผ้ายกดิ้นเงินดิ้นทอง ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากชาวมุสลิม ชาวอาหรับ ที่มาค้าขายตั้งแต่สมัยโบราณ และต่อมาผ้ายกเงินยกทองได้กลายเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของอาณาจักรไทยในภาคกลาง บรรดาพวกเจ้าเมืองและข้าราชการหัวเมืองภาคใต้จึงต่างสนับสนุนให้ลูกหลานและชาวบ้านทอกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา และที่ตำบล พุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ล้วนเคยเป็นแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงมากในอดีต เป็นที่กล่าวขวัญถึงและนิยมกันมากในหมู่ขุนนางสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันผ้ายกเมืองนคร มีผู้บริจาคให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช และจัดแสดงให้ประชาชนชมอยู่ในห้องผ้าของพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก แต่ช่างทอที่มีชื่อเสียงเสียชีวิตไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และมีผู้สืบทอดความรู้ไว้น้อยมาก จึงไม่มีการทอกันเป็นล่ำเป็นสันเหมือนสมัยโบราณ

ลวดลายและสัญลักษณ์ในผ้าไทยเป็นอย่างไร

            ผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยที่ทอกันตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยลวดลายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งผู้ใช้ผ้าในยุคปัจจุบันอาจไม่เข้าใจความหมายและมองไม่เห็นคุณค่า
            ลวดลายและสัญลักษณ์เหล่านี้ บางลายก็มีชื่อเรียกสืบต่อกันมาหลายชั่วคน บางชื่อก็เป็นภาษาท้องถิ่นไม่เป็นที่เข้าใจของรนไทยในภาคอื่น ๆ เช่น ลายเอี้ย ลายบักจัน ฯลฯ บางชื่อก็เรียกกันมาโดยไม่รู้ประวัติ เช่น ลายแมงมุม ลายปลาหมึก ซึ่งแม้แต่ผู้ทอก็อธิบายไม่ได้ ว่าทำไมจึงเรียกชื่อนั้น บางลวดลายก็มีผู้ตั้งชื่อให้ใหม่ เช่นลาย “ขอพระเทพ” เป็นต้น สัญลักษณ์และลวดลายบางอย่างก็เชื่อมโยงกับคติและความเชื่อของคนไทยพื้นบ้านที่นับถือสืบต่อกันมาหลาย ๆ ชั่วอายุคน และยังสามารถเชื่อมโยงกับลวดลายที่ปรากฏอยู่ในศิลปะอื่น ๆ เช่น บนจิตรกรรมฝาผนัง และสถาปัตยกรรม หรือบางทีก็มีกล่าวถึงใน ตำนานพื้นบ้าน และในวรรณคดี เป็นต้น
            บางลวดลายก็เป็นคติร่วมกับความเชื่อสากลและปรากฏอยู่ในศิลปะของหลายชาติ เช่น ลายขอหรือลายก้นหอย เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นลายเก่าแก่แต่โบราณของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก หากเรารู้จักสังเกตและศึกษาเปรียบเทียบแล้วก็จะเข้าใจลวดลายและสัญลักษณ์ในผ้าพื้นเมืองของไทยได้มากขึ้น และมองเห็นคุณค่าได้ลึกซึ้งขึ้น

ลวดลายต้นแบบ สามารถแบ่งเป็นอะไรบ้าง

1. ลายเส้นตรง หรือเส้นขาด ในทางตรงยาวหรือทางขวาง เส้นเดียว หรือหลาย ๆ เส้นขนานกัน ลายเส้นตรงทางขวางเป็นลายผ้าที่ใช้กันทั่วไปในแถบล้านนาไทยมาแล้วแต่โบราณ จะเห็นได้จากจิตรกรรมวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน และวิหารลายดำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
ลายเส้นตรงทางยาวมักพบในผ้านุ่งของคนไทยกลุ่มลาวโซ่ง ลาวพวน เป็นต้น ในภาคอีสานลายเส้นตรงยาวสลับกับลายอื่น ๆ จะปรากฏอยู่ในผ้ามัดหมี่ทั้งไหมและฝ้าย และบ่อยครั้งเราจะพบผ้ามัดหมี่อีสาน เป็นลายเส้นต่อที่มีลักษณะเหมือนฝนตกเป็นทางยาวลงมา หรือที่ประดับอยู่ในผ้าตีนจกเป็นเส้นขาดเหมือนฝนตก หรือลายเส้นขาดขวางเหมือนเป็นทางเดินของน้ำ เป็นต้น

2. ลายฟันปลา ลายนี้ปรากฏอยู่ตามเชิงผ้าของตีนจกและผ้าขิต ตลอดจนเป็นลายเชิงของซิ่นมัดหมี่ของผ้าที่ทอในทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ชาวบ้านทางภาคอีสานเรียกว่า “ลายเอี้ย” ลายฟันปลา อาจจะปรากฏในลักษณะทางขวางหรือทางยาวก็ได้ บางครั้งจะพบผ้ามัดหมี่ที่ตกแต่งด้วยลายฟันปลาทั้งผืนก็มี นอกจากนี้ผ้าของชาวเขาเผ่าม้งทางภาคเหนือ จะใช้ลายฟันปลาประดับผ้าอยู่บ่อย ๆ

3. ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือลายกากบาท เกิดจากการขีดเส้นตรงทางเฉียงหลาย ๆ เส้นตัดกัน ทำให้เกิดกากบาท หรือตารางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหลาย ๆ รูปติดต่อกัน ลายนี้พบอยู่บนผ้าจก ผ้าขิต และผ้ามัดหมี่ โดยทั่วไปทุกภาคของไทย ในลาว และอินโดนีเซีย และบนพรมตะวันออกกลาง ยังพบบนลวดลายผ้าของชาวเขาเผ่าม้ง กะเหรี่ยง ในประเทศไทย และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย
4. ลายขดเป็นวงเหมือนก้นหอย หรือตะขอ ลายนี้พบอยู่ทั่วไปเช่นกัน บนผ้าจก ผ้าขิต และผ้ามัดหมี่ของทุกภาค ชาวบ้านภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า “ลายผักกูด” ซึ่งเป็นชื่อของพืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง ในซาราวัคของประเทศมาเลเซีย ก็เรียกว่าลาย “ผักกูด” เช่นกัน
ลวดลายต้นแบบทั้ง 4 ลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นลวดลายที่มีในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัตศาสตร์ และยังพบว่าเป็นลวดลายที่ตกแต่งอยู่บนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ขุดพบที่โคกพนมและที่บ้านเชียงอีกด้วย

ลวดลายที่พัฒนาจนสื่อควมหมายได้มีอะไรบ้าง

         
จากลวดลายต้นแบบข้างต้น ซึ่งเป็นลายง่าย ๆ ที่มนุษย์อาจจะคิดขึ้นโดยธรรมชาติ ได้มีการพัฒนาประดิษฐ์เสริมต่อจนเป็นรูปร่างที่ชัดเจนขึ้นจนผู้ดูสามารถเข้าใจความหมายได้ ลวดลายที่พัฒนาจนสื่อความหมายได้มีปรากฏอยู่ในผ้าพื้นเมืองของไทยอย่างมากมาย


1. จากเส้นตรง/เส้นขาด ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลายที่เกี่ยวกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์ต่าง ๆ ในชุมชนเกษตรกรรม

2. ลายฟันปลา ได้มีการพัฒนาเป็นรูปต่าง ๆ

3. กากบาทและขนมเปียกปูน ได้มีการพัฒนาเป็นรูปลายต่าง ๆ รูปขนมเปียกปูนภายในบรรจุรูปดาว 8 เหลี่ยม และภายในของดาว 8 เหลี่ยม มักจะมีกากบาทเส้นตรงอยู่ หรือบางทีก็ย่อลงเหลือขนมเปียกปูน กากบาทนั้นเป็นลายที่พัฒนาที่พบเห็นบ่อย ๆ ในตีนจก และขิตของล้านนา และในมัดหมี่ของภาคอีสาน นอกจากนี้ยังพบในผ้าของหลายประเทศ เชื่อกันว่าลวดลายดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์หรือโคมไฟ ในภาคอีสานเรียกลายนี้ในผ้ามัดหมี่ว่า ลายโคม ลายนี้มีลักษณะขนมเปียกปูนผสมกับลายขอหรือขนมเปียก มีขายื่นออกมา 8 ขา พบในผ้าตีนจก หรือขิต และมัดหมี่ เรียกชื่อกันต่าง ๆ เช่น ลายแมงมุม หรือลายปลาหมึก บางทีลายนี้อาจจะมีขาเพียง 4 ขา เรียกว่า ลายปู ปรากฏบนผ้ายกดอกหรือผ้ามัดหมี่ ซึ่งบางแห่งนิยมเรียกว่า ลายดอกแก้ว หรือลายดอกพิกุล

4. จากลายตัวขอหรือก้นหอย ได้มีคนนำมาเป็นลายต่าง ๆ เช่น ลายนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปบนผ้าจก และขิตของไทยลื้อในภาคเหนือและบนลายมัดหมี่ของภาคอีสาน มักจะเรียกว่า ลายขอ หรือขอนาคเพราะต่อ ๆ มาพัฒนาเป็นลายนาคเกี้ยว หรือลายนาคชูสน เป็นต้น
ลายนี้ปรากฏบนผ้าตีนจกของล้านนาเกือบทุกผืนมักจะเข้าใจว่าเป็นนก หรือหงส์ หรือห่าน และมักจะปรากฏอยู่เป็นคู่ ๆ โดยมีลายเหมือนฝนตกอยู่ข้างบน และมีลายภูเขาหรือลายน้ำไหลอยู่ข้างล่างด้วยลายนกนี้ยังปรากฏบนผ้าของไทยลื้อ เช่นผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น

ใส่ความเห็น