ตะกร้าหวายลายพิกุล

ตะกร้าหวายลายพิกุล จ.พระนครศรีอยุธยา

 

เครื่องจักสาน เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยที่มีมาช้านานและผลิตกันทุกภาค ภาคของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น หวาย ไม้ไผ่ ย่านลิเพา กระจูด กก ฯลฯ เมื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องมือใช้ในชีวิตประจำวัน โดยสนองความต้องการประโยชน์ใช้สอยพื้นฐานเป็นสำคัญ เครื่องจักสานจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และมีความสำพันธ์อย่าง ใกล้ชิดกับวิถีของคน ไทยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีการสร้างสรรค์ และ สืบทอดต่อเนื่องกันมาแต่อดีต นับตั้งแต่การออกแบบลวดลาย รูปทรง โครงสร้าง ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุพื้นบ้านได้อย่างเหมาะสมตามคตินิยมท้องถิ่นนั้นๆ ทำให้เครื่องจักสานพื้นบ้านของไทยมีเอกลักษณ์ เฉพาะงานแตกต่างกันไป

เครื่องจักสาน ทำจากวัสดุที่เปื่อยสลายและผุพังได้ง่ายจึงไม่สามารถกำหนดอายุได้แน่นอน แม้หลักฐานที่หลงเหลืออยู่จะพบน้อยกว่าเครื่องปั้นดินเผา แต่มีการทำเครื่องจักสานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่อง คือ ได้พบเครื่องปั้นดินเผาสมัยใหม่ ลักษณะรูปทรงคล้ายเครื่องจักสานรูปสี่เหลี่ยมปากรูปกลมลวดลายด้านข้างมีลักษณะคล้ายคลึงกับลวดลายเครื่องจักสาน ทำขึ้นด้วยวิธียาดินเหนียวภายนภาชนะเครื่องจักสานให้หนาพอแล้วนำมาเผาเมื่อเผาเสร็จแล้ว ภาชนะจักสานจะถูกเผาไหม้หายไปเหลือแต่ภาชนะดินเผาที่มีลวดลายจักรสานปรากฏอยู่ที่พื้นผิว

เครื่องจักสานพื้นฐานของไทยส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการจักสาน นอกนั้นยังมีวัสดุอื่น ๆ ตามท้องถิ่นแต่ละภาคของไทย เช่น กก หวาย ใบลาน คล้า คลุ้ม กระจูด แหย่ง เตย ลำเจียก ย่านลิเพา ใบมะพร้าว เป็นต้น วัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดลวดลายและรูปทรงเครื่องจักสานมีลักษณะเฉพาะ ตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆอีกด้วย

กลุ่มตะกร้าหวายลายพิกุล ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 27/1 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นกลุ่มอาชีพที่รวบรวมช่างฝีมือพื้นบ้าน ประเภทเครื่องจักสานตะกร้าหวาย ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นช่างฝีมือพื้นบ้านที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 คน รวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ “กลุ่มตะกร้าหวายลายพิกุล” จัดตั้งเมื่อ ปี 2538 โดยมี นางทองสุข สุขเกษม เป็นประธานกลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อนำภูมิปัญญาไทยด้านการจักสาน ลวดลายต่างๆ มาประกอบกับการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านการจักสานสืบทอดไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป

กลุ่มตะกร้าหวายลายพิกุล ได้มีการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการจักสาน โดยฝึกสอนให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นและผู้สนใจทั่วไป พร้อมทั้งมีการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานประเภทต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย เช่น ตะกร้าหวายลายพิกุล และกล่องใส่กระดาษชำระลายพิกุล เนื่องจากงานฝีมือจักสานของกลุ่ม ใช้กรรมวิธีในการผลิตแบบโบราณ โดยใช้ช่างฝีมือพื้นบ้านโดยแท้ ใกล้จะสูญหาย หาผู้สืบทอดได้ยาก การผลิตแต่ละชิ้นมีความละเอียดอ่อน ต้องใช้ความชำนาญ ความอดทน ใช้เวลาในการผลิตนาน เนื่องจากเป็นงานที่ละเอียด ประณีต สวยงาม มีคุณภาพ มีรูปแบบที่ทันสมัย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมายทั่วไป และได้รับการรับรองจากสถาบันต่างๆ

กลุ่มตะกร้าหวายลายพิกุล เป็นกลุ่มอาชีพที่ผลิตเครื่องจักสาน จากช่างฝีมือพื้นบ้าน ในชุมชนตำบลหัวเวียง และมีการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการจักสาน ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์ดังนี้

1. ฝึกสอนให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น และผู้สนใจ ได้เรียนรู้และฝึกหัดการจักสาน ผลิตภัณฑ์ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาด้านการจักสาน ให้คงไว้สืบต่อไป ไม่สูญหาย

2. สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน

3. ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานของกลุ่มจักสานตะกร้าหวายลายพิกุล เป็นเอกลักษณ์ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้บุคคลทั่วไป รู้จักงานฝีมือจักสานของบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้

1. ต้นหวาย

2. เหล็กหมาด

3. กรรไกรตัดเล็บ

4. มีดจักตอก

5. ดินสอ

6. คีม

7. เรียด

8. รองหรือแบบขึ้นรูปตะกร้า

9. ตะปูทองเหลือง

10. ค้อน

11. มีดเล็ก

12. น้ำ

13. ผ้าไหม

 

ขั้นเตรียมการ

1. เตรียมต้นหวาย นำมาจัก หรือผ่าหวาย ตามขนาดที่ต้องการ แล้วนำหวายไปชัดเรียด ให้ได้ขนาดของเส้นหวาย ขนาดใหญ่/แบน/กลม/แบนเล็ก/แบนใหญ่

2. เตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ ได้แก่ เหล็กหมาด กรรไกรตัดเล็บ มีด คีม ตะปู น้ำ ฯลฯ

 

ขั้นตอนการผลิต

1. ตัดก้น คือ ขั้นตอนการนำหวายทั้งต้นมาโค้งตามแบบที่ต้องการจะทำ

2. ขึ้นตะกร้า (จะใช้ลายขัด) คือการนำหวายที่เตรียมไว้มาสานเป็นลายขัด กับหวาย ที่ตัดก้นไว้ และจะมีหวายที่เป็นเส้นยืนหรือเส้นตั้ง หรือดิ้ว

3. การเข้าแบบหรือเข้ารอง คือการนำแบบหรือรองที่เตรียมไว้มาใส่ก้นตะกร้าที่เตรียมไว้ แล้วสานตามแบบ และจะมีเส้นหลักเรียกว่าดิ้ว เพื่อจะใช้หวายที่เตรียมไว้สานเป็นลาย

4. การสาน คือ ขั้นตอนที่ต้องใช้ความละเอียดมากที่สุด สานตามลายที่ต้องการ โดยจะมี เส้นตอกสองชนิด คือ ตอกยืน (ตอกตั้งหรือดิ้ว) และตอกนอน (ตอกสาน)

5. การสาน หรือเม้นปาก คือ ขั้นตอนที่สานเป็นลายจนได้ตะกร้าตามต้องการ แล้วพับดิ้ว ที่เหลือลงมาและถักปากเพื่อเก็บความเรียบร้อย

6. ใส่ขอบ คือ ขั้นตอนที่ถักปากเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำหวายเป็นต้นขนาดเดียวกับที่ดีดก้น มาโค้งทำเป็นของปากกระเป๋า แล้วถักเป็นลายปลาช่อน

7. เตรียมหู ใส่หู คือ การนำหวายเป็นต้นมาดัด แล้วโค้งเพื่อจะทำเป็นหู และใช้หวาย ที่เป็นผิวของหวาย ขนาดตามที่เตรียมไว้มาถักรอบหู เป็นลายปลาช่อน ให้สวยงาม

8. ทาน้ำมันชักเงา คือ การนำน้ำมันมาทาตะกร้าที่สานเสร็จแล้ว เพื่อให้ตะกร้าแข็งแรง ไม่ขึ้นรา มีความทนทาน

9. บุผ้าไหมด้านใน คือ ขั้นตอนที่นำตะกร้าที่สานเสร็จแล้วไปบุผ้าไหมรองภายในตะกร้า และจับจีบปากตะกร้า ให้เกิดความสวยงาม และเพิ่มมูลค่าของตะกร้าให้สูงขึ้นเหมาะสมในการใช้สอย

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตะกร้าหวายลายพิกุล เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากงานฝีมือจักสานที่ใช้ กรรมวิธีในการผลิตแบบโบราณ โดยใช้ช่างฝีมือพื้นบ้านโดยแท้ ต้องใช้เวลาและความชำนาญในการผลิต ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจึงมีความละเอียดอ่อน ประณีต สวยงาม มีรูปแบบที่ทันสมัย และมีคุณภาพ ทำให้ เป็นที่ต้องการของตลาด

ใส่ความเห็น