เครื่องปรับอากาศขนาดเล็กที่ใช้ติดตั้งในบ้านพักอาศัยและสำนักงานทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วเป็นแอร์ที่ใช้น้ำยาในการทำความเย็นค่ะ โดยสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะการติดตั้งได้ เช่น

  • แบบติดตั้งผนัง (Wall Type)

  • แบบแขวนใต้ฝ้า/ แบบตั้งได้แขวนได้ (Ceiling Exposed Type/ Convertible Type)

  • แบบฝังในฝ้าลม 4 ทิศทาง (Cassette Type)

  • แบบเปลือยซ่อนในฝ้า/ แบบต่อท่อลม (Ceiling Conceal Type/ Duct Type)

  • แบบตู้ตั้ง (Floor Standing Type)

ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศนั้น จะสามารถแบ่งส่วนประกอบของระบบออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

  1. ส่วนที่อยู่ภายในอาคาร (Indoor) หรือเรียกว่า ชุดคอยล์เย็น / แฟนคอยล์ยูนิต (Fan Coil Unit: FCU)

  2. ส่วนที่อยู่ภายนอกอาคาร (Outdoor) หรือเรียกว่า ชุดคอยล์ร้อน / คอนเดนซิ่งยูนิต (Condensing Unit: CDU)

ซึ่งการทำงานของแต่ละส่วนก็จะมีลักษณะการทำงาน คือ ชุดคอยล์เย็นจะทำหน้าที่ดูดซับความร้อนภายในห้องเพื่อให้อุณหภฺมิลดลง ส่วนชุดคอลย์ร้อนจะมีหน้าที่ระบายความร้อนของสารความเย็น ซึ่งหลักการทำความเย็นหรือกลไลการทำงานของระบบเครื่องปรับอากาศสามารถอ่านต่อได้ที่นี่

ในส่วนชุดคอยล์เย็น (แฟนคอยล์ยูนิต) และส่วนชุดคอยล์ร้อย (คอนเดนซิ่งยูนิต) นั้น ก็มีส่วนประกอบสำคัญที่จำเป็นต่อระบบดังนี้ค่ะ

แผ่นกรองอากาศ / แผงกรองฝุ่น/ ฟิลเตอร์ (Filter) ในแอร์ทุกเครื่องจำเป็นต้องมีแผ่นกรองอากาศหรือฟิลเตอร์ เพราะฟิลเตอร์จะทำหน้าที่เป็นด่านแรกที่จะกรอกอากาศ โดยจะดักจับฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศไม่ให้ผ่านเข้าไปยังตัวแผงขดท่อคอยล์เย็นและเป่ากลับเข้าไปสู่บรรยากาศภายในห้องได้อีก

แผงขดท่อคอยล์เย็น (Cooling Coil) แผงขดท่อคอยล์เย็น คือตัวสร้างความเย็น มีรูปร่างเป็นเส้นท่อขดไปมาตามความยาวของเครื่อง และจะมีแผ่นครีบอลูมิเนียมบางๆ หุ้มขดท่อเหล่านั้นอยู่ ภายในแผงท่อทำความเย็นจะมีสารทำความเย็นไหลเวียนอยู่เพื่อรับลมจากใบพัดและส่งลมเย็นออกไป

ใบพัดลมคอยล์เย็น (Blower) ใบพัดลมคอยล์เย็น หรือ โบลเวอร์ ทำหน้าที่หมุนเวียนอากาศในห้อง โดยได้กำลังมาจากมอเตอร์ไฟฟ้า

ถาดรองรับน้ำทิ้งและท่อน้ำทิ้ง (Condensate Tray & Drain Line) เป็นอุปกรณ์สำหรับรองรับน้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำของไอน้ำในอากาศภายในห้อง น้ำที่เกิดขึ้นนี้จะไหลไปรวมกันที่ถาดรองรับน้ำและถูกระบายทิ้งโดยผ่านทางท่อน้ำทิ้ง

หน้ากากรับลมและหน้ากากกระจายลม (Louver) เป็นอุปกรณ์รับลมและกระจายลมเย็นไปยังพื้นที่ต่างๆ ภายในห้อง

คอมเพรสเซอร์ (Compressor) เป็นหัวใจของระบบปรับอากาศ ทำหน้าที่ดูดสารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์ในสถานะที่เป็นแก็ส (แรงดันต่ำ) ซึ่งเกิดจากการระเหยภายในคอลย์เย็น แล้วทำการอัดให้เป็นไอ (แรงดันสูง) ส่งไปยังแผงท่อระบายความร้อนต่อ

แผงท่อระบายความร้อน (Condensing Coil) เชื่อมต่อกับคอมเพรสเซอร์มีเป็นลักษณะเป็นท่อตะแกรง ทำหน้าที่ระบายความร้อนของน้ำยาที่ส่งมาจากคอมเพรสเซอร์ออกสู่ภายนอก

พัดลมระบายความร้อน (Condensing Fan) อยู่ด้านหลังแผงท่อระบายความร้อน ทำหน้าที่ดูดอากาศจากภายนอกอาคารเข้ามาผ่านแผงท่อระบายความร้อน เพื่อให้น้ำยาแอร์เย็นลง และกลั่นตัวกลายเป็นของเหลวอีกครั้ง

อุปกรณ์ควบคุมสารทำความเย็น (Metering Device) ทำหน้าที่ควบคุมการป้อนสารทำความเย็น

อุปกรณ์ควบคุมการทำงาน (Remote Control) เป็นอุปกรณ์ควบคุมเครื่องปรับอากาศจากระยะไกล ทำหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิดเครื่อง ตั้งค่าอุณหภูมิห้อง ความเร็วพัดลม เป็นต้น โดยตัวควบคุมการทำงานนี้ นอกจากการควบคุมจากระยะไกลด้วยรีโมทไร้สาย (Wireless Remote) แล้ว ยังมีการทำงานด้วยระบบมีสาย (Wired Remote) ทั้งแบบหน้าจอดิจิตอลและแบบแมนนวล เป็นต้น