พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย

ร่วมเฉลิมฉลองวันพิพิธภัณฑ์ไทย ตรงกับวันที่ 19 กันยายน ของทุกปี ทราบหรือไม่ว่า…พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทยอยู่ที่ไหนกันนะ และมีความเป็นมาอย่างไร?

🔸หลังจาก “ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ” เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2507 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2507

🔸สภาคณะปฏิวัติมีมติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2514 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นแหล่งสาธิตและส่งเสริมการเรียนการสอน และเพื่อเป็นศูนย์รวบรวมตัวอย่างผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปเข้าชมและศึกษา

🔸จากนั้นมีการอนุมัติให้ออกแบบและก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2518 ดำเนินการออกแบบโดย บริษัท สุเมธ ลิขิต ตรี และสหาย จำกัด มีผู้รับจ้างก่อสร้าง คือบริษัท ร่วมใจวิศวกรรม จำกัด แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520

🔸และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ในการนี้ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชโองการ ความว่า “ผู้รู้จักคิดพิจารณาย่อมแสวงหาความรู้และความคิดจากพิพิธภัณฑ์นี้ ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ไม่รู้จบสิ้น” จารึกไว้บนแท่นศิลาด้านหน้าของอาคารด้วย

🔸ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ วาระที่ 2 เป็นการก่อสร้างต่อเติมอาคารและปรับปรุงบริเวณโดยรอบ ดำเนินการออกแบบโดย บริษัท สถาปนิก สุเมธ ชุมสาย จำกัด ซึ่งมี ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) พ.ศ. 2541 เป็นเจ้าของบริษัท ผู้รับจ้างก่อสร้าง คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี เอ เอ็น ซี

🔸อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มีการออกแบบที่ล้ำสมัยและโดดเด่นในช่วงเวลาข้างต้น ได้ทำหน้าที่เป็นสถานที่แสดงนิทรรศการและจัดกิจกรรม ให้บริการความรู้และสร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน รวมทั้งประชาชนทั่วไป กว่า 11,000,000 คน นับตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันมากกว่า 40 ปี

🔸ปัจจุบันอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีชื่อเล่นว่า “อาคาร 2” หลังจากปิดซ่อมแซมและปรับปรุงระบบต่าง ๆ ของอาคารในปี พ.ศ. 2563 ได้กลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา คงคุณค่าและความงดงามแห่งสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย

📸อย่าลืมไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทยกันนะ 🚗🚗🚗

ที่มา : ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา

#ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา(ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) #กรมส่งเสริมการเรียนรู้ #พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย #วันพิพิธภัณฑ์ไทย