ราคา ‘แร่ยูเรเนียม’ อาจแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี เนื่องจากหลายประเทศหันมาใช้ ‘พลังงานนิวเคลียร์’ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เยอรมนี
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ EON ในรัฐบาวาเรีย เยอรมนี
ยูเรเนียม ถือเป็นวัสดุสำคัญในการผลิต พลังงานนิวเคลียร์ และความต้องการก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน เนื่องจากหลายประเทศพยายามเลิกใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมถึงยังต้องลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย แต่ปัจจุบัน ปริมาณแร่ยูเรเนียมกำลังจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ

Kazatomprom บริษัทขุดแร่ยูเรเนียมถึง 43% ของโลก ได้ออกมาเตือนเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัทมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผลิตแร่ยูเรเนียมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จนถึงปี 2568 เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้างและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมของ กรดซัลฟิวริก ซึ่งเป็นกรดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการสกัดยูเรเนียมออกจากแร่ดิบ นอกจากนี้ บริษัท Cameco ก็เป็นอีกรายที่แจงว่าการผลิตจะลดลง ในขณะที่บริษัท Orano ได้ปิดกิจการในไนเจอร์แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลด้านอุปทานเพิ่มเติม เนื่องจาก รัสเซีย อาจตอบโต้เพื่อตอบสนองต่อข้อเสนอกฎหมายของสหรัฐฯ ที่จะห้ามการนำเข้ายูเรเนียมเสริมสมรรถนะของรัสเซีย และรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตยูเรเนียมรายใหญ่ อันดับ 6 และเป็นประเทศเสริมสมรรถนะที่ใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ดึงเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จากแร่ยูเรเนียมได้ง่ายขึ้น

“เราอยู่ในช่วงกลางของโครงการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แต่ก็เป็นช่วงที่มีอุปทานไม่เพียงพอเช่นกัน” Guy Keller ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของบริษัทการลงทุนและที่ปรึกษา Tribeca กล่าว

เนื่องจากปัญหาขาดแคลนดังกล่าว ทำให้ ราคายูเรเนียมสูงขึ้น โดยยูเรเนียมพุ่งขึ้นสู่ระดับ สูงสุดในรอบ 16 ปี ตามข้อมูลจาก UxC พบว่า ราคายูเรเนียมซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 106 ดอลลาร์ต่อปอนด์ และนักวิเคราะห์คาดว่าราคาจะยังคงปรับตัวขึ้นต่อไป โดยซิตี้แบงก์คาดว่าราคายูเรเนียมจะเฉลี่ยอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อปอนด์ในปี 2568 และราคาจึงดูเหมือนจะทะลุระดับสูงสุดตลอดกาลในเดือนมิถุนายน 2550 ที่ 136 ดอลลาร์ต่อปอนด์

ทั้งนี้ ยูเรเนียมเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ และความต้องการก็เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศพยายามเลิกใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน และลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย ปัจจุบัน เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประมาณ 60 เครื่องอยู่ระหว่างการก่อสร้างใน 17 ประเทศ และอีก 110 เครื่องอยู่ในขั้นตอนการวางแผน โครงการส่วนใหญ่ที่กำลังดำเนินการอยู่ในเอเชียโดยเฉพาะ จีน

ในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP28 มีประเทศมากกว่า 60 ประเทศ สนับสนุนแผนเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกสามเท่าภายในปี 2573 โดยนำพลังงานนิวเคลียร์กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในฐานะแหล่งพลังงานทางเลือก

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าวอาจทำให้ประเทศที่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์อย่างมากอาจจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง อาทิ ฝรั่งเศส ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าถึง 70% จากพลังงานนิวเคลียร์และเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงมากที่สุด ยังไม่ได้รับการขนส่งยูเรเนียมใหม่จากไนเจอร์นับตั้งแต่ปีที่แล้ว

Source