จุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ วันลอยกระทงเสี่ยงบาดเจ็บรุนแรง

จุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ วันลอยกระทงเสี่ยงบาดเจ็บรุนแรง

View icon 83
วันที่ 22 พ.ย. 2566 | 17.39 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ระวัง! สถิติสุดเศร้า จุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ช่วงวันลอยกระทง เสี่ยงบาดเจ็บรุนแรง สูญเสียอวัยวะสำคัญ พบเด็กอายุระหว่าง 15 ปี บาดเจ็บมากที่สุด

วันนี้ (22 พ.ย.66) จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล ช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อน ระหว่าง และหลังวันลอยกระทง) ในปี 2563–2565 พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 112 ราย

กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ 15–29 ปี ร้อยละ 32.1 รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1–14 ปี ร้อยละ 25.9 โดยอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุด คือ ข้อมือและมือ ร้อยละ 36.6 รองลงมา คือ ศีรษะ ร้อยละ 17 ส่วนใหญ่มีแผลเปิดที่ศีรษะ ร้อยละ 42.1 และได้รับบาดเจ็บที่ตา ร้อยละ 26.3

ด้านนายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า หน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่ลอยกระทง ควรมีมาตรการ ดังนี้ 1.กำหนดพื้นที่หรือบริเวณสำหรับลอยกระทงให้ชัดเจน โดยเว้นระยะห่าง จัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ต้องทำรั้วหรือสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันเด็กตกลงไปในน้ำ 2.ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคน ตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะ ๆ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ และเขียนป้ายบอกวิธีการใช้  3.จัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอ 4.จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่องและช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

ส่วนคำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ มีดังนี้ 1.ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว 2.สอนให้เด็กรู้ว่าพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตราย อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 3.ไม่ควรเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ติดมาเล่น หรือจุดซ้ำเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการระเบิดได้ 4.หากจำเป็นต้องจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในงานพิธีต่าง ๆ ควรอ่านคำแนะนำ อย่างละเอียด และอยู่ห่างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ข่าวที่เกี่ยวข้อง