xs
xsm
sm
md
lg

กะเทาะเปลือก “ปางช้างแม่แตง” ต้นแบบโมเดิร์นธุรกิจเติบโตด้วยแบ่งปัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

  วาสนา ทองสุข เจ้าของธุรกิจ “ปางช้างแม่แตง” อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว การท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะที่ อ.แม่แตง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสำคัญของจังหวัด กิจกรรมที่ให้บริการลูกค้ายังขาดมาตรฐาน ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทว่า การเข้ามาของ “ปางช้างแม่แตง” ช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ เกิดการพัฒนามาตรฐานครบวงจร เช่น ระบบความปลอดภัย โปรแกรมและกิจกรรม เป็นต้น ช่วยเพิ่มความเชื่อใจแก่ลูกค้า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการท่องเที่ยวทางธรรมชาติของเชียงใหม่เติบโตมาจนถึงปัจจุบัน


วาสนา ทองสุข เจ้าของธุรกิจ “ปางช้างแม่แตง” อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เท้าความถึงจุดเริ่มต้น เกิดจากครอบครัวเปิดบริษัทจัดทัวร์ท่องเที่ยวในเชียงใหม่อยู่แล้ว โดยพาลูกค้าไปเที่ยวยัง “ปางช้าง” ต่างๆ ซึ่งมีทำกันมาบ้างแล้ว ทว่า เวลานั้นผู้ประกอบการที่ทำปางช้างยังไม่มีการสร้างมาตรฐานใดๆ เลย นักท่องเที่ยวจึงมีความกังวลสูงและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงคิดสร้างปางช้างที่ได้มาตรฐานสมบูรณ์ สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวได้
  วาสนา ทองสุข เจ้าของธุรกิจ “ปางช้างแม่แตง” อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
“ปางช้างแม่แตง จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 เริ่มจากพื้นที่แค่ประมาณ 5 ไร่ และมีช้างแค่ 3 เชือก ให้บริการนั่งช้างชมธรรมชาติ กับเปิดร้านอาหารเล็กๆ ซึ่งธุรกิจได้ขยายมาอย่างต่อเนื่อง ถึงปัจจุบัน มีเนื้อที่ให้บริการกว่า 200 ไร่ และช้างเพิ่มเป็นประมาณ 50 เชือก”

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ผลักดันให้ “ปางช้างแม่แตง” ประสบความสำเร็จจนขึ้นแท่นปางช้างหัวแถวของภาคเหนือ เจ้าของธุรกิจระบุว่า ประการแรก เกิดการสร้าง “มาตรฐาน” ตั้งแต่ระบบรักษาความปลอดภัย เช่น ที่นั่งของนักท่องเที่ยวบนหลังช้าง มีระบบล็อกป้องกันหล่น ช้างที่ให้บริการอยู่ภายใต้ตารางเวลาเดินอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมเกินไป อุปกรณ์ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพ ซิปไลน์ ฯลฯ ตรวจสอบคุณภาพสม่ำเสมอ พนักงานทุกคนผ่านการอบรม เป็นต้น รวมถึงมีประกันภัยให้นักท่องเที่ยว เป็นต้น

ด้วยมาตรฐานจัดเต็มดังกล่าว ส่งให้ “ปางช้างแม่แตน” เป็นปางช้างแห่งเดียวในภาคเหนือที่ได้รับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวประเภทปางช้าง

อีกประการของปัจจัยสู่ความสำเร็จ มาจากแนวคิดในการสร้างสรรค์ “นวัตกรรมท่องเที่ยว” หากิจกรรมแปลกใหม่ มาบริการนักท่องเที่ยวอยู่เสมอๆ ตัวอย่างเช่น บริการนั่งเกวียนลากโดยวัวพันธุ์ขาวป่าลำพูน ซึ่งปางช้างแม่แตงนับเป็นรายแรกที่นำกิจกรรมนี้มาให้บริการ จนฮิตติดลมบนกระจายไปสู่ปางช้างอื่นๆ

“เดิมการเที่ยวปางช้างทั่วไปจะมีกิจกรรมแค่ขี่ช้าง กับล่องแพ แต่เราคิดในมุมนักท่องเที่ยวว่า อยากจะได้รับบริการอื่นๆ ใดบ้าง ก็พยายามปรับและเพิ่มกิจกรรมให้โดนใจลูกค้ามากที่สุด โดยพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เราเป็นปางช้างที่มีกิจกรรมมากสุดและครบวงจรที่สุด เช่น การแสดงช้าง ขี่ช้าง เลี้ยงช้าง นั่งเกวียน ล่องแพไม้ไผ่ เที่ยวหมู่บ้านชาวไทยภูเขา ซิปไลน์ ทาร์ซานสวิง ปีนหน้าผาจำลอง เพาเวอร์จัมป์ กิจกรรมทำกระดาษจากมูลช้าง ฯลฯ รวมถึงเป็นผู้ให้บริการร้านอาหารรายเดียวที่ประกอบอาหารได้มาตรฐานฮาลาล”

ในส่วนแนวทางบริหารธุรกิจ เธอระบุว่า มุ่งแนวทางเติบโตเคียงคู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยปางช้างแม่แตงมีส่วนช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่พนักงานประจำทุกคน คือชาวบ้านในพื้นที่ มีทั้งคนเมืองพื้นถิ่นและชาวไทยภูเขา รวมถึงจัดพื้นที่ให้ชาวไทยภูเขาเปิดร้านขายสินค้าพื้นเมืองโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อีกทั้งเปิดให้นักเรียนในพื้นที่และลูกหลานคนงานหารายได้พิเศษจากการจัดแสดงต่างๆ นอกจากนั้นยังจัดแพกเกจท่องเที่ยวพาลูกค้ากระจายสร้างรายได้ไปสู่ธุรกิจต่อเนื่อง เช่น จับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจบริการรถตู้ โรงแรมที่พัก และร้านอาหารต่างๆ เป็นต้น
นักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชอบ
วาสนาเผยด้วยว่า แม้ปัจจุบัน อ.แม่แตง จะมีธุรกิจปางช้างทั้งรายใหญ่และเล็กเปิดเพิ่มขึ้นกว่า 30 ราย ทว่า ไม่เคยคิดว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ เป็นคู่แข่งทางธุรกิจเลย ตรงกันข้าม กลับเชิญชวนมาเป็นพันธมิตรเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ ช่วยเหลือให้เติบโตไปพร้อมกัน ในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้นในธุรกิจนี้ซึ่งจะก่อผลดีต่อการท่องเที่ยว อ.แม่แตง และ จ.เชียงใหม่ โดยรวม

“ส่วนตัวดิฉันยึดแนวทางทำธุรกิจด้วยการ “กินแบ่ง” ไม่ได้ “กินรวบ” เพราะการแบ่งปันจะทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน ไม่ใช่แค่ตัวเราได้ประโยชน์ แต่ต้องเกิดประโยชน์แก่ทุกราย ทั้งผู้ประกอบการคนอื่นๆ รวมถึง สิ่งแวดล้อม ชุมชน เคยมีบริษัททัวร์รายใหญ่เสนอจะส่งลูกค้าแบบเหมาให้เรารายเดียวเลย แต่ดิฉันปฏิเสธไป เพราะถ้าทำเช่นนั้นเราก็จะได้ประโยชน์คนเดียว แล้วผู้ประกอบการรายอื่นๆ จะอยู่ได้อย่างไร การทำธุรกิจควรต้องให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ จากที่เรายึดแนวทางนี้ทำให้ไม่เกิดปัญหาในหมู่ผู้ประกอบการแย่งลูกค้า หรือตัดราคากันเอง อีกทั้งสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข”

อย่างไรก็ตาม เส้นทางธุรกิจตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมาไม่ได้ราบเรียบสวยหรูทั้งหมด ย่อมต้องพบปัญหาและอุปสรรคมาไม่น้อย เช่น จากกรณีปิดสนามบินเชียงใหม่ หรือเกิดไข้หวัดนกระบาย ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติแทบจะหายไปทั้งหมด แนวทางที่พาธุรกิจให้ผ่านวิกฤตมาได้นั้น เธอเผยว่าพยายามปรับตัวพลิกแพลงธุรกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างตอนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ก็หันมามุ่งทำตลาดในประเทศแทน โดยจัดทัวร์สำหรับนักเรียนนักศึกษาให้มาเที่ยวปางช้างแม่แตง และเมื่อผ่านช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติคลายกังวลไปแล้ว เท่ากับธุรกิจมีความแข็งแกร่งกว่าเดิม เพราะมีทั้งฐานกลุ่มเดิม คือ ชาวต่างชาติ กับลูกค้าใหม่ กลุ่มตลาดในประเทศ
มีชาวเขาแต่งตัวแบบจัดเต็ม ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปด้วย
“ปางช้างแม่แตง” คิดค่าบริการแตกต่างกันไปตามโปรแกรมท่องเที่ยว เริ่มต้นที่คนละประมาณ 1 พันกว่าบาท, 2.5 พันบาท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยถึวต่างชาติ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ยุโรป และตะวันออกกลาง ตามลำดับ เฉลี่ยมีผู้มาเที่ยวประมาณ 500 คนต่อวัน ถ้าเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวสูงถึงประมาณ 1,000 คนต่อวัน

ส่วนแผนธุรกิจในอนาคตอันใกล้ กำลังก่อสร้างร้านอาหารระดับ 5 ดาว ที่ประกอบอาหารภายใต้หลัก “ฮาลาล” เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มมุสลิมซึ่งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อขยายธุรกิจจาก “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย” หรือ SME Development Bank ส่วนด้านบริหารธุรกิจนั้นพยายามจะรักษาฐานลูกค้าเดิม ด้วยการสร้างมาตรฐานยอดเยี่ยมเช่นเดิม ควบคู่กับปรับบริการต่างๆ ให้เหมาะสมกับเทรนด์ของตลาดสม่ำเสมอ เช่น เพิ่มเติมกิจกรรมเลี้ยงช้างเข้ากับกระแสรักษ์โลก รวมถึง มุ่งความสำคัญต่อระบบจองแพกเกจท่องเที่ยวผ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ส่วนเป้าหมายระยะยาว ต้องการให้ธุรกิจท่องเที่ยว “ปางช้าง” อยู่เคียงคู่คนไทยไปตราบนานเท่านาน เพราะธุรกิจนี้ ก่อประโยชน์ทั้งด้านช่วยอนุรักษ์ช้าง และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งก่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้ในคนท้องถิ่น

ส่วนแผนธุรกิจในอนาคตอันใกล้ กำลังก่อสร้างร้านอาหารระดับ 5 ดาว ที่ประกอบอาหารภายใต้หลัก “ฮาลาล” เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มมุสลิม ซึ่งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อขยายธุรกิจจาก “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย” หรือ SME Development Bank ส่วนด้านบริหารธุรกิจ พยายามจะรักษาฐานลูกค้าเดิม ด้วยการสร้างมาตรฐานยอดเยี่ยมเช่นเดิม ควบคู่กับปรับบริการต่างๆ ให้เหมาะสมกับเทรนด์ของตลาดสม่ำเสมอ เช่น เพิ่มเติมกิจกรรมเลี้ยงช้างเข้ากับกระแสรักษ์โลก รวมถึง มุ่งความสำคัญต่อระบบจองแพกเกจท่องเที่ยวผ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ส่วนเป้าหมายระยะยาว ต้องการให้ธุรกิจท่องเที่ยว “ปางช้าง” อยู่เคียงคู่คนไทยไปตราบนานเท่านาน เพราะธุรกิจนี้ ก่อประโยชน์ทั้งด้านช่วยอนุรักษ์ช้าง และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งก่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้ในคนท้องถิ่น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น