xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีเลือกซื้อ “อาหารกระป๋อง” ปลอดภัย ไม่ปนเปื้อนเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัย ชี้ “อาหารกระป๋อง” บวม บู้บี้ เสี่ยงมีเชื้อจุลินทรีย์ - แบคทีเรียโบทูลินัม ส่งผลระบบประสาทรุนแรง แนะวิธีเลือกซื้อให้ปลอดภัย

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนนิยมบริโภคอาหารกระป๋อง อาทิ อาหารปรุงสำเร็จบรรจุกระป๋อง ผลไม้และน้ำผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์ บำรุงร่างกาย ซึ่งก่อนเลือกซื้อควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียดโดยต้องมีเลขสารระบบอาหารในเครื่องหมาย อย. (เลข 13 หลัก) สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตวันเดือนปีที่หมดอายุ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วหรือเป็นสนิม เมื่อเปิดกระป๋องออกมาให้สังเกตหากมีสีหรือกลิ่นผิดปกติจากเดิม หรือพบสิ่งปลอมปนให้รีบนำไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

นพ.วชิระ กล่าวว่า อาหารกระป๋องที่บวมบุบบู้บี้ ตะเข็บกระป๋องมีรอยรั่วหรือเป็นสนิม อาจจะทำให้อาหารปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และเจริญเติบโตส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้าน สี กลิ่น รส และคุณค่าของอาหาร โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดโบทูลินัมจะสร้างสารพิษโบทูลินัมที่ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง หากรับประทานเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อต่างๆ สายตาพร่ามองเห็นเป็นภาพซ้อน ซึม ง่วง กลืนอาหารไม่สะดวก ลิ้นและคออักเสบ เพราะไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ กล้ามเนื้อต้นคออ่อนแรงจนยกหัวไหล่ไม่ขึ้น จะแสดงอาการให้เห็นภายใน 2 - 4 ชั่วโมง แต่สำหรับบางรายอาจใช้เวลานานถึง 12 - 36 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาโดยทันทีอาจเสียชีวิตด้วยระบบหายใจล้มเหลว ดังนั้น หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

“ทั้งนี้ ก่อนรับประทานอาหารกระป๋องทุกครั้ง ต้องอุ่นด้วยความร้อนให้เดือดห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหารได้ ส่วนอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากรับประทานไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคและควรเก็บในตู้เย็น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น