xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานโรงจำนำแห่งแรกมี ๒ โรง ใครแรกกันแน่! วันนี้ครกยังจำนำได้!!

เผยแพร่:   โดย: โรมบุนนาค

โรงจำนำแห่งแรกที่สี่แยกสำราญราษฎร์ปัจจุบัน
เมื่อใกล้กำหนดเปิดเทอมแรกของโรงเรียน ก็มักจะมีข่าวเกี่ยวกับโรงจำนำปรากฏเป็นประจำทุกปี กลายเป็นของคู่กันไปได้ ก็คงจะเกี่ยวกับค่าเทอม ค่าสมุดค่าหนังสือเรียน และค่าเสื้อผ้าชุดนักเรียนนั่นแหละ เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็มีข่าวโรงจำนำที่ขอนแก่นเตรียมงบถึง ๑๐๐ ล้านบาทรับเปิดเทอม และรับจำนำแม้แต่ครกหิน ให้ราคาถึง ๓๐๐ บาท แต่ปีนี้ของดรับถังแก๊สเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเก็บรักษา สมัยก่อนเสื้อ กางเกง ก็จำนำได้

โรงจำนำมีความสำคัญกับสังคมไทยมาตลอด เรียกกันว่า “ธนาคารคนยาก” คนไม่มีเครดิตทางการเงินก็หาเงินแก้ขัดได้ทันที ไม่ต้องพิจารณ์กันนาน เพียงแต่มีของที่ขายเป็นมือสองได้เท่านั้น ในสมัยก่อนเมื่อราว ๖๐-๗๐ ปีก่อนที่เสื้อผ้ายังมีราคาแพงไม่ดาษดื่นเหมือนสมัยนี้ เสื้อกางเกงก็จำนำได้ มีเรื่องเล่าสนุกกันว่า ชายคนหนึ่งแต่งกายพูมิฐานด้วยชุดสากล ซึ่งในสมัยนั้นนิยมแต่สีขาว เดินเข้าโรงจำนำ คนเห็นก็นึกว่าเป็นเถ้าแก่ ครู่เดียวเดินกลับออกมาเหลือแต่กางเกงขาสั้นกับเสื้อยืด ถอดจำนำได้ทั้งชุด อีกเรื่องหนึ่งก็ฮาพอกัน นักดนตรีคนหนึ่งมีสมบัติชิ้นเดียวที่จำนำได้ก็คือ ซออู้ คู่มือหากิน พอไม่มีงานก็เอาใส่ถุงผ้าอย่างดีไปจำนำหาเงินมาแก้ขัด พอจะรับงานใหม่ก็ไถ่เอาออกไปหากิน เป็นเช่นนี้จนป็นที่คุ้นเคยของหลงจู๊โรงจำนำ พอเห็นหิ้วถุงนี้มาก็จำได้ ให้ราคาเดิมได้ทันที ไม่ต้องตรวจตีราคากันใหม่ แต่ครั้งหลังนี่เกิดสงสัยว่านานผิดสังเกต ไม่ม่าไถ่สักทีจนเกินกำหนด พอเปิดถุงออกมาเจอแต่กะลามะพร้าวเสียบไม้ให้เหมือนซอเท่านั้น แบบนี้ก็มีทำกัน

ตอนนี้ถ้าใตรผ่านไปทางย่านประตูผี ตรงสี่แยกถนนบำรุงเมืองตัดกับถนนมหาชัย มีโรงจำนำแห่งหนึ่งมีชื่อว่า “โรงรับจำนำสำราญราษฎร์” กล่าวกันว่าเป็น “โรงรับจำนำแห่งแรก”

แต่ประวัติโรงจำนำของประเทศไทยระบุว่า นายเล็ก โทณะวณิก ได้ตั้งโรงจำนำโรงแรกขึ้นที่ถนนพาหุรัต และเลิกกิจการไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
ความจริงโรงจำนำมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่มีหลักฐานเพียงพระราชกำหนดที่ออกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศใน พ.ศ.๒๒๘๔ ห้ามจำนำสิ่งของในเวลากลางคืน เนื่องจากมีการลักขโมยกันมาก

ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ.๒๔๐๔ แผ่นดินรัชกาลที่ ๔ จึงมีการเปิดโรงจำนำขึ้นเป็นแห่งแรกโดย จีนฮง ตั้งโรงรับจำนำขึ้นที่ริมประตูผี ซึ่งก็คือโรงจำนำที่สี่แยกสำราญราษฎร์ในปัจจุบัน

จากนั้นก็มีคนจีนตั้งโรงรับจำนำตามขึ้นมากมาย จนในปี ๒๔๓๓ สมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่ามีโรงรับจำนำเกิดขึ้นในกรุงเทพฯถึง ๒๐๐ โรง

การตั้งโรงจำนำในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุม ใครอยากตั้งก็ตั้ง และยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม บางรายก็รับจำนำที่บ้าน และได้เกิดเรื่องแปลกขึ้น คือใน พ.ศ.๒๔๒๕ อีแก้ว ได้ขโมยเด็กอายุ ๑ ขวบจากพ่อแม่ไปจำนำกับจีนหยงติ๊ดและอำแดงง่วนเง็ก ผู้เป็นภรรยา โดยมีอีสินลาเป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อเรื่องไปถึงตระลาการ ก็ไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติเกี่ยวกับการจำนำไว้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้ที่ประชุมเสนาบดีปรึกษาหารือในเรื่องนี้ ซึ่งที่ประชุมได้ถวายความเห็นว่า สำหรับอีแก้วซึ่งพรากเด็กจากบิดามารดาไปทุกข์ทรมาน ต้องโทษฐานเป็นโจรใจร้าย ส่วนอีสินลา จีนหยงติ๊ด และอำแดงง่วนเง็ก มีความผิดเสมอกัน เพราะขาดคนหนึ่งคนใดการจำนำเด็กก็เกิดขึ้นไม่ได้ จึงต้องรับโทษเสมอกัน

ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตรา “พระราชบัญญัติโรงจำนำ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔” เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๔ เป็นต้นไป กำหนดให้ผู้ตั้งโรงจำนำต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อน

ในปีต่อมาจึงมีโรงจำนำแห่งแรกที่ตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ ชื่อ “โรงรับจำนำฮั่วเส็ง” อยู่ที่ถนนพาหุรัด เจ้าของคือนายเล็ก โทณะวณิก

ด้วยเหตุนี้ โรงจำนำของ จีนฮง ที่สี่แยกสำราญราษฎร์ จึงเป็นโรงจำนำแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนโรงจำนำฮั่วเส็ง ของ นายเล็ก โทณะวณิก ที่พาหุรัต จึงเป็นโรงจำนำแห่งแรกที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงจำนำ
นายเล็ก โทณะวณิก


กำลังโหลดความคิดเห็น