xs
xsm
sm
md
lg

ปลื้ม! ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากยอดขายกว่า 260 ล้าน ทุ่มงบเพิ่มพัฒนาสู่ตลาดสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาสารคาม - สุดยอด...ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก ผ้าทอเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม ปีเดียวยอดขายพุ่งกว่า 260 ล้านบาท เดินหน้ายกระดับคุณภาพ การออกแบบและการตลาดสู่สากล โดยทุ่มงบปี 60 อีกว่า 1.4 ล้านบาท พัฒนาทั้งกระบวนการ

นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ผ้าไหมมัดหมี่ ลายสร้อยดอกหมากเป็นลายผ้าโบราณของท้องถิ่นอีสาน ซึ่งมีการทอใช้กันมากในจังหวัดมหาสารคาม ดังนั้น ทางจังหวัดจึงกำหนดให้เป็น “ลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัดมหาสารคาม” ลายสร้อยดอกหมากเป็นลายที่มีความละเอียดมาก ผู้ที่ทอต้องมีความรู้ในเรื่องลาย มีฝีมือในการมัดและการทอ ถ้าไม่มีความชำนาญ การย้อมสีจะไม่สม่ำเสมอกัน ทำให้ลายผ้าผิดเพี้ยนไป นอกจากนี้ ยังต้องใช้ระยะเวลาในการทอนาน เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านไม่นิยมทอผ้าลาย “สร้อยดอกหมาก”

จนกระทั่งทางจังหวัดมหาสารคามได้จัดให้มีการประกวดผ้าไหมประจำจังหวัดขึ้น ปรากฏว่า ผ้าไหมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้น คือ ลายสร้อยดอกหมาก จึงได้เลือกผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากเป็นผ้าไหมประจำจังหวัด พร้อมทั้งสนับสนุนให้ชาวบ้านทอผ้าลายนี้กันให้มากขึ้น

ส่งผลให้ ณ ขณะนี้ กลุ่มทอผ้าไหมทุกอำเภอของจังหวัดมหาสารคามต่างก็หันมาทอผ้า ไหมลายสร้อยดอกหมากกันมากขึ้น และออกแบบให้มีความทันสมัย สามารถสวมใสได้ทุกวัย

นายเสน่ห์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ จังหวัดมหาสารคามยังได้ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ลงทะเบียนไว้ทั้งสิ้น 999 กลุ่ม จำนวน 1,414 ผลิตภัณฑ์ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และสร้างรายได้ให้กับจังหวัดมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา คือ ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก และผลิตภัณฑ์จากเสื่อกก

สำหรับผ้าไหมสร้อยดอกหมากนั้นเป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม ในปี 2559 จังหวัดมหาสารคามมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไหมของกลุ่ม OTOP จำนวน 165 กลุ่ม มียอดจำหน่ายกว่า 268 ล้านบาท ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จะมีรายได้แล้ว ยังส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

รวมไปถึงร้านตัดเย็บเสื้อผ้าภายในจังหวัดมหาสารคาม มีรายได้ตามมาด้วย นั่นหมายความว่า การพัฒนากลุ่ม OTOP ประเภทผ้าไหม สามารถกระจายรายได้ให้พี่น้องประชาชนในจังหวัดได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ต้นน้ำ หมายถึงกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลางน้ำ คือ กลุ่มผู้ทอผ้าไหม และปลายน้ำ คือ กลุ่มแปรรูปผ้าไหมและร้านตัดเย็บเสื้อผ้า และยังขยายผลไปถึงร้านจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณี ร้านจำหน่ายรองเท้า กระเป๋า และ ร้านซักรีด เป็นต้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัดเป็นอย่างดี


ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560 จังหวัดมหาสารคาม ได้รับการอนุมัติงบประมาณโครงการตามแผนปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ดำเนินงานโครงการยกระดับผ้าไหมกลุ่มจังหวัดสู่สากล กิจกรรมยกระดับผ้าไหมสร้อยดอกหมาก งบประมาณ 1,427,100 บาท โดยกำหนดดำเนินงาน 3 กิจกรรม

ได้แก่ 1. ฝึกอบรมการลอกกาวย้อมสีเส้นไหมแบบปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง 2. พัฒนาทักษะแกนนำชุมชนด้านการบริหารจัดการหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมไหม และ 3. การประชาสัมพันธ์และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไหม

ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีในชุมชนมาผลิตเป็นสินค้าและบริการ ภายใต้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน



กำลังโหลดความคิดเห็น