xs
xsm
sm
md
lg

อลังการจุดพลุเบิกฟ้า...สดุดีมหาราชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีการจุดพลุประวัติศาสตร์ของเมืองไทยและของโลกด้วยพลุจำนวนกว่า 2 หมื่นนัด จุดนานกว่า 3 วัน ท้องฟ้าของกรุงเทพฯจะสว่างเจิดจ้าแต่งแต้มไปด้วยสีสันของพลุที่งดงามตระการตา เสียงดังกึกก้องไปทั่วฟ้าประหนึ่งเสียงของพสกนิกรชาวไทยที่แซ่ซ้องสรรเสริญฉลองสิริรสมบัติครบ 60 ปีของพ่อหลวง....

*"ประทัดจีน" ต้นกำเนิดพลุ

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามนุษย์ค้นพบดินปืนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำพลุดอกไม้ไฟโดยบังเอิญเมื่อราว 2 พันปีมาแล้ว มีเรื่องเล่าขานกันว่าตอนที่พ่อครัวชาวจีนซึ่งเป็นคนชอบเล่นแร่แปรธาตุอยู่แล้ว กำลังตั้งไฟผสมกำมะถัน ถ่านและดินปะสิวเข้าด้วยกัน ส่วนผสมทั้งสามชนิดแห้งเกาะกันเป็นแผ่นแป้งสีดำและจะลุกเป็นไฟพรึบเมื่อเกิดการเผาไหม้

คนจีนในยุคนั้นเรียกสิ่งนี้ว่า Hou Yao หรือเคมีไฟ ส่วนผสมเคมีไฟที่ไม่ได้มีการปรุงแต่งอะไรเพิ่มเติม จึงไม่มีฤทธิ์เดชเท่าดินปืนเพราะมีส่วนผสมของดินปะสิวไม่มากพอ แต่ถึงอย่างนั้นเคมีไฟ หรือ Hou Yao ก็เผาไหม้ในระดับความร้อนสูงและลุกโชติช่วง

นอกจากนี้ ชาวจีนยังพบในเวลาต่อมาว่า ถ้านำส่วนผสมของเคมีไฟใส่เข้าไปในกระบอกไม้ไผ่และโยนเข้าไปในกองไฟ ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ก็จะทำให้กระบอกไม้ไผ่ระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ซึ่งก็ยิ่งทำให้เกิดเสียงดังและมีพลังมากเสียยิ่งกว่าเฉพาะตัวกระบอกไม้ไผ่สีเขียวอวบอ้วนเปล่า ๆ เท่านั้น

ต่อมาราว ๆ ค.ศ. 500 ประทัดจีนกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการประกอบพิธีทางศาสนาและการเฉลิมฉลองในเทศกาลต่าง ๆ ของชาวจีน เพราะคนจีนถือว่าประทัดจะช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจวิญญาณร้ายออกไปได้ ตอนนั้นก็มีคนที่ใส่ดินประสิวเข้าไปในส่วนผสมมากขึ้นเพื่อประทัดจะได้เผาไหม้เร็วขึ้น มีพลังในการระเบิดและส่งเสียงดังมากขึ้นไปอีก

จากนั้นก็มีการพัฒนาประทัดจีนไปเรื่อย ๆ อาทิ "ประทัดลูกหนู" มีการประดิษฐ์ขึ้นในช่วง ค.ศ. 1200 ประทัดลูกหนูคือประทัดที่ทำจากกระบอกกระดาษปลายเปิด แต่แทนที่จะระเบิดลอยขึ้นฟ้าก็จะแล่นปรู๊ด ๆ ไปรอบ ๆ พื้นดิน

*จากจีนสู่ยุโรป

ในราวค.ศ. 1200 มาร์โค โปโล นักเดินทางชาวยุโรปกลับจากการตระเวนดินแดนเอเชียตะวันออกและนำเอาเคล็ดลับการทำดินปืนติดมือมาด้วย ขณะที่ผู้รู้ชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อโรเจอร์ เบคอน เป็นชาวยุโรปคนแรกที่ศึกษาและเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับดินปืน

โรเจอร์ เบคอน รู้ว่าดินประสิวทำให้ประทัดมีเสียงดัง และยังพบวิธีทำดินปืนที่ทรงพลัง แต่เขาตระหนักดีว่ามีโอกาสสูงเหลือเกินที่สสารชนิดนี้จะถูกนำมาใช้สร้างอาวุธประหัตประหารกัน จึงเขียนวิธีทำดินปืนไว้เป็นรหัสซึ่งไม่มีใครสามารถถอดรหัสนี้ได้อยู่นานนับร้อย ๆ ปี

ต่อมา นักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปคนอื่น ๆ เริ่มค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับดินปืน มีการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมเพื่อเพิ่มแรงระเบิดให้มากขึ้นไปอีก

ในช่วงศตวรรษที่ 14-15 หรือที่เรียกว่ายุคเรเนสซองส์ หรือยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในยุโรป ชาวอิตาลีเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาศิลปะการประดิษฐ์ดอกไม้ไฟขึ้น

ดอกไม้ไฟรูปแบบใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในยุคนี้โดยมีการดัดแปลงเพิ่มโลหะกับถ่านไปในส่วนผสมที่ใช้ทำจรวด ซึ่งเมื่อปล่อยขึ้นฟ้าก็จะเปล่งประกายแสงสีเงินสีทองระยิบระยับ

คนอิตาลียังพัฒนากระบอกบรรจุส่วนผสมวัตถุระเบิดที่สามารถจุดให้ระเบิดพุ่งขึ้นไปในอากาศได้ แต่ถึงอย่างไรดอกไม้ไฟที่ตระการตาที่สุดยังคงเป็นดอกไม้ไฟที่จุดในระดับดิน

ช่างทำพลุดอกไม้ไฟรู้ว่าการบรรจุดินปืนไว้ในกระบอกปลายเปิดจะทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างช้า ๆ และเมื่อใดที่มีการจุดก็จะเกิดประกายไฟพะเนียง ความเข้มข้นของประกายไฟที่พุ่งขึ้นและตกลงมาดูคล้ายกับสายน้ำที่พวยพุ่งจากแอ่งน้ำพุ ดังนั้น หากฐานของดอกไม้ไฟทำจากกรอบไม้รูปทรงคล้ายวงล้อ มันก็จะหมุนวนสาดส่องประกายไฟไปรอบ ๆ

ด้วยความรู้นี้ ช่างปั้นอาจจะแกะสลักรายละเอียดต่าง ๆ เช่น รูปยักษ์ ปราสาทราชวัง นำไปประดับเข้ากับพลุน้ำตก วงล้อและคบเพลิง เมื่อใดที่จุดไฟก็จะสาดส่องแสงสวยงามระยับ

ค.ศ. 1730 การแสดงดอกไม้ไฟในอังกฤษเริ่มแพร่หลายสู่สาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อความบันเทิงในราชสำนักหรือหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น

คนทั่วยุโรปพากันมาดูการแสดงดอกไม้ไฟมหรสพในอังกฤษ ตอนนั้นช่างประดิษฐ์ดอกไม้ไฟพบวิธีทำสายชนวนเพื่อจุดดอกไม้ไฟหลาย ๆ ชุดได้พร้อม ๆ กัน แถมยังประดิษฐ์และจุดดอกไม้ไฟเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น บุคคลสำคัญในราชสำนักได้ด้วย

*เมืองไทยกับพลุ

สันนิษฐานกันว่าเมืองไทยนั้นรู้จักทำดอกไม้เพลิงมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว โดยใช้คำว่า "เล่นไฟ" ซึ่งจุดเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์จะหันมาใช้คำว่า "จุดดอกไม้เพลิง" แทน และมีหลักฐานการเรียกชื่อตัวไฟต่าง ๆ มากมายหลายประเภท ซึ่งทำให้ทราบว่าการจุดดอกไม้เพลิงนั้นได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับประเพณีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์

ส่วนผสมของดอกไม้เพลิงโบราณของไทยไม่ต่างจากของชาติอื่นเพราะมีส่วนผสมหลักคือถ่านไม้ ดินประสิวและกำมะถัน ที่นำมาผสมกันบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้เป็นกระบอกดินเชื้อเพลิง ซึ่งก็จะออกแบบและมีวัสดุอื่น ๆ ประกอบแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของตัวไฟ สูตรการผสมดินดำในยุคนั้นถือเป็นความลับที่พระอาจารย์และอาจารย์ผู้ประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงจะไม่แพร่งพรายสูตรของตัวเองให้ใครรู้เป็นเด็ดขาด

แม้พลุหรือดอกไม้ไฟจะเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนไทยที่ทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่จะมีการผลิตเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากการหาซื้อวัตถุเคมีลำบาก รวมถึงวัตถุเคมีบางชนิดเป็นสารควบคุม จึงทำให้การพัฒนาดอกไม้ไฟตามต่างจังหวัดเป็นไปได้ช้า จะมีเล่นดอกไม้ไฟเฉพาะชุดเล็ก ๆ อย่าง พลุ ตะไล ไฟพะเนียง พะเยียมาศ ดอกไม้พุ่ม ดอกไม้กระถาง ไฟปลาช่อน ไฟปลาดุก ไฟช้างร้อง ไฟเสือ ไฟวัว เป็นต้น

ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ซึ่งเป็นหน่วยงานทางราชการเพียงแห่งเดียวที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญเรื่องพลุและดอกไม้ไฟที่สุด มีขีดความสามารถในการผลิตพลุมานานกว่า 50 ปีแล้ว เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ซึ่งจบการศึกษาด้านเคมีวิทยาศาสตร์เข้ามาอยู่ในกรมฯเป็นจำนวนมาก ประกอบกับทางกรมฯได้ทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องและส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานพลุในต่างประเทศอยู่เป็นประจำ จึงทำให้มีการพัฒนาศักยภาพการผลิตพลุได้ทัดเทียมต่างประเทศ

ทั้งนี้ หน้าที่อีกประการหนึ่งของกรมฯ ก็คือ การผลิตพลุเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ของประเทศ ที่ผ่านมาเคยจุดในงานเฉลิมฉลองสำคัญต่าง ๆ ด้วยพลุขนาดใหญ่สุด 12 นิ้ว

*"พลุ" งานสร้างสรรค์ของศาสตร์และศิลป์

"พลุ" เป็นการจุดระเบิดของส่วนผสมระหว่างถ่าน แป้ง และยางไม้ ขณะที่ในปัจจุบันมีการพัฒนาให้เกิดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงโลหะเพื่อให้ได้แสงหลากสีสัน แม้ว่าสูตรหลักของการผลิตพลุจะไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละประเทศ แต่การแข่งขันด้านการผลิตนั้นเริ่มพัฒนาไปสู่เรื่องรูปแบบ เทคนิค และสีสันที่ปรากฏออกมาให้แปลกตายิ่งขึ้น จึงกลายเป็นเสน่ห์ของพลุที่สามารถดึงดูดและสะกดสายตาของผู้ชมได้

การจะผลิตพลุแต่ละลูกนั้นเหมือนดั่ง "ศิลปิน" ผลิตงานศิลปะให้ประจักษ์แก่สายตาผู้ชม ดังเช่นงานเพลงหรือภาพวาดเช่นกัน เพราะศิลปินผู้ผลิตนั้นเมื่อรู้ลักษณะของงานที่จะจุดพลุประกอบแล้ว จึงเริ่มครีเอตีฟสีสันที่จะออกมา โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ จะต้องกำหนดว่าแสงสีใดจะปล่อยออกมาก่อนเพื่อสร้างอารมณ์ให้แก่ผู้ชม และแสงสีใดจึงจะสร้างความเร่งเร้าอารมณ์ตื่นเต้นสุดขีดให้แก่ผู้ชม หรือปิดฉากด้วยความปีติด้วยแสงสีอะไร

ขณะที่เทคนิคการจุดพลุในปัจจุบันก้าวไปถึงขีดขั้นการจุดพลุประกอบดนตรีเพื่อสร้างอารมณ์แห่งแสงและเสียงให้สอดคล้องกับดนตรีที่บรรเลง รวมไปถึงการใช้ไฟฟ้าในการจุดด้วย

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าเรื่องพัฒนาการของพลุอยู่ในระดับแนวหน้า เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนิยมจุดพลุในทุกเทศกาล และยังมีการแข่งขันจุดพลุตลอดปีไม่ต่ำกว่า 3,000 ครั้ง และมีการแข่งขันระดับประเทศปีละ 2 ครั้งเพื่อหาแชมป์จุดพลุเพื่อคัดเลือกสุดยอดนักจุดพลุแห่งปี และยังผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ย้ายฐานมาลงทุนผลิตพลุในเมืองไทยทั้งแถบกระทุ่มแบน โคราช เป็นต้น

*ประเดิมพลุวันที่ 9 มิถุนายน

พลเอก ดร.มนตรี ศุภาพร จเรทหารทั่วไป ประธานอนุกรรมการโครงการจุดพลุและดอกไม้ไฟ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 9, 10 และ11 มิถุนายนที่จะถึงนี้ โดยกล่าวถึงการจุดพลุในโอกาสสำคัญนี้ว่าถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการจุดพลุที่ยาวนานที่สุดในโลก โดยมีศิลปินจุดพลุระดับโลกที่เดินทางมาจุดพลุเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้มีกำหนดจุดนานถึง 3 วัน จำนวนใช้พลุมากถึง 30,000 นัด รวมมูลค่าหลายสิบล้านบาท ซึ่งเป็นการจุดพลุด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ไร้ควัน มีสีสันสวยสดใส เสียงเบา และเคลื่อนไหวได้ และรับรองว่าในวันจุดพลุนั้นแม้จะมีฝนตกลงมาก็ไม่เป็นอุปสรรคเพราะพลุแต่ละนัดนั้นมีการห่อหุ้มด้วยพลาสติกอย่างหนาแน่น

มหกรรมจุดพลุและดอกไม้ไฟเพื่อฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จะเริ่มงานแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ที่บริเวณสระน้ำของสวนเบญจกิติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นการจุดพลุในชื่อ "สดุดีพระบารมีเบิกฟ้า" ประกอบการบรรเลงของวงออเคสตร้า

ซึ่งพลุที่จะนำมาจุดในครั้งนี้ส่วนหนึ่งผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ซึ่งเป็นพลุขนาดเล็ก ตั้งแต่ 2 - 6 นิ้ว จำนวน 5,900 นัด และพลุจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอีก 2,000 นัด โดยมีความสูงระหว่าง 100 - 200 เมตรเป็นพลุที่มีจังหวะขึ้นลงตามเสียงดนตรี มีสีสันสดใส และมีชีวิตชีวา เส้นสายสะบัดเข้ากับเสียงดนตรี เช่น มงกุฎเงิน , รูปดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ รูปจักรวาลต่าง ๆ เป็นต้น

การจุดพลุทั้งหมดมี 5 ช่วง (ช่วงละ 2 - 3 นาที) โดยมีชื่อดังนี้ พระภูมินทร์แห่งสยาม , เถลิงราชบาทบงกช , เย็นศิระเพราะพระบริบาล , พระบารมีจักรีเกริกฟ้า และสดุดีมหาราชา และปิดท้ายด้วยการจุดตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี สูง 13 x 8 เมตร

*พลุเจิดจ้างามตากลางแม่น้ำเจ้าพระยา

และในวันที่ 10 มิถุนายน 2549 ท้องฟ้ากลางแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ กับสะพานพระปิ่นเกล้าจะสว่างไสวสวยงามตระการตาไปด้วยพลุที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกระดับชนะเลิศคว้ารางวัลจุดพลุมาจากต่างประเทศเป็นผู้ดูแลในการจุดพลุทั้งหมด 7,000 นัด ซึ่งมีขนาด 1 - 4 นิ้ว

โดยจะเริ่มจุดจากเรือท้องแบน 4 ลำขนาบซ้ายขวา บริเวณหอประชุมกองทัพเรือ และราชนาวีสโมสร สามารถมองเห็นได้จากเรือว่าพลุจะมาจากทิศทางไหนบ้าง ซึ่งจะวิ่งเข้าหากันเป็นรูปตัว V เพราะเป็นการยิงเรียบแม่น้ำเข้ามาแตกตัวบริเวณกลางลำน้ำเจ้าพระยา โดยจะจุดต่อเนื่องเป็นเวลานาน 15 นาที ไม่มีเว้นช่วง โดยพลุจะเปลี่ยนทุก 5 วินาที จะเริ่มจากความสูงจากพื้นน้ำถึงท้องฟ้า 150 เมตร มีระดับที่แตกต่างกันออกไป และเป็นพลุที่มีชีวิตเคลื่อนที่ไปมาได้ รวมกว่า 200 ชนิด ซึ่งจะเห็นเป็นภาพม่านที่สูงไล่ระดับขึ้นไป

ความพิเศษของพลุในวันนั้นถือเป็นเทคโนโลยีใหม่จากประเทศญี่ปุ่น เป็นพลุที่ไม่มีควัน มีสีสันสวยสดกว่าพลุที่เคยเห็น และที่สำคัญเสียงไม่ดัง

พลุไซโกร่วมฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี

ใครที่เคยมีประสบการณ์ดูพลุขนาดใหญ่ในเมืองไทยหลายคนคงยังจดจำถึงพลุไซโก หรือพลุที่นำมาจุดโดยบริษัท เมืองทองไซโก จำกัด ซึ่งเคยมาจุดในวาระสำคัญถึง 4 ครั้งแล้ว โดยครั้งแรกจุดในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมายุครบ 57 พรรษา ในปี 2527 และในครั้งล่าสุดในวโรกาสกาญจนาภิเษก 50 ปีครองราชย์ ในปี 2539

สำหรับในโอกาสพิเศษครั้งนี้ บริษัท เมืองทองไซโกได้นำพลุมาจุดเพื่อเฉลิมฉลองอีกครั้ง โดย ภูริช มหาดำรงค์กุล กรรมการผู้จัดการ ได้กล่าวว่า

"สำหรับการจุดพลุครั้งนี้ถือเป็นชุดยิ่งใหญ่ตระการตาที่สุด เพราะสั่งทำพิเศษเพื่อโอกาสนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเราร่วมมือกับ Japaness Firework Association ซึ่งเป็นสมาคมทางด้านพลุระดับประเทศของญี่ปุ่น เป็นการรวมตัวของศิลปินจุดพลุระดับแชมป์ เป็นผู้ออกแบบและคัดเลือกบริษัทที่ผลิตพลุในแต่ละชนิดที่มีฝีมือดีที่สุดในประเทศมาผลิตพลุชุดนี้"

ในการจัดแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติชุดพิเศษของไซโกในครั้งนี้มีจำนวน 1,010 นัด โดยเป็นพลุขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 3 - 12 นิ้ว ความสูงของพลุตั้งแต่ 220 - 350 เมตร ซึ่งจะใช้ผู้จุดทั้งสิ้น 20 คน โดยในจำนวนนี้มี 3 คนที่เป็นระดับเลขาธิการของสมาคม Japaness Firework Association และเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตพลุขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นมาร่วมจุดด้วย และอีกหนึ่งคนเป็นแชมป์ชนะเลิศการจุดพลุ 4 ปีซ้อนซึ่งเป็นเจ้าของผลงานพลุในชุดสุดท้ายที่มาจุดในครั้งนี้

การจัดแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติของไซโกจะมีขึ้นในวันที่ 11 มิถุนายน 2549 ณ ราชตฤณมัยสมาคม ใช้เวลาในการจุดประมาณ 20 นาที ประกอบด้วยพลุ 12 ชุด คือ

"ชุดโหมโรง" ซึ่งเป็นการประเดิมการแสดงด้วยเสียงดังสนั่นเพื่อสร้างสีสันก่อนเข้ารายการ , "ชุดเชิดชูเกียรติสยามประเทศ" เป็นพลุสีแดง ขาว และน้ำเงินอันเป็นธงไตรรงค์ของเมืองไทย , "ชุดเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี " ซึ่งเป็นชุดไฮไลต์ของงานชุดหนึ่งที่จะรังสรรค์ตัวเลขมหามงคล 60 เป็นทั้งเลขไทย และเลขอารบิก ด้วยพลุหลายสิบชุดที่ยิงขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งจะสามารถเห็นตัวเลขได้ทุกมุมมอง

"ชุดดอกไม้จากใจชาวญี่ปุ่น" เป็นพลุที่มีความสูงถึง 350 เมตร จะแตกตัวออกเป็นดอกเบญจมาศและดอก peonies บานสะพรั่งเต็มท้องฟ้า เป็นการน้อมเกล้าถวายพระพรแด่พระองค์ท่าน , "ชุดทุ่งทองแห่งสวนสวรรค์" , " ชุดรอยยิ้มยามค่ำคืน" จะเนรมิตท้องฟ้าเป็นรอยยิ้ม ดอกทานตะวัน , "ชุดสวนดอกไม้สีเหลืองแห่งการเฉลิมฉลอง" เป็นดอก peonies สีเหลืองที่สวยงาม แสดงถึงสีประจำวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน , "ชุดช่อดอกไม้มหัศจรรย์" , "ชุดมรกตตระการตา" , "ชุดคาไลโดสโคปตระการตา" , "ชุดมงกุฎทองแด่องค์ราชันย์" เป็นสายฝนสีเหลืองทองที่โปรยปรายลงมาดุจดังพรของพระองค์ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยทั่วแผ่นดิน และ "ชุดฟินาเล่" เป็นการปิดท้ายความยิ่งใหญ่ด้วยเสียงกึกก้องทั่วท้องฟ้า

สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมพลุประวัติศาสตร์นี้ได้ฟรี ในวันที่ 9 มิถุนายน ที่บริเวณสวนเบญจกิติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา18.00 น.ส่วนวันที่ 10 เลือกชมกันริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ กับสะพานพระปิ่นเกล้า รวมถึงแถวท่าช้าง ท่าพระจันทร์ ท่าพระอาทิตย์ เวลา 20.30 น. และในวันที่ 11 มิถุนายน ที่บริเวณสนามม้านางเลิ้ง เวลา 20.30 น.

ข้อแนะนำการดูพลุให้ได้อรรถรส

1. ควรดูอยู่ในระยะห่างจากสถานที่จุดพลุประมาณ 500 เมตร (ยกเว้นพลุไซโกครั้งนี้จะต้องดูในรัศมี 1 กิโลเมตร) เพราะถ้าดูในระยะใกล้จะต้องแหงนคอดู ทำให้เมื่อยต้นคอและมีโอกาสจะสูดดมควันและเขม่าของพลุได้

2. การดูพลุเพื่อให้เข้าใจในแรงบันดาลใจของศิลปินผู้ผลิตนั้น ก่อนจะดูพลุควรต้องศึกษาเรื่องราวพลุแต่ละลูกที่จุดก่อน ว่ามีความหมายอย่างไร ใช้เทคนิคอะไร เสียก่อน ซึ่งจะสะท้อนออกมาจากสีสันและเสียงของพลุ

3. ขณะที่ดูพลุนั้นควรจะปล่อยจิตใจให้ว่าง เพื่อสามารถเข้าถึงอารมณ์ศิลปะของพลุได้อย่างเพลิดเพลิน
ลักษณะของพลุยักษ์ที่รูปร่างคล้ายหัวหอม
อีกลักษณะหนึ่งของพลุที่เป็นรูปทรงกระบอก
สำหรับพลุที่ต้องจุดแบบรัวนั้นจะต้องใช้ไฟฟ้าในการจุด




กำลังโหลดความคิดเห็น