xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวง เก็บเงิน “มอเตอร์เวย์” สาย 9 รองรับใช้ M-Flow ปี 64

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงเก็บค่าธรรมเนียม “มอเตอร์เวย์” สาย9 ตอนบางปะอิน-บางพลี พ.ศ...รองรับระบบด่านไร้ไม้กั้น (Free Flow) ที่จะเริ่มใช้ปี 64 แทนจ่ายเงินสด และ M-Flow ทล.ตั้งเป้าแก้รถติดชี้ระบายรถได้ 2,000 คัน/ช่อง/ชม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 ธ.ค.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน-บางพลี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ เพื่อรองรับระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบอัตโนมัติแบบมีไม้กั้น (Free Flow) ซึ่งจะให้บริการในปี 2564 โดยให้ส่งร่างฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนดำเนินการต่อไป

เดิมร่างกฎกระทรวง กำหนดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษหมายเลข 9 โดยผู้ใช้ยานยนต์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง ณ บริเวณหน้าด่าน โดจะมีการออกบัตรไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่าผู้ใช้ยานยนตร์นั้นได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว หรือชำระค่าธรรมเนียมผ่านบัตรอัตโนมัติหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีกรมทางหลวงประกาศกำหนด

โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ผู้ใช้ยานยนตร์ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยเงินสด และกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2555) ได้กำหนดเพิ่มวิธีการชำระเงินผ่านบัตรอัตโนมัติได้อีกวิธีหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือก

ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณการจราจรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เดิมเมื่อปี 2542 มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 57,000 คันต่อวัน ปี 2562 เพิ่มขึ้นมากกว่า 300,000 คันต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด แออัด บริเวณหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียม

ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ได้แก้ปัญหา โดยได้เพิ่มจำนวนช่องจราจรและช่องเก็บเงินค่าผ่านทาง แต่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงได้ใช้ระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System) หรือ M-Pass เชื่อมกับ Easy-Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาจราจรหน้าด่านได้
จากการศึกษาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัจฉริยะ โดยเทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ความสามารถในการระบายรถของการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางในรูปแบบต่างๆ มีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. การจัดเก็บด้วยเงินสด (Manual Toll Collection System : MTC) ระบายรถได้ประมาณ 400-550 คัน/ช่อง/ชั่วโมง
2. การจัดเก็บแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC) แบบมีไม้กั้น ซึ่งเป็นการชำระเงินผ่านบัตรอัตโนมัติ (M-Pass) ระบายรถได้ประมาณ 800-900 คัน/ช่อง/ชั่วโมง
3. การจัดเก็บแบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นในรูปแบบของช่องทางเดี่ยว (Single Lane Free-Flow : SLFF) ระบายรถได้ประมาณ 1,200-1,500 คัน/ช่อง/ชั่วโมง
4. การจัดเก็บแบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นในรูปแบบหลายช่องทาง (Multi Lane Free-Flow : MLFF) ระบายรถได้มากกว่า 2,000 คัน/ช่อง/ชั่วโมง
จึงเห็นว่า แนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 แบบไม่มีไม้กั้น มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยอาศัยเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบการอ่านหมายเลขทะเบียนรถอัตโนมัติ (Automatic License Plate Recognition : ALPR) ร่วมกับการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (Automatic Vehicle Identification : AVI) เพื่อใช้ตรวจสอบยานพาหนะและระบุตัวตนผู้ใช้บริการและมีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางภายหลังการใช้บริการ (Post-Paid)
ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการชำระค่าผ่านทางได้ผ่านหลากหลายช่องทางการชำระเงิน เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต การตัดเงินผ่านบัญชีธนาคาร แอปพลิเคชันของธนาคาร และการใช้ QR Code เป็นต้น และเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมทางหลวง ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น จึงใช้ชื่อว่า “ระบบ M-Flow” โดยจะเริ่มดำเนินการนำร่องบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ที่ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 สำหรับรถยนต์ทุกชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทางหลวงพิเศษ
ขณะนี้ กรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการ “งานติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow System Infrastructure)” บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 รวมถึงโครงการ “งานจ้างบริหารจัดการระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9” และจะเปิดให้บริการ ภายในต้นปี 2564




กำลังโหลดความคิดเห็น