xs
xsm
sm
md
lg

วิศวกรญี่ปุ่นเผยทางเลือก “เททราย-คอนกรีต” ปิดโรงไฟฟ้าหากเข้าขั้นวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายดาวเทียมวันที่ 17 มีนาคม บริเวณโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว
เอเจนซีส์ - วิศวกรญี่ปุ่นยอมรับวันนี้ (18) ว่า การเททรายและคอนกรีตปิดทับเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้า ฟูกุชิมะ ไดอิจิ อาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะหยุดยั้งหายนะนิวเคลียร์ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลมาแล้วกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในยูเครน เมื่อปี 1986

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ยังมีความหวังที่จะต่อสายเคเบิลไปยังเตาปฏิกรณ์อย่างน้อย 2 แห่ง เพื่อให้ระบบหล่อเย็นกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ขณะที่คนงานยังคงเร่งฉีดน้ำใส่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ซึ่งอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงมากที่สุด

นับเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารโรงไฟฟ้าออกมายอมรับว่า วิธีเททรายและคอนกรีตเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งสื่อให้เห็นว่า การใช้เฮลิคอปเตอร์ขนน้ำไปเท เพื่อลดความร้อนของแกนปฏิกรณ์ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร

“การเทคอนกรีตปิดเตาปฏิกรณ์เป็นสิ่งที่อาจทำได้ แต่ที่สำคัญในขณะนี้คือต้องลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์ลง” เจ้าหน้าที่ เท็ปโก้ แถลงต่อสื่อมวลชนวันนี้ (18)

ชาวโตเกียวนับล้านพากันเก็บตัวอยู่แต่ในที่พักอาศัยวันนี้ (18) เนื่องจากเกรงกลัวการสัมผัสสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าที่อยู่ห่างออกไปทางเหนือราว 240 กิโลเมตร แม้ผู้เชี่ยวชาญจะยืนยันว่า กระแสลมตกวันตกน่าจะพัดพาฝุ่นกัมมันตรังสีออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกก็ตาม

ไมเคิล โอเลียรี ผู้แทนองค์การอนามัยโลกในจีน ระบุว่า ระดับกัมมันภาพรังสียังไม่เป็นอันตรายต่อประชาชนที่อยู่นอกบริเวณโรงไฟฟ้า

“ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า กัมมันตรังสีระดับเข้มข้นได้ฟุ้งกระจายออกไปนอกเขตโรงไฟฟ้า”

ยูกิยะ อามาโนะ ผู้อำนวยการทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เดินทางถึงญี่ปุ่นพร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติแล้ววันนี้ (18) หลังจากที่เคยตัดพ้อว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่แจ้งข้อมูลอย่างเพียงพอ

แกรแฮม แอนดรู ผู้ช่วยอาวุโสของ อามาโนะ ระบุว่า สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้าฟูกุชิมะค่อนข้างเสถียร ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น แถลงว่า เตาปฏิกรณ์ 3 แห่ง ยังคงมีควันหรือไอน้ำพวยพุ่งขึ้นตลอดเวลา ส่วนเฮลิคอปเตอร์ทหารที่ถูกส่งเข้าไปเทน้ำเพื่อลดอุณหภูมิแกนปฏิกรณ์ ก็ได้สัมผัสกัมมันตภาพรังสีในระดับต่ำเท่านั้น

ไอเออีเอ เปิดเผยว่า ระดับกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกจากโรงไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งระดับสูงสุดที่คนงานจะปฏิบัติงานอยู่ได้ คือ 100 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง

แม้วิศวกรจะสามารถต่อกระแสไฟฟ้าไปยังโรงงานได้ก็ตาม แต่ยังไม่แน่ว่าเครื่องสูบน้ำจะสามารถใช้งานได้หรือไม่ เนื่องจากแผ่นดินไหว หรือแรงระเบิดที่อาคารเตาปฏิกรณ์อาจส่งผลให้เครื่องสูบน้ำได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ยังเกรงว่าจะเกิดการระเบิดขึ้นอีกหากไฟฟ้าลัดวงจร

เจ้าหน้าที่เทปโก้คนหนึ่ง ระบุว่า อาจเชื่อมกระแสไฟฟ้าไปยังเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และ 4 สำเร็จภายในวันอาทิตย์ (20) ซึ่งวิศวกรกำลังพยายามเชื่อมไฟให้กับเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายน้อยที่สุดก่อน


พ่อค้าปลาในตลาดทสึคิจิกำลังจัดแผงขายปลา ท่ามกลางบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา วันนี้(18)
ย่าน กินซ่า ในกรุงโตเกียววันนี้(18) ไม่มีผู้คนพลุกพล่านเหมือนเคย
กำลังโหลดความคิดเห็น