Film 101 : ข้อแตกต่างระหว่างฟิล์มและดิจิตอล

KrishDP
135.film
Published in
2 min readNov 9, 2018

--

สวัสดีครับเพื่อนๆ

ก่อนอื่นเลยขอขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่คอยติดตามเรานะครับ

ทั้งคนที่เล่นกล้องฟิล์มอยู่แล้ว หรืออาจจะไม่เคยเล่นกล้องฟิล์มเลยแต่อยากลอง

เราจึงคิดว่าจะมาแนะนำเพื่อนๆ ว่า ถ้าอยากจะเริ่มถ่ายกล้องฟิล์ม ต้องเริ่มจากไหน และรู้อะไรบ้าง

โดยเราคิดว่าจะพยายามออกอาทิตย์ละ 1 บทความให้เพื่อนๆได้อ่านกัน เผื่อบางทีอาจจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆไม่มากก็น้อย ยังไงก็ฝากเอาไว้ด้วยนะครับ

ทำไมผมถึงเล่นกล้องฟิล์ม?

หากถามผมว่าทำไมผมถึงได้ถ่ายกล้องฟิล์ม ทำไมไม่ถ่ายรูปดิจิตอลง่ายกว่าเยอะไม่เปลือง ไม่ต้องซื้อฟิล์ม ไม่ต้องล้างฟิล์ม กดชัตเตอร์กล้องฟิล์มทีนึงเหมือนใช้ตังค์ทีนึง หากให้ผมตอบตรงตัวล่ะก็ เพราะมันเป็นมันนี่แหละครับ การถ่ายรูป รูปหนึ่งมันมีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เกิดภาพขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นแสงในขณะนั้นควรใช้ฟิล์ม ISO เท่าไหร่ต้องวางแผนว่าฟิล์มตัวนี้ Character สีนี้ ควรใช้ถ่ายที่ไหน รวมไปถึงควรตั้งค่ารูรับแสง ค่าความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ ทุกอย่างมันเป็นอนาล็อคหมด

การจะกดชัตเตอร์แต่ละครั้ง จะมีกระบวนความคิดที่ว่า เราคิดดีรึยังที่จะกดชัตเตอร์ตรงนี้ ถ่ายตรงนี้นะ จัดวางภาพแบบนี้ดีแล้วนะในหัวตลอด การกดชัตเตอร์ลงไปแต่ละครั้งมันคือความทรงจำ ถ่ายเสร็จต้องรอถ่ายหมดม้วนนะถึงจะดูรูปได้ ถ่ายหมดม้วนแล้วต้องกรอฟิล์มนะ(บางทีก็ลืม ฮ่าๆๆๆ) ต้องเอาไปล้างการล้างก็มีทั้งล้างตรงหรือล้าง Cross(คือการใช้น้ำยาล้างฟิล์มNegativeไปล้างฟิล์ม Positive หรือกลับกัน) ก็ทำให้เกิดภาพที่แปลกใหม่ขึ้นมา ต่อจากนั้นต้องเอาไปแสกนหรืออัดภาพ ซึ่งการนำฟิล์มไปแสกนคนละที่ก็สามารถให้สีที่ต่างกันด้วย อยู่ที่การปรับแต่งของร้าน ในส่วนนี้ก็ทำให้เป็นเสน่ห์ของร้านนั้นๆเหมือนกันครับ หรือแม้แต่รูปที่เราถ่ายเสีย บางทีมันสวยกว่าเราถ่ายดีด้วยซ้ำ ทุกๆอย่างมันคือการถ่ายฟิล์ม ทุกอย่างมันเป็นเสน่ห์ของตัวมัน และผมคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมอยากที่จะถ่ายฟิล์มครับ

เอาล่ะพูดกันมาเยอะแล้วมาเริ่มเลยดีกว่า แหะๆ

กล้องคือฟิล์มคืออะไร ต่างจากกล้องดิจิตอลยังไง?

โดยพื้นฐานแล้วกล้องดิจิตอล มาจากกล้องฟิล์มทั้งหมดครับ เพียงแค่เปลี่ยนจากการบันทึกภาพลงบน Image Sensor ลงบนเนื้อฟิล์มแทนเท่านั้นเอง โดยหลักการถ่ายรูปมี 3 ปัจจัยหลักๆเพื่อให้ได้ภาพออกมานั่นก็คือ

  1. ค่า ISO(สมัยก่อนเรียก ASA,DIN มีอีกเยอะแล้วแต่ประเทศ) หรือ ค่าความไวแสง
  2. ค่า F หรือ ค่ารูรับแสง
  3. ค่า Shutter Speed หรือ ค่าความเร็วของม่านชัตเตอร์นั่นเอง

(จะขออธิบายถึงค่าทั้ง 3 นี้ในโอกาสหน้านะครับ)

ซึ่ง 3 ปัจจัยหลักๆนี้ เป็นพื้นฐานการถ่ายภาพมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันเลยครับ

ยกตัวอย่าง Image Sensor จากตัว Fujifilm X-E3 Cr.www.dpreview.com

จากภาพเห็นตรงกลางสี่เหลี่ยมๆนั่นมั้ยครับ นั่นคือ Image Sensor

ซึ่งถ้าเทียบกับเจ้ากล้องฟิล์มเนี่ย Sensor มันก็คือเนื้อฟิล์มนี่แหละครับ มีหน้าที่บันทึกภาพ โดยจะมีหลายขนาด ซึ่งแบ่งแยกตามขนาด Sensor ได้ตามภาพต่อมาครับ

ขนาดของ Sensor แต่ละแบบ Cr.https://droidsans.com

ขนาดของ Sensor มีผลยังไงต่อภาพ?

หากพูดง่ายๆเลยก็คือ ขนาด Sensor มีผลกระทบต่อระยะชัดลึกที่ตื้นลงเมื่อ Sensor มีขนาดเล็ก ดังนั้นถ้าเราอยากได้ภาพ ที่มีเอฟเฟ็ค Bokeh สวยๆ จึงมักจะได้จากกล้องที่มีขนาด Sensor ใหญ่ ครับ นอกจากระยะชัดแล้ว คุณภาพของภาพก็มีแนวโน้มจะดีกว่าด้วย เพราะว่ามีพื้นที่บันทึกภาพมากกว่า ซึ่ง Sensor ที่เป็นที่นิยมจากตากล้อง และใครหลายๆคน จะเป็นตัว 4/3, APS-C และ Full Frame นั่นเอง!

จากรูปเห็นแสงไฟหกเหลี่ยมมั้ยครับ นั่นแหละครับที่เรียกว่า effect bokeh(โบเก้)

โดยกลางคืนจะเห็นประมาณนี้ครับ แต่กลางวันเอฟเฟ็ค bokeh จะเห็นเป็นอีกแบบนึง

กล้องฟิล์มที่ใช้ฟิล์ม 135 หรือขนาด 35mm

แล้วขนาด Sensor ถ้าเทียบกับฟิล์มจะเป็นตัวไหนล่ะ?

กล้องฟิล์มที่นิยมถ่ายกัน ใช้ขนาด 35mm หรือเรียกว่า 135 film (ตามชื่อเพจของเรานี่แหละ) หรือก็คือ เทียบเท่ากับ Sensor ขนาด Full Frame นั่นเอง! ซึ่งฟิล์ม 35mm นี้สามารถถ่ายรูปได้ประมาณ 20,24,36 รูปต่อฟิล์ม 1 ม้วน แต่ๆๆ มีกล้องกดสูตรที่สามารถถ่ายฟิล์ม 35mm ให้เพิ่มได้ปริมาณเป็น2 เท่า เช่นฟิล์มที่ถ่ายได้ 36 รูป ก็จะถ่ายได้ประมาณ 72 รูป เราเรียกกล้องพวกนั้นว่ากล้อง Half frame (เช่น Olympus pen F) นั่นเอง และกล้องฟิล์มแต่ละชนิดก็จะสามารถถ่ายได้หลายแบบอีกด้วย

ในส่วนของอาทิตย์ถัดไปจะเป็นการอธิบายว่ากล้องฟิล์มแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง ตัวไหนเหมาะกับใครยังไงก็ติดตามชมกันนะครับ

ยังไงก็ฝากเพื่อนๆติดตามเพจ 135.film ของพวกเราไปนานๆนะครับ แอดรักทุกคนนนน ^^

ขอบคุณครับ

--

--

KrishDP
135.film

Traveler / Film Photography Lover / Product Designer at NocNoc