เทรนด์ร้านค้า 24 ชั่วโมงเริ่มเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆในบ้านเราด้วยยุคนี้ไลฟ์สไตล์ของคนอยู่นอกบ้านมากขึ้นอาจจะด้วยบ้านที่มีขนาดเล็กลง

ขณะเดียววัยทำงานก็หันมาเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสถานที่ทำงานของพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นออฟฟิศอีกแล้ว หากแต่เป็นร้านกาแฟหรือคาเฟ่รวมไปถึงโคเวิร์คกิ้งสเปซ ที่เปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในระยะหลังๆ ยังเป็น 24 ชั่วโมงเสียด้วย

หากอย่างไรเสียถึงจะอยู่ดึกก็ต้องการอาหารอยู่ดี จึงกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ บิ๊กซี เลือกเพิ่มร้าน 24 ชั่วโมงให้กับแพลตฟอร์มซุปเปอร์มาร์เก็ตจากเดิมที่มีเพียงมินิบิ๊กซีที่เป็นร้านสะดวกซื้อ

New Platform ใช้เวลาพัฒนากว่า 1 ปี ก่อนจะออกมาเป็น “Big C FoodPlace” โดยสาขาเต็มรูปแบบสาขาแรกจะตั้งอยู่ในสามย่านมิตรทาวน์โครงการมิกซ์ยูสที่มีทั้ง รีเทล ออฟฟิศ และที่อยู่อาศัยของโกลเด้นแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของเจริญ สิริวัฒนภักดีเช่นเดียวกับบิ๊กซี

โซนที่ Big C FoodPlace อยู่

สิ่งที่เปลี่ยนไปจากแพลตฟอร์มเดิม คือใช้งบลงทุนเพิ่มเกือบเท่าตัวจาก 20 ล้านบาท เป็น 40 ล้านบาท แม้จะใช้พื้นที่เท่ากันประมาณ 800 ตารางเมตร พื้นที่ 50% จะเป็นสินค้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน อีก 50% เป็นอาหาร ที่เน้นสินค้าออแกนิกส์และสุขภาพตามเทรนด์มากขึ้น ซึ่งอาหารคิดเป็นรายได้กว่า 70% ของบิ๊กซีทั้งหมด

โดยในโซนอาหาร 60% จะเป็นอาหารพร้อมทาน ที่เหลืออีกอีก 40% จะเป็นอาหารสดที่สามารถเลือกซื้อแล้วไปจ้างปรุงได้เลย จึงได้เพิ่มมุมนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน รวมไปถึงโซนที่เป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซด้วย

จับกลุ่มเป้าหมายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบที่ตั้ง โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มนักเรียน นิสิต อาจารย์ เนื่องจากสามย่านเป็นศูนย์กลางของสถานศึกษา,กลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่ทำงานบริเวณสามย่าน หรือต้องเดินทางกลับด้วยรถไฟใต้ดิน, กลุ่มผู้พักอาศัยในสามย่านและใกล้เคียง, กลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อน และกลุ่มฟรีแลนซ์ ที่ต้องเดินทางไปนอกสถานที่ และทำงานไม่เป็นเวลา

ตั้งเป้ามียอดทราฟฟิค 1,200 – 1,500 คนต่อวัน และมีรายได้ประมาณ 300 – 400 ล้านบาท/ปี/สาขา

จริงๆ แล้วสาขาที่สามย่านมิตรทาวน์ไม่ได้ถือว่าเป็นสาขาแรกเพราะคอนเซปต์ใหม่ได้ถูกใช้ที่สาขาเกตเวย์ บางซื่อ ซึ่งจะเปิดราวปลายปีนี้แต่ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งบางสาขาต่อจากนี้ก็อาจจะไม้ได้เปิดตลอดเวลา ซึ่งช่วงที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 06.00 – 22.00 น.

วิภาดา ดวงรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี กล่าวว่า

ความต่างระหว่างแพลตฟอร์มใหม่และเก่าคือ ตัวเดิมจะเน้นขยายในพื้นที่ชานเมืองและต่างจังหวัดเป็นหลัก ส่วนตัวใหม่จะหันมาจับคนในเมือง แต่ไม่ถึงกับขนาดเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบพรีเมี่ยม ซึ่ง FoodPlace ยังไม่สามารถไปขยายไปในทำเลต่างจังหวัด ที่ส่วนใหญ่ยังนิยมทำอาหารทานเองอยู่ หรือพื้นที่ที่ลดไม่ติดสามารถออกไปซื้อนอกบ้านได้

แต่ทั้งนี้ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ครึ่งหนึ่งของซุปเปอร์มาร์เก็ต จะถูกเปลี่ยนเป็น FoodPlace ด้วยในระยะหลังๆ พื้นที่เมืองได้ขยายไปยังพื้นที่ที่สาขามีอยู่ รวมไปถึงได้มีหมู่บ้านจัดสรรราคาแพงเกิดขึ้ยอีกด้วย จึงเห็นโอกาสที่จะสามารถเปลี่ยนได้

ภาพรวมของบิ๊กซีในขณะนี้มีทั้งหมด 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ไฮเปอร์มาร์เก็ต 143 สาขา,ซุปเปอร์มาร์เก็ต 60 สาขา และมินิบิ๊กซี 687 สาขา ส่วนสาขาใหม่ปีนี้วางแผนเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต 10 สาขา และมินิบิ๊กซี 160-200 สาขา

พร้อมกันนี้ได้วางแผนที่จะเพิ่มคลังสินค้าแห่งใหม่จากเดิมมี 3 แห่งที่วังน้อย ลาดกระบัง และบางนา โดยจะขยายไปยังหัวเมือง เริ่มภาพอิสานที่ขอนแก่น คาดต้องการพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30 ไร่ และเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

สามย่านมิตรทาวน์ดึงยอดทราฟฟิคด้วยรีเทล

สามย่านมิตรทาวน์คือโครงการมิกซ์ยูสแห่งแรกของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ซึ่งที่ผ่านมาเน้นทำออฟฟิศให้เช่ามาตลอด แต่โครงการใหม่นี้ต้องปรับเป้าหมายเสียใหม่ จากที่เคยรองรับพนักงานออฟฟิศอย่างเดียว ก็ต้องเพิ่ม นักศึกษาอาจารย์และผู้สัญจร MRT เข้ามา โดยตั้งเป้ามียอดทราฟฟิคถึงวันละ 25,000 คน

และการจะดึงให้คนเข้ามาได้ทำให้ผลักให้โกลเด้นแลนด์ต้องการแม่เหล็กที่จะดึงดูดที่มากพอผลจึงออกมาเป็นอาคารรีเทลที่จะวางอยู่หน้าโครงการ

ธีรนันท์กรศรีทิพารองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจรีเทลบริษัทแผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ บอกว่า เมื่อเทียบกับที่อื่นแล้ว รีเทลที่นี่ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ  มีพื้นที่ทั้งหมด 36,000 ตารางเมตร มีทั้งหมด 7 ชั่น แบ่งเป็น 6 บนอยู่บนดิน และอีก 1 ชั้นอยู่ได้ดิน

ซึ่งการจะดึงคนได้จำต้องมีสินค้าที่แตกต่างกันที่นี่จึงได้วางให้มีสินค้าและบริการประมาณ 4-5 กลุ่ม พื้นที่หลัก 40% จะเป็นส่วนของอาหาร ทั้งที่เป็นเชนและไม่ใช่ รวมไปถึงร้านที่ไม่ได้ขายอาหาร แต่เกี่ยวข้องกับอาหารด้วย ส่วนที่เหลือจะเป็นร้านแฟชั่น และเอ็นเตอร์เทนเม้นท์

ซึ่งในจำนวนนี้ 4 ชั้นจะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ทั้งโคเวิร์คกิ้งสเปซ, ฟิตเนส และร้านค้าอื่นๆ อีกราว 20 ร้านต่อ 1 ชั้น รวมไปถึง Big C FoodPlace ด้วย

อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ให้บริการส่งพัสดุ ให้เข้ามาเปิดในโซน 24 ชั่วโมง หากยังไม่สามารถเผยรายละเอียดได้ว่าจะเป็นรายไหนดี


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online