แม้ปัจจุบันการแพทย์มีความทันสมัยขึ้น เราจะเห็นว่าผู้คนมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น อย่างไรก็ตามบุคลากรสาขาการแพทย์กลับผลิตไม่ทันต่อความต้องการ โดยเฉพาะทันตแพทย์เป็นหนึ่งในอาชีพที่ขาดแคลนมีจำนวนไม่พอต่อความต้องการรักษาประชาชนคนไทย

“ปัจจุบันมีทันตแพทย์ทั่วประเทศเพียง 15,000 คนเท่านั้น   สัดส่วนระหว่างทันตแพทย์กับประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 5,000 คน เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 3,000 คน จะเห็นว่ายังมีความต้องการทันตแพทย์อีกเป็นจำนวนมาก” ศ.(กิตติคุณ) ทพ. วินัย ศิริจิตร  คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น เล่าถึงสถานการณ์การผลิตบัณฑิตด้านทันตบุคลากรของไทยให้เราฟัง

เพราะเป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน จึงต้องผ่านมาตรฐานการผลิตบัณฑิตที่เข้มข้น ตัวเลขการผลิตบัณฑิตจึงไม่สมดุลกับความต้องการ แม้ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการทันตกรรมมากขึ้น อย่างเช่นเมื่อก่อนคนที่จะทำฟันต้องมีความล่ำสัน โดยปัจจุบันคนผอมบางก็ทำได้เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องใช้ทักษะและฝีมือที่ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างชำนาญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

“การเรียนทันตแพทย์ศาสตร์ก็ยากพอๆกับแพทย์ เพราะเราเป็นแพทย์ช่องปากดังนั้นสิ่งต่างๆในช่องปากเราจะต้องรู้ทุกอย่างดีกว่าใคร โดยเฉพาะใน 2 ปีแรก ที่เรียกว่าเรียนพื้นฐานเหมือนคณะแพทย์เลย เราต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่ แล้วอีก 4 ปี ถึงจะแบ่งเป็นอีก 2ช่วงคือ 2 ปีเรียนพื้นฐานของฟัน การทำฟันต่างๆจากกะโหลกเทียม ก่อนจะไปทำในผู้ป่วยจริงซึ่งมีความลำบากกว่า ละเอียดอ่อนกว่า”

9 ปีแห่งพันธกิจมุ่งผลิตบัณฑิตทันตแพทย์

ด้วยมองเห็นความสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องผลิตบัณฑิตทางการแพทย์และทันตกรรมมากขึ้น  ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นในฐานะมหาวิทยาลัยเอกชนที่ Positioning ชัดเจนในการเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ จึงริเริ่มก่อตั้งคณะทันตแพทย์ศาสตร์ขึ้น

โดยนับตั้งแต่ปี 2552 ที่คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นได้ก่อตั้งขึ้น ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะทันตแพทย์ลำดับที่ 10 และเป็น 1 ใน 2 แห่งของมหาวิทยาลัยเอกชนที่ผลิตทันตแพทย์เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน  กับพันธกิจผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ที่มีคุณภาพและช่วยลดการขาดแคลนทันตแพทย์ของสังคม

“9 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย ในประเทศไทยนั้นมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดทางด้านทันตแพทย์ศาสตร์บัณฑิตแค่ 2 แห่ง มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดก่อนเรา 3 ปี เพราะเราเปิด จนปัจจุบันปี 2560 ยังไม่มีมหาวิทยาลัยไหนเปิดอีกเลย นั่นเป็นบทพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราได้มามันไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องลงทั้งแรง ทั้งกำลังใจ และความพยายามมากมาย กว่าคณะทันตแพทย์ศาสตร์เวสเทิร์นจะเดินทางมาถึงวันนี้ ปัจจุบันเรามีบัณฑิตที่จบไป 3-4 รุ่นแล้ว โดยได้รับการรับรองจากทันตแพทยสภาอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับสูงจากตลาดแรงงาน และประสบความสำเร็จ มีงานทำทุกคน บางส่วนจบออกไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ เปิดคลินิก รับราชการก็มี ผมมีความภาคภูมิใจที่เราเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ”

เพราะการลงทุนในคณะทันตแพทย์ศาสตร์ต้องลงทุนค่อนข้างมาก ผู้บริหารเล่าว่าต้องใช้เงินลงทุนไปเกือบ 2,000 ล้านบาท ในการพัฒนาเพื่อที่จะสร้างมาตรฐานระดับสากลทั้งหลักสูตรวิชาการและภาคปฏิบัติ แต่นั่นก็คุ้มค่า เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ ได้สร้างบัณฑิตที่เป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปากของสังคม

เปิดทำการรักษาช่องปากทั้งสิ้น 9 คลินิก

ปัจจุบันนอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนด้านทันตแพทย์แล้ว คณะทันตแพทยศาสตร์ยังได้เปิดให้บริการคลินิกทันตกรรม โดยเปิดทำการรักษาช่องปากทั้งสิ้น 9 คลินิก ได้แก่ คลินิกตรวจพิเคราะห์ คลินิกรังสีวิทยา คลินิกทันตกรรมเด็ก  คลินิกทันตกรรมบูรณะ คลินิกทันตกรรมประดิษฐ์ คลินิกปริทันตวิทยา คลินิกเอ็นโดดอนท์ คลินิกทันตกรรมจัดฟัน และคลินิกศัลยศาสตร์ช่องปาก เพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป โดยเป็นสถานพยาบาลที่มีเฉพาะผู้ป่วยนอกไม่มีการค้างคืน ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2556ปัจจุบันมีประชาชนเข้าใช้บริการวันละกว่า 1,000 คน ซึ่งทางคลินิกก็มีแผนที่จะขยายการบริการเพื่อรองรับงานด้านการเสริมสร้างทันตสุขภาพแก่สังคมในอนาคตด้วย

ผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ทิศทาง Medical Hub ของอาเซียน

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตพยาบาลมากที่สุดในประเทศ ด้วยเพราะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่มีคณะพยาบาลศาสตร์ 3 วิทยาเขต โดยการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1-2 นั้น นิสิตจะเรียนที่วิทยาเขตกาญจนบุรี ส่วนชั้นปีที่ 3-6 จะเรียนที่วิทยาเขตวัชรพล ด้วยอาจารย์ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันชั้นนำในประเทศอาจารย์ประจำจำนวน 52 คน และผู้เชี่ยวชาญนอกสถาบันประมาณ 30 คน จึงทำให้บัณฑิตมีความมั่นใจ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบวิชาชีพในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เห็นชัดเจนว่าวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ไทยเรากำลังเดินหน้าสู่การเป็น Medical Hub ของอาเซียนไปแล้ว ซึ่งในภาคการศึกษาเราก็ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนทิศทางนี้ให้ประสบความสำเร็จ”

“ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จะเห็นได้ว่าเกือบทุกสาขาของเรา เราเปิดตามความต้องการของประเทศจริงๆ ไม่ได้เปิดเพราะว่าจะต้องเปิด ไม่ได้เปิดเพราะว่าเคยเปิดอยู่นานแล้ว แต่ทุกสาขานั้นเป็นความต้องการและบัณฑิตของเราจะต้องมีคุณภาพและจบไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมบัณฑิตเราจึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งพยาบาลที่จบใหม่รายได้เกือบ 40,000 บาท/เดือน เทคนิคการแพทย์เริ่มที่ 25,000 บาท สาธารณสุขอนามัยก็น่าจะเริ่มที่ 25,000 บาท และทันตแพทย์หลักแสน”

 

ทันตแพทย์ อาชีพที่คุณภาพต้องมาพร้อมกับคุณธรรม

ในตอนท้ายผู้บริหารได้ให้ข้อคิดฝากถึงนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ หรือสนใจที่จะเรียนทันตแพทย์ แม้ว่าใครหลายคนบอกว่าเป็นทันตแพทย์งานจะสบายกว่าแพทย์ นั่นคงไม่ถูกต้องเสมอไป

“นักศึกษาที่เข้ามาก็จะต้องอดทน ไม่ใช่เรียนง่ายๆต้องมีความรู้และทักษะหลายๆอย่าง ถามว่าทำไมเราต้องวางมาตรฐานไว้สูง เพราะการรักษาผู้ป่วยของจริงมันยากกว่ามาก มีสถานการณ์ มีตัวแปรปัจจัยอื่นเต็มไปหมด ถ้าบัณฑิตเราจบไปแบบไม่มีคุณภาพ แล้วจะรักษาคนไข้ได้อย่างไร เป้าหมายของเราคือการผลิตทันตแพทย์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จบไปแล้วทำได้ทุกอย่าง จะไปโรงพยาบาลหรือชุมชน ซึ่งต้องยอมรับชุมชนบางจังหวัดที่อาจจะมีอุปกรณ์ไม่พร้อมเท่าโรงพยาบาลใหญ่ การปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยก็ยิ่งยาก ไม่ใช่แค่มีมีด เข็มฉีดยาแล้วทำได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมที่นี่จึงต้องเคี่ยวกรำบัณฑิตให้มีความรู้ ความชำนาญจริง ถ้าไม่รู้จริงเราไม่ให้จบ” ผู้บริหารย้ำท้าย



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online