ในอดีตปั๊มน้ำมันเป็นสถานที่ให้รถเติมน้ำมันเพียงอย่างเดียว จนเมื่อผู้ผลิตปั๊มน้ำมันมองว่ากำไรจากการขายน้ำมันบางเฉียบ พร้อมสังเกตว่าในแต่ละวันมีรถเข้ามาใช้บริการในปั๊มน้ำมันตัวเองเป็นจำนวนมาก

ที่นี้โจทย์ของปั๊มน้ำมันคือจะทำอย่างไร ให้คนที่เข้าปั๊มน้ำมันของตัวเองใช้เวลาในปั๊มมากขึ้น ที่สำคัญคือต้องทำให้ลูกค้าใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

ร้านอาหาร, car care ล้างรถ, ร้านกาแฟ, ร้านอาหาร และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือร้านสะดวกซื้อ จนเวลานี้      ปั๊มน้ำมันบางสาขามีขนาดใหญ่ ไม่ต่างจาก Community mall เล็กๆ

โดยธุรกิจเหล่านี้เรียกว่า Non Oil ที่มีทั้งรูปแบบเจ้าของปั๊มน้ำมันเป็นเจ้าของกิจการเอง รวมไปถึงให้คนอื่นมาเช่าพื้นที่ และถ้าถามว่าธุรกิจ  Non Oil ประเภทไหน ที่แข่งขันแบบไม่มีใครยอมใครนั้นคือ “ร้านสะดวกซื้อ”

เหตุผลเพราะทุกร้านสะดวกซื้อมอง “ปั๊มน้ำมัน” เป็นทำเลทองมีคนช้อปตลอด 24 ชั่วโมง ยิ่งหากล้วงลึกในใจผู้บริโภคจะพบว่าไม่ค่อยมี Loyalty คือร้านสะดวกซื้อไหนก็ได้ขอให้ใกล้และมีสินค้าที่ตัวเองต้องการซื้อ

หากลองถาม 7 Eleven ที่มีสาขาอยู่ในปั๊ม ปตท.1,300 สาขาที่เคยเปิดเผยข้อมูลว่ายอดขายสาขาในพื้นที่ปั๊มน้ำมันมีค่าเฉลี่ยแตะ 100,000 บาท/สาขา/วันในขณะที่สาขานอกปั๊มน้ำมันอยู่ที่ 81,000 บาท/ สาขา

7 Eleven + ปตท. รักแท้รอวันแยกทาง

ล่าสุดแม้จะมีข่าวลือว่าเจ้าของพื้นที่อย่าง ปตท. อาจจะไม่ต่อสัญญากับ 7-eleven ซึ่งนั้นจะทำให้ 1,300 สาขาของ 7-eleven หายไปจากมือในพริบตา แต่แล้วข่าวลือนี้ก็ยุติลงเมื่อทีมผู้บริหาร ปตท. ออกมายืนยันชัดเจนว่าหากสัญญาฉบับเดิมหมดลงก็ยังคงจะต่อสัญญากับ 7-eleven อีกต่อไปอย่างน้อยคือ 6 ปี

แต่เชื่อกันว่า ปตท.แค่รอเวลาบ่มเพาะให้ร้านสะดวกซื้อ Jiffy ที่ได้เป็นของแถมมาจากการใช้เงิน 9,600 ล้านบาทในอดีต ที่ซื้อกิจการปั๊ม JET 147 สาขา

และที่ผ่านมา ปตท.เองไม่ได้ปิดกิจการร้าน Jiffy ตรงกันข้ามกับพัฒนาร้านนี้ทั้ง 194 สาขาอย่างต่อเนื่องทั้ง เมนูอาหารหลากหลาย, ตลอดจนสินค้าและบริการที่ครบครัน

เพียงแต่ “จุดลังเลใจ” ของ ปตท. ณ ตอนนี้ นั้นคือด้านคลังจัดเก็บสินค้าและการกระจายสินค้าว่าตัวเองจะ “เอาอยู่” หรือไม่จากแต่เดิมคือ 194 สาขา แต่หาก “Jiffy” จะมีมากกว่า 1,000 สาขา ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษามาตราฐานให้เหมือนกันทุกร้านโดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่เป็นเรื่องยากในการบริหารจัดการคุณภาพหากสเกลใหญ่ขึ้นมากกว่า 10 เท่าตัว

และเมื่อวันใดวันหนึ่ง ปตท.มองว่าตัวเองพร้อมแล้ว เมื่อนั้นอาจจะถึง “จุดแตกหัก” ระหว่าง 7 Eleven กับ ปตท. เพราะ ปตท.ก็คงคิดว่าในเมื่อตัวเองสามารถ “ทำได้” แล้วทำไมจะต้องแบ่งรายได้ให้ 7 Eleven

บางจากถึงเวลาทิ้ง Mini Big C

ขณะที่ปั๊มน้ำมันบางจาก หลังจากแน่ชัดแล้วว่าจะ “ตัดสัมพันธ์” กับ “Mini Big C” ด้วยการไม่ต่อสัญญา ก็ไม่รอช้าที่จะค้นหาร้านสะดวกซื้อแบรนด์ใหม่เข้ามาทดแทนนั้นคือร้าน SPAR จากประเทศเนเธอร์แลนด์

สาเหตุที่ “บางจาก” ไม่เดินไปต่อกับ “Mini Big C” เหตุผลสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ นั้นคือ บางจากมองว่าที่ผ่านมา Big C ไม่มีความชำนาญในการบริหาร “ร้านสะดวกซื้อ” ขนาดเล็กหากเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ ทำให้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

แล้วชะตากรรม “Mini Big C” จะเป็นเช่นใด? คำตอบคือปั๊มน้ำมันบางจาก จะเปลี่ยนป้ายชื่อร้านสะดวกซื้อจาก Mini Big C 166 สาขามาเป็น SPAR แทน โดยรูปแบบร้าน SPAR  จะเป็นการ Joint Venture ระหว่าง บางจาก รีเทล กับ  สพาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทจากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดย บางจาก เตรียมเงินมากกว่า 3,000 ล้านบาทเพื่อขยายสาขา

SPAR รักใหม่ของ“บางจาก”

TheBattle-บิ๊ก-ปั๊มน้ำมัน-2

ความท้าทายของ บางจาก ครั้งนี้คือเมื่อเปลี่ยน Partner รายใหม่ต้องทำความเข้าใจแนวทางการทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะต้องบอกว่างานนี้ บางจาก คาดหวังกับเพื่อนคนใหม่อย่าง SPAR

Esso ถึงเวลาปิดตำนานร้าน  “ไทเกอร์มาร์ท”

ในขณะอีกหนึ่งปั๊มน้ำมันตำนานอย่าง Esso ที่อยู่ในไทยกว่า 124 ปีและมีปั๊มน้ำมันในเมืองไทยอยู่ที่ 540 สาขาทั้วประเทศ  แม้ที่ผ่านมา Esso จะไม่ได้ทำตลาดในธุรกิจร้านสะดวกซื้อจริงจังจนทำให้ร้านที่ชื่อ “ไทเกอร์ มาร์ท” ถูกผู้บริโภคหลงลืม และ Esso รู้ดีว่า ณ เวลานี้คู่แข่งทุกรายต่างมาปั้มยอดขาย Non Oil กันอย่างสนุกสนานโดยมีธุรกิจร้านสะดวกซื้อมาเป็นอันดับ 1 ในการสร้างยอดขายและผลกำไร Esso เลยตัดสินใจเด็ดขาดด้วยการทยอยปิดร้าน “ไทเกอร์ มาร์ท” จนปัจจุบันเหลือไม่ถึง  60 สาขาที่อยู่ในรูปแบบเจ้าของปั้มน้ำมันดีลเลอร์ที่ลงทุนเอง และคาดว่าอีกไม่นาน ก็จะปิดหมดทุกสาขาในเร็วๆ นี้ ที่นี้แล้ว Esso จะเลือกใครมาเป็น Partner ผูกขาดกับตัวเอง

เป็นคำตอบที่ผิดหมด เพราะวิถีทางของ Esso คือเลือกจะกวาดเรียบด้วยการนำสารพัดร้านสะดวกซื้อทั้ง Tesco Lotus Espress,  S Mart ของกลุ่มบริษัทสี TOA สุดท้ายคือ Family Mart เข้ามาลงทุนในพื้นที่ปั๊มน้ำมันตัวเอง

เพราะ Esso รู้ดีว่าบรรดาร้านสะดวกซื้อเหล่านี้มี Know How การบริหารจัดการระบบสินค้าได้ดีกว่า “ไทเกอร์ มาร์ท”

ที่สำคัญกว่านั้นเวลานี้ Esso รู้ดีแล้วว่า Non Oil เป็นอะไรที่สำคัญไม่แพ้ธุรกิจหลักอย่างน้ำมัน ทำให้บริษัทถึงกับยอมควักเงินถึง 70 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้นเปิดสาขาปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ที่ครบวงจรมีทั้ง ร้านสะดวกซื้อ,ร้านกาแฟ,ร้านอาหาร QSR, Car Care และอีกสารพัดร้านค้า

เป้าหมายของ Esso ก็เพื่อต้องการทำให้บรรดาดีลเลอร์ เห็นว่าปั๊มน้ำมันที่สมบรูณ์แบบในยุคนี้ต้องมีหน้าตาแบบไหน?

ที่นี้ก็อยู่ที่ว่าดีลเลอร์คนไหนจะมีเงินทุนมากพอที่จะเดินตาม “ต้นแบบ” ที่ Esso วาดไว้ให้ดูTheBattle-บิ๊ก-ปั๊มน้ำมัน-3


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online