Iwasaki Takizo ทำความรู้จักบิดาแห่งโมเดลอาหาร ผู้สร้างอาหารจำลองไว้โชว์หน้าร้าน

โมเดลอาหารที่ตั้งโชว์อยู่ทุกหน้าร้านอาหารจะช่วยดึงดูดให้ลูกค้าตัดสินใจสั่งอาหารได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ด้วยรูปร่างหน้าตาและขนาดที่เหมือนจริงจนสามารถจินตนาการไปถึงรสชาติแสนอร่อยของอาหารที่จะสั่งในอีกไม่ช้า

โมเดลอาหารหรือที่เรียกกันว่าอาหารปลอมเป็นแบบจำลองของรายการอาหารที่ทำจากพลาสติก ขี้ผึ้ง เรซิ่น หรือวัสดุที่คล้ายกัน ซึ่งโมเดลเหล่านี้มักใช้ในร้านอาหารเพื่อแสดงเมนูที่มีอยู่ภายในร้าน โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นกำเนิดของอาหารจำลองนั่นเอง

สำหรับประเทศญี่ปุ่นจะเรียกโมเดลอาหารว่า Shokuhin Sampuru (โชวคุฮิง ซัมปุรุ) โดยในประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีการพัฒนาโมเดลอาหารมาตั้งแต่ปี 1920 เนื่องจากความนิยมในการรับประทานอาหารนอกบ้านของชาวญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้น

เริ่มแรกในช่วงปลายยุคเอโดะปี 1800 ร้านค้าได้ปรุงอาหารจริงมาวางเป็นตัวอย่างหน้าร้านในแต่ละวัน แต่อาหารจริงนั้นเน่าเสียได้ง่าย และเมื่อเวลาผ่านไปบางครั้งอาหารก็จะเปลี่ยนสีและรูปร่างไปอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งอาหารเหล่านี้ได้นำแมลงวันจำนวนมากเข้ามาในร้านอีกด้วย

ต่อมาในช่วงต้นยุคโชวะปี 1920 ร้านอาหารได้มีช่างฝีมือและผู้ผลิตมาช่วยพัฒนาโมเดลอาหาร โดยไม่ต้องใช้อาหารจริงอีกต่อไป ซึ่งถูกคิดค้นโดย Soujiro Nishio (โซจิโร นิชิโอะ) เขาได้ใช้ขี้ผึ้งที่ปกติจะใช้ในการสร้างอวัยวะจำลองมาทำเป็นโมเดลอาหาร

แต่เรื่องราวของ Soujiro Nishio ไม่เป็นที่แพร่หลายและหลายคนไม่เชื่อว่าขี้ผึ้งของอวัยวะจำลองจะสามารถทำโมเดลอาหารได้ออกมาน่ารับประทาน ทำให้เรื่องราวของIwasaki Takizo(อิวะซาคิ ทาคิโซ) ผู้ที่เริ่มต้นอุตสาหกรรมโมเดลอาหารและทำให้ประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบันได้รับการยกย่องและเผยแพร่ความสำเร็จอย่างกว้างขวาง

เรื่องราวของ Iwasaki Takizo ผู้สร้างสรรค์โมเดลอาหารจำลอง

Iwasaki Takizoเป็นช่างชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งโมเดลอาหาร ผู้อาศัยอยู่ที่เมืองกุโจฮาจิมัน จังหวัดกิฟุ ซึ่งปัจจุบันเมืองนี้ได้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวและเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองหลวงจำลองอาหารของญี่ปุ่น

สำหรับเรื่องราวการสร้างโมเดลอาหารของIwasaki Takizoมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน โดยเรื่องแรกเกิดขึ้นในสมัยเด็กของIwasaki Takizo เขาเป็นคนมีฝีมือในการวาดรูปและมีความสามารถพิเศษในการทำสิ่งที่ซับซ้อนด้วยมือ เขาจึงได้สะสมทักษะและความเชี่ยวชาญของเขามาตั้งแต่เด็ก โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่าวันหนึ่งความสามารถของเขาจะสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และเปลี่ยนโลกได้

วันหนึ่งเขาได้ปล่อยให้ขี้ผึ้งหยดลงในน้ำและทำให้เกิดรูปร่างของดอกไม้ที่สวยงามบนพื้นผิว เขาจึงได้ไอเดียในการสร้างอาหารจำลอง หลายปีต่อมา หลังจากการทดสอบและทดลองหลายต่อหลายครั้ง เขาจึงได้สร้างโมเดลอาหารข้าวห่อไข่จำลองขึ้นเป็นครั้งแรก

และอีกเรื่องราวหนึ่งก็คือ ในสมัยก่อนIwasaki Takizoมีฐานะทางการเงินค่อนข้างลำบาก เนื่องจากภรรยาของเขาป่วย ทำให้เขาไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าสาธารณูปโภคภายในบ้าน เขาจึงใช้เทียนไขเป็นตัวช่วยให้แสงสว่างภายในบ้านแทน แต่เทียนไขนี้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจโมเดลอาหารที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

วันหนึ่งขณะที่Iwasaki Takizoกำลังทำความสะอาดห้อง เขาสังเกตเห็นหยดเทียนที่ละลายแล้วมีรอยนิ้วมือของเขาติดอยู่ เขาจึงสงสัยว่าเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างลวดลายต่าง ๆ ลงบนเทียนไข เขาจึงลองนำเทียนไปหยดลงบนเสื่อทาทามิในห้องของเขา แล้วพบว่าเทียนสามารถคัดลอกลวดลายได้เหมือนลายของเสื่อทุกประการ

Iwasaki Takizoจึงได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างโมเดลอาหารขึ้นเป็นครั้งแรก เขามีความคิดที่จะสร้างอาหารจำลองขึ้นมาด้วยไขของเทียน โดยเขาเริ่มจาก Omuraisu หรือข้าวห่อไข่ เมนูอาหารธรรมดา ๆ ที่ทำได้ง่ายในทุกครอบครัว

Iwasaki Takizo ได้รวบรวมไขเทียนที่ละลายแล้วนำมาปั้นในน้ำ จากนั้นจึงค่อย ๆ จัดรูปทรงของเทียนให้มีรูปร่างเหมือนข้าวห่อไข่ของจริงมากที่สุด หลังจากลองผิดลองถูกมาหลายเดือน ในที่สุดเขาก็สามารถสร้างข้าวห่อไข่จำลองได้สำเร็จ ซึ่งข้าวห่อไข่จำลองนี้เหมือนจริงมากจนภรรยาของเขาไม่สามารถบอกได้ว่ามันเป็นของที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา และนี่คือจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์โมเดลอาหารของ Iwasaki Takizo

 

พัฒนาฝีมือจนกลายเป็นบริษัท Iwasaki Be-I

หลังจากIwasaki Takizoได้ฝึกฝนและพัฒนาฝีมือจนเขามั่นใจในโมเดลอาหารของเขา และในปี 1923 เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งได้ถูกใจและซื้อโมเดลอาหารของIwasaki Takizoไปวางตั้งโชว์อยู่หน้าร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า

สิ่งนี้ทำให้ Iwasaki Takizo คิดว่าโมเดลอาหารของเขาสามารถทำเป็นธุรกิจได้ ในปี 1932 เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Iwasaki Be-I (อิวะซาคิ เบ-อิ) บริษัทผลิตโมเดลอาหารขึ้นในโอซากา โดยปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งขนาดใหญ่มากถึง 60% ของตลาดญี่ปุ่นสำหรับโมเดลอาหาร

และในปีเดียวกัน ข้าวห่อไข่จานแรกที่เขาประดิษฐ์ขึ้นได้ถูกนำมาใช้ในการจัดแสดงที่ห้างสรรพสินค้าในโอซากา ซึ่งปัจจุบันข้าวห่อไข่นี้ได้จัดแสดงอยู่ที่โรงงานปัจจุบันของบริษัทในบ้านเกิดของเขา จนเขาได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งโมเดลอาหารจำลอง

 

ยุคทองของโมเดลอาหารจำลอง

ในปี 1950 ร้านอาหารจำนวนมากเริ่มใช้โมเดลอาหารกันมากขึ้น เนื่องจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารอเมริกันได้เดินทางเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยความไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น จึงเกิดปัญหาในการสั่งอาหาร ดังนั้นโมเดลอาหารจำลองจึงได้มีบทบาทขึ้นอย่างมากและได้เริ่มต้นเติบโตจนแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน

ในปีนี้เอง บริษัท Iwasaki Be-I ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนสามารถขยายสาขาไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในญี่ปุ่นได้อย่างสำเร็จ และเขาได้เปิดโรงงานในบ้านเกิดเขาในปี 1955 เพื่อสนับสนุนการศึกษาและสวัสดิการในชุมชนท้องถิ่นของเมืองกุโจฮาจิมัน บ้านเกิดอันเป็นที่รักของเขา

ต่อมาบริษัท Iwasaki Be-I ได้เริ่มประดิษฐ์สเต๊กจำลองส่งออกไปสู่อเมริกาเป็นครั้งแรกในปี 1960 ซึ่งบริษัทได้เปลี่ยนจากไขเทียนเป็นพลาสติกพีวีซีหรือเรซิ่น และได้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาให้เมนูอาหารจำลองมีความสมจริงมากขึ้น

ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนวัสดุในการทำ แต่วิธีการประดิษฐ์ยังคงพิถีพิถันด้วยมือของช่างฝีมือ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์คล้ายกับของจริงมากที่สุดเช่นเดิม ซึ่งทำให้โมเดลอาหารบางอย่างมีราคาประมาณ 10-20 เท่าของอาหารจริง อย่างราเมนชามหนึ่งมีราคาโดยเฉลี่ยประมาณ 100 ดอลลาร์ และซูชิถาดหนึ่งมีราคาโดยเฉลี่ยเกือบ 500 ดอลลาร์เลยทีเดียว

ปัจจุบันอุตสาหกรรมโมเดลอาหารจำลองได้ขยายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น และมีมูลค่าธุรกิจถึง 90 ล้านดอลลาร์

 

บทสรุป

โมเดลอาหารเป็นมากกว่าแบบจำลองอาหารในเมนูของแต่ละร้านอาหาร แต่ยังเป็นตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับการดึงดูดลูกค้าเข้ามาในร้านอาหาร ซึ่งบริษัท Iwasaki Be-I เผยข้อมูลว่ารายรับของร้านอาหารเพิ่มขึ้น 130-140% ทันทีหลังจากแนะนำอาหารผ่านโมเดลอาหารจำลองของบริษัท

ด้วยรูปลักษณ์ที่เหมือนจริงจะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ลูกค้าที่เดินผ่านไปมาก็สามารถสังเกตอาหารจำลองที่ตั้งโชว์ตรงทางเข้าร้านอาหารได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้คนถูกดึงดูดเข้ามารับประทานอาหารในร้านนั้น ๆ

 

ปัจจุบันธุรกิจโมเดลอาหารมีมูลค่าหลายพันล้านเยนในญี่ปุ่น และได้มีนักท่องเที่ยวมาทำเวิร์กช็อปอาหารจำลองกันมากขึ้นตั้งแต่พวงกุญแจไปจนถึงเคสโทรศัพท์เพื่อเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน อีกทั้งอุตสาหกรรมโมเดลอาหารยังได้เติบโตในจีนและเกาหลีใต้อีกด้วย

นอกจากโมเดลอาหารจะเป็นกำลังสำคัญในธุรกิจร้านอาหารที่ช่วยเป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายแล้ว โมเดลเหล่านี้ยังเป็นส่วนสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

 

ที่มา:

https://en.wikipedia.org/wiki/Food_model

https://iwasakimokei.com/en/about/

https://www.iwasaki-ts.co.jp/en/company-profile/

https://www.anaexperienceclass.com/the-story-behind-plastic-foods-in-japan/%3C/font%3E%3C/font%3E

https://www.nytimes.com/interactive/2022/04/20/magazine/tokyo-replica-food.html

https://www.dw.com/en/japan-restaurants-use-elaborate-fake-plastic-food-displays-to-heat-up-competition/a-57800177

https://www.secondshistory.com/home/fake-foods-sampuru

Fake Food in Japan: The World’s Most Delicious Looking Plastic

https://www.tofugu.com/japan/sampuru/

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online