จีนยังคงเดินหน้าใช้มาตรการเข้มงวดกับบริษัทใหญ่ ๆ ล่าสุดรุกสู่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามูลค่ามหาศาลแล้ว โดยกระทรวงศึกษาธิการจีนสั่งห้ามไม่ให้โรงเรียนกวดวิชาทำ IPO เพื่อระดมทุน และห้ามทำกำไร ต่อไปให้ปรับการกุศล บริษัทไหนฝ่าฝืนจะถูกสั่งปิด

มาตรการดังกล่าวยังครอบถึงห้ามควบรวมกิจการ ห้ามบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มาลงทุนและไม่ให้บริษัทต่างชาติมาซื้อหุ้นอีกด้วย โดยกระทรวงศึกษาธิการจีนอ้างทำไปเพื่อลดความเครียดทางการเรียนและจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชา

มาตรการนี้ประกาศใช้เมื่อต้นสัปดาห์และส่งผลทันทีต่อหุ้นของบริษัทในธุรกิจกวดวิชาจีน ในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทั้งที่เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง รวมไปถึงสหรัฐฯ โดยทุกบริษัทถูกบีบให้ขานรับไปในทิศทางเดียวกันว่าพร้อมปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวง

หนึ่งในบริษัทที่วูบหนักสุดจากมาตรการนี้คือ New Oriental Education and Technology ซึ่งเมื่อวันจันทร์ (26 กรกฎาคม) มูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงลดลงไป 50%

และถ้ารวมกับการเทขายของนักลงทุนเมื่อวันศุกร์ (23 กรกฎาคม) หลังมีข่าวระแคะระคายออกมา มูลค่าบริษัทของ New Oriental Education and Technology เฉพาะที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงก็หายไปแล้วถึง 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 253,000 ล้านบาท)

มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจีนที่สั่งลงมาผ่านกระทรวงศึกษาธิการถูกจับตามองในหลายด้าน เพราะโรงเรียนกวดวิชาจีนเป็นธุรกิจใหญ่ มูลค่าถึง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.9 ล้านล้านบาท)

และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างร้อนแรงอีก หลังรัฐบาลจีนปลดล็อกมาตรการจำกัดจำนวนประชากรทั้งหมดแล้ว ล่าสุดเพิ่งยกเลิกบทลงโทษปรับเงินครอบครัวที่มีลูกเกิน 3 คน ตามแผนป้อนคนวัยทำงานเพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ต่อไป

ท่ามกลาง ‘เสียงบ่น’ ของครอบครัวชาวจีน โดยเฉพาะชนชั้นกลางว่าแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทบจะไม่ไหวแล้ว โดยที่หนักสุดคือค่าเทอมนั่นเอง

และยิ่งการสอบเข้าเรียนในสถาบันดัง ๆ ของจีนแข่งขันกันสูง การกวดวิชาจึงเลี่ยงไม่ได้ถ้าอยากให้ลูก ๆ สอบติด และต้องสมัครเรียนตั้งแต่ชั้นประถมอีกด้วย

นี่จึงทำให้พ่อ ๆ แม่ ๆ ชาวจีนเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ขยับจากคลังไม่ไหลออกไป ด้วยการจัดระเบียบธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาแทนการออกมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบของเงิน ดังนั้นบรรดาโรงเรียนกวดวิชาจึงได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ

แต่ด้วยความที่เป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาลและเงินสะพัดไม่ใช่น้อย เหล่าโรงเรียนกวดวิชาคงพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแตกบริษัทลูกออกมาและเน้นไปทางที่ไม่ใช่สายวิชาการ เช่น ดนตรี ศิลปะ และกีฬา

อีกประเด็นที่ถูกจับตามองไม่แพ้กัน คือมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมบริษัทใหญ่ที่ขยายวงไม่หยุดตั้งแต่ภาคการเงิน เทคโนโลยีเน้นบริษัทที่ผู้ใช้เข้าถึงได้ผ่านแอป และธุรกิจบันเทิง

บริษัทที่กระทบจนร้อน ๆ หนาว ๆ จากมาตรการคุมเข้มล้วนเป็นเบอร์ใหญ่ในธุรกิจทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่ Ant Group ในเครือ Alibaba Tencent Didi และ Meituan

ทุกครั้งที่รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการเข้มงวด หุ้นของบริษัทเหล่านี้ไม่ว่าอยู่ในจีนหรือสหรัฐฯ จะร่วงหนัก

แค่การจัดระเบียบธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา 2 วันที่ผ่านมาก็ทำให้มูลค่าของกลุ่มบริษัทจีนมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ 98 แห่งที่เรียกรวมว่าดัชนีมังกรทองจีน 98 หายไป 15% และ 5 เดือนที่ผ่านมามูลค่าของหุ้นกลุ่มนี้ก็หายไปแล้ว 770,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 25.3 ล้านล้านบาท)  

จากความเคลื่อนไหวทั้งหมดรัฐบาลจีนต้องการแสดงให้เห็นว่า ไม่มีบริษัทจีนแห่งไหนรอดพ้นมาตรการควบคุมไปได้ และยังเป็นการสกัดเงินทุนและอิทธิพลของต่างชาติไปด้วยในตัว โดยเป้าหมายหลักคือสหรัฐฯ คู่ปรับในสงครามการค้า

สำนักงานใหญ่ของ New Oriental Education and Technology

เพราะบริษัทใหญ่ ๆ ในจีนล้วนมีหุ้นซื้อ-ขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ทั้งสิ้น หลักฐานล่าสุดคือ New Oriental Education and Technology เบอร์ใหญ่ในธุรกิจกวดวิชาจีนที่ก็มีหุ้นซื้อ-ขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ด้วยเช่นกันนั่นเอง/cnn



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online