โรงรับจำนำ อีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังเจอ Digital มา Disruption (วิเคราะห์)

โรงรับจำนำเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญในทุกยุคทุกสมัย จากการเป็นสถานที่ให้บริการเงินกู้ที่อนุมัติเงินให้กับผู้กู้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งธุรกิจนี้เน้นการกู้ยืมเงินในระยะสั้น

รายได้ของธุรกิจโรงรับจำนำเกือบทั้งหมดจะมาจากดอกเบี้ยที่เก็บจากผู้นำทรัพย์สินมาจำนำ รายได้รองคือการนำทรัพย์สินขายทอดตลาด

รายได้ของโรงรับจำนำจะเป็นรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยเป็นหลัก และการเติบโตของธุรกิจจำเป็นต้องมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก

และการที่ดึงดูดลูกค้าได้ในธุรกิจโรงรับจำนำเอกชนจึงต้องปรับตัวสู่ การแข่งขันในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เพียงเรียกลูกค้าจากดอกเบี้ยเป็นหลัก

เพราะโรงรับจำนำในประเทศไทยมีมากกว่า 800 แห่ง จากโรงรับจำนำของรัฐและเอกชน

โดยสามารถแบ่งเป็น

1. สถานธนานุเคราะห์ เป็นโรงรับจำนำของรัฐ จำนวน 39 แห่ง กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 29 แห่ง

2. สถานธนานุบาล โรงรับจำนำในรูปแบบสถานธนานุบาล จะเป็นโรงรับจำนำที่มาจาก 2 หน่วยงานคือ

– โรงรับจำนำของกรุงเทพมหานคร 21 แห่ง

– โรงรับจำนำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ 240 แห่ง

3. โรงรับจำนำเอกชน จำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมาโรงรับจำนำของรัฐอาศัยจุดแข็ง ความน่าเชื่อถือ และดอกเบี้ยที่ถูกเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดลูกค้า ส่วนโรงรับจำนำเอกชนในอดีตอาจจะไม่มีจุดแข็งที่ชัดเจนนัก นอกจากการมีสถานที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนเพื่อหาลูกค้าหลักจากคนในชุมชนเหล่านั้น

แต่เห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโรงรับจำนำเอกชนมีการปรับตัว หาจุดเด่นให้กับตัวเอง เช่น การตั้งชื่อแบรนด์โรงรับจำนำให้มีชื่อเรียกทันสมัย และใช้ชื่อเดียวกันกับโรงรับจำนำทุกแห่งที่เปิดให้บริการ เพื่อง่ายต่อการสื่อสารการตลาด สร้างการรับรู้ ดึงดูดให้ลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาใช้บริการโรงรับจำนำของตัวเอง

มีการปรับปรุงบรรยากาศภายนอกและภายในให้เป็นสถานที่ที่เป็นมิตร และลบภาพลักษณ์ทางลบโรงรับจำนำแบบเดิม ๆ ที่มีบรรยากาศทึบ ด้านในเป็นลูกกรงกั้นระหว่างหลงจู๊หรือผู้จัดการโรงรับจำนำกับผู้เข้ามาใช้บริการ ที่ดูอึดอัดไม่เป็นมิตร และมีม่านปิดกันสายตาจากภายนอก เพื่อไม่ให้คนที่เข้ามาจำนำรู้สึกอับอาย เพราะภาพลักษณ์ในอดีตของโรงรับจำนำคนส่วนใหญ่จะมองว่าคนที่นำทรัพย์สินไปจำนำเป็นคนที่มีความยากจน

รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการผ่านมาตรการรักษาทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ จากที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของโรงรับจำนำเดิม ๆ ขึ้นชื่อเรื่องการทำทรัพย์สินที่มาจำนำเสียหาย จากการกระทำที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งทรัพย์สินบางอย่างที่ผู้ใช้บริการเข้ามาจำนำ เป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่าทางจิตใจ

การปรับการสื่อสารแบรนด์โรงรับจำนำในอดีตของโรงรับจำนำเอกชนมาจากการมองเห็นโอกาสของธุรกิจ ที่ไม่จำเป็นต้องเจาะกลุ่มคนรากหญ้า หรือคนจนเสมอไป เพราะโรงรับจำนำยังสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนทำงานบริษัท และผู้ทำธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ต้องการนำเงินไปเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับตัวเอง หรือธุรกิจ

ซึ่งการปรับภาพลักษณ์นี้เป็นศึกการแข่งขันยกแรกของธุรกิจโรงรับจำนำในยุคใหม่

ส่วนการแข่งขันในยกที่สอง เราจะเห็นได้ว่าในวันนี้แบรนด์โรงรับจำนำมีการปรับตัวสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพื่ออำนวยสะดวกกับผู้ใช้บริการ และการปรับตัวสู่ดิจิทัลยังทำให้โรงรับจำนำมีดาต้าเบสของผู้ใช้บริการที่สามารถเรียกมาใช้ประกอบการวิเคราะห์พฤติกรรมด้านการเงิน หรือวิเคราะห์เพื่อทำตลาดเข้าถึงความต้องการทางการเงินของลูกค้าได้ลงลึกกว่าเดิม

เช่น Cash Express และ Easy Money ซึ่งเป็น 2 แบรนด์ที่มีความเคลื่อนไหวในการทำตลาดโรงรับจำนำที่นำดิจิทัลเข้ามาสร้างความแตกต่างอย่างน่าสนใจ

 

Cash Express

แบรนด์โรงรับจำนำที่รีแบรนด์มาจากธุรกิจโรงรับจำนำของตระกูล ตั้งเลิศสัมพันธ์ ที่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจโรงรับจำนำมานานกว่า 62 ปี

ในอดีต Cash Express เป็นโรงรับจำนำที่ตั้งชื่อตามสถานที่ตั้ง เช่นโรงรับจำนำประตูน้ำ โรงรับจำนำวัชรพล โรงรับจำนำอุดมสุข เป็นต้น

การรีแบรนด์จากโรงรับจำนำที่ตั้งชื่อตามพื้นที่สู่ชื่อ Cash Express มาจากความคิดของทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล ตั้งเลิศสัมพันธ์ ที่ต้องการปรับภาพลักษณ์ให้โรงรับจำนำเป็นสถาบันทางการเงินด้านเงินกู้แห่งหนึ่ง ที่ไม่ต้องใช้ Statement ในการกู้เงิน

การปรับภาพลักษณ์จากโรงรับจำนำ Cash Express นอกจากการรีโนเวตโรงรับจำนำให้มีรูปแบบดูสบายตามากขึ้นแล้ว Cash Express ยังสร้างความแตกต่างในการแข่งขันด้วยการนำระบบสแกนนิ้วมือ ระบบการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าในรูปแบบดิจิทัล และระบบประเมินราคาทรัพย์สินออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง และการนำสินค้าหลุดจำนำขายผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ของตัวเอง เข้ามาสร้างความได้เปรียบกับธุรกิจ

เพราะเป้าหมายที่สำคัญของ Cash Express คือการเข้าหาลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่นำทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาจำนำมากกว่าลูกค้าที่เป็นบุคคลทั่วไป

โดยลูกค้าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะนำทรัพย์สินมาจำนำเฉลี่ย 1 แสนบาท ซึ่งเต็มมูลค่าสูงสุดของตั๋วจำนำ 1 ใบ

ส่วนลูกค้าบุคคลทั่วไปจะนำทรัพย์สินมาจำนำเฉลี่ย 2 หมื่นบาทต่อตั๋วจำนำ 1 ใบ

การนำดิจิทัลมาใช้กับธุรกิจ Cash Express มาร์เก็ตเธียร์มองว่ามีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย คือ

จุดเด่น

Cash Express มีดาต้าเบสลูกค้าที่สามารถนำมาวิเคราะห์ความสามารถในการไถ่ถอนสินทรัพย์ และพฤติกรรมด้านการเงิน เพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์เพดานวงเงินในการรับจำนำได้

การขายสินค้าหลุดจำนำผ่านออนไลน์ทำให้สามารถขยายฐานผู้ซื้อจากเดิมที่ต้องเข้ามาซื้อในสาขา ไปยังผู้ที่สนใจทั่วประเทศ

จุดด้อย

การประเมินราคาทรัพย์สินออนไลน์ ทำให้ผู้เข้ามาใช้บริการมีเวลาคิดมากขึ้นที่จะนำทรัพย์สินไปจำนำ เพราะอย่างน้อยถ้าทรัพย์สินที่ต้องการจำนำได้ราคาไม่ตรงกับที่ตั้งใจไว้ โอกาสในการไปโรงรับจำนำของคู่แข่งจะมีสูงขึ้นตามมา

สำหรับรายได้ Cash Express ได้จดทะเบียนโรงรับจำนำทั้ง 11 แห่ง ในชื่อที่แยกย่อยกันไป สรุปเป็นรายได้หลักทั้งหมด ดังนี้

2560       290.20 ล้านบาท   กำไร 1.14 ล้านบาท             

2561       270.05 ล้านบาท   กำไร  1.24 ล้านบาท

2562       221.28 ล้านบาท  กำไร 1.35 ล้านบาท

 

Easy Money

โรงรับจำนำที่มีอายุในธุรกิจ 15 ปี ของบริษัท ตั้งธนสิน จำกัด ก่อตั้ง สิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ

โดย Easy Money ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงรับจำนำเอกชนที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนสาขา 54 สาขา และร้านขายของหลุดจำนำ 2 แห่ง ครอบคลุม 30 จังหวัด แต่ไม่มีสาขาในกรุงเทพมหานคร และสิ้นปีจะขยายเพิ่มอีก 2 แห่ง ในต่างจังหวัดเช่นกัน

การที่ Easy Money ไม่สามารถเปิดตลาดในกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงรับจำนำ มองว่ากรุงเทพฯ มีโรงรับจำนำอยู่เป็นจำนวนมาก

จุดเด่นของ Easy Money นอกเหนือจากการตกแต่งร้าน ลบภาพโรงรับจำนำแบบเดิม ๆ ยังมีการนำพรีเซนเตอร์ เข้ม-หัสวีร์ ภัคพงษ์ไพศาล ดาราช่อง 7 มาใช้เพื่อสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดให้มาใช้บริการ Easy Money แทนคู่แข่ง

นอกจากนี้ ยังมีการนำการสแกนลายนิ้วมือมาใช้ การนำสินทรัพย์หลุดจำนำขายผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ และการพัฒนาแอปพลิเคชัน Easy Smart เพื่อให้ลูกค้าส่งดอกเบี้ยออนไลน์แทนการเดินทางมาชำระเบี้ยตามสาขา ซึ่งปัจจุบัน Easy Smart ดาวน์โหลดมากถึง 60,000 ดาวน์โหลด

การให้บริการแอปพลิเคชัน Easy Smart ถือเป็นหนึ่งในการปรับตัวของธุรกิจโรงรับจำนำสู่ดิจิทัลเพื่อสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่ง เนื่องจากว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดการเดินทางมาโรงรับจำนำ Easy Money เพื่อชำระดอกเบี้ยอาจสร้างความไม่สะดวกสบายในการเดินทาง และทำให้ลูกค้าบางคนลืมที่จะชำระดอกจนสินทรัพย์ที่มาจำนำหลุดจำนำได้โดยไม่ตั้งใจ

แต่การชำระดอกเบี้ยผ่านแอปพลิเคชันมีจุดด้อยคือลูกค้าบางกลุ่มไม่มั่นใจในการชำระเงินค่าดอกเบี้ยผ่านช่องทางนี้ จากความกังวลในเรื่องการชำระดอกเบี้ยไปแล้ว Easy Money ได้รับหรือยัง และไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันในการชำระเงิน, ความปลอดภัยในการชำระเงิน และ User Error ในด้านต่าง ๆ เป็นต้น

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Easy Money มีรายได้หลักดังนี้

2560       1,439.66 ล้านบาท กำไร 23.49 ล้านบาท

2561       1,615.69 ล้านบาท กำไร 33.25 ล้านบาท

2562       1,768.58 ล้านบาท กำไร 39.14 ล้านบาท

               

แต่ทั้งนี้การแข่งขันในธุรกิจ โรงรับจำนำ ของทั้ง 2 แห่ง ถือว่าคนละตลาด เพราะ Easy Money จะมีสาขาที่มากกว่า แต่เป็นสาขาในต่างจังหวัดและปริมณฑล ทำให้ไม่สามารถขยายฐานลูกค้าสู่กรุงเทพฯ ได้

ส่วน Cash Express มี 11 สาขา แต่เป็นสาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังต่างจังหวัดได้เช่นกัน

I

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online