พูดถึงโรงภาพยนตร์ Major กับ SF เป็นสองแบรนด์ที่ผู้บริโภคนึกถึง

โดยปัจจุบัน 2 แบรนด์ นี้ก็ครองตลาดไปถึง 96% เหลือ 4% ไว้ให้โรงอินดี้ได้ฉายหนังอินดี้ หนังนอกกระแสต่อไป ส่วนโรงรุ่นเก่าๆ ที่ใช้สีวาดโปสเตอร์นั้น หายไปหมดแล้ว

ฉะนั้น เรามาดูกันว่า ฟอร์มของ Major กับ SF นั้นเป็นอย่างไร?

ส่วนแบ่งการตลาด โรงภาพยนตร์ 2561

– – – Major กับ SF ใครเป็นต่อ? – – –

ปัจจุบัน จำนวนโรง (Location) นั้นขยายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จอ (Screen) ไม่ได้ขยายมากขึ้นตาม สาเหตุก็คือ โรงใหม่ๆ ที่เกิดในต่างจังหวัด ไม่สามารถทำได้ขนาด 10-15 โรงแบบในกทม. หรือ พื้นที่ที่คนหนาแน่น อย่าง เชียงใหม่ โคราช

โดยปัจจุบัน Market Share ของ Major อยู่ที่ประมาณ 70% ส่วน SF อยู่ที่ 30% และ ข้อมูลล่าสุดพบว่า คนไทย ดูหนังเพียง 0.55 เรื่อง/คน/ปี เท่านั้น ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนดูหนังในโรงประมาณ 10 เรื่องต่อปี นั่นหมายความว่า ยังมีคนอีกมากที่เข้าไม่ถึงโรงหนัง และโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ

*ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 เรื่อง/คน/ปี ส่วนประเทศจีน คือ 1 คน/เรื่อง/ปี

 

แบรนด์โรงภาพยนตร์

SF มีโรง 57 แห่งทั่วประเทศ โดยมี 4 แบรนด์ ซึ่งก็จะเรียงลำดับดังนี้ SF Cinema ในระดับ Mass ส่วนห้างที่คนเยอะหน่อยก็จะ เป็น SFX Cinema และ SF World ใน Central World กับ EMPRIVE ใน Emporium

ส่วน Major มีโรง 157 แห่งทั่วประเทศ และ ค่อนข้างปวดหัว เพราะมีถึง 10 แบรนด์ในเครือ โดยถึงแม้จะเป็นโรง Major Cineplex เหมือนกัน แต่ราคาตั๋วในแต่ละโรงก็ยัง ไม่เท่ากันอีก คาดว่าราคาน่าจะแปรผันตาม ไซส์ของโรงและจอ

ถ้าเป็นแบรนด์ที่ใช้ชื่อ ห้าง + Cineplex ก็จะหรูหราตามห้างนั้นๆ ส่วนถ้าเป็น Major Cineplex หรือ EGV ก็จะมีราคาเท่ากับ SF หรือสูงกว่าเล็กน้อย

– – – – – – – – – – – – – – –

ถ้าลองเทียบ โรงของ Major และ SF ที่ห่างกันน้อยที่สุด ได้แก่

1. Emprivé Cineclub (SF) และ Quartier CineArt (Major) 
ที่นั่งราคาเริ่มต้น 250 บาทเท่ากัน ส่วนที่นั่งคู่ก็ราคา 900 บาทเหมือนกันด้วย ซึ่งก็สมเหตุสมผลดี เพราะดีกรีของทั้งEmporium และ Emquartier นั้นเท่ากัน

2.Paragon Cineplex และ SF World
ส่วน 2 ห้างใจกลางสยามนั้น Paragon Cineplex ที่นั่งปกติ 250 บาท พิเศษ 270 บาท เก้าอี้คู่ 900 บาท
SF World ที่นั่งปกติ 220 บาท พิเศษ 240 บาท เก้าอี้คู่ 600 บาท

ฉะนั้นก็สรุปได้ว่า SF ก็สามารถทำโรงภาพยนตร์ที่หรูได้ไม่แพ้ Major

แต่คำถามคือ จะไปหาห้างสรรพสินค้า หรือโลเคชั่นที่ดีพอมาขยายเพิ่มได้จากที่ไหน?

 

Popcorn ที่คนชอบ

– – – Popcorn ที่คนชอบ – – –
Major = 72.7%
SF = 27.3%
n=132

ส่วนตัว ผู้เขียนไม่ค่อยกินป๊อปคอร์นอยู่แล้ว และก็แยกไม่ออกระหว่าง 2 แบรนด์

แต่ความเห็นจาก Pantip นั้นชัดเจนมากว่า ป๊อปคอร์นของ Major อร่อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

 

สินค้า Merchandise ของ Major กับ SF

– – – Merchandise – – –

สินค้าจากภาพยนตร์ เป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ เพราะคนที่มาดูหนัง ก็มีแนวโน้มที่จะชอบหนังที่ตัวเองดูอยู่แล้ว

และก่อนเข้าโรง ถ้ามีแก้วน้ำ+ตัวการ์ตูนมาวางล่อตาล่อใจ พวกเขาก็พร้อมเสียเงินมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ แน่

ในเรื่อง Merchandise นั้น ต้องยอมรับว่า Major นั้นชนะ SF ขาดลอยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะเป็นความละเอียดของ เนื้องาน และการทำออกมาให้โดนใจผู้บริโภค แต่ปัจจุบัน SF ก็เริ่มจับทางผู้บริโภคถูก และทำสินค้าได้น่าสนใจมากขึ้น

แต่ Major ก็ขยับหนีห่างไปอีก ด้วยการทำช่องทางขายสินค้าในเว็บไซต์/ Facebook เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงให้มากขึ้นอีกด้วย

 

ซื้อตั๋วหนังผ่านแอปฯ– –

– – – Online Ticket – – –

ทั้ง Major และ SF ต่างก็มีแอปฯ เป็นของตัวเอง ซึ่งก็สามารถซื้อตั๋วหนังโดยใช้บัตรเครดิต/เดบิต ได้ แต่ปัญหาที่พบ คือ แอปฯ ของทั้ง 2 เจ้าเกิด Error และ หน่วง

จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้มีตัวกลางใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือ AirPay และ Rabbit LINE Pay ทั้งสองแบรนด์นี้ เป็น E-Wallet เหมือนกัน
AirPay สามารถซื้อตั๋วหนังได้ทั้ง Major และ SF แต่ของ SF จะมีโปรหรือส่วนลดมากกว่า ซึ่งจากการลองใช้ ก็พบว่าแอปฯ ของ AirPay นั้น ดี และ เสถียร กว่าแอปฯ ของ Major และ SF เยอะมาก

Rabbit LINE Pay เป็นพันธมิตรกับ Major เจ้าเดียว โดยโปรแรงเมื่อปี 2017 ก็คือ ซื้อตั๋วหนังใบละ 100 ทุกเรื่อง ทุกโรง จนทำให้คนหันมาใช้ Rabbit LINE Pay เยอะมาก ในขณะที่ปี 2018 นี้ ราคาก็ปรับเป็น 130 บาท แล้ว

ในอนาคต หากแอปฯ ชำระเงินเหล่านี้ทำการตลาดได้มากขึ้น ครอบคลุมผู้ใช้มากขึ้น ทั้ง Major และ SF อาจยกเลิกการซื้อตั๋วในแอปฯ ของตัวเอง และผันตัวเองไปเป็น Movie Community ไปเลยก็เป็นได้ เพราะการพัฒนาแอปฯ ให้ดีนั้น ต้องใช้งบประมาณสูงมาก

 

ตู้ขายตั๋วหนังอัตโนมัติ– –

– – – Ticket Machine – – –

ในส่วนของตู้ขายตั๋วนั้น ทั้ง Major และ SF มีตู้ขายตั๋วอัตโนมัติเหมือนกัน แต่แตกต่างกันดังนี้

ของ Major จะจ่ายเงินสดผ่านตู้โดยตรงไม่ได้ ต้องจ่ายเงินให้พนักงานที่ยืนข้างตู้ แล้วพนักงานเอาบัตร M Cash รูดอีกที ซึ่งก็เหมือนลดคนจากเคาน์เตอร์มาประจำที่ตู้ส่วนหนึ่ง แต่ข้อดีของตู้ Major คือสามารถใส่โปรโมชั่นจากที่ตู้ได้เลย ทำให้ลดภาระพนักงานได้เยอะ

ส่วนของ SF มีข้อดี คือ สามารถใช้เงินสดจ่ายที่ตู้ได้ แต่ตู้นี้ไม่สามารถใช้โปรโมชั่นได้เลย ต้องซื้อราคาเต็มเท่านั้น ถ้าอยากใช้โปรโมชั่น ต้องไปซื้อที่เคาน์เตอร์

 

โรงหนัง Major กับ SF

– – – คนละ Segment? – – – 

ในอดีต คนชอบบอกว่า Major จะมีราคาตั๋วที่แพงกว่า SF ประมาณ 20-60 บาท มีที่นั่งนั้งในโรง นอกโรงที่ดูดีกว่า ระบบเสียง ระบบภาพดูดีกว่า ห้องน้ำดีกว่า…

แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เพราะ Major เข้าไปทำตลาดใน Segment ล่าง อย่าง BigC และ Lotus มากขึ้น ซึ่งก็ทำให้มีราคาที่ถูกลง เพราะขนาดโรง/ขนาดจอเล็กกว่า ในห้างชั้นนำ และที่สำคัญคือ ทั้ง 2 ห้างก็เปิดสาขามากขึ้นในพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่ๆ อีกด้วย

ฉะนั้นตอนนี้ ก็ต้องบอกว่า Major นั้นวางกองกำลังโรงหนังไว้เกือบหมดแล้ว ในเมืองก็มีโรงหรูๆ ในห้างหรูๆ ส่วนต่างจังหวัดก็สู้ในระดับราคาเดียวกับ SF ได้เช่นกัน

 

 

 

ตลาดโรงภาพยนตร์ไทย– –

– – – บทสรุป โรงภาพยนตร์ไทย – – – 

ในด้านเทคโนโลยีนั้น Major กับ SF ไม่ได้หนีกันมาก เทคโนโลยีที่ Major มี SF ก็มี เทคโนโลยีของจอที่แปลกใหม่ ก็สามารถลงทุนซื้อมาใช้ได้ไม่ยาก

แต่สิ่งที่ทำให้ Major เหนือกว่า SF ในช่วงที่ผ่านมา ก็คือการจัดการ การเข้าถึงฐานคนดูใหม่ๆ และการเพิ่มมูลค่าของสินค้า

คงยากที่ SF จะแย่ง Market Share จาก Major ได้ง่ายๆ เพราะหนังที่ฉายในโรงก็แทบจะเหมือนกัน จำนวนโรงก็น้อยกว่า ครั้นจะไปเล่นเกมราคา โปรโมชั่น ก็จะเสียเลือดเสียเนื้อกันทั้ง 2 ฝ่าย

ฉะนั้นสิ่งที่ SF สามารถทำได้ เช่น
-หาทางแตกต่างในแง่มุมอื่นๆ เช่น ยกระดับบริการให้ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
-ทำแคมเปญเอาใจคอหนัง แบบที่ Major เคยทำ Movie Marathon
-เอาถังจากบ้านมาใส่ป๊อปคอร์นเองได้ (ส่วนตัวล้วนๆ)

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online