แม้ว่าสื่อที่มีการใช้งบโฆษณามากที่สุดในปีที่ผ่านมายังคงเป็น “สื่อโทรทัศน์”  และภาพรวมของการใช้งบโฆษณาในสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้น 3%

แต่ภาพรวมรายได้และกำไรของช่องทีวีดิจิทัลก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ Marketeer เลยพาดูรายได้ กำไร/ขาดทุนของช่องทีวีดิจิทัล บางช่องที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่แจ้งรายงานผลประกอบการปี 2562 แล้ว ส่วนการเดินเกมของช่องดิจิทัลปีนี้จะเป็นอย่างไรมาหาคำตอบ

124,267 ล้านบาท
คือการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อในปี 2562

56% โทรทัศน์   70,298 ล้านบาท
16% อินเทอร์เน็ต   20,163 ล้านบาท
11% Outdoor&Transit   13,513 ล้านบาท
7% โรงภาพยนตร์   8,838 ล้านบาท
5% สิ่งพิมพ์   5,681 ล้านบาท
4% วิทยุ   4,735 ล้านบาท
1% สื่อในร้านค้า   1,040 ล้านบาท

ที่มา-นีลเส็น

ช่อง 3 ปรับผู้บริหาร-ลด พนง. ก็ยังไม่เวิร์ก

ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นปีที่สุดหิน และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากสำหรับช่อง 3 เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ได้อดีตแม่ทัพจาก ไลน์ ประเทศไทย อย่าง “บี๋-อริยะ พนมยงค์” มานั่งเป็นแม่ทัพกรรมการผู้อำนวยการ บมจ. บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC เพื่อหวังให้มาพลิกฟื้นรายได้ และสร้างกำไร

มีการส่งหนังสือเลิกจ้างพนักงานร่วม 200 คน หลังจากที่ช่อง 3 ได้คืนช่องทีวีดิจิทัลที่มีอยู่ในมือ 2 ช่อง คือ 3SD และ 3 Family และเหลือ 3HD เพียงช่องเดียว

แม้จะได้แม่ทัพใหม่และปรับโครงสร้างบริษัทด้วยการลดคนแล้ว แต่ช่อง 3 ก็ดูจะยังไม่มีท่าทีที่ดีขึ้นเพราะรายได้ และกำไรปี 2562 นี้ลดลงต่อเนื่อง

รายได้รวมปี 2562 ของกลุ่มบีอีซี อยู่ที่ 8,310.2 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 1,815.5 ล้านบาท ขาดทุน 397.2 ล้านบาท โดยรายได้หลัก 81.1% มาจากการขายเวลาโฆษณา

ขณะที่รายได้จาก “คอนเสิร์ตและโชว์” เป็นกลุ่มเดียวของทั้งหมดที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 51.1% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 557 ล้านบาท

ส่วนปี 2563 นี้ อริยะ กางแผนส่ง 6 กลยุทธ์ลงชิงรายได้ ดึงคนดูหน้าจอ หวังให้สิ้นปีนี้พลิกกลับมาทำกำไร

1. New Media ให้แบรนด์สินค้าที่ลงโฆษณาจะสามารถเปลี่ยนผู้ชมทั้งทางทีวี หรือออนไลน์ ให้กลายเป็นผู้ซื้อได้โดยการติดต่อผ่านคอลเซนเตอร์ ผ่าน การสแกน QR Code ผ่านแอพปพลิเคชั่น

2. Global Distribution รุกการขายคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยโฟกัสประเทศจีนและภูมิภาคอินโดจีน เพื่อเพิ่มรายได้เพิ่มเป็น 2 เท่าจากปีที่แล้ว

3. Digital ปรับโฉมแพลตฟอร์มออนไลน์ของช่อง 3 ให้เป็น CH3Plus ชูโดยจะรวมเนื้อหาทั้งหมดของช่อง 3 มาไว้ในที่เดียวทั้งการชมสดและย้อนหลัง

4. New Content ปรับผังคอนเทนต์  New Prime Time

18.00-19.00น. รายการวาไรตี้สำหรับคนทำงานที่กำลังเดินทางกลับบ้าน

19.00-20.00น. ละครสำหรับกลุ่มครอบครัว

20.00-22.35 น. ละครสำหรับกลุ่มคนเมือง

5. Artist ยกระดับศิลปินที่ต้องมากกว่าแค่แสดงละคร เพิ่มด้านการขายสินค้า และส่งออกศิลปินไปยังต่างประเทศ

6. Data เก็บดาต้าเพื่อให้สามรถปรับคอนเทนต์ให้ตอบสนองทั้งผู้ชม และลูกค้าได้ดีขึ้น

เวิร์คพอยท์ กำไรลดเกินครึ่ง

ด้านเวิร์คพอยท์เปิดแผนธุรกิจปี 2020 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยยังจะรุกคอนเทนต์วาไรตี้เป็นหลัก และจะเข้าถึงผู้ชมทุกแพลตฟอร์ม

ทั้ง ON TV ที่มีรายการใหม่เกือบ 20 รายการ

ON Ground ด้วยการจัดอีเวนต์ต่างๆ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด

และ Online ที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้ตลอด 24 ชม.

สำหรับรายได้ปีที่ผ่านมานั้น เวิร์คพอยท์มีรายได้ 2,771.66 ล้านบาท ลดลง 23% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยมีกำไรลดลงเกินครึ่ง อยู่ที่ 159.50 ล้านบาท โดยรายได้หลักยังมาจากธุรกิจโทรทัศน์เช่นกัน ซึ่งรายได้ในกลุ่มนี้ลดลงเนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่รายได้จากกลุ่มการขายสินค้า และบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นมากที่อยู่ มีรายได้อยู่ที่ 216.62 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากการขายสินค้า 70%  จากบริการอื่น 30% ซึ่งรายได้หลักมาจากการขายสินค้าจาก “1346 Hello Shops”

RS ของเฮียฮ้อก็สั่น ขายครีม-ช่อง 8 ร่วง ได้คอนเสิร์ตช่วยดัน

ผันตัวจากธุรกิจสื่อมาเป็นธุรกิจคอมเมิร์ซเต็มตัว สำหรับอาร์เอสของ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ที่ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจคอมเมิร์ซกว่า 3,000 ล้าน และธุรกิจสื่อและคอนเทนต์ 2,000 บาท

ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเฮียฮ้อต้องใช้กลุทธ์อย่างหนักมากเพราะผลประกอบการปีที่ผ่านมาดูจะไม่เป็นใจเท่าไร เครืออาร์เอสมีรายได้อยู่ที่ 3,611.1 ล้านบาท ลดลง 5.6% ส่วนกำไรลดลงจาก 516 ล้านบาท ในปี 2561 มาอยู่ที่ 363.3 ล้านบาท

รายได้ของอาร์เอสมาจาก 3 ส่วน โดย 2 ส่วนหลักคือจากธุรกิจคอมเมิร์ซ และสื่อที่ปีที่ผ่านมารายได้ลดลงทั้งคู่ แต่ธุรกิจเพลงของอาร์เอสกลับพุ่งขึ้นถึง 49.1% ซึ่งได้แรงหนุนมาจากการจัดคอนเสิร์ตในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 อย่าง  “Raptor Evolution 25 ปี ไม่มี เกรงใจ” และ “D2B Infinity Concert 2019”

ส่วนปี 2563 นี้ อาร์เอสจะเน้นไปที่ “Entertainmerce” กับธุรกิจคอมเมิร์ซอย่างเต็มตัว ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม โดยจะใช้ “RS Mall” เป็นตัวทำรายได้หลักและโผล่ไปทุกช่องทางของอาร์เอส พร้อมกับหาพันธมิตรใหม่ๆ

ในส่วนช่อง 8 ที่ได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนใบอนุญาต ปีนี้ช่อง 8 ตั้งเป้าให้ตัวเองเป็นช่องมวยอันดับ 1 โดยส่งรายการ “Thai Fight” เข้าสู้

ส่วนออนกราวด์อย่างการจัดอีเวนต์และคอนเสิร์ต ปีนี้อาร์เอสตั้งเป้าจัดคอนเสิร์ต 5 คอนเสิร์ต หนึ่งในนั้นคือคอนเสิร์ต Kamikaze ของวัยรุ่นยุค 90 ในช่วงเดือนพ.ค. นี้

อสมท เดิมเกมลุยธุรกิจใหม่ๆ ไม่พึ่งรายได้โฆษณาอย่างเดียว

รายได้ของ อสมท. ในปี 2562 อยู่ที่ 2,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 16% ซึ่งเป็นผลมาจากการกลับรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าใบอนุญาตฯ เนื่องจากการคืนใบอนุญาตฯ  หรือการคืนช่อง MCOT Family โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจวิทยุ มาเป็นอันดับ 1 ที่ 30% รองมาเป็นธุรกิจโทรทัศน์ 29%

ขณะที่ขาดทุนเพิ่มขึ้น 22% มาอยู่ที่ 457 ล้านบาท

โดยแผนธุรกิจในปีนี้ เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เป็นปีแห่งแผนการพัฒนาองค์กรจากเดิมอาศัยธุรกิจมีเดียโทรทัศน์และวิทยุ ไปสู่การเน้นวางพื้นฐานเพื่ออนาคต และเพิ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่อาศัยโฆษณาทางโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว

อสมท เพิ่มหน่วยธุรกิจอีก 2 ส่วน คือ

1. สำนักธุรกิจดิจิทัล นำ Content ใน Platform เดิมมาพัฒนาสู่ Platform ใหม่ ประกอบด้วยคอนเทนต์ข่าวและข่าวบันเทิง คอนเทนต์เสียงจากวิทยุ 53 สถานี เพื่อขยายไปสู่ Podcast และ Radio Online

2. สำนักดิจิทัลแพลตฟอร์ม เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มกับ Digital Platform ที่มีโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากธุรกิจมีเดียโทรทัศน์

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่น่าสนใจ และบริหารค่าใช่จ่ายในการดำเนินการ โดยจะลดการผลิตรายการสดที่ผลิตเองส่วนหนึ่ง เพื่อควบคุมต้นทุนในฟรีทีวี และเน้นให้ทีมข่าวหันไปเปิดตลาดออนไลน์มากขึ้น

และอีกหนึ่งกลยุทธ์คือ การทำ Co-Production กับพันธมิตรผู้ผลิตรายการระดับนานาชาติ ทั้ง Japan International Broadcasting Inc. (JIB) China Media group และ CCTV ประเทศจีน รวมทั้งการลงทุนร่วมผลิตกับ Netflix เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมมากขึ้น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online