Feature

งานใหญ่ … ไหวไหมล่ะ ? : จัดแข่ง F1 ในไทย ได้หรือเสียมากกว่ากัน ? | Main Stand

กลายเป็นประเด็นที่ทำให้แฟนกีฬาความเร็วให้ความสนใจอีกครั้ง กับการที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย เตรียมนำประเด็นการดึงการแข่งขัน รถสูตรหนึ่ง หรือ Formula 1 มาจัดแข่งขันในประเทศไทยขึ้นมาหารือระหว่างการเดินทางเยือนประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2024 นี้

 

นี่คือประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันบ่อยครั้ง กับการจัด F1 ในแดนสยาม แม้จะยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ความหวังยังมีอยู่เสมอ

คำถามคือ การที่ประเทศหนึ่งจะจัดการแข่งขัน F1 นั้นมีต้นทุนสูงขนาดไหน ? สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากเพียงใด ? และสำหรับประเทศไทยแล้ว มีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน ?

ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand ได้ที่นี่

 

F1 ในไทย ความฝันข้ามทศวรรษ

การแข่งขัน F1 ในไทย ... นี่คือสิ่งที่คนรักความเร็วจำนวนไม่น้อยใฝ่ฝันอยากเห็นสักครั้งในชีวิต เพราะแม้จะเคยมีอีเวนท์ที่นำรถแข่ง F1 มาโชว์ตัว หรือมาวิ่งโชว์แล้วหลายครั้ง ทว่าความรู้สึกต่างกับการแข่งขันจริงอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม F1 ในประเทศไทย ถือเป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันมานาน ระดับน้อง ๆ ถนนพระรามสอง เพราะเคยมีการพูดคุยเรื่องการนำการแข่งขันความเร็วที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมาจัดที่แดนขวานทองหลายต่อหลายครั้ง แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นจริงเสียที

หนึ่งในเส้นทางการแข่งขันที่ถูกพูดถึงเสมอ เมื่อมีการพูดถึงการแข่ง F1 ในไทย คงหนีไม่พ้น รอบเกาะรัตนโกสินทร์ บนถนนราชดำเนิน อันเป็นถนนที่อยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

ไม่เพียงเท่านั้น ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ยังเป็นอีกสนามแข่งที่ถูกพูดถึงในการเป็นสังเวียนแข่ง F1 เพราะนี่คือสนามแข่งรถแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้มาตรฐาน FIM Grade A และ FIA Grade 1 สามารถแข่งรถทั้งสองล้อและสี่ล้อได้ทุกรายการบนโลกใบนี้

 

ต้นทุนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม การจัดการแข่งขัน F1 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้นทุนของมันสูงระดับที่ได้ยินแล้ว "ลมแทบจับ"

ข้อมูลจาก Formula Money เว็บไซต์ที่รวมรวมตัวเลขทางเศรษฐกิจของการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง ระบุว่า ค่าลิขสิทธิ์เพื่อให้ได้จัดการแข่งขัน หากจัดแข่งเพียงปีเดียวก็สูงถึง 31.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 พันล้านบาท) แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น หากต้องการเซ็นสัญญาระยะยาว ค่าลิขสิทธิ์ในปีต่อ ๆ ไปยังเพิ่มสูงขึ้นในอัตราก้าวหน้า โดยการเซ็นสัญญาจัดแข่งรถสูตรหนึ่งเป็นเวลา 10 ปี จะมีค่าลิขสิทธิ์สูงถึง 396.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างสนามแข่งขันตามมาตรฐาน FIA เกรด 1 ที่สามารถใช้จัดแข่งกีฬาความเร็ว 4 ล้อได้ทุกรายการ ยังมีต้นทุนที่สูงไม่แพ้กัน โดยต้องใช้งบประมาณสูงถึง 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,900 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันอีกราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 495 ล้านบาท) ต่อปี เท่ากับว่า หากชาติใดต้องการจัดแข่ง F1 เป็นเวลา 10 ปีโดยสร้างสนามถาวร จะมีต้นทุนรวมอยู่ที่ 851.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 28,000 ล้านบาท)

ถึงตรงนี้คงมีคำถามว่า หากปิดถนนเพื่อทำเป็น สตรีท เซอร์กิต สนามแข่งขันชั่วคราวล่ะ ต้นทุนมันน่าจะถูกกว่าการสร้างสนามถาวร ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จก็ต้องมีค่าบำรุงรักษาหรือไม่ ? ประเด็นก็คือ ข้อมูลของ Formula Money กลับให้มุมมองที่ต่างจากความเข้าใจเดิม

จริงอยู่ ข้อดีของการปิดถนนเพื่อแปลงเป็นสนามแข่งก็คือ ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างสนามเป็นถาวรวัตถุ ถึงกระนั้น ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องมีการสร้าง อย่างเช่นตึกที่เป็นศูนย์บัญชาการของการแข่งขัน ที่มีทั้งห้องควบคุม, ศูนย์พยาบาล, ศูนย์สื่อมวลชน รวมถึงพิทและแพดด็อก ซึ่งทีมแข่งจะต้องใช้เป็นสถานที่ประกอบ ซ่อมบำรุงรถ ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องมีการสร้างอัฒจันทร์ที่นั่งสำหรับผู้ชม, ปรับปรุงพื้นถนน รวมถึงวางแนวป้องกันต่าง ๆ ตามมาตรฐานอันสูงลิบของ F1 ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้งบประมาณ 57.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,900 ล้านบาท) ต่อปี

เมื่อรวมค่าลิขสิทธิ์ กับงบประมาณในการปรับปรุงสนามที่ต้องทำทุกปีแล้ว หากประเทศใดต้องการจัดแข่ง F1 แบบสตรีท เซอร์กิต 10 ปี จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 971.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว

โดยในกรณีของประเทศสิงคโปร์ ชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดแข่ง F1 ณ เวลานี้ ซึ่งจัดแข่งแบบ สตรีทเซอร์กิต ทางกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ หรือ MTI เคยเปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดแข่งขัน Singapore Grand Prix เมื่อปี 2022 อยู่ที่ราว 135-140 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 3.6-3.8 พันล้านบาท) โดยรัฐบาลอุดหนุน 60% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด

 

ผลตอบแทนที่เปลี่ยนประเทศได้

ต้นทุนในการจัดการแข่งขัน โดยเฉพาะค่าลิขสิทธิ์ที่สูงมาก ทำให้หลายประเทศที่เคยจัดการแข่งขัน F1 ถอดใจ ไม่ต่อสัญญา อาทิ เยอรมนี หนึ่งในชาติชั้นนำของวงการยนตรกรรม รวมถึง มาเลเซีย ชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้จัดแข่งรถสูตรหนึ่ง

แต่ถึงกระนั้น กลับมีหลายชาติ หลายเมือง ที่ให้ความสนใจในการจัดแข่ง F1 ซึ่งเหตุผลนั้น ดูได้ไม่ใกล้ไม่ไกล กับประเทศสิงคโปร์ ประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่จัดแข่งรถสูตรหนึ่งอยู่ในตอนนี้

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยด้วยเช่นกันว่า F1 ได้นำ "ผลประโยชน์มากมาย" มาสู่สิงคโปร์นับตั้งแต่จัดแข่งครั้งแรกเมื่อปี 2008 โดยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมายังสิงคโปร์ได้มากกว่า 550,000 ราย และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 53,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีผู้ชมผ่านการถ่ายทอดสดมากกว่า 1 พันล้านคน

ไม่เพียงเท่านั้น การจัดแข่งขัน F1 ทำให้สิงคโปร์พลิกภาพลักษณ์ กลายเป็นประเทศที่มี "ชีวิตชีวา" จากกิจกรรมความบันเทิงต่าง ๆ ที่จัดกันแบบไม่ยั้งในช่วงสัปดาห์การแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอนเสิร์ตจากศิลปินดังระดับโลก ที่หลายคนซื้อบัตรเข้าชมไม่ได้เพื่อมาดูแข่งรถ แต่มาดูคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สิงคโปร์นำอีเวนท์ต่าง ๆ ทั้งกีฬาและความบันเทิงมาจัดในประเทศอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยว ภาคส่วนอื่น ๆ ของประเทศสิงคโปร์ยังได้รับผลประโยชน์จาก F1 เพราะเป็นการสร้างงานให้กับบริษัทท้องถิ่นหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เช่น บริษัทด้านโลจิสติกส์ การขนส่ง การก่อสร้าง และวิศวกรรม รวมถึงภาพการศึกษา ที่นักเรียน นักศึกษา จำนวนไม่น้อย ได้สัมผัสประสบการณ์จริงผ่านการแข่ง F1

 

มองต่างมุม F1 ในไทย

ภาพความสำเร็จของสิงคโปร์ที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ชาติอื่นหวังเดินรอยตาม ด้วยการนำการแข่งขันกีฬาความเร็วอันดับ 1 ของโลก มาจัดยังประเทศและเมืองของพวกเขา ซึ่งประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น

แน่นอนว่าเมื่อมีสนามช้าง สนามแข่งรถแห่งเดียวในประเทศไทยที่ผ่านมาตรฐานจัดแข่งได้ทุกรายการ หลายฝ่ายจึงเล็งไปที่สนามแห่งนี้ว่าจะเป็นสังเวียนจัดแข่ง F1

อย่างไรก็ตาม ที่ตั้งของสนามช้างซึ่งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็น "เมืองรอง" ที่มีโรงแรมระดับ 4-5 ดาวไม่มากนัก ชนิดที่จัดแข่ง MotoGP ในแต่ละปี โรงแรมยังเต็มไปถึงจังหวัดใกล้เคียง ไม่เพียงเท่านั้น ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ที่อำเภอสตึก เป็นเพียงสนามบินในประเทศ ไม่ใช่สนามบินนานาชาติ ทำให้การขนส่งและเดินทางไม่ถึงกับสะดวกสบายนัก ทำให้หลายฝ่ายกังวลกับตัวเลือกนี้เช่นกัน

มิหนำซ้ำ เนวิน ชิดชอบ เจ้าของสนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ยังยอมรับว่า โอกาสที่จะได้เห็น F1 ที่บุรีรัมย์นั้นเป็นไปค่อนข้างน้อย โดยเผยถึงเรื่องนี้กับทีมงาน Main Stand เมื่อปี 2018 ว่า

"มีหลายคนถามพี่ว่า สร้างสนามแข่งระดับนี้ มีความคิดจะจัด F1 หรือไม่ สำหรับพี่ พี่ยังไม่คิดเลยนะ เพราะค่าลิขสิทธิ์ในการจัดแข่งขันมันสูงมาก ปีละ 1,000 ล้านบาท ส่วนโมโตจีพีแค่ปีละ 300 ล้านบาท"

"ยิ่งไปกว่านั้น F1 มันยังดูไกลตัวไปสำหรับแฟนกีฬาชาวไทย เพราะรถที่ใช้แข่งมันถูกสร้างเฉพาะ แถมหน้าตายังไม่เหมือนรถที่ใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนกับโมโตจีพี ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยยังคุ้นเคยกับนักแข่งมอเตอร์ไซค์อย่าง วาเลนติโน่ รอสซี่, มาร์ก มาร์เกซ มากกว่าด้วย"

ขณะเดียวกัน อีกตัวเลือกอย่างการทำ สตรีท เซอร์กิต ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ, พัทยา จังหวัดชลบุรี หรือจังหวัดภูเก็ต อันเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมจากเมืองต่าง ๆ ในการจัดแข่ง F1 มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยังมีปัญหาสำคัญที่แก้ไม่ตก นั่นคือกระแสต่อต้านจากประชาชน ทั้งจากในและนอกพื้นที่ ทำให้ทุกอย่างยังคงคาราคาซังเช่นนี้มาเนิ่นนาน

เมื่อต่างฝ่ายต่างยังมองไม่เห็นตรงกันเช่นนี้ เกียรติยศ พรหมหงษ์ บรรณาธิการบริหาร และเจ้าของเว็บไซต์ motorsportlives.com จึงมองว่า สิ่งสำคัญที่สุด ณ เวลานี้ คือการทำให้ทุกฝ่ายเห็นถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่ประเทศจะได้รับจากการแข่งขัน F1 อย่างรอบด้านเสียก่อน

"ส่วนตัวผมมองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนว่าประเทศและพวกเขาจะได้รับอะไรบ้าง รัฐบาลมีหน้าที่ในการทำความเข้าใจและดำเนินการอย่างโปร่งใสและเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าการดึง F1 มานั้น จะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ งบมาจากไหน และมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร ซึ่งการทำประชาพิจารณ์สำคัญมาก"

"ส่วนตัวผมมองว่าถ้าไทยจะจัด F1 ควรเป็น สตรีท เรซ เหมือนสนามใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้ เพราะเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันภาคเศรษฐกิจในพื้นที่สำหรับจัดการแข่งขัน ผมอยากให้มองภาพรวมว่าการจัดกีฬาระดับเมเจอร์ของโลกนำมาซึ่งอะไรบ้าง ทำไม สิงคโปร์ ถึงต่อสัญญาจัดการแข่งขัน F1 ยาว ๆ เพราะเม็ดเงินมหาศาลที่หมุนเวียนในช่วงนั้นสูงมาก"

"สิ่งสำคัญคือการเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับเมเจอร์อย่าง F1 เป็นการแสดงศักยภาพของประเทศ เป็นการบอกว่าประเทศเรามีศักยภาพแค่ไหนในแง่เศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลในแง่การดำเนินการ และนำเสนอต่อประชาชนครับ เพราะเรื่องนี้ใหญ่มาก ค่าลิขสิทธิ์ของ F1 ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ คิดเป็น 3-4 เท่าของ MotoGP ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ"

"ส่วนตัวผมสนับสนุนโครงการนี้นะ ถ้ามันเกิดขึ้นจริง มันจะพลิกภาพลักษณ์ของไทยให้กลับมาเป็นเบอร์ต้น ๆ ด้านเศรษฐกิจได้เลย อย่างที่บอกครับ สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับประชาชน และศึกษาผลกระทบรอบด้านให้ดี"

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.businesstimes.com.sg/singapore/singapore-not-disadvantaged-f1-contracts-so-far-2024-race-track-mti
https://www.dailymail.co.uk/sport/formulaone/article-4389450/Malaysia-host-final-Grand-Prix-race-year.html
https://www.express.co.uk/sport/f1-autosport/860905/Why-Malaysian-Grand-Prix-CANCELLED-Last-race-explained
https://www.forbes.com/sites/csylt/2017/03/13/the-1-billion-cost-of-hosting-an-f1-race/
https://www.reuters.com/article/us-motor-f1-promoters/f1-cannot-count-on-continued-high-hosting-fees-says-wolff-idUSKCN1IU1TH
https://www.singaporegp.sg/index.php/media/press-release/236
https://www.theguardian.com/sport/blog/2017/jan/26/f1-new-owners-chase-carey-liberty-race-fees

Author

เจษฎา บุญประสม

Content Creator ผู้ชื่นชอบการกิน, ท่องเที่ยว และดูกีฬาแทบทุกประเภท โดยเฉพาะฟุตบอล, อเมริกันเกมส์, มอเตอร์สปอร์ต, อีสปอร์ต

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น