Feature

ย้อนอดีตสโมสรไทย : เริ่มต้นที่ค้างเงินนักบอล...จบลงที่ “ยุบทีม” | Main Stand

“สโมสรเมืองไทยค้างเงินนักบอล” เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าเรื่องแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ

 

แต่หากนับเฉพาะช่วง 10 ปีหลังสุดที่ฟุตบอลไทยเริ่มทำตัวเป็นอาชีพมากขึ้น การค้างเงินนักฟุตบอลมีลดน้อยลง แต่ก็ยังไม่หายไปจากวงการ

ปัจจุบันหลายสโมสรได้รับผลกระทบและขาดสภาพคล่อง หลายทีมค้างเงินนักฟุตบอล แต่บางทีมก็คุยกันได้ บางทีมพอถูๆ ไถๆ แต่บางทีก็อดรนทนไม่ไหวถึงขั้นแจ้งต่อสาธารณะชนให้รับทราบ

วันนี้จะพาไปย้อนอดีตสโมสรที่ต้องหายไปจากสารบบของวงการฟุตบอลไทย ต้นเหตุอันเนื่องมาจากการค้างเงินนักฟุตบอล ซึ่งสุดท้ายทางออกคือ “ยุบทีม”

 

ทีโอที เอสซี : บอร์ดมีมติยุบทีม ส่วนเงินที่ค้างให้นักเตะไปฟ้องเอง

ทีมระดับตำนานที่สร้างนักฟุตบอลชื่อดังมากมาย สุดท้ายมีอันต้องยุบทีมเมื่อปี 2559 หลังจากที่นักฟุตบอลเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนกับสมาคมฯ เพราะถูกต้นสังกัดค้างเงิน 3 เดือน รวมประมาณ 9 ล้านบาท แต่สุดท้ายก็ไม่อาจช่วยอะไรได้ เพราะ ทีโอที ได้สปอนเซอร์เข้ามาแต่ก็ไม่ได้รับเงินตามสัญญาที่ทำเอาไว้ ส่วนแบงค์การันตีก็ไม่มีจริง ซึ่งตามข่าวระบุว่านักเตะต่างชาติโดนเจ้าของหอพักไล่ออกเพราะไม่มีเงินมาจ่าย, นักฟุตบอลมาซ้อมโดยไม่มีน้ำกิน, หญ้าขึ้นสูง ฯลฯ

ตอนจบของเรื่องนี้ คือ บอร์ดบริหาร ทีโอที เอสซี มีมติให้ยุบสโมสร หลังจากที่ข่าวออกไปในเรื่องการค้างเงินนักเตะ ทำให้สปอนเซอร์ของทีมทั้งหมดถอนตัวออกจากการสนับสนุนทีม ไม่มีงบประมาณมาบริหารทีม ส่วนเงินที่ค้างจ่ายให้นักเตะไปดำเนินการณ์ฟ้องต่อบริษัท ทีโอที เอสซี จำกัด เอาเอง แต่ก็คงไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน เพราะบริษัทมีเงินทุนจดทะเบียนแค่ 2 ล้านบาทเท่านั้น

ที่มา: https://www.sanook.com/sport/177417/, https://www.sanook.com/sport/209701/

 

บีบีซียู : ไม่มี ไม่จ่าย ยุบทีมกลางคันซะเลย

สินธนา, จุฬา-สินธนา, จุฬา ยูไนเต็ด นี่คือชื่อเดิมก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “บีบีซียู” ซึ่งพวกเขาโลดแล่นบนลีกสูงสดจนถึง 2559 แต่ต้องตกชั้นไปเล่นไทยลีก 2 ในปี 2560 พร้อมประสบปัญหาด้านการเงิน กระทั่งหนักขึ้นเรื่อยๆ จนนักฟุตบอลต้องไปยื่นเรื่องต่อสมาคมฯ ให้เข้ามาช่วยเหลือ เพราะไม่อาจติดต่อผู้บริหารได้ นอกจากนั้นทีมไม่เดินทางไปแข่งขันกับ สงขลา ตามโปรแกรมที่กำหนด

สุดท้าย บีบีซียู ตัดสินใจประกาศ “ยุบทีม” ในระหว่างฤดูกาลแข่งขัน พร้อมลอยแพนักเตะ ไม่มีการจ่ายเงินชดเชย นักเตะบางคนต้องขายบ้าน ขายรถที่กำลังผ่อนอยู่ ขณะที่ลีกได้รับปัญหาเต็มๆ เพราะโปรแกรมถ่ายทอดสดหายไป 1 คู่ต่อสัปดาห์ ส่งผลต่อการเคลมสปอนเซอร์ ซึ่งนั่นคือการปิดตำนาน บีบีซียู แบบไม่สนใจใคร 

***โดนปรับเงิน 1,000,000 บาท จากการ “ยุบทีม” ระหว่างฤดูกาล แต่ปัจจุบันสมาคมฯ ยังไม่ได้เงินค่าปรับจำนวนนี้

ที่มา: https://tna.mcot.net/tna-109402, https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/956882, https://mgronline.com/sport/detail/9600000044806, https://mgronline.com/sport/detail/9600000052672

 

อุดรธานี : “ค้างข้ามปี” นักบอลทวงเช้า-เย็น แต่ไม่เคยได้

สดๆ ร้อนๆ ไม่นานมานี้ เมื่อฤดูกาลที่แล้วนี้เอง นักเตะ อุดรธานี ในไทยลีก 2 ถูกต้นสังกัดค้างเงินเดือนตั้งแต่ปลายปี 2020 ข้ามมาถึง 2021 ซึ่ง ประกิต ดีพร้อม คือคนที่กล้าออกมาทวงเพราะโดนค้างถึง 7 เดือน และหลายคนทั้งโพสต์เฟสบุ๊คทวง บางคนถึงขึ้นไลฟ์ ไม่เว้นแม้แต่แฟนบอลก็ยังทำป้ายช่วยทวงเงินให้กับนักเตะ

ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาก็ไม่อาจช่วยให้อะไรดีขึ้น แถมยังโบกมือถอนตัวกลานคันและมีการโพสต์เฟสบุ๊คทวงเงินกันอีก (เรียกได้ว่าทวงทั้งนักเตะและกลุ่มทุนใหม่) ทำให้ต้องออกโรงโต้เถียงกันไปมา

แม้ผู้บริหารอุดรธานีจะพยายามหาเงินในใช้หนี้ให้นักเตะ แต่ก็ไม่ครบทุกคน และสุดท้าย อุดรธานี ตกชั้นเมื่อฤดูกาลที่แล้ว พร้อมหายไปกับกลีบเมฆทั้งคนทั้งทีม ปิดตำนาน “ค้างข้ามปี” ที่นักเตะ อุดรธานี ทุกคนจำไปจนวันตาย

ที่มา: https://www.mainstand.co.th/th/news/5/article/3480#google_vignette, https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/thaipremierleague/2288070, https://www.siamsport.co.th/football-thailand/thaileague-2/14321/

 

เมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด : ปากบอกไม่ค้าง แต่โดนฟ้องจนต้อง “ยุบทีม"

มาไว ไปไว ขึ้นชั้นมาอย่างยิ่งใหญ่เล่นในไทยลีก 2 พร้อมกว้านซื้อผู้เล่นชื่อดังเข้าสู่ทีมมากมาย แต่สุดท้ายมีปัญหาด้านการเงินจนนักฟุตบอลต่างชาติไปฟ้องร้องกับ ฟีฟ่า และมีคำสั่งมาให้ชดใช้หนี้ ขณะที่นักฟุตบอลไทยบางรายก็ออกมาโพสต์ทวงเงินไม่เว้นแต่ละวัน จนผู้บริหารทีมถึงขั้นต้องแถลงข่าวปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงเพราะไม่ได้ค้างเงินเดือนใครเลย ส่วนต่างชาติกำลังทยอยให้

สุดท้ายเมื่อจบฤดูกาล 2021/22 ผู้บริหารได้ออกมายอมรับว่าไม่มีแรงที่จะพาทีมไปต่อแล้ว เพราะโดนแต่ต่างชาติฟ้องร้อง จึงเป็นเหตุผลของการไม่ผ่าน คลับ ไลเซนซิง และถูกตัดสิทธิ์จนกระทั่ง “ยุบทีม” 

ที่มา: https://www.mainstand.co.th/th/news/3/article/3360, https://www.komchadluek.net/news/520639, https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/thaipremierleague/2295275

 

สีหมอก : นักบอลทีมชาติยังไม่รอด ถึงขั้นร้องกองปราบ

สีหมอก ทีมในระดับไทยลีก 3 แต่มีเงิน (ทิพย์) มากมายในการหลอกให้ผู้เล่นระดับอดีตทีมชาติไปร่วมทีมหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ดัสกร ทองเหลา, วุฒิชัย ทาทอง หรือแม้แต่เฮดโค้ชอย่าง สระราวุฒิ ตรีพันธ์ ทว่าค้างเงินนักเตะเป็นว่าเล่น มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งนักเตะพยายามทวงถามส่วนผู้บริหารก็ไม่มีหนี พร้อมให้คำมั่นว่าจ่ายแน่นอน โดยนัดวันเวลาเป็นมั่นเป็นเหมาะ  แต่สุดท้ายไม่มีการมอบเงินให้ตามที่ตกลง จนถูกสมาคมฯ ระงับสิทธิ์ในการลงแข่งขันเมื่อฤดูกาล 2562

ดัสกร ทองเหลา ในฐานะอดีตทีมชาติและพี่ใหญ่ของทีม ถึงขั้นทำหนังสือแจ้งต่อกองบังคับการกองปราบเพื่อให้เข้ามาจัดการ เพราะตั้งแต่เซ็นสัญญามาเล่นให้กับ สีหมอก ไม่เคยได้รับเงินตามที่ตกลงกันไว้เป็นระยะเวลานานกว่า 5 เดือน รวมถึงนักฟุตบอลคนอื่นๆ และทีมงานทีมงานสตาฟฟ์อีกกว่า 40 คน จนบางคนต้องขายสร้อยคอ ของมีค่า เอาบ้านไปจำนอง เพื่อพยุงครอบครัว

สุดท้ายตอนจบของเรื่องนี้เรื่องนี้ก็เดาได้ไม่ยากเพราะการ “ยุบทีม” คือทางออกเดียวในการหนีปัญหา ส่วนคนที่ซวยคือ “นักฟุตบอล”

ที่มา: https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/1567520, https://www.khaosod.co.th/sports/news_2360897

 

นี่เป็นเพียงแค่บางสโมสรเท่านั้นที่เริ่มต้นจากการถูกนักฟุตบอลทวงเงินและจบลงที่การ “ยุบทีม” แต่ยังมีอีกหลายสโมสรที่ล้มหายตายจากด้วยเหตุผลด้านการเงิน


และเหมือนว่าเรื่องนี้จะยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีทีมไหนในเมืองไทยบ้างที่ต้อง “ยุบทีม” ด้วยเหตุผลด้านการเงิน

 

Author

ธรรมวัตร เอกฉัตร

"เรื่องบอลไทยไว้ใจผม แต่ภรรยาผมกับไม่เคยไว้ใจผมเลย"

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ