ระบบการเรียนรู้และการสื่อสารผ่านระบบเครือข่าย | Learning System and Communication Through Networking

บทนำ
       ปัจจุบันการศึกษาของไทยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททางการศึกษามากขึ้นเพราะเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาในยุคสังคมสารสนเทศเป็นอย่างมาก  การเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนเน้นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มีคอมพิวเตอร์  ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ามามีส่วนในการจัดการเรียนการสอน  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544  บัญญัติไว้ว่าผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเท่าที่ทำได้  เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์  มีความยืดหยุ่น  สนองความต้องการของผู้เรียนผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเอง  ผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้หรือนำสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวและในระบบสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอน  รวมถึงจัดทำและพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อใช้ในการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน
       การเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนพื้นฐานของหลักและวิธีการออกแบบการเรียนการสอนอย่างมีระบบ  มีการนำสื่อต่างๆ มาเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ให้กับผู้เรียนโดยอาศัยเว็บไซต์  ในการเรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นผู้เรียนสามารถเรียนเวลาใดก็ได้  จากสถานที่ใดก็ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เรียน  ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนเท่านั้น  เพียงแค่ผู้เรียนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้  ผู้เรียนก็สามารถเข้าไปศึกษาเนื้อหาในเรื่องที่ตนเองสนใจได้  นอกจากนั้นแล้วผู้เรียนยังสามารถติดต่อสื่อสาร  สนทนา  อภิปรายกับผู้เรียนด้วยกัน  หรือกับผู้สอนได้อีกด้วย

ความหมายของบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 
          บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  หมายถึง  การเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยมีการจัดสภาพการเรียนการสอนที่มีการออกแบบอย่างเป็นระบบ  โดยอาศัยคุณสมบัติและทรัพยากรของเวิล์ดไวด์เว็บมาเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ  ในการจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นอาจจัดการเรียนการสอนทั้งกระบวนการหรือนำมาใช้เพียงส่วนใดส่วนใดส่วนหนึ่งของกระบวนการก็ได้  การเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถือเป็นวิธีการเรียนแบบใหม่ที่ช่วยพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้และช่วยขจัดปัญหาอุปสรรค์ของการเรียนในเรื่องของเวลาและสถานที่  เพราะในการเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา  ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนเท่านั้น  ขอเพียงผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตได้  ผู้เรียนก็สามารถเรียนได้  โดยในการเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผู้เรียนและผู้สอนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันโดยผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงถึงกัน

องค์ประกอบของบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
       ในการจัดทำบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น  มีองค์ประกอบในการจัดทำบทเรียนได้แก่ 
           1. องค์ประกอบของหน้าเว็บ ประกอบด้วยข้อความ  พื้นหลัง  และภาพ 
ข้อความที่ใช้ในบทเรียนต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมโดยข้อความส่วนที่เป็นหัวข้อหลักต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความที่เป็นหัวข้อย่อย  สีข้อความที่ใช้ต้องไม่กลมกลืนกับสีพื้นหลัง
พื้นหลังที่ใช้ไม่ควรมีลวดลายเพราะจะทำให้เป็นที่สนใจมากกว่าตัวหนังสือซึ่งเป็นเนื้อหา  สีพื้นหลังที่ใช้ไม่ควรใช้สีเข้มเกินไป  ควรใช้สีอ่อนๆ ที่ดูแล้วสบายตา  ภาพที่ใช้มีหลายชนิดทั้งภาพที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว  การใช้ภาพในบทเรียนจะช่วยดึงดูดให้ผุ้เรียนเกิดความอยากเรียนมากขึ้นแต่ไม่ควรใช้ภาพเคลื่อนไหวในหน้าของเนื้อหาเพราะจะทำให้ผู้เรียนสนใจแต่ภาพไม่สนใจเนื้อหาในบทเรียน
           2. องค์ประกอบเว็บเพจ  ประกอบด้วย
     โฮมเพจ  คือ หน้าแรกของเว็บไซต์เป็นหน้าที่บอกให้ทราบถึงหัวข้อเรื่องของบทเรียน 
     เว็บเพจแนะนำ  คือ เว็บเพจที่แนะนำวิธีการใช้บทเรียน  และรายละเอียดของเนื้อหาที่เรียน
     เว็บเพจแสดงเนื้อหา  คือ เว็บเพจที่แสดงเนื้อหาของแต่ละบทเรียนโดยจะมีคำอธิบาย เกี่ยวกับหน่วยการเรียน วิธีการเรียน วัตถุประสงค์  และเนื้อหาของบทเรียนแต่ละบทเรียน
     เว็บเพจแสดงแบบฝึกหัด  คือ  เว็บเพจแสดงแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนรวมถึงเว็บเพจเฉลยคำตอบของบทเรียน
     เว็บเพจสนทนา  คือ เว็บเพจที่ใช้แสดงความคิดเห็นหรือใช้สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนหรือผู้เรียนกับผู้สอน
     เว็บเพจแสดงประวัติ  คือ  เว็บเพจแสดงข้อมูลส่วนตัวผู้สอน 
     เว็บเพจแบบประเมิน  คือ  เว็บเพจที่แสดงแบบประเมินเพื่อให้ผู้เรียนประเมินผลการสอน
     เว็บเพจประกาศข่าว  คือ  เว็บเพจที่ผู้สอนใช้ในการประกาศข้อความต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนก็ได้
     เว็บเพจคำถามคำตอบ  คือ  เว็บเพจที่แสดงคำถามและคำตอบที่เกี่ยวกับเนื้อหาวิชา  โปรแกรมการเรียน  และเรื่องที่เกี่ยวข้อง
          องค์ประกอบของบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของเว็บเพจควรมีการออกแบบให้มีองค์ประกอบต่างๆ ให้ครบถ้วน  ซึ่งในการออกแบบควรคำนึงถึงองค์ประกอบการออกแบบบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในลักษณะของการสนับสนุนการเรียนการสอนเพื่อจะได้บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพและมีความสวยงามมากขึ้น

ประเภทของบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 
      บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบ่งได้เป็น 3 ประเภท  คือ
             1.  บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบรายวิชาเดียว  คือ  บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีการบรรจุเนื้อหาหรือเอกสารในรายวิชาเพื่อการสอนเพียงอย่างเดียว  มีลักษณะการสื่อสารแบบทางเดียว
             2.  บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบสนับสนุนรายวิชา  คือ  บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีการสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์เป็นการสื่อสารสองทางที่มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน 
            3.  บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบศูนย์การศึกษา  คือ  บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีรายละเอียดเนื้อหาทางการศึกษารวมถึงมีการเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์อื่นๆ  และยังรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อให้บริการกับผู้เรียนรวมถึงเป็นแหล่งสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ทางการศึกษาอีกด้วย 

หลักการออกแบบบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
        ในการออกแบบบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตควรยึดหลักการดังต่อนี้
            1.  การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียน  ในการออกแบบบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตควรออกแบบให้เร้าความสนใจกับผู้เรียนโดยการใช้ ภาพเคลื่อนไหว  สีและเสียงประกอบที่น่าสนใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ 
            2.  กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนให้ชัดเจน
            3.  มีการทบทวนความรู้เดิมให้กับผู้เรียนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสำหรับรับความรู้ใหม่ 
            4.  กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้  กระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักคิด
            5.  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียน
            6.  มีการทดสอบความรู้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนได้รับรู้ถึงพัฒนาการทางการเรียนของตนเองและเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถประเมินผลการเรียนของตนเอง
            7.  ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

หลักการออกแบบระบบการเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
        ขั้นตอนในการออกแบบระบบการเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ผู้สอนต้องคำนึงถึงมี 5 ขั้นตอน คือ
            1.  ขั้นการวิเคราะห์  เป็นขั้นตอนแรกในการออกแบบและพัฒนาการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ผู้ออกแบบนควรให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนในขั้นตอนอื่นๆ  ในการวิเคราะห์ผู้ออกแบบต้องวิเคราะห์ ความต้องการของผู้เรียน  เนื้อหาที่จะเรียน  รวมถึงวิเคราะห์ทรัพยากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
            2.  ขั้นการออกแบบ  เป็นการนำผลที่ได้จากกรวิเคราะห์มาใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบการเรียนการสอน  โดยเริ่มจากเขียนวัตถุประสงค์  กำหนดเนื้อหา  กิจกรรมการเรียนการสอน  วิธีการประเมินผล  รวมถึงวางโครงสร้างของบทเรียนให้น่าสนใจด้วย
            3.  ขั้นการพัฒนา  เป็นขั้นดำเนินการผลิตบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยใช้โปรแกรมต่างๆ เช่น Macromedia Dream weaver  เป็นต้น
            4.  ขั้นการนำไปใช้  เป็นการนำบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาแล้วไปใช้ในการเรียนการสอน
            5.  ขั้นการประเมินและปรับปรุง  เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยให้บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น  โดยการประเมินจากการนำไปใช้ว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดและยังมีส่วนใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

หลักการพื้นฐานของการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
      หลักการพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีดังนี้
             1.  ในการเรียนการสอนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา  เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
             2.  ในการจัดการเรียนการสอน ควรสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นคนกระตือรือร้นและรู้จักคิดหาคำตอบ
             3.  ควรสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ให้ผู้เรียนเป็นผู้ขวนขวายใฝ่หาความรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง
             4.  ผู้เรียนควรทราบผลการเรียนรู้ของตนโดยทันทีจากการทำแบบทดสอบ
             5.  เป็นการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่ไม่มีขีดจำกัดสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้

การออกแบบระบบการเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
     ในการจัดทำบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต้องมีการอกแบบระบบการเรียนการสอนของบทเรียนตามขั้นตอน  ดังนี้
             1.  ศึกษาผู้เรียนและเนื้อหาของบทเรียนเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์และหาแนวทางในการจัดการเรียนการสอน
             2.  ศึกษาเนื้อหาของบทเรียนเพื่อออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหา
             3.  กำหนดโครงสร้างของบทเรียน
             4.  ออกแบบการเรียนการสอน
             5.  พัฒนาบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
             6.  นำบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปใช้
             7.  ประเมินผลการใช้งานบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
 
ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
       ในการจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ควรมีขั้นตอนดังนี้
            1.  กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน
            2.  การวิเคราะห์ผู้เรียน
            3.  การออกแบบเนื้อหารายวิชา
            4.  กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่จะสอน
            5.  เตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้พร้อมใช้ในการเรียนการสอน
            6.  แจ้งวัตถุประสงค์  เนื้อหา  และวิธีการเรียนการสอนผู้เรียนทราบ
            7.  สำรวจความพร้อมของผู้เรียน
            8.  จัดการเรียนการสอนตามรูปแบบที่ผู้สอนกำหนดไว้  
            9.  ประเมินผลการเรียนการสอน 

ขั้นตอนการเรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
            1.  อ่านคำแนะนำและวิธีการใช้บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้เข้าใจ ก่อนทำการเรียนในบทเรียน 
            2.  คลิกเข้าสู่ บทเรียน 
            3.  ทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียน
            4.  คลิกเข้าสู่บทเรียน บทที่ 1, 2, 3, ……ไปเรื่อยจนจบบทเรียน
            5.  ทำแบบทดสอบก่อนเรียนในบทเรียนที่กำลังจะเรียน 
            6.  เข้าสู่บทเรียนเพื่อเรียนเนื้อหาในบทต่างๆ
            7.  ทำแบบทดสอบหลังเรียนในบทเรียนที่เรียนจบ

ประโยชน์ของการเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
      การเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์  ดังนี้  
            1.  ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา  อาจเรียกได้ว่าเป็นการเรียนที่สามารเรียนรู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 
            2.  ในการเรียนนั้นไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนเท่านั้นและไม่จำเป็นต้องเรียนเฉพาะในเวลาเรียนเท่านั้น 
            3.  การเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่อยู่ห่างไกลได้เรียน 
            4.  การเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันทางการศึกษา
            5.  การเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต
            6.  ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ 
            7.  ผู้เรียนสามารถทบทวนเนื้อหาได้เมื่อผู้เรียนไม่เข้าใจโดยไม่ต้องกลัวว่าจะรบกวนเวลาเรียนของเพื่อนร่วมห้อง 
            8.  สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้เพราะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนทำให้นักเรียนไม่รู้สึกเบื่อกับการเรียน
            9.  การสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าเรียนได้
           10.  ผู้เรียนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้
           11.  เกิดความสะดวกสบายกับผู้เรียนที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย
           12.  ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน  และผู้เรียนกับผู้สอนหรือผู้เชี่ยวชาญได้
           13.  ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
           14.  ผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียน
           15.  ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในเนื้อหาวิชาที่ตนเองสนใจได้
 
ข้อจำกัดของบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
            1.  งบประมาณที่ใช้ในการสร้างบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูง
            2.  ผู้เรียนไม่ทราบเทคนิควิธีการในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
            3.  บุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนาสื่อมีไม่เพียงพอ
            4.  ความเร็วของอินเทอร์เน็ตบางสถานที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
            5.  เนื้อหาของการเรียนการสอนไม่มีขอบเขต
            6.  ขาดการวางแผนในการเรียนการสอน
            7.  บทเรียนที่มีการใช้มัลติมีเดียมากเกินไปจะทำให้เข้าเรียนในบทเรียนได้ช้า

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
        ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีหลายทฤษฎีโดยมีผู้กล่าวถึงทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไว้  ดังนี้
            1.  ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม  ทฤษฎีนี้เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์นั้นเกิดจากการเรียนรู้
และเชื่อว่าการเสริมแรงจะช่วยให้เกิดพฤติกรรมตามต้องการ
            2.  ทฤษฎีปัญญานิยม ทฤษฎีนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ว่าการเรียนเป็นการ
ผสมผสานระหว่างข้อมูลข่าวสารเดิมกับข้อมูลข่าวสารใหม่  ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้และการนำความรู้ไปใช้แตกต่างกัน
            3.  ทฤษฎีสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียนเอง การเรียนรู้คือการแก้ปัญหาซึ่งขึ้นอยู่กับการค้นพบของผู้เรียนแต่ละบุคคล   ครูจะต้องจัดให้สื่อการเรียนการสอนและจัดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการอยากเรียนรู้
            4.  ทฤษฎีการประมวลสารสนเทศเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่ให้ความจำกัดความของการเรียนรู้ว่าเป็นการเปลี่ยนความรู้ของผู้เรียนทั้งปริมาณและวิธีการประมวลสารสนเทศ 
            5.  ทฤษฎีโครงสร้างความรู้  เชื่อว่ามนุษย์จะรับรู้ได้โดยการนำความรู้ใหม่มารวบกับความรู้เก่า  นอกจากนั้นแล้วในการเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต้องอาศัยการเรียนรู้  การจำ  ซึ่งในการจำนั้นต้องมีหลักในการจำ  ครูผู้สอนต้องอาศัยการควบคุมและการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนโดยต้องคำนึงถึงความแตกต่างของนักเรียนและต้องมีแรงจูงใจที่จูงใจให้ผู้เรียนสนใจที่จะเรียนด้วย
            6.  ทฤษฎีรูปแบบจำลอง S M C R Model  เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับขีดความสามารถในการเป็นผู้รับและผู้ส่งสื่อ
            7.  ทฤษฎีการเรียนรู้  การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่มนุษย์เสาะแสวงหาเมื่อตนเองต้องการรู้ในเรื่องนั้นๆ
            8.  ทฤษฎีการเรียนรู้โดยการค้นพบ  ทฤษฎีนี้ครูจะเป็นผู้จัดสิ่งแวดล้อมและให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่จะให้นักเรียนเรียนรู้แต่นักเรียนจะเป็นผู้ค้นหาคำตอบด้วยตนเอง 

สรุป
          การจัดการเรียนการสอนบนระบบอินเทอร์เน็ตเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวและถูกนำมาช่วยในการพัฒนาระบบการศึกษา  การพัฒนาบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อนำมาใช้ในการจัดการศึกษาทำให้การศึกษาของไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น  ผู้เรียนมีความสนใจเรียนมากขึ้น  นอกจากนั้นแล้วยังทำให้ประสิทธิภาพทางการเรียนของผู้เรียนดีขึ้นอีกด้วย 
การเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายอย่างมีระบบโดยมีการนำสื่อหลายมิติมาใช้ในการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ให้กับผู้เรียนโดยอาศัยเว็บไซต์  ในการเรียนการสอนด้วยบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้เรียนเกิดความสะดวกสบาย  รวดเร็วรวมถึงสามารถเรียนได้ตลอดเวลาโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา  ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนเท่านั้น  ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ขอเพียงแต่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้  และผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เรียนด้วยกันและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้สอนได้  นอกจากนั้นแล้วการเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตยังเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่อยู่ห่างไกลได้อีกด้วย  ในการเรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นผู้เรียนสามารถเลือกเรียนบทเรียนได้ตามความสนใจและความความถนัดของผู้เรียน 

Visits: 1345

Comments

comments

Back To Top