ความปลอดภัยของเรือดำน้ำ เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม กับกรณีศึกษาเรือ INS Sindhurakshak

เจ้าหน้าที่กู้ภัยและค้นหาลูกเรือดำน้ำ INS Sindhurakshak (ภาพจาก India Today)

สืบเนื่องจากเหตุระเบิดบนเรือดำน้ำ INS Sindhurakshak ซึ่งเป็นเรือดำน้ำชั้น Kilo ของอินเดีย เมื่อคืนวันอังคารที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดไฟไหม้และเรือดำน้ำได้จมลงที่ท่าโดยมีลูกเรือติดอยู่ในเรือ 18 คน ล่าสุดสามารถค้นหาศพลูกเรือได้ 5 คนแล้ว แต่จากความเสียหายและความพยายามในการช่วยเหลือในช่วง 3 วันที่ผ่านมายังไม่สามารถติดต่อกับลูกเรือที่ติดอยู่ในเรือได้ จากการคาดการณ์ของ ทร.อินเดียจึงคาดว่าลูกเรือที่เหลือน่าจะเสียชีวิตทั้งหมด โดยสาเหตุของอุบัติเหตุยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ และรัสเซียได้เสนอที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญไปร่วมในการตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้

เรือดำน้ำชั้น Kilo (ภาพจาก Defense Update)

เรือดำน้ำชั้น Kilo เป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าขนาดระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 2325 ตัน ยาว 72.6 เมตร กว้าง 9.9 เมตร มีกำลังพลประจำเรือจำนวน 50-70 นาย สามารถดำน้ำได้ถึงความลึกสูงสุด 300 เมตร ภายในตัวเรือแบ่งออกเป็นห้องผนึกน้ำจำนวน 6 ห้อง ระบบอาวุธประกอบด้วยท่อตอร์ปิโดขนาด 533 มม. จำนวน 6 ท่อ + ห้องเก็บตอร์ปิโดอีก 12 ลูก สามารถยิงตอร์ปิโด อาวุธปล่อยนำวิถี Klub-S อาวุธปล่อยนำวิถี Igla และวางทุ่นระเบิดได้

เนื่องจากเรือดำน้ำโดยทั่วไปถูกออกแบบมาให้ปฏิบัติการใต้น้ำ หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าเรือดำน้ำถูกออกแบบมาให้ “จมน้ำ” และสามารถลอยกลับขึ้นสู่ผิวน้ำได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดีการเกิดอุบัติเหตุหรือข้อผิดพลาดในเรือดำน้ำอาจส่งผลร้ายแรงกว่าอุบัติเหตุแบบเดียวกันบนเรือผิวน้ำ เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดกว่า และข้อผิดพลาดที่อาจทำให้เรือจมลงโดยสูญเสียความสามารถในการลอยกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ดังนั้นเรือดำน้ำจึงต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงกว่าเรือผิวน้ำ และข่าวการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในเรือดำน้ำจึงมักเป็นข่าวใหญ่ที่เป็นที่สนใจในระดับนานาชาติ

การฝึกหนีภัยจากเรือดำน้ำของ ทร.สหรัฐฯ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ระบบความปลอดภัยของเรือดำน้ำจึงเป็นระบบที่มีความสำคัญที่อาจส่งผลต่อชีวิตลูกเรือในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุขัดข้องขึ้น แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เป็นหัวข้อที่คนพูดถึงกันน้อยมากจนกลายเป็นเรื่องที่หาข้อมูลได้ยากกว่าระบบที่เป็นที่สนใจทั่วไปเช่นระบบอาวุธและระบบขับเคลื่อน ทั้งที่ระบบความปลอดภัยน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นความลับน้อยกว่า โดยเรือดำน้ำทั่วไปมีระบบความปลอดภัยหลายแบบหลายประเภทขึ้นอยู่กับการออกแบบและประเทศผู้ผลิต แต่ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของลูกเรือหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของเรือดำน้ำสามารถกล่าวได้โดยสรุปดังนี้

ระบบอากาศหายใจและระบบอากาศหายใจฉุกเฉิน เรือดำน้ำใช้เวลาส่วนใหญ่ปฏิบัติการอยู่ใต้น้ำ ดังนั้นระบบอากาศหายใจจึงเป็นระบบปิดที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยการระบายอากาศจากภายนอกได้ในระดับหนึ่ง โดยภายในเรือดำน้ำมีระบบตรวจจับก๊าซอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในเรือดำน้ำ ได้แก่ CO2 และ H2 ในส่วนของก๊าซ CO2 เกิดขึ้นจากการหายใจของลูกเรืออยู่ตลอดเวลาและเป็นพิษต่อการหายใจจึงต้องมีระบบกำจัด CO2 เพื่อควบคุมไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป ส่วนก๊าซ H2 เกิดขึ้นจากการชาร์จแบตเตอรีที่ติดไฟและเกิดการระเบิดได้ โดยเรือดำน้ำใช้ระบบควบคุมการชาร์จแบตเตอรีเพื่อไม่ให้เกิดก๊าซ H2 และต้องใช้การระบายอากาศจากภายนอกถ้ามีปริมาณ H2 มากเกินไป นอกจากนี้ยังมีก๊าซ Cl2 ซึ่งเป็นพิษต่อการหายใจ แต่โดยปกติแล้วจะไม่เกิด Cl2 ขึ้นในเรือดำน้ำยกเว้นในกรณีที่มีน้ำทะเลรั่วเข้าไปทำปฏิกริยากับแบตเตอรี นอกเหนือจากระบบอากาศหายใจปกติแล้ว เรือดำน้ำบางแบบยังมีระบบอากาศหายใจฉุกเฉินที่ใช้ถังเก็บอากาศกับระบบท่ออากาศฉุกเฉินที่ใช้สำหรับการจ่ายอากาศหายใจให้กับหน้ากากหายใจในกรณีที่อากาศหายใจปกติในเรือมีสภาวะเป็นพิษ

ระบบอากาศหายใจฉุกเฉินผ่านท่อและหน้ากาก (ภาพจาก World Maritime DC)

ระบบการลอยตัว โดยปกติแล้วเรือดำน้ำจะใช้ถังดำ (Main Ballast Tank) ในการดำและการลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ในกรณีฉุกเฉินเรือดำน้ำสามารถใช้อากาศในถังอากาศอัดในการไล่น้ำจากถังดำได้ถึงแม้ว่าภายในเรือดำน้ำจะไม่มีพลังงานเหลืออยู่ แต่ถ้าอากาศในถังอากาศอัดไม่เพียงพอหรือถังอากาศอัดเกิดความเสียหาย เรือดำน้ำบางแบบยังมีท่อสำหรับต่ออากาศจากภายนอกเพื่อใช้ไล่อากาศจากถังดำได้

เรือดำน้ำดำและลอยตัวด้วยการใช้ถังอัปเฉา (ภาพจาก Tutorvista)

ระบบการสื่อสารฉุกเฉิน ใช้ในการขอความช่วยเหลือและการกำหนดตำบลที่ของเรือดำน้ำที่ประสบอุบัติเหตุใต้น้ำ โดยเรือดำน้ำสามารถปล่อยทุ่นสัญญาณวิทยุฉุกเฉิน (EPIRB) ได้เช่นเดียวกับเรือผิวน้ำ (ต่างกันที่เรือผิวน้ำจะปล่อยทุ่น EPIRB โดยอัตโนมัติหากจมลงใต้น้ำ ซึ่งไม่สามารถใช้ได้ในกรณีของเรือดำน้ำ) นอกจากนี้ยังมีระบบโทรศัพท์ใต้น้ำ เครื่องส่งสัญญาณใต้น้ำ (Sonar Beacon) และเครื่องส่งพลุและทุ่นสัญญาณ (Emergency Signal Ejector) เพื่อใช้ในการแจ้งเหตุฉุกเฉินและกำหนดตำบลที่ของเรือดำน้ำ

เรือดำน้ำสามารถปล่อยพลุสัญญาณได้จาก Emergency Signal Ejector (ภาพจาก Notices to Mariners Canada)

ห้องผนึกน้ำและระบบหนีภัย โดยปกติตัวเรือทนความดันของเรือดำน้ำจะสามารถป้องกันแรงดันน้ำได้จนถึงความลึกสูงสุดของเรือดำน้ำ แต่ภายในตัวเรือทนความดันเองก็ยังสามารถแบ่งเป็นห้องผนึกน้ำย่อยๆ ได้อีกเพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของลูกเรือหากตัวเรือทนความดันได้รับความเสียหายจนเกิดรอยรั่ว ซึ่งการแบ่งจำนวนห้องผนึกน้ำขึ้นอยู่กับขนาดและการออกแบบเรือ โดยเรือดำน้ำขนาดเล็กอาจไม่มีการแบ่งห้องผนึกน้ำย่อยภายในตัวเรือทนความดันเลย ส่วนการหนีภัยจากเรือดำน้ำขณะอยู่ใต้น้ำต้องใช้ระบบพิเศษเนื่องจากความกดของน้ำจากภายนอกตัวเรือจะทำให้ไม่สามารถเปิดฝาประตูได้ตามปกติ โดยเรือดำน้ำสามารถติดตั้ง Escape Tower คล้ายห้อง Air Lock ที่มีประตู 2 ด้านและสามารถปล่อยน้ำเข้าในห้องดังกล่าวได้เพื่อให้ความกดภายในเท่ากับภายนอก หรืออาจใช้ยานกู้ภัยเรือดำน้ำที่สามารถเชื่อมต่อกับประตูหนีภัยของเรือดำน้ำและมีระบบปรับความดันเพื่อให้สามารถเปิดประตูได้

ผนังกั้นน้ำสำหรับแบ่งห้องผนึกน้ำในเรือดำน้ำชั้น Scoepene ระหว่างห้องเครื่องสีม่วง กับระบบ AIP สีเทา (ภาพจาก Defense Industry Daily)

ระบบสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือระบบการดับไฟ การดับไฟในกรณีที่เกิดไฟไหม้ในเรือดำน้ำเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากกว่าการดับไฟในเรือผิวน้ำ เนื่องจากเรือผิวน้ำสามารถใช้น้ำทะเลดับไฟ หรือใช้ระบบ CO2 ขนาดใหญ่ รวมทั้งสามารถใช้สารดับไฟที่มีความเป็นพิษ (เช่น Halon) ได้ แต่เรือดำน้ำไม่สามารถใช้การสูบน้ำทะเลจากภายนอกหรือระบบโฟมผสมน้ำเพื่อดับไฟในเรือได้ (การสูบน้ำเข้าเรือจะทำให้เรือจม) รวมทั้งเรือดำน้ำไม่สามารถระบายอากาศจากภายนอกได้ขณะดำอยู่ใต้น้ำ ดังนั้นการใช้ CO2 ในปริมาณมากหรือสารดับไฟที่เป็นพิษจึงไม่สามารถทำได้ โดยการดับไฟขนาดใหญ่ (เช่นในห้องเครื่องจักร) จะใช้ระบบก๊าซ N2 ท่วมห้องแทนการใช้ CO2 หรือ Halon ส่วนเครื่องมือดับไฟขนาดเล็กสามารถใช้ CO2, ผงเคมี หรือละอองน้ำได้

การใช้น้ำดับไฟในเรือดำน้ำส่งผลให้น้ำท่วมเรือและเรือจมได้ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

สำหรับระบบความปลอดภัยของเรือดำน้ำ INS Sindhurakshak ของอินเดียนั้นยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล แต่ถ้าจะพิจารณาจากข้อมูลระบบความปลอดภัยมาตรฐานของเรือดำน้ำชั้น Kilo แล้ว คาดว่าจะมีระบบความปลอดภัยประกอบด้วย ห้องผนึกน้ำจำนวน 6 ห้อง ทางเข้าออกหลักบริเวณหอบังคับการเรือ กับทางหนีภัยฉุกเฉิน 3 จุด บริเวณหัวเรือ บนหอบังคับการเรือ และบริเวณท้ายเรือ ท่อต่ออากาศอัดจากผิวน้ำ ระบบตรวจจับก๊าซ CO2/H2 ระบบกำจัด CO2 โทรศัพท์ใต้น้ำ Sonar Beacon และ Signal Ejector

บริเวณส่วนบนของหอบังคับการเรือจมปริ่มน้ำ (ภาพจาก news.com.au)

ในคืนเกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้เรือ INS Sindhurakshak นั้น เรือกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการออกเรือในช่วงเช้า และได้ทำการชาร์จแบตเตอรีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดระเบิดเนื่องจากก๊าซ H2 จากเบตเตอรีจึงเป็นไปได้ยาก โดยปัจจุบัน ทร.อินเดียสันนิษฐานว่าสาเหตุการระเบิดอาจเกิดจากระบบอาวุธ ที่ทำให้มีการระเบิดต่อเนื่องบริเวณหัวเรืออย่างรุนแรงจนบริเวณหัวเรือเสียหายอย่างหนัก และไม่สามารถเปิดประตูทางเข้า-ออกหลักบริเวณหอบังคับการเรือได้ คงเหลือแต่ทางหนีภัยบริเวณท้ายเรือซึ่งจมอยู่ใต้น้ำ

จากข้อมูลระบบความปลอดภัยมาตรฐานของเรือดำน้ำชั้น Kilo เรือ INS Sindhurakshak น่าจะมีการแบ่งห้องผนึกน้ำภายใน และมีทางหนีภัย 3 ทาง ซึ่งจากการระเบิดและไฟไหม้บริเวณหัวเรือจนทำให้เรือจมลง ลูกเรือสามารถปิดห้องผนึกน้ำท้ายเรือเพื่อใช้เป็นห้องหนีภัยหรือรอการกู้ภัยได้ และภายในเรือมีระบบอากาศหายใจสำรองเพียงพอที่จะสามารถสนับสนุนการดำรงชีวิตได้ประมาณ 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีระบบท่อต่ออากาศอัดจากผิวน้ำเพื่อไล่น้ำจากถังดำ แต่ปริมาตรของถังดำท้ายเรืออาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เรือลอยขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรือไม่ได้จมลงทันทีจากการระเบิด แต่ต้องใช้เวลากว่า 3 ชม.ในการดับไฟก่อนที่เรือจะจม จึงสันนิษฐานได้ว่าลูกเรือน่าจะมีเวลาเพียงพอในการหนีออกจากเรือดำน้ำก่อนที่เรือจะจมลงในท่า และหากมีลูกเรือที่ยังติดอยู่ในเรือหลังจากที่เรือจมอยู่ใต้น้ำก็น่าจะมีการติดต่อขอความช่วยเหลือจากภายในเรือ เป็นเหตุให้ ทร.อินเดีย คาดการณ์ว่าลูกเรืออีก 13 นายที่ติดอยู่ในเรือน่าจะเสียชิวิตแล้ว ตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดหรือหลังเกิดเหตุไม่นาน

แผนที่ความลึกใต้ท้องทะเล (ภาพจาก 19th Century Science)

การวิเคราะห์นี้ใช้การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งเปิดเท่าที่หาได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบความปลอดภัยของเรือดำน้ำสมัยใหม่มีหลากหลายประเภทเพื่อเพิ่มโอกาสในการหนีภัยจากเรือดำน้ำหรือการอยู่รอดระหว่างรอการกู้ภัย แต่ก็ไม่ใช่ระบบที่จะช่วยชีวิตลูกเรือได้เต็ม 100% ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และถึงแม้ว่าพื้นที่ท้องทะเลส่วนมากจะมีความลึกเกินกว่าที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือและกู้ภัยเรือดำน้ำได้ (จากแผนที่ความลึกใต้ท้องทะเล พื้นที่สีขาวคือบริเวณที่ความลึกไม่เกิน 200 เมตร ซึ่งลูกเรือยังมีโอกาสรอดชีวิตสูง) แต่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุก็อยู่ในพื้นที่ใกล้ฝั่งที่มีความลึกไม่มากนี้เช่นกัน ดังนั้นการเลือกแบบเรือดำน้ำจึงควรให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยไม่น้อยไปกว่าขีดความสามารถด้านอื่น

Leave a comment