บายศรี : เครื่องใช้ในพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคล

 

บายศรี : เครื่องใช้ในพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคล

       “บายศรี” เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคย เพราะเห็นบ่อยในพิธีกรรมต่าง ๆ แทบทุกภาคของคนไทย เช่น การทำขวัญคน การทำขวัญข้าว การบวงสรวงสิ่งศักสิทธิ์ การไหว้ครู นาฏศิลป์ดนตรี และพิธีสมโภชพระพุทธรูป เป็นต้น ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี่ล้วนต้องใช้บายศรีเป็นเครื่องประกอบทั้งสิ้น

ความหมายของคำว่า บายศรี  หมายถึง เครื่องเชิญขวัญ หรือ รับขวัญ ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทง เป็นชั้นๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยอยู่ในบายศรี และมีไข่ขวัญเสียบอยู่บนยอดบายศรี

คำว่า บายศรี เกิดจากคำ 2 คำรวมกัน คือ “บาย” มาจากภาษาเขมร แปลว่า “ข้าว” และ “ศรี” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “มิ่งขวัญ สิริมงคล”  รวมความหมายแล้ว “บายศรี” จึงมีความหมายว่า ข้าวขวัญหรือข้าว ที่มีสิริมงคลเป็นมิ่งขวัญ บายศรีจะมีเครื่องประกอบ คือ ข้าวสุกที่หุงตัก เอาที่ปากหม้อไข่ต้ม และมีเครื่องบริวารคือสำหรับคาวหวานประกอบอีกด้วย จะเห็นได้ว่าทุกช่วงชีวิตของคนตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้าสู่วัยชรา จะมีเรื่องการทำขวัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนไทย เช่น ทำขวัญแรกเกิด ทำขวัญเดือนการโกนผมไฟ การเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง การกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน การต้อนรับแขกผู้มาเยือน ซึ่งล้วนแต่ เป็นการปฏิบัติเพื่อความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงของชีวิต เสริมสร้างพลังจิตใจ และการดำเนินชีวิตให้มีความราบรื่น ดังนั้นบายศรีจึงจัดเป็นสัญลักษณ์ หนึ่งของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย

จึงพบว่าตัวบายศรี มักจะมีข้าวสุกเป็นส่วนประกอบ และมักขาดบ่ได้ แต่โดยทั่วไปหมายถึง ภาชนะที่จัดตกแต่งให้สวยงามเป็นพิเศษด้วยใบตอง ทำเป็นกระทง หรือใช้พานเงิน พานทอง ตกแต่งด้วยดอกไม้เพื่อสำรับใส่อาหารคาวหวานในพิธีสังเวยบูชา และพิธีทำขวัญต่างๆ

ประวัติความเป็นมา ของบายศรีนั้น บ่มีหลักฐานแน่นอน แต่มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงบายศรีในวรรณกรรมมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาราช ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาว่า “แล้ว ธ ก็ให้บอกบายศรีบอกมิ่ง” อีกทั้งศิลปวัตถุตู้ลายรดน้ำสมัยอยุธยา ก็ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับบายศรี อย่างไรก็ดีเชื่อว่าบายศรีต้องใช้ใบตองเป็นหลัก ซึ่งตามคติของพราหมณ์เชื่อว่าใบตองเป็นของบริสุทธิ์สะอาด ไม่มีมลทินของอาหารเก่าแปดเปื้อนเหมือถ้วยชาม จึงนำมาทำภาชนะใส่อาหารเป็นรูปกระทง ต่อมาจึงได้มีการดับประดาตกแต่งให้สวยงามขึ้น

จะเห็นได้ว่าทุกช่วงชีวิตของคนตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้าสู่วัยชรา จะมีเรื่องการทำขวัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนไทย เช่น ทำขวัญแรกเกิด ทำขวัญเดือนการโกนผมไฟ การเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง การกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน การต้อนรับแขกผู้มาเยือน ซึ่งล้วนแต่เป็นการปฏิบัติเพื่อความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงของชีวิต เสริมสร้างพลังจิตใจ และการดำเนินชีวิตให้มีความราบรื่น ดังนั้นบายศรีจึงจัดเป็นสัญลักษณ์ หนึ่งของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย

โดยทั่วไปบายศรีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. บายศรีของราษฎร

2. บายศรีของหลวง

บายศรีของราษฎร ได้แก่ บายศรีที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของราษฎร ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

บายศรีปากชาม เป็นบายศรีขนาดเล็ก ทำจากใบตองมาม้วนเป็นรูปกรวย ข้างในใส่ข้าวสุก ตั้งกรวยคว่ำไว้กลางชามขนากใหญ่ ให้ยอดแหลมของกรวยอยู่ข้างบน และบนยอดให้ใช้ไม้เสียบไข่สุกปอกเปลือกที่เรียกว่า “ไข่ขวัญ” ปักไว้โดยมีดอกไม้เสียบต่อขึ้นอีกที การจัดทำบายศรีเพื่อประกกอบพิธีเพื่อประกอบบายศรีพิธีกรรมตอนเช้า มักจะมีเครื่องประกอบบายศรีเป็นอาหารง่ายๆ เช่น ข้าว ไข่ กล้วย และแตงกวา ถ้าเป็นหลังเที่ยงไปแล้ว ไม่นิยมใส่ข้าว ไข่ แต่จะใช้ดอกบัวเสียบยอดกรวยแทน และใช้ดอกไม้ตกแต่งแทนกล้วย และแตงกวา

บายศรีใหญ่หรือบายศรีต้น เป็นบายศรีที่มีขนาดใหญ่กว่าบายศรีปากชาม นิยมทำเป็น 3 ชั้น 5 ชั้น และ 7 ชั้น หรือบางทีก็ทำถึง 9 ชั้น ด้วยเหตุว่านำคติเรื่องฉัตรมาเกี่ยวข้อง ซึ่งแท้จริงแล้ว การทำบายศรีใหญ่หรือบายศรีต้นนี้ไม่มีกำหนดชั้นตายตัว สุดแต่ผู้ทำจะเห็นว่าสวยงาม ถ้าทำชั้นมากก็ถือว่าเป็นเกียรติมาก และในแต่ละชั้นของบายศรีมักใส่อาหาร ขนม ดอกไม้ ธูปเทียนลงไปด้วย ปัจจุบันทั้งบายศรีปากชามและบายศรีใหญ่อาจจะใช้วัสดุอื่นๆ แทนใบตองซึ่งหาได้ยากขึ้น เช่น ใช้ผ้า กระดาษหรือวัสดุเทียมอื่นๆ ที่คล้ายใบตองมาตกแต่ง แต่รูปแบบโดยทั่วไปก็ยังคงลักษณะบายศรีอยู่

2. บายศรีของหลวง

ประวัติความเป็นของพานบายศรีของหลวง ยังไม่มีใครกล่าวถึงและยืนยันชัดเจนว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร่ เริ่มมีการทำขวัญตั้งแต่เมื่อใด ทราบเพียงว่า เป็นบายศรีที่ใช้ในพระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ หรือพรบรมวงศานุวงศ์ ทั้งพระราชพิธีที่จัดให้มีขึ้นตามแบบแผนโบราณราชประเพณี บายศรีของหลวง มี 3 ชนิด

  1. บายศรีต้น เป็นบายศรีที่ทำด้วยใบตอง มีแป้นไม้เป็นโครงมีลักษณะอย่างบายศรีของราษฎร แต่จะมี 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น และ 9 ชั้น
  2. บายศรีแก้ว ทอง เงิน บายศรีชนิดนี้ประกอบด้วยพานแก้ว พานทองและพานเงินขนาดใหญ่ เล็ก วางซ้อนกันขึ้นไปตามลำดับเป็นชั้นๆ 5 ชั้น โดยจะตั้งบายศรีแก้วไว้ตรงกลาง บายศรีทองทางขวา และบายศรีเงินตั้งทางซ้ายของผู้รับการสมโภช
  3. บายศรีตองรองทองขาว เป็นบายศรีใหญ่ของราษฎร มีลักษณะเป็น 5 ชั้นหรือ 7 ชั้น แต่โดยมากมักทำ 7 ชั้น บายศรีตองชนิดนี้มักตั้งบนพานใหญ่ซึ่งเป็นโลหะทองขาว จึงเรียกว่า บายศรีตองรองทองขาว ส่วนใหญ่จะตั้งคู่กับบายศรีแก้ว ทอง เงิน มักใช้ในงานพระราชพิธีใหญ่ เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ

โอกาสในการใช้บายศรี ส่วนใหญ่จะใช้ในการกระทำขวัญต่างๆ ที่เป็นพระเพณีเกี่ยวกับชีวิต เช่น การทำขวัญเดือน การทำขวัญนาค ทำขวัญแต่งงาน (นิยมในภาคเหนืออีสาน) ทำขวัญนา ทำขวัญแม่โพสพ หรือแม้แต่การทำขวัญสัตว์ อย่างวัว ควาย เป็นต้น รวมไปถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน การบวงสรวงสังเวย และการสมโภชต่างๆ เช่น การตั้งศาลพระภูมิ การวางศิลาฤกษ์ การไหว้เทวดาอารักษ์ การบูชาครูช่างๆ ฯลฯ

ความสำคัญและคุณค่า แห่งมรดกภูมิปัญญา

ปัจจุบันการประดิษฐ์บายศรีจะพบ เห็นทั่วไปในในชุมชนทั่วทั้ง ๔ ภาคของ ประเทศไทย ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะมีรูปลักษณ์ และวิธีการประดิษฐ์ที่แตกต่างกัน บายศรีภาคอีสาน ภาษาถิ่นจะเรียก ว่า “พาขวัญ” หรือ “พานพาขวัญ” ส่วนใหญ่ ใช้ประกอบการทำขวัญเหมือนกับภาคอื่น ๆ กล่าวคือ จะใช้ทำพิธีทำขวัญให้กับคน สัตว์ และสิ่งของ เช่น ได้เรือนใหม่ (ขึ้นบ้านใหม่) ทำขวัญให้เกวียน ทำขวัญให้วัวควาย ทำขวัญ ให้คนป่วย ตลอดจนต้อนรับแขกผู้มาเยือน

การที่ต้องมีการทำขวัญต่าง ๆ นั้น เพราะคนโบราณเชื่อว่า ร่างกายของมนุษย์ทุกคนจะมีขวัญกำกับอยู่ เมื่อขวัญได้รับการกระทบกระเทือนก็จะตกหรือหนีหายไปจากร่างกาย ที่เรียกว่า ขวัญหนี ขวัญหาย ขวัญบิน ต่างๆ ทำให้เจ้าตัวไม่สบายหรือเจ็บไข้ได้ป่วย จึงต้องมีการเรียกขวัญให้กับมาอยู่กับตน หรืออาจจะเป็นการรับขวัญผู้มาเยือนเพื่อเป็นสิริมงคลก็ได้ นอกจากทำขวัญคนแล้ว ยังสามารถทำขวัญสัตว์และสิ่งของต่างๆ ได้ด้วย

สำหรับในภาคอีสานนั้นบายศรีนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งของชาวอีสาน เพราะเปรียบเสมือนสื่อความหมายแห่งความเป็นสิริมงคล ความดีงาม ความปรารถนาดี และความยินดีต่าง ๆ เราจึงมักเห็นชาวอีสานใช้บายศรีในพิธีกรรม ต่าง ๆ

การประกาศขึ้นบัญชีบายศรี ได้รับการประกาศขึ้นบัญชี เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖

ดวงเดือน ไชยโสดา….