เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

Writer : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

30 December 2020

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี ของการทรงรับราชการทหารเรือของกรมหลวงชุมพรฯ นั้น พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะพัฒนากองทัพเรือของสยามให้มีความทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยพระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระทัย เพื่อทรงพัฒนาองค์ประกอบในทุกด้านของกิจการทหารเรือ จนสามารถหยั่งรากลึกลงบนผืนแผ่นดินสยามมากระทั่งปัจจุบัน

ความนับถือ ยกย่อง และศรัทธาสักการะจากผู้คนมากมาย ไม่จำกัดอยู่เพียงบรรดาทหารเรือ ที่น้อมถวายต่อพระองค์มายาวนาน คงเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ถึงความงดงามแห่งพระชนม์ชีพ อันทรงเคยดำรงพระองค์ให้ประจักษ์ไว้

แนวพระดำริของกรมหลวงชุมพรฯ จำนวนไม่น้อย ปรากฎในรูปลายพระหัตถ์หรือเอกสาราชการที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เอื้อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเผยแพร่ต่อมา โดยนายทหารเรือท่านแรกที่ศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลพระประวัติของพระองค์อย่างจริงจัง คือพลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ได้แสดงความเห็นประกอบการค้นคว้าของท่านไว้ว่า

“… ผมเข้าใจว่าลายพระหัตถ์และพระดำรัสของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งผมได้อัญเชิญมาโดยคงรูป ถ้อยคำ สำนวน และอักขระวิธี ไว้ตามต้นฉบับนี้ คงจะทำให้เพื่อนทหารเรือเข้าใจแนวความคิดยุทธศาสตร์ของพระองค์ได้ชัดเจน โดยไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก เพราะสำนวนของพระองค์สั้น ชัดเจน และเด็ดขาด ซึ่งผมรู้สึกว่าแม้ในสมัยนี้ ก็จะหาผู้เสมอเหมือนพระองค์ได้ยาก …”

บทบันทึกเรื่องราวพระประวัติของพระองค์จากบุคคลร่วมสมัยมากมายหลายฉบับ ได้ถ่ายทอดถึงพระคุณลักษณะของกรมหลวงชุมพรฯ ไว้ในทิศทางเดียวกันกับที่พลเรือเอกประพัฒน์ได้แสดงความเห็นข้างต้น

ด้วยพระคุณลักษณะที่ทรงชัดเจน แน่วแน่ เด็ดเดี่ยว และ “ทำอะไร ทำจริง” ตามความหมายในพระคาถาประจำพระองค์ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความทรงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสยามประเทศให้เจริญก้าวหน้า ตามบทบาทหน้าที่และขีดความสามารถที่จะกระทำได้นั้น คงจะเป็นพระปณิธานที่พระองค์ทรงยึดมั่นอยู่ในพระทัยเสมอมา ส่งผลให้พระกรณียกิจทุกอย่างทั้งในและนอกราชการทหารเรือ ล้วนผ่านการทรงไตร่ตรองถึงผลประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่สังคมวงกว้าง ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นอันแน่วแน่ต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อทรงแสดงออกซึ่งเจตจำนงของพระองค์ ดังเช่นลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ระหว่างทรงอำนวยการจัดตั้งหน่วยฝึกที่บางพระ เพื่อเรียกพลทหารจากจังหวัดชายทะเลภาคตะวันออกมารับการฝึก ความตอนหนึ่งว่า

“… มีทหารแล้วไม่สอนให้มีความรู้ ก็เลวกว่าไม่มีเลย …”

หรืออีกครั้ง ระหว่างเสด็จไปทรงซื้อเรือรบหลวงพระร่วง ทรงมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 กราบทูลจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ผู้กำกับราชการกระทรวงทหารเรือ ระหว่างประทับ ณ โฮเต็ลรูเบนซ์ กรุงลอนดอน ความตอนหนึ่งว่า

“… การที่เดินทางผิด ให้โทษยิ่งกว่าไม่เดินเลย …”

นอกจากพระอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว ไม่ทรงเกรงกลัวที่จะกราบทูลพระดำริต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว พระดำริต่าง ๆ ของพระองค์ยังสะท้อนถึงแนวทางการดำรงพระองค์ในแง่มุมอื่น ๆ อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความมัธยัสถ์ คำนึงถึงความคุ้มค่า คิดหาหนทางสร้างคุณประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่จำกัด คล้ายคลึงกับหลัก force multiplier ในทางการทหาร

ดังเช่นพระดำริในทรงแสดงไว้ ที่ประชุมสภาบัญชาการกระทรวงทหารเรือ ครั้งที่ 4 วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2465

“… ในการที่กล่าวว่า คนไม่พอ ไม่พอนั้น หมายความว่าอัตราเท่าใดจะต้องได้คนเท่านั้นมิใช่หรือ อัตรานั้นต้องเข้าใจว่าอุปมาเหมือนงบประมาณ เราตั้งงบประมาณเงินไว้ใช้จ่าย ใช่ว่าจะต้องใช้จ่ายเงินให้หมดไปตามจำนวนนั้นเมื่อไหร่ … ฯลฯ … อัตราคนก็เช่นเดียวกัน เราไม่จำเปนต้องเกณฑ์คนให้เต็มจำนวนตามอัตรา ถ้าจะเอาเต็มอัตรา ที่จะไม่มีให้อยู่ จะเปลืองค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกมาก … ฯลฯ … การเกณฑ์คนเข้ามามาก ๆ นั้นเปนการเดือดร้อนแก่ไพร่บ้านพลเมืองโดยใช่เหตุ เวลานี้คนก็มากพออยู่แล้ว นอนกินอยู่เสมอ ต้องคิดถึง economic point หลักแห่งการประหยัดทรัพย์บ้าง …”

อีกมุมหนึ่งในพระดำริ ปรากฏในลายพระหัตถ์ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 กราบทูลจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้กำกับราชการกระทรวงทหารเรือ ระหว่างประทับ ณ โฮเต็ลรูเบนซ์ กรุงลอนดอน ในคราวเสด็จไปทรงซื้อเรือรบหลวงพระร่วง

“… การปกครองเปนธรรมดา ย่อมต้องผิดกันทุกชาติหมด เพราะเปนเรื่องการกินอยู่และนิสัยของมนุษย์จำพวกนั้น ๆ แม้จะกล่าวความจริงแล้ว ไม่ควรเอาอย่างใครหมด แต่ถ้าจะต้องเอาอย่างแล้ว เอาอย่างดีที่สุด …”

ในอีกด้าน แม้พระองค์จะทรงมีพระอุปนิสัยเด็ดเดี่ยวและชัดเจนในสิ่งที่ตั้งพระทัยเพียงใด แต่ก็มิได้ทรงทะนงยึดมั่นในองค์ความรู้เดิม ๆ ที่เคยทรงศึกษา แต่กลับทรงสนพระทัยที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ และทรงกล้าที่จะแสดงออกถึงข้อบกพร่องของพระองค์เองโดยไม่ปิดบัง เช่นในลายพระหัตถ์ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2462 กราบทูลเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ขออนุมัติเสด็จต่างประเทศไปทรงจัดหาเรือรบและทรงศึกษาความก้าวหน้าในวิทยาการทหารเรือเพิ่มเติม

“… โดยรู้สึกว่า มาบัดนี้เปนเสนาธิการทหารเรือเหมือนงมมืดแปดด้าน เฉพาะสรรพาวุธยุทธวิธีทางเรือตั้งแต่ได้เริ่มการมหาสงครามมาจนบัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงมากมายเหลือที่จะพรรณนา ได้แต่สังเกตตามข่าวการต่อเรือประจำสถานี เดาทางตามหลังว่า การรบทางทะเลเปลี่ยนแปลงมาเปนดังนั้นดังนี้ แต่ก็เหมือนตาบอดจึงทำประโยชน์สนองพระเดชพระคุณได้โดยลำบากใจอย่างที่สุด จนแม้แต่จะแนะนำสิ่งใดสำหรับกระทรวงทหารเรือก็เปนอย่างโบราณเสียโดยมาก ถ้ามิฉะนั้นเป็นการเดาทั้งสิ้น …”

นอกจากนี้ ยังมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2462 กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ชี้แจงเหตุผลที่ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการทหารเรือในต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงพระคุณลักษณะในการทรงแสวงหาความรู้แบบ “เรียนรู้ตลอดชีวิต” รวมทั้งพระจริยวัตร “กินอยู่ง่ายไม่ถือตัว” ของพระองค์ไว้อย่างแจ่มชัด

“… ด้วยความมืดมนของข้าพระพุทธเจ้าที่มิได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของยุทธวิธีการทางเรือซึ่งในคราวนี้ได้เปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่อาจกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ถูกต้องได้ … ถ้าแม้จะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือต่อไป ก็จำเปนจะต้องขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาศกราบถวายบังคมลาออกไปตรวจการเปลี่ยนแปลงที่อุบัติขึ้นใหม่ เพื่อจะได้เป็นทางดำริสำหรับวางระเบียบการในเบื้องหน้า ให้เหมาะกับพระราชประสงค์และถูกยุทธนิยมทุกประการ กับทั้งจะได้ไม่ให้เปลืองพระราชทรัพย์ ในเรื่องการดำเนินการผิดทางและต้องย้อนกลับหาทางใหม่ … ตามที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาแนะนำเพื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าออกไปตรวจดูกิจการเองนี้ ข้าพระพุทธเจ้าหาได้นึกถึงผลประโยชน์หรือเกียรติศักดิ์อย่างใด ๆ เปนการตั้งใจตรงต่อราชการแท้ … เพราะความชำนาญของข้าพระพุทธเจ้ากับส่วนที่ได้เห็นมาแล้วย่อมเป็นทุนดีกว่าศิษย์ของข้าพระพุทธเจ้าทุกคนที่ได้เรียนไปจากข้าพระพุทธเจ้าเอง กับทั้งการอดทนและการไม่ถือยศของข้าพระพุทธเจ้าซึ่งทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่ดีแล้วนั้น ย่อมเปนการช่วยดำเนินการประหยัดพระราชทรัพย์อันหนึ่ง ซึ่งจะต้องจำหน่ายใช้สอยในการนี้ให้ลดหย่อนลงได้มาก …”

การทรงถือ “ประโยชน์ของประเทศชาติ” เป็นหลัก ยังได้สะท้อนผ่านลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เราในปัจจุบันได้เห็นว่า สิ่งที่พระองค์ทรงยึดมั่นถือมั่นที่จะพัฒนาประเทศและกิจการทหารเรือให้เจริญก้าวหน้านั้น คงจะเป็นหัวใจสำคัญที่พระองค์ทรงยึดถือมาตลอดระยะเวลาแห่งพระชนม์ชีพ

“… การป้องกันตนเปนอุปนิสัยของสิ่งที่มีชีวิตร ตลอดจนถึงธรรมชาติของต้นไม้ซึ่งไม่มีความคิดเลย ถ้าแม้มนุษย์ซึ่งเปนสัตว์ประเสริฐที่สุดจะหมดหวังหมดความพยายาม ก็จะเปรียบได้ว่าเลวกว่าตะไคร่น้ำที่เกาะอยู่ในที่อุลามกนั้นเสียอีก ความหวังในส่วนป้องกันตัวถึงแม้จะเปนจริงว่าป้องกันไม่ได้แล้ว ก็ต้องหวังต่อไปถึงการป้องกันพืชพันธุ์ ถ้าจะสละเสียสิ้นปล่อยให้เปนไปเองก็นับว่าผู้นั้นหมดอายุ อย่างที่เรียกว่าหมดยาง …

… ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยได้ยินอยู่มากถึงคำกล่าวว่า มีทำไมทหารบก ? มีทำไมทหารเรือ ? ซื้อทำไมเรือ ? เปนการน่าพิศวงจริงหนอที่มีบุคคลเช่นนี้อยู่มาก ซ้ำจะมากขึ้นอีกด้วย จะเปนการเเสดงว่าเลือดไทยจืดลงกระมัง การทำมาหากินการค้าขายก็ตกอยู่ในมือชาวต่างประเทศเกือบหมดหรือทั้งหมดก็ว่าได้ ยังเหลือแต่การป้องกันการทำมาหากิน ต่อไปนี้ดูถ้าจะกร่อยลงไปทุกทีโดยมีอุปสรรคต่าง ๆ ในที่สุดหากินก็จะไม่หา ป้องกันก็จะไม่ป้องกันเลือดไทยจะสูญหรือ บางทีก็จะเปนได้ ถึงกรุงสยามคงเปนสยามอยู่ แต่สยามไม่ใช่เปนของคนไทย สูญพืชสูญพันธุ์เพราะหมดยาง หมดทุน หมดมานะ หมดอุตสาหะ แม้มีอุปสรรคนิดหน่อยก็ทอดอาลัย หมดความพยายาม …

… ถ้าบุคคลจำพวกใดเปนเช่นนี้ จำพวกนั้นจำเปนต้องสูญหมด หมดทางไชยชนะ หมดชาติ …”

ลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับนี้ ลงวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2462 เป็นช่วงเวลาระหว่างประทับอยู่ที่โรงพยาบาลคลินิค สิงคโปร์ ระหว่างทางเสด็จไปซื้อเรือรบหลวงพระร่วง สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า ทรงมีพระประชวรระหว่างการเดินทางนั้น

จากพระดำริต่าง ๆ ที่ได้อ้างอิงมาเป็นตัวอย่างเพื่อพินิจพิจารณาในคราวนี้ คงจะเป็นเครื่องยืนยันถึงพระคุณลักษณะของพระองค์ในความจงรักภักดี ถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และมุ่งหวังให้สยามประเทศเจริญก้าวหน้า โดยการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้

ไม่แตกต่างจากความอีกตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ที่ว่า

“… ข้าพระพุทธเจ้าเป็นทหาร ถึงจะตายลงไป ก็คงจะต้องฉลองพระเดชพระคุณใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทจนสิ้นชีวิตร …”

อาจด้วยพระคุณลักษณะและพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์โดยแท้เหล่านี้ ที่ยังทำให้เรื่องราวแห่งพระประวัติของพระองค์ยังคงเป็นที่เล่าขานข้ามกาลสมัย และเป็นแบบอย่างอันน่ายึดถือควรค่าแก่การเทิดพระเกียรติเคารพสักการะของผู้คนทั้งในอดีต จวบจนปัจจุบัน และสืบไปสู่อนาคตสมัย

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาดังกล่าวข้างต้นนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้ ในการก้าวเผชิญอุปสรรคขวากหนามของชีวิตต่อไปภายหน้า

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช