His Royal Highness Prince Abhakara
120th Anniversary
Homecoming

หน้าแรก

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ สำเร็จการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ
เสด็จกลับสู่สยามเพื่อทรงเริ่มรับราชการในกรมทหารเรือ พ.ศ. 2443

เลื่อนเพื่อดูต่อ

ก่อนจะถึง 120 ปีที่แล้ว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระบรมราโชบายให้พระราชโอรส
ได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดในสาขาวิชาต่าง ๆ
ที่บ้านเมืองต้องการ โดยทรงพิจารณาแนวทาง
การศึกษาของพระราชโอรสเป็นรายบุคคล
อย่างสอดคล้องกับความสามารถและบุคลิกภาพ
ของแต่ละพระองค์

เมื่อพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
จะเสด็จไปทรงศึกษาที่อังกฤษนั้น

มีพระเชษฐาที่ทรงศึกษาอยู่ในยุโรป 4 พระองค์

พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์
ทรงศึกษาวิชาเศรษฐกิจ
การคลังที่อังกฤษ


พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
ทรงศึกษาวิชากฎหมายที่อังกฤษ


พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม
ทรงศึกษาวิชาอักษรศาสตร์
ที่อังกฤษและฝรั่งเศส


พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช
ทรงศึกษาวิชาสามัญในอังกฤษ
และศึกษาวิชาทหารบก
ในประเทศเดนมาร์ก

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
และพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
ทรงเป็น 2 พระองค์แรก
ในบรรดาพระราชโอรส “รุ่นกลาง”
ที่เสด็จไปศึกษาในยุโรป

โดยมีพระราชประสงค์ให้ทั้ง 2 พระองค์ ทรงศึกษา
ในวิชาสำหรับป้องกันบ้านเมืองจากภัยคุกคาม
นั่นคือ “วิชาการทหารเรือ”

ทั้ง 2 พระองค์ เสด็จจากสยามเมื่อ
วันที่ 20 สิงหาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)
ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ กองกำลังมหาอำนาจ
เข้ายึดครองเมืองจันทบุรี
กองเรือมหาอำนาจ เพิ่งยุติการปิดอ่าวสยาม

วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112
ผ่านไปเพียงเดือนเศษ
กรมทหารเรือสยาม
ขาดผู้มีความรู้สมัยใหม่
เรือรบไทย ป้อมปืนไทย
ต้องอาศัยฝรั่งบังคับบัญชา

ในยุคนั้น สมุททานุภาพ หรือ sea power คือ
ปัจจัยสำคัญที่สุด ของสถานะและการดำรงอยู่
ของแต่ละประเทศ ผู้มีความสามารถ
ในการทหารเรือสมัยใหม่ จึงเป็นที่ต้องการยิ่ง
ของสยามยามนั้น

พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
ไม่ได้ทรงศึกษาเฉพาะวิชาความรู้
หากยังทรงเปิดโลกทัศน์กว้างไกล

ทรงสั่งสมประสบการณ์ในพระชนม์ชีพอย่างหลากหลาย
ในเมืองตากอากาศของผู้คนทุกชนชั้น
ในสังคมสงบงาม และวัฒนธรรมอันมีแบบแผน
ในราชสำนักอันเก่าแก่ของโลก
ในศิลปะและความงาม
ในท่ามกลางธรรมชาติและเกมกีฬา
ในความเป็น Sport Man และ Gentleman


… Prince Abhakara, later an
Admiral in the Siamese Navy,
was like an English boy in his
love of life in the country …


นายเบซิล ทอมสัน (Basil Thomson) พระอภิบาล

ต่อมา

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ
เฉลิมพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร และทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษา

พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
เพียงพระองค์เดียว
ทรงมุ่งศึกษาวิชาทหารเรือ

ทรงประจำการในเรือรบทันสมัยแห่งยุค ในน่านน้ำสำคัญของนานาชาติ
ทรงสั่งสมประสบการณ์เกือบ 2 ปี ในราชนาวีที่เกรียงไกรที่สุดของโลก
ทรงคลุกคลีใกล้ชิดผู้คนทุกชนชั้น
ทรงเป็นทหารผ่านสมรภูมิรบ
ทรงศึกษาวิชาชั้นสูง ในสถาบันอันโอ่อ่าสง่างาม
ทรงสัมผัสสุนทรียะนานับแขนง
ทรงเรียนรู้วิทยาการล่าสุด ของการป้องกันประเทศ

ทรงมีโลกทัศน์อันไพศาล
จากการ join the navy
to see the world

พุทธศักราช

2443

หรือเมื่อ 120 ปีที่แล้ว
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ นิวัตสยาม

ทรงเป็นชาวสยามพระองค์แรก ที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือชั้นสูง
มีความรู้และประสบการณ์ด้านการทหารเรือที่ทันสมัยที่สุด เท่าที่จะมีได้ในยุคนั้น

ทรงนำความรู้จากที่ทรงศึกษา
มาประกอบพระกรณียกิจหลายด้าน

ยกระดับสมุททานุภาพแห่งราชนาวีไทย
ให้ถึงพร้อมทั้งด้วยองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี


บริบูรณ์เต็มตามความหมาย
ของพระสมัญญา “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

เรือรบไทย สามารถแล่นอวดธงไปสู่น่านน้ำต่าง ๆ ด้วยนายเรือไทย
จากการ “สร้างคน” ของพระองค์

และนอกเหนือจากนั้น
ความสนพระทัย
และพระปรีชาในศาสตร์
และศิลป์แขนงต่าง ๆ
ล้วนปรากฏเป็นที่ประจักษ์
ทั่วไป

ทรงเป็นจิตรกร มีผลงานปรากฏอย่างหลากหลาย
ทรงเป็นคีตกร ผู้ประพันธ์บทเพลงอมตะข้ามศตวรรษ
ทรงเป็นหมอ ที่ทั้งปรุงยา รักษา และเขียนตำรา
ทรงเป็นนักธรรมชาติวิทยา ซึ่งฝากผลงานไว้ในสถาบันระดับโลก
ทรงเป็นผู้ศึกษากฤติยาคม ควบคู่การยึดถือพุทธธรรมนำทาง

ทรงมอบไมตรีต่อผู้คนทุกชนชั้น
ทรงบำเพ็ญสาธารณประโยชน์กว้างขวาง
ทรงก้าวผ่านทุกวิกฤติด้วยพระสติและปัญญา
ทรง “เรียนรู้” ตลอดพระชนม์ชีพ

… กรมหลวงชุมพรฯ มี พระอัธยาศรัย
อันเปนข้อสำคัญในพระคุณวุฒิ

คือความซื่อตรง อย่างหนึ่ง

ความกล้าหาญ ในบรรดาการซึ่งทรงทำ
ด้วยหวังจะให้เกิดประโยชน์อย่างหนึ่ง

ความสามารถซึ่งจะทำการอันทรงจำนงให้สำเร็จ
ดังพระประสงค์อย่างหนึ่ง

แลความโอบอ้อมอารี ต่อมิตรไม่เลือกหน้าอย่างหนึ่ง
อาศรัยพระคุณสมบัติดังกล่าวมานี้ จึงทรงสามารถทำราชการต่างๆ ซึ่งได้รับทำในหน้าที่ให้ลุล่วง …

… ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก่บุคคลทั้งหลายก็มิได้ทรงเลือกชั้นบรรดาศักดิ์

ได้คบใครคงอารีดีด้วยทั่วไป มิได้ถือพระองค์
เพราะฉนั้นไม่ว่าใครที่บรรดากรมหลวงชุมพรฯ ได้คบหาสมาคม
จะเป็นพระก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม เจ้าก็ตาม ไพร่ก็ตาม
คงมีใจรักใคร่ไม่เลือกหน้า …


พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ดูพระนิพนธ์

วาระครบรอบ

120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม

คงเป็นโอกาสที่ดีของพวกเราในปัจจุบันสมัย
ในการเรียนรู้ตามรอยพระองค์
ผู้ทรงดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีงาม

กยิรา เจ กยิราเถนํ
“จะทำสิ่งไร ควรทำจริง”

His Royal Highness Prince Abhakara’s 120th Anniversary Homecoming :
a project by His Royal Highness Admiral Prince Abhakara of Chumphon’s Family Foundation.

This project was initiated for educational purposes.
Any financial benefit derived will be spent on charities.