เป็นศิลปินที่ทำงานตามใจตัวเองแบบ เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ

    ปีนี้ เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ ต้อนรับฤดูร้อนด้วยการปล่อยเพลง ไม่ต้องทำหรอกบุญ เนื้อหาเข้มข้นกับไลน์กีตาร์และเสียงสังเคราะห์จัดจ้าน นำเสนอผ่านมิวสิกวิดีโอที่ค่อยๆ พาคนฟังเดินทางลงไปยังนรกแต่ละขุม ต้องยอมรับเลยว่าการเปิดตัวอีพีอัลบั้ม Aragochina (2562) ด้วยสุ้มเสียงและท่าทีแบบนี้ ดึงดูดความสนใจให้เราอยากฟังเพลงอื่นๆ ของเขาไม่น้อย ก่อนที่เขาจะตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงทางดนตรีที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจากกลิ่นอายของการตัด-แปะแบบที่เรียกว่า 'Sample Music' ในเวลาเดียวกันเขายังคงความเป็นตัวเอง ด้วยสไตล์การแต่งเพลงที่เต็มไปด้วยเรื่องราว โดยใช้สำเนียงเสียงในแบบที่ เป้ อารักษ์ ถ่ายทอดออกมาได้คนเดียวเท่านั้น

    สีสันในชีวิตของเขาไม่ได้มีแค่เรื่องเพลงเท่านั้น เมื่อต้นปีเขาปรากฏตัวบนรันเวย์ Drag Race Thailand ซีซัน 2 ตอน 5 ในฐานะกรรมการ ด้วยเวอร์ชัน ปูเป้ ที่จัดเต็มทั้งการแต่งหน้า เสื้อผ้า วิกผม และรองเท้าส้นสูง กลางปีเขาก็ขึ้นเวที 10 Fight 10 รายการโทรทัศน์ที่นำดาราชายมาจับคู่กันชกมวยสากล ซึ่งแม้จะพ่ายแพ้ให้แก่คู่ชก บีม-ศรัณยู ประชากริช แต่ก็ทำให้เราทึ่งกับความทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งๆ ที่ระหว่างนั้นยังมีคิวแสดงละครโทรทัศน์เรื่อง ตกกระไดหัวใจพลอยโจน ก่อนที่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจะมีผลงานภาพยนตร์ โจรปล้นโจร มาลงโรงฉายให้ชมกันอีกด้วย

    การพบกันครั้งนี้เราจึงได้พูดคุยถึงความคิดที่มีต่อการทำงานเพลงปัจจุบัน การเลือกรับงานที่หลากหลาย และมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงวัยและประสบการณ์ ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็รวมเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเป็น

Aragochina จากเจ้าพระยาถึงบางบอน

    "มันเริ่มมาจากผมมีเพลงตัวเองประมาณ 10 กว่าเพลง ตามสไตล์ครับ ชอบมีเพลงเยอะๆ ไว้ก่อน แล้วนานๆ ทีผมชอบไปหาพี่เล็ก ฮิวโก้ เราจะแลกเพลงกันฟัง แล้วก็เล่นกีตาร์ให้พี่เล็กฟัง"

    เขาเล่าให้ฟังว่าช่วงหลังค่อนข้างมีระยะห่างจากการฟังและการทำเพลงร็อก ประกอบกับการขยับหูเข้าใกล้เพลงแนวอื่นๆ มากขึ้น พอมีโอกาสนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ เขาจึงเปรยว่าเพลงชุดต่อไปอยากทำเป็นแนวอาร์แอนด์บี ซึ่งฮิวโก้ฟังแล้วก็รู้สึกว่าเข้าท่าดี ก่อนที่จะลองนำเพลงแนว Sample Music ของ Pusha T จากอัลบั้ม Daytona ที่ Kanye West เป็นโปรดิวเซอร์มาเปิดให้เป้ฟัง พร้อมกับบอกว่าถ้าอยากทำแบบนี้ เขาสามารถทำให้ได้ เมื่อรู้สึกชอบและอยากลองลุยดู เป้จึงชวน เมฆ Machina (สุขุม อิ่มเอิบสิน) ดีเจและโปรดิวเซอร์ รวมถึง บิ๊ก-ภานุวัฒน์ พืชกสิชลพสุธา มือเบสของวง เดอะ ปีศาจแบนด์ ให้มาทำงานร่วมกันในอัลบั้มชุดนี้ โดยไม่ลืมที่จะชวน อัฐ-วงศ์วริศ อาริยวัฒน์ (ร้องนำ, กีตาร์) จากวง เดอะ ปีศาจแบนด์ มาโซโลกีตาร์ในเพลง สอนใคร (Teach) ด้วยอีกหนึ่งเพลง

    "บิ๊กเนี่ยตอนแรกเราจะให้เป็นโปรดิวเซอร์ เพราะตอนร่วมงานกันเห็นว่าเขามีไอเดียที่มันเจ๋ง ส่วน เมฆ Machina เราเคยให้เขามิกซ์เพลงอยู่ 2-3 เพลง แล้วชอบมากๆ เพราะเขาเติมองค์ประกอบที่ไม่มีอยู่ในเพลงเราเข้าไป แล้วผมรู้สึกว่ามันเข้ากับแนวเพลงที่เราอยากจะเปลี่ยนไปเป็นแบบที่เราชอบ ก็เลยได้ 3 คนนี้มาร่วมงานกัน จึงเริ่มงานที่บ้านพี่เล็กที่เจ้าพระยาและไปจบที่ห้องเมฆที่บางบอน"

    จากแต่ละเพลงที่เขาเล่นกีตาร์ให้ฮิวโก้ฟัง ฮิวโก้ตอกย้ำจนเป้จำได้ขึ้นใจว่า 'ชุดนี้มันต้องไม่จริงใจ' แล้วใช้เกณฑ์นี้มาใช้คัดสรร 5 เพลงที่จะนำมารวมอยู่ในอีพีอัลบั้มนี้ ก่อนที่เพลง สอนใคร ที่เป้เพิ่งแต่งใหม่จะกลายเป็นเพลงที่ 6 ในที่สุด

    "การทำงานมันสนุกตรงที่มันเร็วมากครับ ทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็ว แล้วมันก็เปลี่ยนจากเพลงที่เราคิดไว้ บางทีจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย พวกเพลงเร็วอย่าง ไม่ต้องทำหรอกบุญ เราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นภาพที่ตัดๆๆ ดับสเต็ปขนาดนั้น รักเธอคนเดียว ผมก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นเฟรนช์อิเล็กทรอนิกส์ แล้วบางทีผมแต่งเพลงช้ามา พี่เล็กทำเป็นเพลงเร็วดับเบิลไทม์เข้าไปเลย เราจะได้อะไรใหม่จริงๆ เรียกว่าเราปล่อยจอยในการทำงานให้เขาทำสิ่งที่เขาคิดว่ามันดีกับเราดีกว่า แล้วพี่เล็กเขาไม่ได้แคร์เลยครับว่าเราจะเล่นสดยังไง เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของเขา เราชอบถามว่าจะเล่นสดยังไงดี พี่เล็กก็จะบอกตลอดว่าอย่าเพิ่งไปคิด มันไม่ใช่หน้าที่ของการอัด เล่นสดก็เรื่องของเล่นสด เราต้องไปคิดต่อเอง ซึ่งมันเป็นไอเดียใหม่ๆ ที่ได้มาจากแก"

    เมื่อเพลง เธอเลิกยากเหมือนบุหรี่ ปล่อยออกมาให้ฟังในวันสุดท้ายของเดือนตุลาคม เราก็เห็นบทสรุปของทั้ง 6 เพลงที่พาเรากระโดดข้ามไปเจอกับแนวดนตรีต่างๆ โดยยังมีภาษาและเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของเป้ที่คอยร้อยเรียงเรื่องราวในอีพีนี้ไว้ด้วยกัน

การสร้างสรรค์ไร้ข้อจำกัดทันทีที่เปิดกว้างทางดนตรี

    แนวทางการทำงานอัลบั้มเดี่ยวของเขาตั้งแต่ชุดแรก ออโต้อีโรติก (2553) ก่อนจะมาถึง อารักษ์ แอนด์ เดอะ ปีศาจแบนด์ (2555) และอัลบั้ม เหล็กกับไม้ (2560) ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ยิ่งใครติดตามฟังผลงานของเขาในชุด Aragochina แล้ว คงเห็นตรงกันว่า เป้ อารักษ์ เดินทางมาไกลเหลือเกิน

    "ผมจำไม่ได้ว่าตอนเด็กๆ คิดอะไร รู้แต่ว่าแต่งเพลงออกมาแล้วอยากปล่อย โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นแบบไหน แค่อยากเล่าเรื่องอย่างเดียวเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะพาเรื่องของเราไปได้เรื่องได้ราวที่สุดน่าจะเป็นโฟล์กซอง เพราะตอนเด็กๆ ผมฟัง โจน บาเอซ (Joan Baez) ศิลปินที่ออกผลงานมาคู่ๆ กับ บ๊อบ ดีแลน (Bob Dylan) ครับ แล้วเวลาที่เขามีฟูลแบนด์ ผมจะไม่ชอบเลย ชอบเวอร์ชันโฟล์กที่เขาเล่นเดี่ยว ผมก็เลยทำอัลบั้มเดี่ยวที่เป็นโฟล์กก่อน แล้วหลังจากไม่อยู่เสลอแล้ว ผมก็ใส่ความเป็นคันทรีเข้าไป เพราะตอนนั้นเรารู้สึกว่าลีดคันทรีในประเทศเรายังไม่มี แล้วสำหรับอเมริกันคันทรี มันเป็นปาร์ตี้มิวสิก เฮฮากันด้วยจังหวะ พอชุดที่สามเริ่มมีพี่เล็กเข้ามาตรงกลางระหว่างการทำ แล้วเราก็พบว่า เอ้ย! เพลงมันไม่เห็นต้องกำหนดเลยว่าจะต้องเป็นเครื่องดนตรีแบบไหน แนวไหน ถ้าเราถนัดกีตาร์ไฟฟ้า ทำไมเราไม่เล่นไฟฟ้าล่ะ มันกว้างกว่าตั้งเยอะ มันเหมือนเปิดโลกเราให้กลับมาเล่นดนตรีที่ไม่จำกัดอีกครั้งหนึ่ง"

    การลดกำแพงทางดนตรีของเขา นอกจากจะได้พบศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าสนใจแล้ว ยังเพิ่มโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับแนวทางในการทำงานของตัวเองอีกมาก จากเดิมที่ตัวเขาเองเคยปฏิเสธการฟังเพลงที่ไม่ใช่แนวทางที่ชอบมาก่อน

    "ผมว่าน่าจะเปิดใจมากขึ้น ตอนเด็กๆ ผมอี๋ทุกคนที่ไม่ใช่แนวเรา อี๋ทุกคนที่ไม่ใช่อินดี้ร็อก การาจร็อก ไม่เท่ ไม่ฟัง พวกที่แต่งตัวรวมกันแล้วเต้น ไม่ฟังแน่นอน แต่ตอนนี้ก็ฟัง Blackpink เหมือนกัน อย่างไอ้ท่อนดรอปของเพลง Ddu-Du Ddu-Du ที่เป็นอินเดียนี่ผมเหวอไปเลยนะ แบบเจ๋งมาก วงอย่าง The Weeknd ซึ่งเขาพรีเซนต์ตัวเองเป็นร็อกสตาร์สุดๆ แต่เป็นร็อกสตาร์เวอร์ชันอาร์แอนด์บี ทั้งๆ ที่การร้องหรือเนื้อเพลงมันยิ่งกว่าร็อกอีก ความเป็นฮิปฮอปเขาพูดได้เพราะเขามีเบื้องหลังที่ขมขื่น ผมก็เลยชอบอะไรแบบนั้น เหมือนกับเราได้เจอวงที่เป็นไอดอลเราสมัยก่อน ที่มันอันตราย มันดูเดาไม่ได้อีกครั้ง แต่ในฟอร์มของดนตรีอีกแบบหนึ่งที่เราเคยปฏิเสธมาตลอด"

    ส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวเพลงอื่นนอกจากร็อกเข้ามาอยู่ในความสนใจของเขา เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในวงการดนตรี เขาบอกว่าความเป็นร็อกแอนด์โรลที่ศิลปินใช้ชีวิตสุดขั้ว เสพยา ดูอันตรายแบบร็อกสตาร์สมัยก่อนไม่มีอีกแล้ว และคนที่เป็นศิลปินและคนฟังเองก็เข้าใจแล้วว่ามันคือ toxic masculinity ดังนั้นศิลปินรุ่นใหม่ที่ฝีมือทางดนตรีเก่งมากจึงอาจจะไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นร็อกสตาร์แบบเดิมอีกต่อไป

    "เราก็ชอบฟังเพลงแนวอื่นด้วย อย่าง Bring Me The Horizon ผมก็ชอบนะ แต่ตัวเขาเองยังผสมอาร์แอนด์บีและป๊อปเข้าไป The 1975 ก็ผสมเยอะ ถามว่าอย่าง Arctic Monkeys ชุด AM ที่ผมว่ามันร็อกที่สุด มันยังผสมฮิปฮอปเข้าไปอีก มันก็เลยทำให้เราไม่ได้ฟังวงร็อกๆ แบบนั้นแล้ว แต่สิ่งที่เราฟังมาในช่วงหลังอย่าง Billie Eilish ซึ่งชอบมากๆ ยิ่งมาเจอ Pusha T ที่เป็นฮิปฮอป หรือ Pee Clock ที่เป็น The Rapper ผมก็เลยทำเพลงในแบบที่ตัวเองชอบนี่แหละ แต่ตอนเล่นสดเรามีวงร็อกอยู่แล้วนี่ ทำไมเราจะต้องเปลี่ยนล่ะ เราก็แค่เพิ่มสีสันของพวกซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไป กีตาร์เรายังเล่นเหมือนเดิม"

    ซึ่งเขายืนยันว่าเพลงชุดนี้เล่นสดมันกว่าในอัลบั้มเสียอีก

ประสบการณ์ที่ได้จากการเอาตัวเข้าไปปะทะ

    การเปลี่ยนบทบาทในการทำงานจากศิลปินนักดนตรี สู่การเป็นนักแสดงที่สวมบทบาทตัวละครใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมถึงการชกมวยสากลบนเวทีที่เขาบอกว่าส่วนตัวชอบการต่อสู้อยู่แล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่เป้พาตัวเองเข้าไปสัมผัสพบเจอ ซึ่งทำให้มุมมองต่อผู้คนและสิ่งต่างๆ ของเขาเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้ง

    "ต้องขอบคุณอาชีพก่อนครับ อาชีพนักแสดงหรือการเป็นดาราทำให้เราได้ไปทำหลายอย่างที่เราไม่คิดว่าจะได้ทำ อย่างแต่งแดรกนี่ก็จับพลัดจับผลูครับ ผมไปเจอพี่อาร์ต (อารยา อินทรา โฮสต์รายการ Drag Race Thailand) ที่บ้านแก แล้วแกชวนไปเป็นกรรมการ ผมก็ถามว่า 'กรรมการแต่งแดรกได้ไหม อยากลอง' ผมเสนอไอเดียไปแล้วพี่อาร์ตเอาครับ มันบ้ามากครับ ยากมาก ผมนั่งขาแข็งอยู่เกือบสองชั่วโมงเพื่อแต่งหน้า คนที่แต่งต้องชอบจริงๆ ใจรักจริงๆ ทำให้เราเข้าใจพวกเขาขึ้นมาอีกนิดนึง เพศในโลกนี้มีมากมาย เราไม่ต้องสนใจว่าเพศคืออะไรกันแน่ แค่ชอบอะไรก็ชอบแบบนั้น"

    ซึ่งต่างจากประสบการณ์ต่อยมวยสากลบนเวที 10 Fight 10 อย่างสิ้นเชิง เป้เล่าให้ฟังว่าเคยเรียนชกมวยตั้งแต่เด็ก เขาชอบการต่อสู้ สนุกกับการประลองแบบไม่ทำร้ายกัน พอมีโอกาสเรียนยูโดหลังจากรับละคร เลยไปเรียนมวยปล้ำต่อ ก่อนที่คู่ต่อสู้จะใช้แขนล็อกจนบาดเจ็บที่คอ และเมื่อมีปัญหาจากการใช้เสียงจึงหยุดเล่นไป ก่อนที่จะกลับมาต่อสู้อีกครั้งบนเวทีอย่างที่คนทั่วประเทศได้ดูกัน

    "ผมคิดว่าถ้าเราไม่รับ เราต้องเสียดายแน่เลย เพราะเราสู้มาตลอด แล้วเราก็บอกคนอื่นว่า เราเล่นต่อสู้ พอมีโอกาสให้เราขึ้นชกบนสังเวียน มันต้องทำน่ะ มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม ผมได้ซ้อมหนักๆ 3-4 เดือน แบบไม่มีชีวิตไปทำอย่างอื่นเลยครับ ตอนนั้นยังถ่ายละครอยู่ด้วย คือถ่ายละคร ทำงาน ซ้อมมวย นอน วันไหนไม่ซ้อมก็ต้องวิ่ง ไม่วิ่งก็กระโดดเชือก ทำให้ฟิตที่สุดครับ ทุ่มเทมากๆ ไปซ้อมที่ยิมกับโค้ช แต่ตอนที่ต่อยก็มั่นใจว่าสกิลเราดี ยกแรกก็ทำตามแผนก่อน แล้วยกสองผมทำเสียแผนเอง เนื่องจากว่ามีอาการบาดเจ็บที่แขนแล้วก็ซ่าเกินไปหน่อย ในใจคิดว่าจะต้องน็อกคืนอย่างเดียว แล้วการที่จะไปเล่นวงในกับคนที่แข็งแรงขนาดนั้น เลยมาพลาดตอนโดนหมัดนั้น จบเลย"

    ถึงกระนั้นเมื่อเขากลับมาทบทวนว่า ถ้านำเวลาที่ทุ่มเทไปกับการต่อสู้มาใช้กับดนตรีคงจะพัฒนาได้เยอะมาก ซึ่งการออกไปทำอะไรอย่างอื่นที่ไม่เคยทำ ถือเป็นการถอยออกไปให้ตัวเองรู้สึกสดชื่นเมื่อกลับเข้ามาสัมผัสดนตรีใหม่อีกครั้ง

การทำเพลงตามใจตัวเอง

    หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านอื่นมาอย่างเต็มอิ่ม ชีวิตของเขาก็กลับเข้ามาสู่บรรยากาศการทำงานเพลงอีกครั้ง โดยการทำเพลงของเขายืนยันว่า "ผมยังทำตามใจตัวเองอยู่ ด้วยเป้าหมายที่หวังว่าคนอื่นจะชอบสิ่งที่เราทำ ในเรื่องของการสร้างงานก็ค่อนข้างเห็นแก่ตัวประมาณหนึ่งครับ" ซึ่งเขาไม่ได้มองว่าตัวเองทำงานแบบอินดี้ เพราะยังอยากเล่นคอนเสิร์ตให้คนดูเยอะๆ แล้วมีความสุขไปด้วยกันเหมือนกับตอนที่เคยเล่นกับเสลอ เพียงแต่เป้าหมายของการทำงานจากเมื่อก่อนได้เปลี่ยนไปแล้ว

    "สมัยเด็กๆ ทำชุดแรกอาจจะอยากเล่าเรื่อง อยากบอกว่าฉันรู้อย่างนี้นะ แล้วพวกคุณน่าจะรู้แบบฉันบ้าง มันเหมือนอยากเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคม พอมารู้ตัวว่ามันเปลี่ยนไม่ได้ ก็หาความท้าทายใหม่ทางดนตรีดีกว่า เราก็แต่งเพลงรักในแบบที่คนอื่นยังไม่ได้แต่งสิ ด้วยความท้าทายอีกแบบหนึ่งซึ่งยากกว่าด้วย สมัยก่อนผมทำเพลงแบบเล่าเรื่อง ซึ่งไม่มีใครเล่าเรื่องแบบผมอยู่แล้ว ในการที่จะออกไปแล้วมีตัวตน มันก็เลยง่าย แต่พอตอนนี้เราอยู่ในลีกเดียวกับเพลงป๊อป เราก็ต้องสู้แบบนั้น"

    ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในวงการดนตรี รวมถึงความคิด มุมมองของตัวเขา ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่มั่นใจได้คือเขาจะยังทำเพลงอยู่เสมอ

    "ต้องพิสูจน์ตัวเองครับ เราอยากให้เขาฟังเราในแง่ของศิลปินที่เพลงเพราะดี เล่นสดมันดี อะไรอย่างนี้บ้าง เรายังไม่ถึงจุดนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ยังทำต่อไป นั่นกลายเป็นเรื่องดีของผมที่มันยังมีแรงผลักให้ทำตลอด ไม่ต้องให้เรื่องการเงินมาผลักเราครับ ถ้าให้การเงินมาผลักเรา มันลำบากกว่านี้เยอะ การทำงานเพลงเพื่อหวังได้เงินมันยาก เราก็เห็นใจคนที่ต้องทำแบบนั้นด้วย"

    จากทุกสิ่งที่เขาทำมาหลากหลายตลอดเส้นทางการทำงาน หากให้นิยามว่าเขาคือ ศิลปิน นักแสดง หรือ นักสู้ เราคงบอกได้เพียง เขาคือ เป้ อารักษ์ ที่ทุ่มเทกับบทบาทของตัวเองอย่างเต็มที่ทุกครั้ง แบบที่ไม่ยอมให้ตัวเองต้องรู้สึกผิดหวังก่อนที่ผลงานจะปรากฏต่อผู้ฟังและผู้ชมเสียอีก

Favorite Something
  •   Eternal Sunshine of the Spotless Mind(2004), Warrior(2011), Last Life in the Universe(2003)
  •   The Lonesome Death of Hattie Carroll, Suck It and See, Starboy, Self Control
  •   ชิทแตก, Sapiens, The Unbearable Lightness of Being, American Gods
  •   Hugo, Bob Dylan, Arctic Monkeys, Frank Ocean, The Weeknd

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ