ปอ เปรมสำราญ กับการเติบโตขึ้นผ่านบทบาทนักเขียน คนทำละครเวที และศิลปิน

    ฉันรู้จักปอตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ เธอเรียนเอกละครฯ ดูเป็นคนเข้าถึงยาก และชอบเขียนสเตตัสในเฟซบุ๊ก ทั้งเรื่องส่วนตัว มุมมองต่อสังคม และเรื่องแต่งที่หลายครั้งอ่านแล้วก็พอจับได้ว่าน่าจะมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง

    แต่แล้วปอก็โด่งดังจากสเตตัส 'ผมอ่านมาร์เกซครั้งแรกตอนอายุ 25' ที่มียอดไลก์ยอดแชร์ถล่มทลาย ส่งผลให้หนังสือรวมเรื่องสั้น Abstract Bar ที่ออกกับสำนักพิมพ์ P.S. Publishing ขายหมดเกลี้ยง และได้ออกหนังสืออีกเล่มที่มีชื่อว่า 'ไม่มีใครเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์ (I've never met a SUNSET I didn't like.)'

    ระหว่างนั้นเธอใช้วิชาที่เรียนมาทำงานละครเวทีควบคู่ไปด้วยตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัย กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว เธอมีโอกาสทำละครเวทีในเทศกาลศิลปะการแสดง หอศิลปกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7 ในชื่อ Make Love, Not War รักและ/หรือรบ ซึ่งต่อมาบทละครเรื่องนี้ได้พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือด้วย

    ล่าสุด ปอได้ขยับตัวเองมาเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะ โดยเธอเป็น 1 ใน 8 ศิลปินโครงการ Early Years Project หอศิลปกรุงเทพฯ ทำงานอินสตอลเลชัน ชื่อ Part เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ของเธอกับป้า ซึ่งขยายไปถึงมิติการเมืองและสังคมผ่านความสูญเสีย

    ช่วงสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ฉันแทบไม่เคยคุยกับปอเกินสิบห้านาที แถมเจอกันแทบนับครั้งได้ แต่หลังจากทำงาน ฉันเจอเธอบ่อยขึ้นและคุยนานกว่าเดิม

    และครั้งนี้คือการคุยที่นานและลึกที่สุดเท่าที่ฉันเคยคุยกับปอมา

ความชอบศิลปะมาได้ยังไง

    เพราะว่าเรามีพี่คนหนึ่งที่อายุห่างกับเรา 10 ปี เขาเรียนวิศวะแต่ไลฟ์สไตล์เขาเหมือนเด็กสถาปัตย์มาก อ่าน a day เลยมีหนังสือพวกนี้อยู่ที่บ้าน ซึ่ง a day มีคอลัมน์ที่ลงงานศิลปะหรือทีสิสที่คัดเลือกมาแล้ว มันอินสไปร์เราเหมือนกัน แล้วรุ่นเราเป็นรุ่นที่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้านแล้ว ค้นอะไรได้เยอะ แต่ช่วงมัธยมฯ มันยังไม่ลึกถึงขนาดศิลปะบาโรก (Baroque) อะไรทำนองนั้น ไม่ได้เอาตัวเองไปเทียบกับไทม์ไลน์โลก และไม่รู้ความแตกต่างของฝั่งตัวเองอย่างศิลปะสุโขทัยกับศิลปะอยุธยา แค่รู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ เหมือนพยายามหาว่าตัวเองจะเรียนอะไรตั้งแต่แรก และด้วยความที่มีนิตยสารเยอะ ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คล้ายคอลลาจ (collage) คือเราตัดรูปที่ชอบแล้วเอามารวมๆ กัน เป็นแผ่นไม้ของเรา ทำตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าไอ้ที่ทำอยู่คืออะไร พ่อแม่ก็ปล่อยให้ทำไป ไม่เคยห้าม เราก็ไม่แน่ใจว่ามันมาจากไหน คงเป็นสื่อข้างนอกมากกว่า เพราะก็ไม่มีเพื่อนที่อยากเรียนศิลปะขนาดนั้น แต่เราเป็นคนรับสื่อเยอะ พวกหนังหรือซีรีส์ญี่ปุ่น ดูมานานแล้ว ก่อนมีเกาหลีเข้ามา เราคงรับอะไรพวกนี้มาเยอะ มันชอบสร้างคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจและทำงานสายอาร์ต

พอเรียนจบก็ทำงานฟรีแลนซ์เลยหรือเปล่า

    ก็เคยสมัครงานประจำ คงเหมือนทุกคนที่เรียนจบก็ร่อนใบสมัครงานตามที่ต่างๆ มีที่ขอนัดสัมภาษณ์สามที่ ซึ่งแตกต่างกันมากในแต่ละที่ ทุกที่ที่เราไปก็ไม่ผ่านเว้ย ทำไมวะ เหมือนเราคิดว่าการเป็นตัวของตัวเองเป็นเรื่องดี เวลาสัมภาษณ์เราก็พยายามพูดว่าเราเป็นคนยังไง ประทับใจที่นึงมาก เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ยังคิดอยู่เลยว่าถ้าได้ทำงานบริษัทนี้ก็คงใช้ชีวิตอยู่แถวๆ เพลินจิต เขาพูดว่า เฮ้ย ยู โซอินทูอาร์ตนะ มาทำอะไรที่นี่ เราบอกว่าอยากได้งานที่มั่นคง แต่เขาไม่คิดว่าจะให้ในสิ่งที่เราอยากได้ได้ ก็บอกเขาว่าอยากทำงานประจำสักปีหนึ่งแล้วค่อยไปเรียน ฝรั่งคนนั้นบอกว่างานที่นี่มันรูทีนมาก จะมาทำทำไม สุดท้ายเขาก็ไม่เลือกเรา

    จากนั้นเลยหางานฟรีแลนซ์ที่ตัวเองทำได้ ดีที่เจอบริษัททำซับไตเติลนี่แหละ ทำตั้งแต่เรียนจบ ทำมาประมาณ 3 ปีแล้ว แต่วิถีฟรีแลนซ์ไง งานไม่เยอะทุกเดือน เลยไปทำอย่างอื่นด้วย ไปเรียน ป.โท ที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งคนจะเข้าใจว่าเราวาดรูปเก่งเหรอ แต่เราวาดรูปไม่เป็นเลย วาดเหมือนเด็กอนุบาล พอเข้าไปแล้วเขาก็มีคอร์สดรอว์อิ้งนะ ค้นพบว่ามันไม่ได้เลย เป็นการดรอว์อิ้งครั้งที่สามในชีวิต ยังไม่เวิร์กอยู่ดี แต่ก็เรียนเกี่ยวกับทฤษฎีศิลปะ วิเคราะห์ เหมือนตัวคณะจิตรกรรมเขาผลิตศิลปินอยู่แล้ว พวกเด็กเพนต์ เด็กปั้น แต่เขาสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อให้เด็กที่ไปทำงานเป็นคิวเรเตอร์หรือทำงานในมิวเซียม มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ เป็นแขนงที่ไม่ได้ปฏิบัติเลย ส่วนใหญ่เป็นอ่านหนังสือกับเลคเชอร์

แต่ในแวดวงศิลปะ นักเขียนคืองานแรกที่เริ่มก่อนใช่ไหม

    จริงๆ เพิ่งมานึกถึงตัวเองเหมือนกัน เราไม่รู้สึกว่าเป็นคนวงในในวงการไหนเลย แต่ไม่ได้รู้สึกไม่เวลคัมนะ ทุกคนก็เวลคัม แต่เราทำหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน เลยไม่ได้รู้สึกเป็นคนวงใน แต่เคยเจอนักเขียนที่ใช้ชีวิตในการเขียนหนังสืออย่างเดียว รู้สึกว่าเขาสุดยอดมากที่ทำได้ แล้วเราก็ไม่ได้ปฏิเสธงานแมสงานคอมเมอร์เชียลด้วย คนจ้างงานคอมเมอร์เชียลชอบถามว่าน้องทำหรือเปล่าเพราะน้องทำแต่งานอาร์ต ก็คิดว่าไม่รู้จักเราซะแล้ว

'Abstract Bar' ผลงานหนังสือเล่มแรกของปอ

    หมายถึงว่าเราไม่ได้ลิมิตอะไรกับตัวเองสักอย่าง แต่งานเขียนมันมาก่อน เพราะเป็นกระแสก่อน ตั้งแต่ช่วงเรียนปีสี่แล้ว เรื่อง 'ผมอ่านมาร์เกซครั้งแรกตอนอายุ 25' เป็นกระแสขึ้นมา เลยกระตุ้นยอดขาย คนด่าคนชมก็ว่ากันไป เลยได้มีเล่มต่อๆ มา จริงๆ งานเขียนเริ่มตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ พอเรียนจบก็เป็นฟรีแลนซ์ ทำหนังสือ และทำละครควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ได้เป็นงานส่วนตัว เหมือนเราไปซัพพอร์ตคนอื่นๆ ที่ทำละคร ซึ่งอันนี้ก็ทำมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วเหมือนกัน และค่อยมาได้ทุนทำเอง ถ้าเราแยกส่วนกันจริงๆ ละครมาก่อน แต่ว่างานเขียนมันดันกระแสเยอะกว่าแล้วถึงทำละคร เพิ่งมีงานนี้ (Early Years Project) ที่เหมือนข้ามไปทำอาร์ตอื่นๆ

งานที่ทำอยู่ในแวดวงศิลปะหมดเลยหรือเปล่า

    คือมั่วนั่นเอง ไม่รู้เป็นข้อดีหรือข้อเสีย เพราะบางทีไปคุยกับคนที่เขาเรียนวิชวลอาร์ต (Visual Arts) เขาก็บอกว่าโพรเซสเราไม่ได้เป็นวิชวลอาร์ต เราคิดเป็นเธียเตอร์ (Theatre) แต่ในทางเดียวกัน เราก็มีความเข้าใจเขา สนุกดีเหมือนกัน เราไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเธียเตอร์เลย เวลาทำงานไม่ได้คิดว่าต้องทำแบบนี้เพราะละครเวทีทำแบบนี้ เราทำแบบนี้เพราะอยากทำ แต่จริงๆ งานก็สะท้อนอยู่ดีว่าเราเรียนเธียเตอร์มา

Make Love, Not War ละครเวทีเรื่องล่าสุดที่ปอกำกับ 

เท่าที่ตามงานปอมา ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องความสัมพันธ์หนุ่มสาว แต่สำหรับงาน Part มันดูไปไกลถึงความสัมพันธ์ด้านการเมืองด้วย นี่เป็นความตั้งใจหรือเปล่า

    เราในตอนนี้ก็เปลี่ยนจากตอนเขียนหนังสือมาเยอะแล้ว และเราก็ชอบคุยกับคนมั้ง รู้สึกชอบไดอะล็อกดีๆ เวลาไปดูงานคนอื่น เราก็ชอบงานที่ไดอะล็อกดีๆ แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องวัยด้วยแหละ พอโตขึ้นเราเริ่มสนใจอย่างอื่นนอกจากความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกหรือเพื่อน เริ่มมองกว้างๆ ในสังคม

    สำหรับเรา ช่วงเวลาสองปีที่เขียนเรื่องความสัมพันธ์ เรารู้สึกว่าเต็มที่กับมัน หมายถึงว่า 2-3 เล่มที่ผ่านมามันเต็มเหนี่ยวแล้ว หลังจากนี้ถ้าจะทำก็มองความสัมพันธ์ที่กว้างขึ้น อย่างเรื่องป้าเราที่เสีย ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เคยเล่ามาก่อน ทุกวันนี้ด้วยสถานการณ์การเมืองสังคม รุ่นเราเป็นรุ่นที่เรียนจบมาสักพัก เริ่มโตและตระหนักกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น เรื่องความเท่าเทียมในหลายๆ ด้าน อย่างเราชอบไปรีเลตกับเรื่อง feminism และ gender รู้สึกว่ามันยังเป็นความสัมพันธ์อยู่ดีแหละ อย่างเรากับสังคม แค่มันกว้างกว่าความสัมพันธ์แบบไพรเวท

อยากให้เล่าถึงความแตกต่างระหว่างการทำงานเขียน ละคร และอินสตอลเลชัน

    งานเขียนถ้าเสร็จจากเราไปแล้วปุ๊บ คนอ่านเขาเป็นคนเติมฉากเติมอะไรเอง บางคนได้กลิ่น ละครก็เหมือนกัน เราว่านักแสดงเติมให้เรา แล้วยิ่งนักแสดงเก่งๆ เขาจะละเอียดมาก ตอนเรียนเขียนบท อาจารย์บอกว่าเราเป็นคนเขียนบท เราควรรู้จักตัวละครของตัวเองดีที่สุด เพื่อเป็นแกนให้นักแสดงและผู้กำกับทำงาน แต่เรารู้สึกว่านักแสดงเป็นคนรู้จักตัวละครดีที่สุด เพราะเราให้คอนเซปต์เขาไปเวิร์กต่อ เราไม่สนิทกับตัวละครเท่านักแสดงด้วยซ้ำ ตัวละครมันไปสิงร่างนักแสดงแล้ว เขาเป็นคนดีไซน์ให้มันมีชีวิต อย่างเวลานักแสดงมาบอกว่าพี่จะทาเล็บนะ เพราะพี่คิดว่าตัวละครนี้ต้องทาเล็บ เรารู้สึกว่าเฮ้ย! เกิดอะไรขึ้น มันเกินกว่าเราแล้ว เขาแนบแน่นกับตัวละครกว่าเราแล้ว เพราะตอนเห็น เราอาจจะเห็นตัวละครทาเล็บ แต่ไม่ได้บังคับเขาให้ทาเล็บ ดังนั้น การที่เขามาเสนอว่าเขาจะทาเล็บสีแดง เพราะตัวละครเป็นคนเปรี้ยว เราว่ามันเวิร์กมาก อันนี้คือที่เขาเติมเต็มให้เรา

    อินสตอลเลชันก็เหมือนกัน เราเป็นคนมีจุดอ่อนเรื่องการมองภาพสามมิติมาก เป็นตั้งแต่ตอนทำฉากในละครแล้ว เราเป็นคนมองไม่เห็นว่ามันจะออกมาจริงๆ ยังไง แต่รู้แค่ว่าเราอยากได้ความรู้สึกประมาณนี้ เห็นไม่ชัด เรื่องโครงสร้างก็ต้องคุยกับน้องที่มาช่วยหรือที่ปรึกษาที่เขาเก่งเรื่องการเห็นภาพสามมิติมากกว่า รวมไปถึงความเนี้ยบของการทำงานของช่างด้วย ช่างทำดีก็ออกมาสวยงาม ซึ่งเราไม่ได้เห็นชัดทั้งหมดหรอก แต่คิดว่าเราไปตามทางนี้แหละ พอมันออกมาแล้วรู้สึกว่ามันเติมเต็มเรา

    ถ้าถามว่าชอบอะไร มันก็คนละอย่าง เราชอบเวลาคนมาบอกว่าเขาอ่านเรื่องสั้นนี้แล้วชอบ เพราะเห็นตัวละครเป็นอย่างนี้ๆ เรารู้สึกว่าบางทีที่เขาชอบเพราะเขาอาจมีส่วนร่วมในการสร้างก็ได้ เขาชอบภาพที่เขาสร้าง อย่างทำงานกับนักแสดงแล้วคนดูบอกว่าชอบตัวละครตัวนี้ๆ จริงๆ มันเป็นเพราะนักแสดงหรือเปล่าที่ทำให้งานเราเวิร์กขึ้นมา อินสตอลเลชันก็เหมือนกัน ถ้าคนชอบก็โอเค มันเป็นแนวคิดเราแหละ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นเพราะช่างเขาทำดี ทีมภาพช่วยเราด้วย เราไม่ได้เห็นชัดขนาดนั้นในตอนแรกหรอก แต่พอมาดูด้วยกันก็รู้สึกว่ามันเวิร์กจริงๆ บางทีก็ทำไปโดยที่ไม่รู้ว่ามันเวิร์ก

กระบวนคิดงานแต่ละประเภทเริ่มจากอะไร คล้ายกันไหม

    ไม่มีแก่นสารอะไรขนาดนั้น ช่วงที่เขียนงาน มันไม่ได้เริ่มต้นจากสำนักพิมพ์มาติดต่อให้เราเขียน มันคือเราสะสมของตัวเองมาระยะหนึ่ง แล้วสำนักพิมพ์มาเลือกว่าเอาเรื่องไหน อย่าง Abstract Bar เรื่องแรกที่เขียน คือเขียนตั้งแต่ช่วงปี 2 อายุ 20 แล้วก็ไหลๆ มา เมื่อก่อนมีอัลบั้มในเฟซบุ๊กที่เราเขียนแล้วลงไว้ แต่ตอนนี้ล็อกแล้วเพราะโดนก๊อป งานก็ตีพิมพ์ออกมาแล้วด้วย เพื่อนๆ ก็โตกันแล้ว เราก็ไม่ได้อ่านอะไรแนวนั้นอีก เมื่อก่อนเขียนเรื่องสั้นเหมือนเป็นสเตตัสในรูปแบบหนึ่ง แต่ว่าสั้นมากๆ ส่วนใหญ่ถ้าคิดอะไรได้จะเขียนเลย

    ละครก็เหมือนกัน แต่ละครมันต้องวางพล็อตเยอะหน่อย ถ้าเป็นงานเขียน เราก็ไหลไปเลย แล้วค่อยกลับมาอ่านและอีดิตบ้าง ช่วงแรกๆ นี่ไม่อีดิตเลย เหมือนเขียนรอบเดียวก็ไม่อ่านอีกแล้ว จบไปเลย ถ้าเป็นละครต้องวางพล็อต ละครเราส่วนใหญ่เกิดจากตัวละคร ที่ผ่านมาเป็นตัวละครกับประเด็นบางอย่าง แล้วแต่ว่าอันไหนมาก่อน อย่างเช่น ถ้าเป็น 'ฝัน-รู้ตัว' (Half-under) ทีสิสจบของเรา ตัวละครมาก่อน มาจากคาแรกเตอร์ คือเราสนใจคนที่ทำตัวอินดี้มากๆ ว่าเขาใช้ชีวิตยังไงวะ บางทีเราไปพวกงานอินดี้กับเพื่อน แต่เราเจอผู้ชายเหล่านี้กับแฟนเขา ซึ่งบางคนแฟนมันดูไม่ได้อิน แต่ก็ต้องมา หรือมีเพื่อนผู้ชายที่ขี่บิ๊กไบค์แล้วต้องให้แฟนซ้อน ซึ่งแฟนไม่ใช่สไตล์แบบที่ขึ้นเขาลงห้วย แต่ก็ต้องไป ผู้หญิงหลายคนเป็นอย่างนั้นเยอะมาก ผู้ชายบางคนก็คงเป็นแหละ แต่เรารู้สึกว่าผู้หญิงมันเยอะกว่า อีกตัวละครหนึ่งที่เป็นนักเขียน มีช่วงหนึ่งที่การเขียนคำคมมันเท่ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่เหมือนดีขึ้นแล้ว เราเลยสนใจว่าคนแบบนี้มันมีแง่มุมอะไรบ้าง เพราะจริงๆ ตัวละครแบบนี้ไม่ได้ไร้สาระขนาดนั้น แม้ภาพดูเป็นอย่างนั้น แต่เรารู้สึกว่าคนแบบนี้ก็น่าสนใจ คนที่เขารู้ตัวว่าแมส และกูทำเพื่อแมส เอามาขัดแย้งกับอีกตัวละครหนึ่ง เป็นคาแรกเตอร์ของสองตัวละครที่ชัดมากๆ อินดี้สุดกับแมสสุด ส่วนผู้หญิงคนนี้อยู่ตรงกลาง ซึ่งเราก็คุยกับเพื่อนและศึกษามา พบว่ามีผู้หญิงหลายคนที่เปลี่ยนตัวเองตามแฟนตลอด ตอนนี้เราเข้าใจแล้วนะว่าทำไม แต่ตอนนั้นเราอยากวิพากษ์วิจารณ์เขาว่าแล้วตัวตนของมึงคืออะไรวะ สมมติว่าแฟนขี่บิ๊กไบค์ กูก็เห็นมึงอินขึ้นเขาลงห้วยอยู่ช่วงหนึ่ง พอเลิกแล้วผู้ชายใหม่ขับรถหรู ก็เปลี่ยนตัว เปลี่ยนชุด เปลี่ยนทุกอย่างให้เข้ากับอีกคนหนึ่ง เป็นการตั้งคำถามว่าตัวตนของเราขึ้นอยู่ที่เราหรือขึ้นอยู่ที่คนใกล้ชิด เหมือนเราอยากเอาใจเขา ก็เลยต้องเป็นแบบที่เขาอยากให้เราเป็น ทั้งที่จริงๆ เราไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก พอเขาหายไปปุ๊บ ก็จะกลับมาเป็นตัวเองอยู่พักหนึ่ง เราพยายามเล่นกับตรงนั้น

    พอ Make Love, Not War มันเป็นประเด็นตรงที่ว่าคนใกล้ชิดเราเคยทำแท้ง แล้วเราไปฟังเพื่อนสปีชที่งานหนึ่ง เป็นงานที่ผู้หญิงหลายๆ คนมาพูดในประเด็นที่เกี่ยวกับผู้หญิง มีคนที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว บางคนเป็นซิงเกิลมัมที่ท้องตั้งแต่วัยเรียน เพื่อนมันก็พูดว่าทำไมคนถึงด่าผู้หญิงว่าแรด ร่าน ทำไมผู้หญิงที่มีพฤติกรรมแบบผู้ชายกลับโดนด่า และมีพี่ที่จบอักษรฯ เป็นอาจารย์ทำเรื่องแก้กรรมทำแท้ง เขาไปสำรวจพวกรายการคนอวดผีที่เหมือนกับเบลมผู้หญิงว่า ชีวิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพราะเธอไปทำแท้งใช่ไหม เรารู้สึกว่าในแง่จิตใจ ผู้หญิงที่เคยทำแท้งจะรู้สึกอย่างนั้น คนใกล้ชิดคนนั้นรู้สึกว่าบางทีสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะเขาเคยทำแท้งหรือเปล่า ทั้งที่ตอนนั้นเขาก็มีสติดีและทำเพราะไม่อยากมีจริงๆ รู้สึกว่าเขาไม่ผิด เลยคิดว่าคนเรายอมรับเคสทำแท้งไหนได้บ้าง ศึกษากฎหมายมาบอกว่าถ้าเกิดเด็กพิการ เด็กเป็นอันตรายต่อครรภ์ เด็กที่มาจากการถูกข่มขืนทำแท้งได้ เราก็คิดว่าอ้าว แล้วถ้ามันมาจากความสัมพันธ์ที่ผิดพลาดหรือไม่ได้ตั้งใจมี เหตุผลมันก็ไม่ได้ในเชิงกฎหมายใช่ไหม หรือแม้แต่คนทั่วๆ ไป ก็ไม่รู้ว่าจะถูกมองด้วยกรอบความเป็นพุทธว่าทำลายชีวิตหรือเปล่า เราเลยคิดว่า ถ้าคนที่สังคมมองว่าเขาพร้อมมากๆ อย่างรวย ดูดี หน้าที่การงานดี แต่เขาไม่อยากมีลูก อยากรู้ว่าคนดูจะจับจ้องเขายังไง ซึ่งมันเอาไปซ้อนทับกับเรื่องอื่นได้ เป็นเรื่องพื้นที่ของผู้หญิงในสังคม เรามีความหวังในสังคมนี้ได้แค่ไหน

    ทั้งสองตัวละครในเรื่องนี้มันมาจากคนรู้จักแค่ผ่านๆ ในอินสตาแกรมที่เราไปติดตามเขา เราแค่อยากรู้ว่าถ้ามันมีคืนหนึ่งของชีวิตคนคู่หนึ่งที่มาเถียงกันว่ากูไม่อยากมีลูก กูอยากทำแท้ง มันจะเป็นยังไง แล้วเลือกนักแสดงที่เก่งให้มาช่วยเติมเต็ม ได้นักแสดงช่วยเยอะเหมือนกัน เพราะว่าเรายังเด็ก แต่แค่มีคอนเซปต์ เรื่องนี้เวิร์กจากประเด็นก่อน เพราะว่าเป็นการทำงานที่มาจาก Proposal

    ส่วน Early Years Project เราต้องส่งไปก่อนว่าอยากทำประเด็นนี้ ด้วยการนำเสนอไอเดียคร่าวๆ อย่างเราก็อธิบายว่าทำเรื่องการสูญเสียที่โยงกับคนที่ถูกอุ้มหาย เวิร์กในวิธีการของละคร มีอินสตอลเลชันด้วย ส่วนใหญ่คือเราสนใจอะไรมากกว่าในช่วงนั้น มันจะมีคนที่ไม่ได้คิดว่าจะเป็นจริงได้ไหมแต่อยากทำประเด็นนี้ แต่เรามาพร้อมกันว่าประเด็นนี้ทำได้ด้วยหรือเปล่า เพราะก็มีเรื่องที่อยากทำแต่ไม่สามารถทำได้ด้วยทุนทรัพย์หรือสภาพสังคม เลยเลือกที่จะพูดในมุมที่พูดได้แล้วมันน่าสนใจที่จะทำ

ทำมาหมดแล้ว ยังมีอะไรที่อยากทำอีกไหม

    ตอนนี้ควรเรียนให้จบปริญญาโทก่อน ส่วนงาน เราอยากทำงานกับนักเต้น คนที่สื่อสารคนละแบบกับเรา เพราะเราเป็นคนทำงานด้วยข้อความและคำพูดตลอด เราอยากคุยกับนักเต้นว่าข้อความของเรามันเวิร์กกับเขายังไง เพราะการเต้นมันทำให้คำพูดออกมาเป็นแอ็บสแตรกต์ แต่จริงๆ เวลาเต้นเขาคงมีคำในใจว่าเขาจะสื่ออะไร และคิดว่าอยากไปเป็นศิลปินในพำนักต่างประเทศ อยากรู้ว่าจะเจออะไรบ้าง แต่ก่อนอื่นขอเรียนให้จบก่อน

Favorite Something
  •   ภาพยนตร์ของ หว่องกาไว, อวสาน…โมเอะ (2015), One Cut of the Dead (2017)
  •   Sam Smith, Troye Sivan, Ariana Grande
  •   กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทชิกิ โอกาดะ
  •   Wong Ping

เดือนเพ็ญ จุ้ยประชา

นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม