Search
Close this search box.

Marcel Breuer
นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ผู้ยิ่งใหญ่และหนึ่งในสถาปนิกคนสำคัญของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น

หากใครหลงรักสไตล์โมเดิร์น และเป็นคอเฟอร์นิเจอร์ Mid-Century Modern รับรองว่าต้องคุ้นหน้าคุ้นตา Wassily Chair หรือ Cesca Chairเก้าอี้โครงเหล็กกลมที่มีพนักพิงจากผ้าแคสวานสุดเรียบง่าย หนึ่งใน 10 เก้าอี้ที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 โดยมีเจ้าของผลงานในตำนานเป็น Marcel Breuer (มาร์เซล บรูเออร์) นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และสถาปนิกชาวฮังกาเรียน ซึ่งไม่ใช่เพียงเก้าอี้ที่โด่งดัง แต่ผลงานสถาปัตยกรรมของเขายังเป็นที่พูดถึงในระดับโลกมาจวบจนปัจจุบัน  พรสวรรค์ที่โดดเด่นทำให้บรูเออร์กลายเป็นสถาปนิกที่ได้รับความนิยมคนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20 และได้รับขนานนามให้เป็น ‘หนึ่งในนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ของวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่’ และ ‘หนึ่งในผู้มีอิทธิพลมากที่สุดของสถาปัตยกรรมรูปแบบสากล (International Style)’

Marcel Breuer (มาร์เซล บรูเออร์) นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และสถาปนิกชาวฮังกาเรียน

Marcel Breuer นักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของ Bauhaus

บ้านเกิดของบรูเออร์เดิมอยู่ที่เมือง Pécs ประเทศฮังการี เมื่ออายุได้ 18 ปี เขาตัดสินใจออกจากบ้านเกิดเพื่อพาตัวเองไปยังสถานที่ใหม่ๆ ที่ทำให้เขาสามารถมีส่วนร่วมกับขบวนการสมัยใหม่ (Modern Movement) ซึ่งเขาได้รับทุนการศึกษาเพื่อเข้าเรียนที่ Academy of Fine Arts ในกรุงเวียนนา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเมืองบ้านเกิดของบุคคลสำคัญมากมายแห่งยุคโมเดิร์นในช่วงเริ่มต้น แต่ทว่า เมื่อเขามาถึง สถานศึกษาอยู่ไกลจากบรรยากาศมีชีวิตชีวาที่เขาคาดหวัง ทฤษฎีน่าเบื่อหน่ายและไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งในเวลาต่อมาบรูเออร์กล่าวถึงช่วงเวลาของเขาในกรุงเวียนนาว่าเป็น “ช่วงเวลาที่ไม่มีความสุขที่สุดในชีวิต”

จนกระทั่ง สิ่งต่างๆ ดูสดใสขึ้นเมื่อเพื่อนคนหนึ่งยื่นโบรชัวร์เล็กๆ ที่มีตราสัญลักษณ์จาก Bauhaus ให้กับเขา บรูเออร์ผู้เคยยุ่งอยู่กับการทำงานให้กับสถาปนิกและช่างทำตู้ในเวียนนาเพื่อให้ตัวเองดูเป็นประโยชน์มากขึ้น จึงไม่รอช้าที่จะเดินทางไปยังประเทศเยอรมันนีเพื่อลงทะเบียนสมัคร บรูเออร์กลายเป็นหนึ่งในนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดของโรงเรียนสอนการออกแบบชื่อดัง ‘Bauhaus’ ซึ่งก่อตั้งโดย Walter Gropius ผลงานของเขามักจะนำหลักการสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมและงานวิจิตรศิลป์ ซึ่งฉายแววและเป็นที่ยอมรับตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียน ชีวิตในรั้ว Bauhaus ของเขาเฉิดฉายและดำเนินรอยตามสถาปนิกคนสำคัญอย่าง Walter Gropius มาติดๆ

‘Neubühl’ housing project, Zurich,1934; chair, desk, chaise longue and shelves, by Marcel Breuer
Whitney Museum of American Art, New York © Photo Ezra Stoller – Esto.
Church of St Francis of Sales, Muskegon, Michigan © Photo Hedrich Blessing

ผู้เชี่ยวชาญงานเฟอร์นิเจอร์ที่หลงใหลในสถาปัตยกรรม

ผลงานของบรูเออร์เป็นต้นแบบงานออกแบบในอุดมคติของ Bauhaus เก้าอี้ B3 (หรือปัจจุบันเรียกว่า Wassily Chair) รุ่นแรก ๆ เกิดขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากแฮนด์จักรยานของเขาเอง ซึ่งเขาทดลองประกอบเก้าอี้ตัวนี้ขึ้นโดยใช้โครงสร้างท่อเหล็กกลมดัดและพัฒนาวิธีการจัดตะเข็บออกจากท่อเหล็ก และสายรัดผ้า (ซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยหนัง) ประกอบเป็นแขน เก้าอี้ พนักพิง และที่นั่งซึ่งได้รับการพัฒนาโดย Margaretha Reichardt นักเรียนช่างทอผ้า เฟอร์นิเจอร์ตัวแรกของโลกที่ใช้กระบวนการผลิตในลักษณะนี้จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ ขึ้นแท่นตำนานของเฟอร์นิเจอร์ที่ยังคงมีให้เห็นมากหลายในปัจจุบัน

B3 Chair หรือปัจจุบันเรียกว่า Wassily Chair (Photo : Knoll.com)

การทดลองของเขากับท่อเหล็กยังคงดำเนินต่อไปในรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ทั้ง สตูล โต๊ะ เก้าอี้พับและเก้าอี้เท้าแขน ซึ่งถึงแม้จะเชี่ยวชาญในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ แต่แท้จริงแล้วบรูเออร์เองหลงใหลในงานสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ต้น แต่น่าเสียดายที่หลักสูตรการเรียนสถาปัตยกรรมรูปแบบใดก็ตามในโรงเรียนไม่ตรงกับจังหวะเวลาในชีวิต ดังนั้นบรูเออร์จึงมาลงเอยที่เวิร์คช็อปวิชาช่างไม้ ก่อนจะสำเร็จการศึกษาในปีค.ศ.1924 และมุ่งหน้าไปยังกรุงปารีส เพื่อศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรม และมีโอกาสได้พบกับสถาปนิกชื่อดังอย่าง Le Corbusier ในช่วงเวลาดังกล่าว

ทางฝั่งของ Bauhaus เอง Gropius ประทับใจผลงานของบรูเออร์มากจนในปี ค.ศ. 1925 เขาเกลี้ยกล่อมบรูเออร์ให้กลับจากปารีสไปยัง Bauhaus แห่งใหม่ในเมือง Dessau โดยเสนอตำแหน่งหัวหน้าเวิร์คชอปงานไม้ให้กับเขา ซึ่งในอีกสองปีต่อมาบรูเออร์มีโอกาสออกแบบตกแต่งภายในให้กับ The Weissenhoff Estate ซึ่งออกแบบโดย Ludwig Mies van der Rohe

บรูเออร์ยังกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อโมเดิร์นเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นไม่ได้ส่งเสริมโดยนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์มืออาชีพ แต่โดยสถาปนิก” การออกแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในในยุคแรกๆ ของเขา จึงได้รับอิทธิพลจากงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของเขามาใช้เป็นอย่างมาก เช่น บ้านเหล็กสำเร็จรูป Small Metal House (Kleinmetallhais) (1925) และ BAMBOS house (1927)

Small Metal House (Kleinmetallhais) (1925)

Small Metal House (Kleinmetallhais) ,1925

ในปีค.ศ. 1925 บรูเออร์ออกแบบที่อยู่อาศัยของครอบครัวเดี่ยว ด้วยระบบโครงสร้างสำเร็จรูปจากส่วนประกอบทางอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน ทั้งงานผนัง หน้าต่าง และแผงประตูสามารถแขวนบนโครงเฟรมโมดูลาร์แบบแยกส่วนได้ ทำให้บ้านสามารถสร้างเสร็จโดยใช้เวลาเพียงสามสัปดาห์เท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจ คือที่อยู่อาศัยสามารถตั้งอยู่เดี่ยวๆ แบบ Stand Alone หรือสามารถนำโครงสร้างมาต่อรวมกันเป็นบ้านแถว โดยบ้านแต่ละหลังจะมีพื้นที่ห้องนั่งเล่นแบบ Double Volume พร้อมห้องนอนชั้นลอยและระเบียงบนดาดฟ้า ซึ่งเป็นบ้านที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันในปัจจุบัน

หนึ่งปีหลังจากการออกแบบบ้าน Small Metal House บรูเออร์พัฒนารูปแบบของบ้านและโครงสร้างเพิ่มเติมอีก 6 รูปแบบ ซึ่งทุกหลังยังคงยึดแนวคิดเดิม กล่าวคือ บ้านจะถูกสร้างขึ้นด้วยแผงมาตรฐานที่แขวนไว้บนโครงสร้างโมดูลาร์แบบแยกส่วน

BAMBOS house (1927)

Marcel Breuer นักเรียนและอาจารย์ของสถาปนิกระดับโลก

น่าเสียดายที่ในช่วงเวลานั้นยังมีโอกาสน้อยที่สถาปัตยกรรมของบรูเออร์จะถูกนำไปสร้างจริง ในปีค.ศ. 1928 ด้วยวัย 26 ปี เขาจึงตัดสินใจลาออกจาก Bauhaus เพื่อไปตั้งสำนักงานสถาปัตยกรรมของตนเองในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี โดยมีค่าใช้จ่ายหล่อเลี้ยงมาจากค่าลิขสิทธิ์ในการขายเก้าอี้  หลังจากนั้นเขาย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง โดยไปร่วมงานที่กรุงลอนดอนกับ Jack Pritchard แห่งบริษัท Isokon ก่อนจะกลับมาร่วมงานกับ Walter Gropius อีกครั้งในบทบาทของการสอนที่ Harvard University ซึ่งนักเรียนของพวกเขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นสถาปนิกชื่อดังระดับโลกอย่าง Philip Johnson, IM Pei และ Paul Rudolph นั่นเอง

ที่ฮาร์วาร์ดโกรเพียสและบรูเออร์ร่วมงานกันอย่างกว้างขวาง ทั้งการออกแบบบ้านของพวกเขาเอง และการได้รับแต่งตั้งให้เป็นสถาปนิก-หัวหน้างานนิทรรศการ Pennsylvania State Exhibition ในงาน New York World’s Fair ปีค.ศ. 1939 ซึ่งงานออกแบบของบรูเออร์ก็เน้นไปที่กล่องสีขาวในสถาปัตยกรรมรูปแบบสากล (International Style) และเผยความสวยงามของงานกระจก โดยอ้างอิงจากระบบที่เขาคิดค้นเมื่อหลายปีก่อนแต่ไม่สามารถสร้างได้ในประเทศเยอรมนี

Harnischmacher House, Wiesbaden, Germany
Marcel Breuer & Walter Gropius, Chamberlain Cottage, Wayland, Massachusetts, 1940. [© Ezra Stoller, ESTO]

สตูดิโอออกแบบของ Marcel Breuer ออกแบบอาคารกว่า 100 หลัง

อย่างไรก็ตาม ผลงานสถาปัตยกรรมของบรูเออร์มาถึงยุครุ่งเรืองเมื่อเขาย้ายไปอยู่นิวยอร์กในปีค.ศ. 1946 ซึ่งงานในยุคนั้นของเขามักจะใช้องค์ประกอบที่ดุดัน แข็งแกร่งอย่างงานคอนกรีตและหิน มีกลิ่นอายของ Brutalist Architecture ที่แสดงออกอย่างชัดเจน ทำให้เส้นทางด้านสถาปัตยกรรมของเขาเป็นที่จดจำมากที่สุดในยุคนี้

โบสถ์ St John’s Abbey, The Metropolitan Museum of Art (ปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Met Breuer) และ The Atlanta-Fulton Central Public Library เป็นเพียงอาคารไม่กี่หลังจากทั้งหมด 100 หลังซึ่งสร้างเสร็จตามแนวทางปฏิบัติของบรูเออร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

Breuer House I (1948)

Breuer House I (1948)
New Canaan, Connecticut, USA

ในช่วงหลังสงคราม สถาปนิกของ Harvard Five ได้เปลี่ยนชานเมืองคอนเนตทิคัตให้กลายเป็นพื้นที่ทดลองสไตล์ Modernist โดยแสดงออกให้เห็นถึงความเจริญด้านการก่อสร้าง ผลงานออกแบบบ้านหลังนี้ของบรูเออร์จึงผลักดันขอบเขตของการก่อสร้างไปมากกว่าที่เคยเป็น โดยอยู่ในลักษณะคานยื่น (Cantilevered Construction) อย่างแท้จริง โดยสิ่งที่บรูเออร์ทำคือการสร้างพื้นที่คล้ายชั้นใต้ดินเล็กๆ ในระดับเหนือพื้นดิน พร้อมสร้างสมดุลด้วยการออกแบบบ้านขนาดหนึ่งชั้นเต็มซ้อนทับเข้าไปอีกหนึ่งเลเยอร์

ภายหลังเขาเริ่มมีชื่อเสียง และได้มีโอกาสสร้างบ้านหลังที่สองใน New Canaan แบบจำลองที่เขาสร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงในสวนถัดจาก The Museum of Modern Art เป็นหนึ่งในงานแสดงทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมและมีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20

Church at St. John's Abbey (1961) Photographs: Flickr user: rburzel

Church at St. John’s Abbey (1961)
Collegeville, Minnesota, USA

กล่าวได้ว่า โบสถ์ Saint John’s Abbey คือหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่เป็นรูปธรรม และเป็นก้าวสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมทางศาสนาสมัยใหม่ในสหรัฐอเมริกา โดยสถาปัตยกรรมถูกออกแบบให้เป็นอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่หล่อในที่ โครงสร้างหลักคล้ายลำต้นขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ค้ำยันเพดานและหอระฆังที่โดดเด่น บรูเออร์ตั้งใจสร้างการแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างที่พักอาศัยของสงฆ์และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา ในขณะที่พื้นที่ทั้งสองเชื่อมต่อกันด้วยโครงสร้างที่มีร่วมกันอย่างโบสถ์ หอประชุม ห้องสมุด และอาคารบริหาร

แผนผังพื้นที่ใช้งานหลักสะท้อนแนวคิดพื้นฐานของพิธีกรรมทางศาสนา กล่าวคือ ผู้คนสามารถเข้าถึงโบสถ์ได้ผ่านประตูกลาง ก่อนจะพบกับทางเดินตรงกลางที่นำไปสู่แท่นบูชาและที่นั่งของเจ้าอาวาส รายล้อมไปด้วยที่ตั้งของคณะนักร้องประสานเสียงขนาดใหญ่

Atlanta Central Library (Photo : http://www.fulcolibrary.org)

Atlanta Central Library (1980)
Atlanta, Georgia, USA

หลังจากที่เขาเริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจ หอสมุดกลางแอตแลนตาเป็นโครงสร้างสุดท้ายที่บรูเออร์ออกแบบ อาคารแห่งนี้เป็นวิวัฒนาการของรูปแบบและรูปร่างที่เขาเคยใช้ในการออกแบบ Whitney Museum of American Art ในปีค.ศ. 1966 โครงสร้างคล้ายประติมากรรมของลูกบาศก์มุมฉาก กลายเป็นรูปทรงที่ดูโปร่งสบายเมื่อรวมกับมวลคอนกรีตจำนวนมาก ทำให้ Barry Bergdoll หัวหน้าภัณฑารักษ์ด้านสถาปัตยกรรมที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่กล่าวถึงการก่อสร้างนี้ว่าเป็น “the invention of heavy lightness (การประดิษฐ์อาคารน้ำหนักเบา)”

Atlanta Central Library (Photographs by Jonathan Phillips)

บรูเออร์เสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1981 ที่เมืองแมนฮัตตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ร่างกายจะล่วงลับ แต่เขายังคงฝากจิตวิญญาณและแนวคิดเอาไว้ให้สถาปนิกรุ่นหลัง เป็นหนึ่งในต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมโมเดิร์น และสถาปัตยกรรมรูปแบบสากลที่ยังคงความคลาสสิคมาจวบจนปัจจุบัน  ”อาคารไม่ควรแสดงออกด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัว แต่ควรจะสะท้อนถึงคุณภาพโดยรวมที่คงทน สถาปัตยกรรมที่ดีควรยึดติดกับประโยชน์ใช้สอย มีทัศนคติที่ตรงไปตรงมาและรับผิดชอบต่อสังคม”- Marcel Breuer

Marcel Breuer (มาร์เซล บรูเออร์)
Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading