OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

กว่าจะออกมาเป็นสถาปัตยกรรม 1 งาน มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ?

อย่างที่เรารู้กันว่า กว่าจะออกมาเป็นผลงานสถาปัตยกรรมสักหนึ่งงาน ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีๆ ในการก่อสร้างแล้ว ยังต้องอาศัยองค์ประกอบ ความรู้ ความชำนาญจากหลายบุคคล หลายสายอาชีพมาประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งแต่ละบุคคลก็ล้วนมีความสำคัญในลักษณะของงานที่แตกต่างกันออกไป วันนี้เราจึงชวนมาดูกันว่า ในแต่ละขั้นตอนกว่าจะออกมาเป็นสถาปัตยกรรมสักหนึ่งงานนั้น จะมีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ?


ผู้ใช้อาคาร Users

ในการใช้งานอาคารหรือสถาปัตยกรรมสักหนึ่งงาน ‘ผู้ใช้งาน (Users)’ ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญมากๆ เพราะถึงแม้จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบหรือก่อสร้างโดยตรง แต่ผู้ใช้งานถือเป็นกลุ่มคนที่ทุกฝ่ายมักจะต้องคำนึงถึง อย่างเช่น สถาปนิกผู้ทำหน้าที่ออกแบบการใช้งานให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ช่างก่อสร้างหรือผู้รับเหมาที่ต้องทำงานก่อสร้าง คุมงานให้อาคารออกมาปลอดภัยต่อการใช้งาน

ผู้ใช้งานในที่นี้ อาจไม่ได้หมายถึงกลุ่มผู้ใช้งานอาคารโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ออกแบบจำเป็นต้องคำนึงผู้ที่อยู่โดยรอบ บริบทหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอาคารนั้นๆ ด้วย

ซึ่งนอกจากผู้ใช้งานจะถูกคำนึงถึงในทุกๆ ขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหรือก่อสร้างแล้ว หลังจากสถาปัตยกรรมชิ้นนั้นเสร็จสมบูรณ์ การใช้งานจริงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ใช้งาน ยังถือเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่า ผลงานสถาปัตยกรรมเหล่านั้นประสบความสำเร็จตามที่ทุกฝ่ายตั้งใจไว้หรือไม่

เจ้าของโครงการ Owner

หากพูดถึงจุดเริ่มต้นของสถาปัตยกรรม ก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจากเจ้าของโครงการ ด้วยบทบาทของลูกค้าที่มักจะมาพร้อมกับโจทย์และความต้องการหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น ออกแบบบ้านที่เปิดโล่งมากที่สุด ออกแบบห้องสมุดสำหรับเด็ก หรือทำอย่างไรให้อาคารเก่าทรุดโทรมดูโมเดิร์นและทันสมัยมากที่สุด หลังจากนั้นความต้องการหรือคำถามเหล่านี้จะถูกส่งต่อสู่สถาปนิก เพื่อออกแบบ แก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับการใช้งานต่อไป ในบางครั้ง คงพูดได้ว่ารูปร่างหน้าตาของสถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ฟังก์ชันการใช้งานในเบื้องต้น เจ้าของโครงการถือว่ามีส่วนไม่น้อยทีเดียว

สถาปนิก Architect

หลังจากได้ความต้องการเบื้องต้นจากเจ้าของโครงการ สถาปนิกจึงเข้ามารับหน้าที่ออกแบบภาพรวมของอาคาร ฟังก์ชันภายในและพื้นที่ทั้งหมด ให้ตรงตามความต้องการโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยไปพร้อมๆ กับสร้างสรรค์อาคารให้มีความโดดเด่น สวยงาม ตามความเหมาะสมของบริบทและถูกใจเจ้าของไปพร้อมๆ กัน

การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี ไม่ได้สร้างเพียงความสวยงามให้เป็นที่น่าจดจำเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งาน ผู้อยู่อาศัย ให้ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ รวมถึงส่งผลต่อเมืองในวงกว้าง จึงไม่น่าแปลกใจที่สถาปัตยกรรมจะกลายเป็นศาสตร์อีกหนึ่งแขนงที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้นได้

นักออกแบบภายใน Interior Designer

เมื่อสถาปนิกออกแบบภาพรวมของอาคารภายนอกรวมถึงขอบเขตของสเปซภายในแล้ว อินทีเรียดีไซน์เนอร์จึงเข้ามาเติมเต็มอาคารให้สมบูรณ์พร้อมใช้งาน ด้วยการออกแบบตกแต่งสเปซภายในทั้งหมดให้มีความสวยงาม ตรงแนวคิดภาพรวมของโครงการ เหมาะสมกับฟังก์ชันการใช้สเปซนั้นๆ รวมถึงกำหนดมู้ดแอนด์โทนให้พื้นที่มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งงานออกแบบภายในถือเป็นสเกลการออกแบบที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับผู้ใช้งานโดยตรง ทำให้ต้องอาศัยสกิลความละเอียดอ่อนของอินทีเรียดีไซน์เนอร์มาสร้างบรรยากาศภายในให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ

ภูมิสถาปนิก Landscape Designer

นอกจาก Exterior และ Interior ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาปนิกและนักออกแบบภายใน ภูมิทัศน์โดยรอบยังถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้อาคารมีความสมบูรณ์ และในบางครั้งยังสร้างชีวิตชีวา ลดความแข็งกระด้างของวัสดุหรือลักษณะอาคารลง ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเป็นมิตรกับพื้นที่ได้มากขึ้น

การออกแบบภูมิทัศน์ รับหน้าที่โดยภูมิสถาปนิก ผู้นำธรรมชาติและสถาปัตยกรรมเข้ามาผสมผสานกันอย่างลงตัว โดยออกแบบพื้นที่ภายนอกที่นอกเหนือจากขอบเขตของอาคารทั้งหมด สร้างบรรยากาศให้มีความสวยงาม ร่มรื่น สร้างภาวะน่าสบายให้การใช้งานอาคารได้มากขึ้น รวมถึงออกแบบระบบและฟังก์ชันภายนอก เพื่อส่งเสริมให้การใช้งานอาคารเป็นไปอย่างสะดวก สบายมากที่สุด อย่างเช่น ระบบระบายน้ำ ไฟส่องสว่างภายนอก เป็นต้น

นักออกแบบแสงสว่าง Lighting Designer

แน่นอนว่าการใช้งานอาคารในเวลากลางคืนจำเป็นต้องมีการใช้แสงสว่าง ซึ่งแสงไฟจะโดดเด่นและช่วยทำให้สเปซนั้นๆ ดูสวยงาม มีมิติ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมบางโครงการจึงต้องอาศัยนักออกแบบแสงสว่าง (Lighting Designer) เพื่อออกแบบไฟในส่วนต่างๆ โดยสะท้อนแนวคิดหลักของอาคาร ผสานความสวยงามและฟังก์ชันให้ไปด้วยกันอย่างลงตัว ทำให้ภาพรวมของอาคารดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน และโดดเด่นเป็นที่น่าจดจำของคนที่ผ่านไปผ่านมา แต่สำหรับบางโครงการที่ไม่ได้มีสเกลงานใหญ่มาก อินทีเรียดีไซน์เนอร์อาจจะเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้แทน

นักออกแบบโครงสร้างและงานระบบ Engineering Design

นอกจากกลุ่มดีไซน์เนอร์ที่ออกแบบความสวยงามและการใช้งานแล้ว ในบางโครงการที่มีสเกลงานใหญ่ยังต้องอาศัยฝ่ายออกแบบโครงสร้าง หรือวิศวกรเข้ามาช่วยตรวจดูโครงสร้าง เพื่อให้การอยู่อาศัยหรือการใช้งานภายในอาคารปลอดภัย และไม่เกิดอันตรายในภายหลัง ซึ่งไม่เพียงแต่โครงสร้างภาพรวม แต่อาคารที่พร้อมใช้งานได้สมบูรณ์ต้องมีการออกแบบงานระบบสุขาภิบาล ระบบประปาและไฟฟ้าต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานได้จริง

ช่างเขียนแบบ Draftman

ก่อนจะไปสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างจริงเราจำเป็นต้องมีแบบก่อสร้างขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของดราฟแมนหรือช่างเขียนแบบ ที่ต้องทำหน้าที่เปลี่ยนเส้นสายการออกแบบของสถาปนิกให้เป็นแบบก่อสร้างที่มีระยะ รายละเอียดถูกต้องตามกฏหมายพร้อมสู่การก่อสร้าง เรียกได้ว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยความละเอียดค่อนข้างมาก ไม่อย่างนั้นข้อผิดพลาดที่เกิดจากจุดเล็กๆ อาจส่งผลต่อการก่อสร้าง ความปลอดภัยของการใช้งาน และส่งผลเสียขนาดใหญ่ตามมาได้

ผู้รับเหมา Contractor

สำหรับขั้นตอนของการก่อสร้างอาคาร เราจำเป็นต้องมีผู้รับเหมามาเป็นคนควบคุมการทำงานของช่างให้ถูกต้องตามแบบก่อสร้างที่สถาปนิกออกแบบไว้ ซึ่งถ้าพูดง่ายๆ ผู้รับเหมาเปรียบเสมือนคนกลางระหว่างดีไซน์เนอร์และช่างก่อสร้าง ที่จะควบคุมให้งานสถาปัตยกรรมที่กำลังสร้างขึ้นนั้น สวยงามตามแบบและปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยอาจจะต้องมีการแก้ไขแบบและคุยกันระหว่างสถาปนิก ผู้รับเหมา และเจ้าของโครงการ โดยเน้นการทำที่หน้างานเป็นหลัก

แต่สำหรับโครงการใหญ่ๆ อย่างอาคารสูง อาจจะมี CM (Construction Manager) เข้ามาเป็นคนควบคุมงานก่อสร้างให้ลงตัวเป็นไปตามต้นทุนการก่อสร้าง ระยะเวลาที่กำหนด หรือตรงตามแบบก่อสร้าง เพื่อให้ภาพรวมการก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีปัญหาหน้างานน้อยที่สุด

ช่างก่อสร้าง Builder

อีกหนึ่งกลุ่มคนที่จะขาดไม่ได้ในการก่อสร้างอาคาร หรือเรียกได้ว่าเป็นหน่วยย่อยของผู้รับเหมา คือ ช่างก่อสร้าง ซึ่งมักจะมีความถนัดในงานแต่ละส่วนที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นช่างก่อ ช่างฉาบ ช่างปูกระเบื้อง หรือช่างเหล็ก การก่อสร้างในบางจุดที่มีรายละเอียดมากๆ จึงต้องอาศัยสกิลความชำนาญของช่างแขนงนั้นๆ เพื่อให้การก่อสร้างออกมาลุล่วง สวยงาม ตามที่ถูกออกแบบไว้

ซินแส Feng Shui Master

นอกจากเรื่องความสวยงาม และโครงสร้าง ศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่คนไทยมักให้ความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ ความเชื่อ ซินแสจึงเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ เพื่อให้การออกแบบอาคารเป็นไปตามหลักฮวงจุ้ย ส่งเสริมกันทั้งความเป็นเหตุเป็นผลของการออกแบบและหลักความเชื่อที่สร้างความสบายใจให้ทั้งเจ้าของโครงการ ผู้อยู่อาศัยไปพร้อมๆ กัน

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading