OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

รู้ไว้ (ก็ดี) ก่อนทำสระว่ายน้ำ

ปัจุบันสระว่ายน้ำดูจะได้รับความสนใจจากเจ้าของบ้านหลายๆท่านกันมากขึ้น เพราะนอกจากเราจะใช้เป็นที่ออกกำลังกายดับร้อนให้กับสมาชิกในบ้านแล้ว สระว่ายน้ำยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศให้บ้านและสวนดูสวยงามและโดดเด่นมากขึ้น ประกอบกับทุกวันนี้ค่าก่อสร้างสระว่ายน้ำมีราคาถูกและสามารถดูแลรักษาง่ายกว่าในสมัยก่อนมาก สำหรับคนที่อยากมีสระว่ายน้ำ ต้องคิดถึงอะไรบ้าง ไปดูกันครับ

เช็คก่อนสร้าง

สิ่งแรกที่ต้องทำสำหรับผู้ที่อยากจะได้สระว่ายน้ำในบ้านก็คือ หันไปสำรวจดูบริเวณรอบๆบ้านของเราว่ามีพื้นที่กว้างพอที่จะทำสระว่ายน้ำได้หรือเปล่า ปัจจุบันบ้านขนาด 50 ตารางวา ก็สามารถทำสระว่ายน้ำในบ้านได้แล้ว แม้สระว่ายน้ำไม่จำเป็นจะต้องมีขนาดใหญ่มาก แต่ก็ไม่ควรจะมีขนาดเล็กมากจนเกินไป เพราะสระว่ายน้ำที่เราอยากได้อาจกลายเป็นแค่บ่อแช่น้ำได้ สระควรมียาวมากพอสำหรับการว่ายออกกำลังกาย และไม่แคบเกินไปจนมือของเราต้องเสี่ยงกับการฟาดกับขอบสระเวลาว่ายน้ำ

สำหรับบ้านสร้างใหม่นั้นอาจมีข้อได้เปรียบกว่าบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว ตรงที่สามารถเลือกทำสระว่ายน้ำให้อยู่ติดกับตัวบ้านได้เลย แต่เราก็ควรจะปรึกษากับสถาปนิกตั้งแต่ช่วงแรกของการออกแบบบ้าน เพื่อที่จะได้เตรียมโครงสร้างรองรับสระว่ายน้ำไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ และจะได้วางแผนเลือกรูปแบบสระให้มีความกลมกลืนเป็นส่วนเดียวกับสไตล์ของบ้านด้วย

Tips

  • สระที่อยู่ติดกับบ้านอาจช่วยเพิ่มบรรยากาศภายในบ้าน และสามารถใช้งานได้สะดวกมากกว่าสระที่สร้างห่างจากตัวบ้าน แต่ก็ต้องระวังเรื่องน้ำกระเด็นเข้ามาทำความเสียหายพื้นภายในบ้านด้วย พื้นห้องที่อยู่ติดกับสระว่ายน้ำจึงควรเลือกเป็นวัสดุปิดผิวที่ทนน้ำได้ดีและกันลื่นด้วย
  • สระว่ายน้ำที่อยู่ติดตัวบ้านจะต้องใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยมากกว่าสระที่สร้างห่างจากตัวบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็กควรจะออกแบบราวกั้นกันตกด้วย
  • ความลึกของสระว่ายน้ำขึ้นอยู่กับส่วนสูงของเจ้าของบ้าน และลักษณะการใช้งานเป็นหลัก สำหรับสระที่ไม่ได้ติดสปริงบอร์ดโดยเฉลี่ยสำหรับคนไทยจะสูงประมาณ 1.20-1.30 ซึ่งระดับของผิวน้ำจะสูงระดับเดียวกับหน้าอกของผู้ใช้
  • ขนาดสระว่ายน้ำควรให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับปริมาณผู้ใช้งานหรือสมาชิกในบ้านแต่ละหลังด้วย
  • สำหรับท่านที่อยากได้สระว่ายน้ำแต่มีปัญหาเรื่องมีพื้นที่ในบ้านน้อย อาจเลือกทำเป็นสระขนาดเล็กแล้วติดเครื่องเจ็ทสำหรับว่ายทวนน้ำอยู่กับที่แทนก็ได้
  • เราอาจติดตั้งระบบผ้าใบที่สามารเลื่อนปิดผิวสระน้ำ (อาจเลื่อนด้วยตัวเองหรือใช้เครื่องกลก็ได้) เพื่อป้องกันกันเศษฝุ่นและเศษใบไม้หล่นปลิวลงไปในสระ อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันอันตรายให้สมาชิกในบ้านได้ในระดับหนึ่งด้วย

 

โครงสร้างสระว่ายน้ำ

เราสามารถแบ่งตามวิธีก่อสร้างได้เป็น 2 ประเภท คือ

สระว่ายน้ำคอนกรีต ที่ใช้โครงสร้างพื้นและผนังสระเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ข้อดีของโครงสร้างชนิดนี้ คือ มีความแข็งแรงทนทาน และสามารถออกแบบรูปทรงได้หลายหลาย

สระว่ายน้ำสำเร็จรูป เป็นสระว่ายน้ำที่ผลิตจากวัสดุประเภทโพลิเมอร์สำเร็จมาจากโรงงาน แล้วนำติดตั้งบนโครงสร้างรองรับสระที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กในพื้นที่ที่เราเตรียมไว้

สระว่ายน้ำสำเร็จรูปอีกชนิดหนึ่งคือ สระที่ทำขึ้นจากโครงสร้างเหล็กหรือพลาสติกหล่อคุณภาพดี แล้วปูด้วยผ้าไวนิลที่ผลิตขึ้นมาสำหรับงานสระว่ายน้ำโดยเฉพาะ และใช้แรงดันน้ำเป็นตัวเป็นตัวบังคับให้ผ้าไวนิลติดแนบกับโครงพื้นและผนังที่เตรียมไว้ สำหรับสระว่ายน้ำสำเร็จรูปนั้นอาจมีข้อจำกัดเรื่องรูปทรงที่ไม่หลากหลายนัก เพราะผลิตตามแบบมาตรฐานของโรงงาน แต่จะมีราคาถูกและสร้างได้รวดเร็วกว่าสระว่ายน้ำโครงสร้างคอนกรีต อีกทั้งสระสำเร็จรูปที่ผลิตด้วยไวนิลจะต้องมีการเปลี่ยนผ้าไวนิลทุกๆ 10 ปี

Tips

  • โดยเฉลี่ยแล้วราคาค่าก่อสร้างสระว่ายน้ำสำเร็จรูปจะมีราคาถูกกว่าสระว่ายน้ำคอนกรีตประมาณ 10 % แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพหน้างาน และความยากง่ายในการเข้าถึงพื้นที่ก่อสร้างสระว่ายน้ำด้วย สำหรับสระว่ายน้ำคอนกรีตที่มีความลึกประมาณ 1.20 เมตร ปูผิวกระเบื้องโมเสก ราคาค่าก่อสร้างจะประมาณ 20,000 –25,000 บาทต่อตารางเมตร

ระบบสระว่ายน้ำ

ปัจจุบันระบบสระว่ายน้ำที่นิยมใช้กันมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ระบบ Skimmer และ ระบบ Over Flow (ระบบน้ำล้น)

ทั้ง2 ระบบนี้มีการทำงานต่างกันตรงที่ระบบ Over Flow (ระบบน้ำล้น) จะนำน้ำไปบำบัด โดยการให้น้ำในสระล้นออกมายังรางน้ำล้นข้างสระ แล้วนำน้ำที่ล้นออกมาไปพักไว้ที่ถังพักน้ำ (Surge Tank) ก่อนจะปั๊มน้ำไปผ่านเครื่องกรองน้ำในห้องเครื่อง ทำให้ผิวสระว่ายน้ำที่ใช้ระบบนี้ดูตึงสวย เพราะอยู่ระดับเดียวกับพื้นรอบสระ แต่ก็จะมีสามารถมองเห็นรางน้ำล้นที่ดูคล้ายกับท่อระบายน้ำรอบสระด้วย

ในขณะที่ระบบ Skimmer นั้นจะนำน้ำไปบำบัด โดยผ่านช่องที่ด้านข้างของผนังสระ ทำให้ผิวน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นรอบสระประมาณ 4-10 เซนติเมตร ระบบนี้ไม่ต้องมีถังพักน้ำ (Surge Tank) ทำให้เราประหยัดน้ำ และราคาค่าก่อสร้างของระบบ Skimmer ก็ประหยัดกว่าระบบ Over Flow

Tips

  • ห้องเครื่องสำหรับเก็บปั๊มและเครื่องกรองน้ำควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 2.00 x 3.00 เมตร สูง 2.50 เมตร และห่างจากสระว่ายน้ำไม่เกิน 15 เมตร

ระบบบำบัดน้ำ

ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำในสระที่นิยมใช้มีอยู่ 3 ระบบ คือ

ระบบคลอรีน ซึ่งเป็นระบบฆ่าเชื้อโรคที่มีคาราถูก และนิยมใช้กันมากที่สุด อยู่ในรูปของเหลว เม็ด และผงคลอรีน วิธีใช้คือค่อยๆละลายลงในสระว่ายน้ำ แต่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ เมื่อค่า pH ในน้ำอยู่ระหว่าง 7.2 – 7.8 หากค่า pH สูงหรือน้ำในสระมีค่าความเป็นด่างมากก็จะต้องเติมกรดลงไปก่อน และถ้าน้ำในสระมีค่า pH ต่ำหรือมีค่าความเป็นกรดสูง ก็จะต้องเติมสารที่เป็นด่างจำพวก Buffer  หรือ Soda ash เพื่อปรับค่า pH ในน้ำก่อน ซึ่งสารคลอรีนนั้นอาจมีผลทำให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนังได้ ดังนั้นการระลายคลอรีนจึงควรทำในช่วงเย็นหลังจากที่ใช้สระเสร็จแล้ว และจะต้องเปิดเครื่องกรองทิ้งอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงด้วย

ระบบน้ำเกลือ เป็นระบบที่ฆ่าเชื้อโรคด้วยเกลือ เป็นระบบที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุภาพ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวหนังได้ด้วย แต่มีราคาติดตั้งค่อนข้างสูง  และมีความเป็นด่างทำให้น้ำในสระมีรสกร่อยเล็กน้อย

ระบบโอโซน เป็นระบบที่ฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ด้วยการผลิตก๊าซโอโซนจากเครื่องอัดอากาศมาบำบัดน้ำในสระโดยตรง เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะไม่มีสารตกค้างในน้ำ แต่ระบบนี้จะมีระยะเวลาในการฆ่าเชื้อโรคที่สั้นกว่าระบบอื่น และมีราคาค่าติดตั้งที่แพง

ข้อมูลค่าติดตั้งและบำรุงรักษาสระว่ายน้ำจาก บริษัทออกแบบสระว่ายาน้ำ PAT

 

รูปทรงสระ

รูปทรงของสระว่ายน้ำแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ รูปทรงเรขาคณิต และรูปทรงอิสระ  การเลือกรูปทรงสระว่ายน้ำนั้นไม่มีข้อกำหนดหรือกฎหมายบังคับครับ ขึ้นอยู่ความชอบส่วนบุคคล และคอนเซ็ปของผู้ออกแบบกับความต้องการของเจ้าของบ้านเป็นสำคัญ รูปทรงสระว่ายน้ำที่ดีควรจะดูกลมกลืนและช่วยเสริมสไตล์บ้านให้โดดเด่นมากขึ้น เช่น  สระว่ายน้ำรูปทรงเรียบๆที่ให้ความรู้สึกเรียบง่าย สงบ เท่ห์ ก็จะเหมาะกับฟอร์มของบ้านสไตล์มินิมัลหรือบ้านสไตล์โมเดิร์น ส่วนสระรูปทรงอิสระก็จะเหมาะกับบ้านที่ต้องการความรู้สึกผ่อนคลายหรือไม่เป็นทางการมากนัก อย่างเช่น บ้านสไตล์ทรอปิคัล บ้านสไตล์เรโทรยุค 50-60 แต่อย่างไรก็ดีเราไม่ควรออกแบบให้รูปทรงสระมีซอกมุมมากหรือพิสดารจนเกินไป เพราะอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการปูกระเบื้องพื้นและผนังของสระว่ายน้ำ และการทำความสะอาดได้ครับ

การเลือกตำแหน่งสระว่ายน้ำ

สระว่ายน้ำนั้นนอกจากจะใช้เพื่อการออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศให้บ้าน  ดังนั้นตำแหน่งของสระว่ายน้ำจึงควรอยู่ในที่สามารถมองเห็นได้จากห้องที่เราใช้เป็นประจำ เช่น ห้องพักผ่อน ห้องนั่งเล่น หรือห้องอ่านหนังสือ และไม่ควรหันด้านสั้นของสระไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก เพราะแสงจากดวงอาทิตย์อาจส่องรบกวนขณะที่เรากำลังว่ายน้ำได้ อีกทั้งสระว่ายน้ำที่อยู่ใกล้กับบ้านมากๆ ควรออกแบบให้อยู่ในด้านทิศเหนือหรือตะวันออกของตัวบ้าน เพื่อให้ร่มเงาของตัวอาคารช่วยป้องกันไม่ให้แสงแดดสะท้อนผิวน้ำเข้าไปรบกวนภายในบ้านได้

ผิวสระว่ายน้ำ

กระเบื้องที่นิยมใช้ปิดผิวสระว่ายน้ำมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ กระเบื้องโมเสกสีต่างๆ เพราะเป็นกระเบื้องที่มีขนาดเล็ก ละเอียด และสามารถเลือกไล่โทนสีของกระเบื้องได้หลากหลาย แต่กระเบื้องชนิดนี้ก็มีข้อเสียที่มีรอยยาแนวมาก ซึ่งรอยต่อเหล่านี้เป็นจุดสะสมคราบสกปรกได้ง่ายด้วยเช่นกัน

นอกจากกระเบื้องชนิดต่างๆแล้ว การทำผิวสระว่ายน้ำเป็นผิวคอนกรีตขัดมันผสมสีก็ดูจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมทำกันมาก โดยเฉพาะสระว่ายน้ำในโรงแรม และรีสอร์ทที่สร้างใหม่หลายๆแห่ง เพราะพื้นลักษณะนี้จะทำสระว่ายน้ำดูมีความต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกันทั้งสระ อีกทั้งเราสามารถเลือกสีสันได้ตามความต้องการ  ข้อเสียของพื้นคอนกรีตขัดมันผสมสีก็คือ มีโอกาสการรั่วซึมของน้ำได้มากกว่าพื้นสระที่ปูด้วยกระเบื้อง

Tips

  • สีกระเบื้องที่ช่วยให้สระว่ายน้ำดูเป็นธรรมชาติได้แก่ สีฟ้า สีเทอคอยซ์ หรือสีเขียวแบบสีน้ำทะเล ส่วนกระเบื้องสีเข้มอย่าง สีดำ สีน้ำเงินเข้ม จะทำให้เรารู้สึกว่าสระว่ายน้ำดูลึกและมีมิติมากกว่า อีกทั้งยังเป็นสีที่สามารถทำให้ผิวน้ำในสระสะท้อนเงาของตัวบ้านได้ชัดเจนด้วย

 

การสร้างร่มเงาให้สระ

การสร้างร่มเงาให้สระว่ายน้ำ เพื่อให้เราสามารถว่ายน้ำเล่นได้อย่างเย็นใจ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแสงยูวีจากแสงแดดเป็นอีกข้อที่เราควรจะคำนึงถึงในการออกแบบสระว่ายน้ำด้วย  สำหรับการสร้างร่มเงาให้สระว่ายน้ำนั้นเราสามารถทำหลายวิธีด้วยกันครับ เช่น การออกแบบให้ตัวบ้านช่วยบังแดดให้สระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีและประหยัดมากที่สุด

การปลูกต้นไม้สร้างร่มเงา ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะช่วยบังแดดให้สระแล้ว ยังช่วยเพิ่มบรรยากาศความเป็นธรรมชาติให้กับสระว่ายน้ำด้วย แต่ต้นไม้ที่เลือกมาปลูกนั้นควรจะใช้ต้นไม้ชนิดไม่ผลัดใบหรือออกผล เพราะอาจทำให้พื้นรอบๆและน้ำในสระสกปรกได้ง่าย อีกทั้งควรจะเป็นต้นไม้ที่มีระบบรากไม่ชอนไชและแผ่วงกว้างด้วย เพื่อไม่ให้รากไปทำลายโครงสร้างสระว่ายน้ำเสียหาย

ทำหลังคาให้สระว่ายน้ำ อาจเป็นโครงหลังคาที่สามารถกันแดดกันฝนแบบถาวรเลย หรืออาจทำแค่สลิงผ้าใบบังแดดที่สามารถเลื่อนเก็บก็ได้ ทั้งนี้โครงสร้างคลังคาควรจะส่งเสริมและดูกลมกลืนกับสไตล์ของบ้านด้วย

การดูแลรักษาสระว่ายน้ำ

ก่อนสร้างสระว่านน้ำเราควรชั่งใจตัวเองให้ดีก่อน เพราะสระว่ายน้ำจะต้องมีเรื่องของการบำรุงรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยาก  ต้องหมั่นเก็บเศษใบไม้ที่อยู่ในสระ และรางน้ำล้นขอบสระ และการดูดตะกอนใต้สระว่ายน้ำทุกๆวัน รวมไปถึงการตรวจเช็คค่า pH ในน้ำ และการทำงานของเครื่องกรองให้อยู่ในสภาพดีเสมอๆ เพื่อให้น้ำในสระว่ายน้ำของเราดูใสสะอาดน่าใช้   แต่หากใครที่ต้องการจะลดภาระยุ่งยากในการดูแลรักษาสระ ก่อนตัดสินใจสร้างสระว่ายน้ำก็ควรเลือกบริษัทที่มีบริการหลังการขายที่ดีด้วยครับ

 

ขอบคุณภาพจาก Pinterest.com

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading