ผื่นผ้าอ้อม
20 ธันวาคม 2564

        ผื่นผ้าอ้อม (diaper dermatitis / diaper rash หรือ napkin dermatitis) เป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่พบบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนมากเกิดจากการระคายเคืองบริเวณผิวสัมผัส ความอับชื้นและเสียดสีจากการสวมใส่ผ้าอ้อม โดยมีปัจจัยกระตุ้นสำคัญคือ อุจจาระ ปัสสาวะ และสารที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง

อาการ

มักพบเป็นผื่นสีแดงจัด เป็นปื้น ๆ เห็นขอบเขตของผื่นชัดเจน พบตามบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อม มักไม่พบบริเวณซอกพับ มีอาการเจ็บหรือคันเมื่อมีการสัมผัสโดน หากผื่นไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือผื่นเป็นอยู่นาน อาจพบการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

การรักษา

กรณีมีผื่นเล็กน้อยควรทาโลชั่นหรือครีมเคลือบผิวที่มีส่วนประกอบของ zinc oxide, titanium dioxide,  dexpanthenol  หรือ petrolatum เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสปัสสาวะอุจจาระโดยตรง โดยแนะนำให้ทาบ่อย ๆ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ้าอ้อม หากผื่นอักเสบปานกลางและรุนแรง อาจพิจารณาใช้ยาทาสเตียรอยด์ชนิดอ่อน ๆ เช่น 1% hydrocortisone ทาวันละ 1-2 ครั้ง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ การใช้ยาสเตียรอยด์แม้จะเป็นชนิดอ่อนในเด็กเล็ก อาจมีความเสี่ยงในการที่ยาจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังทารก/เด็กเล็กในบริเวณผิวหนังที่มีการระคายเคืองและปิดทับด้วยผ้าอ้อมเด็ก จึงควรหลีกเลี่ยงการใส่ผ้าอ้อมเด็กที่แน่นเกินไป จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ และใช้ระยะสั้น 2-3 วัน เป็นต้น

การป้องกันเพื่อไม่ให้ลูกน้อยเกิดผื่นผ้าอ้อม    

1.การทำให้ผิวหนังบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมนั้นแห้งอยู่เสมอ โดยการเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งที่ผิวสัมผัสเปียกชื้น

2.หมั่นทำความสะอาดจุดสัมผัสด้วยน้ำเปล่าแล้วซับให้แห้ง หรือพิจารณาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว

3.หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมและแอลกอฮอล์ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้แป้งเพื่อลดการเสียดสี อีกทั้งเนื้อแป้งยังก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจได้

4.เลือกใช้ผ้าอ้อมที่มีคุณสมบัติดูดซับความเปียกชื้นได้ดี

5.ทาผลิตภัณฑ์เคลือบผิวหนังเพื่อป้องกันภาวะผิวแห้ง ก่อนที่จะใส่ผ้าอ้อม

6. ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อผื่นมีการอักเสบรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษา

การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือยาทาภายนอกสำหรับป้องกันและรักษาอาการผื่นผ้าอ้อม ควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ และมีเลข อย. หรือมีเลขทะเบียนยา แล้วแต่ชนิดผลิตภัณฑ์ ก่อนเลือกใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
สาระความรู้
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์ยา
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
ผื่นผ้าอ้อมในเด็ก
diaper
dermatitis