พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์


พระตำหนักดาราภิรมย์ ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี โปรดให้ก่อสร้างขึ้นประมาณช่วง พ.ศ. 2470-2472 เพื่อใช้เป็นที่ประทับแทนคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ติดริมแม่น้ำปิง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2492 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ซื้อที่ดินที่เป็นที่ตั้งของพระตำหนักดาราภิรมย์และสวนเจ้าสบายจากทายาท ต่อกรมตำรวจได้ขอยืมใช้ทิ่ดินแปลงนี้จากจุฬาฯ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งค่ายดารารัศมี ของตำรวจตระเวณชายแดน ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอคืนพื้นที่ตำหนัก และทำการบูรณะตำหนักให้งดงามใกล้เคียงสภาพเดิม และจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์สิ่งของเครื่องใช้และพระกรณียกิจของพระองค์ นอกจากนี้ยังได้จัดสร้างอาคารรัศมีทัศนา เพื่อเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการอันเกี่ยวเนื่องกับพระองค์ และงานด้านศิลปวัฒนธรรมของล้านนา

ที่อยู่:
บริเวณค่ายดารารัศมี ถ.เชียงใหม่-แม่ริม ต.ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180
โทรศัพท์:
0-5329-9175
วันและเวลาทำการ:
พุธ-อาทิตย์ เวลา09.00-16.40 น.
ค่าเข้าชม:
ผู้ใหญ่ 20 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี /พระสงฆ์/นักเรียนในเครื่องแบบ เข้าชมฟรี
อีเมล:
dara_museum@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2541
ของเด่น:
ตำหนักที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

เปิดตำหนักเจ้าดารารัศมี

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 3/7/2545

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและพิพิภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์

ชื่อผู้แต่ง: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ปีที่พิมพ์: 2548 หน้า 140,145-146

ที่มา: พระเกี้ยว

แหล่งค้นคว้า: ศมส.,สำนักงานสารนิเทศ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ เชียงใหม่

ชื่อผู้แต่ง: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ปีที่พิมพ์: 2548

ที่มา: พระเกี้ยว 2548. สำนักงานสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

จากพระตำหนักมาเป็นพิพิธภัณฑ์ดาราภิรมย์

ชื่อผู้แต่ง: บัณฑิต จุลาสัย | ปีที่พิมพ์: ปีที่21ฉบับที่ 7 พ.ค. 2543

ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

วิวิธพิพิธภัณฑ์

ชื่อผู้แต่ง: บัณฑิต จุลาสัย | ปีที่พิมพ์: 2549

ที่มา: กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พระตำหนักดาราภิรมย์พิพิธภัณฑ์รำลึกพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

ชื่อผู้แต่ง: รัฐพงศ์ เทียมทองใบ | ปีที่พิมพ์: 11 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10867

ที่มา: มติชนรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีกับการสร้างความทรงจำด้วยพิพิธภัณฑ์และอนุสาวรีย์

ชื่อผู้แต่ง: จิรชาติ สันต๊ะยศ | ปีที่พิมพ์: 29, 11 (ก.ย. 2551)หน้า78-101

ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์

ชื่อผู้แต่ง: ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ | ปีที่พิมพ์: 30 ต.ค. 2559;30-10-2016

ที่มา: ไทยรัฐ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 02 พฤศจิกายน 2559


ไม่มีข้อมูล

'สวนเจ้าสบาย' การบุกเบิกเกษตรแผนใหม่แห่งแรกในภาคเหนือ เมื่อร้อยปีที่แล้ว

หากใครได้ไปเยี่ยมเยือนพระตำหนักดาราภิรมย์  นอกจากจะได้เห็นความงดงามของสถาปัตยกรรมของอาคารพระตำหนักแล้ว  คงจะสังเกตเห็นป้ายไม้ที่ปักอยู่ด้านข้างพระตำหนักมีตัวอักษรเขียนไว้ว่า “สวนเจ้าสบาย”  ซึ่งเป็นชื่อที่เสด็จในกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานไว้ให้กับสวนทดลองการเกษตรแผนใหม่ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี 

กล่าวได้ว่าโครงการหลวงที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน   พระราชชายาเจ้าดารารัศมีท่านทรงเคยริเริ่มแนวคิดคล้ายกันนี้ไว้เมื่อเกือบ ร้อยปีที่แล้ว  ในขณะนั้นถือเป็นก้าวย่างสำคัญในด้านการเกษตร  อันจะนำไปสู่การสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพสกนิกร  แม้จะยังไม่ทันขยายผลและประสบผลตามที่พระองค์ได้ตั้งพระทัยไว้ก็ตาม

เหตุแห่งสวนเจ้าสบาย

เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เสด็จคืนเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2457  สี่ปีล่วง หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต  ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญทั้งในชีวิตของพระราชชายาฯ เอง ที่ได้เสด็จคืนบ้านเกิด หลังจากที่ถวายตัวรับราชการฝ่ายใน  ใต้ร่มพระบารมีพระพุทธเจ้าหลวง  เป็นเวลากว่า 28  ปี หลังจากการเสด็จกลับมาเชียงใหม่ในครั้งนี้   ท่านเป็นผู้บุกเบิกสิ่งใหม่ๆ หลายประการที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรในภาคเหนือขณะนั้น   หนึ่งในนั้นที่สำคัญ คือเรื่องการเกษตร

ที่จริงแล้ว พระราชชายาเจ้าดารารัศมี  โปรดการปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ มานานแล้วตั้งแต่ประทับที่กรุงเทพฯ   จนเมื่อกลับคืนเชียงใหม่  ท่านได้ทดลองปลูกกุหลาบพันธุ์ใหม่  ต่อมาเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปภายใต้นาม  “กุหลาบจุฬาลงกรณ์”   เนื่องจาก พระองค์ทรงเป็นสมาชิกสมาคมกุหลาบแห่งอังกฤษ จึงได้พันธุ์ใหม่ๆ จากสมาคมฯ มาทดลองปลูกมากมายหลายพันธุ์  แต่พันธุ์ที่โปรดที่สุด เป็นกุหลาบดอกใหญ่ สีชมพู กลิ่นหอมเย็น ทรงตั้งชื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ว่า “จุฬาลงกรณ์”  ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มกุหลาบสมัยเก่า มีจำนวนกลีบประมาณ  45 กลีบ ขนาดดอก 12-15 เซ็นติเมตร  ลักษณะพิเศษคือ หอมจัด  ไม่มีหนาม  ดอกใหญ่มาก  เจริญเติบโตเร็ว

เมื่อทรงประทับที่เชียงใหม่  พระองค์เสด็จพระดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรในภาคเหนือทั้งในเมือง
เชียงใหม่ และท้องถิ่นทุรกันดาร ไปถึงแม่ฮ่องสอน  ได้ทอดพระเนตรวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งยากดีมีจน  จนเมื่อในปลายพระชนม์ชีพ  ท่านเสด็จออกไปปลูกตำหนักประทับที่อำเภอแม่ริม นอกเมืองเชียงใหม่ ที่ชื่อ “ตำหนักดาราภิรมย์”  

เนื่องจากโปรดความสงบ  และตั้งพระทัยที่จะทำสวนทดลองการเกษตรแผนใหม่ในที่ดินผืนนี้  เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรทั่วไป นำไปปรับใช้เพิ่มผลิตของตนเอง  โดยเสด็จในกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานชื่อว่าสวนแห่งนี้ว่า “สวนเจ้าสบาย” ให้คล้องกันกับชื่อ หาดเจ้าสำราญที่เพชรบุรี  ทั้งนี้ได้สละทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำสวน และพืชพันธุ์ต่างๆ  จ้างผู้ที่เคยเป็นครูโรงเรียนกสิกรรม มาเป็นหัวหน้าทำที่สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม

ความทรงจำจากผู้ใกล้ชิด

เจ้าแสงดาว  ณ เชียงใหม่ ภริยาเจ้าแก้วมงคล  ณ เชียงใหม่ ผู้ที่ได้ใกล้ชิดกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ ได้กล่าวถึงพระดำริของพระองค์เกี่ยวกับการหาพื้นที่จัดสร้างสวนทดลองการ เกษตรในสวนเจ้าสบายไว้ว่า

“...ทรงวางโครงการที่จะสร้างสวนทดลอง ขึ้นเป็นแบบอย่างแก่ชาวเชียงใหม่ก่อน  โดยให้โปรดให้พระทวีประศาสน์ ซึ่งเป็นนายอำเภอแม่ริมขณะนั้น  เจรจากับเจ้าของที่ดินที่อยู่หลังที่ว่าการอำเภอแม่ริมจากผู้ที่ยินดีจะขาย ถวายรวมกันเป็นที่ดินผืนเดียว  เหตุที่พระองค์มีพระประสงค์ที่จะใช้ที่ดินหลังที่ว่าการอำเภอแม่ริม เป็นสวนทดลองทางการเกษตรนั้น เพราะว่าพื้นที่ดินบริเวณนั้นมีน้ำบริบูรณ์สะดวกแก่การปล่อยน้ำเข้าร่องผัก โดยไม่สิ้นเปลืองแรงงานมากนัก กอร์ปกับพื้นที่ดินในบริเวณนั้นเป็นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การ เกษตรกรรมด้วย  เมื่อพระทวีประศาสน์  ได้จัดการให้เป็นไปตามประสงค์แล้ว  พระองค์โปรดให้ก่อสร้างตำหนักสำหรับประทับขึ้นในบริเวณพื้นที่นั้น ...”

ท่านผู้หญิงฉัตรสุดา  วงศ์ทองศรี  พระนัดดาผู้ใกล้ชิดกับพระราชชายาฯ อธิบายภาพสวนเจ้าสบายในตอนนั้นไว้น่าสนใจว่า

“พระ ราชชายาฯ นับเป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกอำเภอแม่ริม ที่จริงอยูห่างจากเชียงใหม่ไป 14 กิโลเท่านั้น แต่ตอนนั้นต้องใช้เวลาถึงครึ่งวันจึงจะถึง  ท่านทรงบุกเบิกทำสวนกะหล่ำปลี  สอนชาวบ้านโดยเอาครูโรงเรียนกสิกรรมซึ่งเป็นญาติกัน ชื่อเจ้าชื่น  สิโรรส มาไว้ที่วังสวนเจ้าสบาย บุกเบิกที่ให้เป็นสวนกะหล่ำ...”

เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ ต้นห้องของพระราชชายาฯ  เล่าถึงบรรรยากาศของสวนเจ้าสบายไว้ว่า

“ด้าน ใต้ของตำหนักเป็นสวนผักนานาชนิด รวมทั้งแคนตาลูป ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าแตงลายฝรั่งเพราะผิวขระขระ  ตอนกลางคืนพระราชชายาฯ ท่านยังเคยลงไปหาหนอนด้วยพระองค์เอง แตงของท่านงามมาก ทรงเคยเอาไปถว่ายเสด็จในกรมกำแพงเพ็ชรที่กรุงเทพฯ  เวลาเสด็จในกรมมีเลี้ยงดินเนอร์ทำไอศกรีมใส่ในแตงที่ผ่าปอกเปลือกเอาไส้ออก แล้ว...ท่านยังให้ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง เชอรี่ บีทรูท แครอท กะหล่ำปลีสีม่วง ข้าวโพดพันธุ์ฝรั่ง  แล้วท่านก็ได้เอาพันธุ์ไปแจกชาวบ้าน  ท่านยังให้ทดลองปลูกมะขามหวาน  ลางสาด มังคุดและแอปเปิ้ลด้วย”

ความทรงจำเกี่ยวกับพระตำหนักดาราภิรมย์และสวนเจ้าสบาย  ของเจ้าประกายแก้ว ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าแก้วมงคล และเจ้าแสงดาว  ณ เชียงใหม่

พระองค์ท่านทรงพระสำราญกับการปลูกดอกไม้ พืชผักและผลไม้ยืนต้นไว้มากมาย อาทิเช่น
ดอกลำดวน  ปลูกเป็นแถว 2 แถว ระหว่างขอบสนามด้านตะวันออกของตัวตำหนัก กับประตูชั้นในด้านตะวันออกเป็นทางยาวขนานกับถนนจากประตูชั้นใน เข้าสู่ด้านหน้าของตัวพระตำหนักดอกกุหลาบ  ทั้งพันธุ์ต่างประเทศและพันธุ์พื้นเมือง รวมทั้งกุหลาบมอญ ปลูกเป็นระยะที่สนามหน้าพระตำหนัก บริเวณน้ำพุรูปดาว...

ส่วน ผลไม้ ก็ทรงปลุกไว้หลายชนิด แต่ไม่ทันได้เห็บผลก็มาด่วนสิ้นพระชนม์เสียก่อน ผู้ที่ได้ตักตวงความอร่อยของผลก็คือ ทายาทผู้รับมรดกสวนนี้จากพระองค์ทรงปลูกไว้เป็นระยะ ดังนี้เงาะ ต้นที่อยู่หน้าพระตำหนักเป็นของที่ได้รับพระราชทานจากพระพุทธเจ้าหลวง (ขณะนี้ พ.. 2521 เงาะต้นนั้นแห้งตาย นานแล้ว เพราะขาดผู้ดูแลและให้ความสำคัญ) ส่วนอีกหลายต้นได้พันธุ์จากสวนฝั่งธน ปลูกสลับกับต้นลิ้นจี่ด้านหลังพระตำหนัก  ลิ้นจี่ อยู่ทางด้านใต้ของตัวพระตำหนัก รอบบ่อรูปไข่ ซึ่งเป็นที่รวมของน้ำอันไหลมาจากบ่อซักผ้าสี่เหลี่ยมทรงได้รับพันธุ์จาก เมืองจีน...ต้นปาล์ม  ซึ่งคนเมืองเรียกว่า มะก๊อแกง ผลใช้รับประทานเมื่อสุกแล้ว อยู่ข้างประตูชั้นในด้านตะวันออก ซึ่งเป็นทางออกสู่ประตูใหญ่ข้างอำเภอแม่ริม...”

เจ้าชื่น  สิโรรส เป็นพระญาติและเป็นครูในโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ  ที่พระองค์ได้โปรดให้มาเป็นหัวหน้าดำเนินการทดลองปลูกพืชพันธุ์ทางการเกษตร เพื่อทรงหวังช่วยพัฒนาการเกษตรในภาคเหนือ  เนื่องจากเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้วนั้น  ชาวบ้านที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นการทำเพื่อยังชีพ และยังมิได้ใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องทุ่นแรงเพื่อนำมาใช้เพิ่มเพิ่มผลผลิตแต่อย่างใด    เจ้าชื่น สิโรรส เล่าถึงสภาพการเกษตรในยุคนั้นไว้ว่า

“ท่านก็เห็นด้วยใน การที่จะใช้เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำสวนที่ทันสมัย เพราะเราจะเราทำการเกษตรแผนใหม่ คือ ทำตามหลักวิชาที่ได้ศึกษามา  โดยเฉพาะเครื่องมือทุ่นแรง เวลานั้น พ.ศ. 2470 เครื่องมือทุ่นแรงชนิดใช้แรงสัตว์ฉุดลากเช่น ไถ คราด มีขายแล้ว  แต่ชาวเกษตรไทยเรายังไม่รู้จักใช้  บริษัทที่นำเครื่องมือทุ่นแรงนี้มาขายครั้งแรกที่กรุงเทพฯคือ บริษัทบาโรเบราส์  เจ้าของเป็นชาวเยอรมัน แต่เครื่องมือที่นำมาขายเป็นที่ทำในอเมริกา  ที่อเมริกาเขาใช้ม้าลากไถ  แต่เราเอามาใช้แรงควายวัวที่เชียงใหม่  สวนเจ้าสบายเป็นแห่งแรกที่นำเครื่องมือทำสวนด้วยเครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้แรง สัตว์มาใช้ เครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้แรงเครื่องยนต์ เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อประมาณ 30 กว่าปีมานี้เอง”

ในตอนนั้นเมืองไทยต้องนำเข้ากะหล่ำปลีจากเมืองจีน  สวนเจ้าสบายจึงริเริ่มปลูกพืชเมืองหนาว และพืชที่ปลูกครั้งแรกและปลูกจำหน่ายคือ กะหล่ำปลี  ได้ทรงเคยปรึกษากับหม่อมเจ้าสิทธิพร  กฤดากร เจ้าของฟาร์มบางเบิดในขณะนั้น ถึงเรื่องเมล็ดพันธุ์กระหล่ำปลี และทรงขอให้หม่อมเจ้าสิทธิพร ทรงสั่งเมล็ดพันธุ์กระหล่ำปลีจากต่างประเทศมาให้เจ้าชื่น  สิโรรส ทดลองปลูกในแปลงทดลองจนได้ผลได้  แล้วโปรดให้ขยายพันธุ์และแจกจ่ายชาวบ้านไปทดลองปลูกจนมีการปลูกกะหล่ำปลีกัน แพร่หลายในเชียงใหม่  ทำให้ไม่ต้องซื้อจากกรุงเทพฯ

นอกจากจะไม่ต้องซื้อกะหล่ำปลีจากกรุงเทพฯแล้ว  เจ้าชื่น สิโรรส เล่าว่า ท่านยังตั้งพระทัยจะปลูกส่งกรุงเทพฯ ด้วย โดยวางแผนปลูกให้มากพอเพื่อขึ้นตู้รถไฟไปขาย  แต่เนื่องจากปลูกเป็นแต่ขายไม่เป็น  การค้ากะหล่ำปลีส่งไปกรุงเทพฯ ครั้งเดียวต้องเลิก เนื่องจากพ่อค้าผักสดคนจีนที่กรุงเทพฯ ไม่รับซื้อ เมื่อไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ควบคุมการค้า  ก็บอกว่าการค้าผักสดอยู่ในอิทธิพลพ่อค้าจีนไม่มีทางสู้

นอกจากกะหล่ำปลีแล้ว  ยังทรงริเริ่มเปลี่ยนแปลงพันธุ์ถั่วสิสงพื้นเมือง  ซึ่งจะต้องขุดดินเก็บฝักตามรากทีละฝัก มาเป็นพันธุ์ของกรมเกษตร  ซึ่งดีกว่าและขยายพันธุ์ไปอย่างกว้างขวาง และยังโปรดให้ทดลองปลูกลำไย และฝ้ายพันธุ์ดี ที่กรมเกษตรส่งมาถวาย แต่ยังไม่ทันได้เผยแพร่แก่ประชาชน ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อนในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 รวมพระชนมายุ  60 พรรษา 3 เดือน 13 วัน  นับจากนั้นสวนเจ้าสบายก็มิได้มีใครสานงานต่อ

จากสวนเจ้าสบายสู่พิพิธภัณฑ์

ปี พ.ศ. 2492 จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัยได้ซื้อที่ดินที่เป็นที่ตั้งของพระตำหนักดาราภิรมย์และ สวนเจ้าสบาย  จากทายาท ต่อกรมตำรวจได้ขอยืมใช้ทิ่ดินแปลงนี้จากจุฬาฯ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งค่ายดารารัศมี ของตำรวจตระเวณชายแดน   เนื่องจากหน่วยงานตำรวจตระเวณชายแดนได้เข้าใช้พื้นที่นี้มานาน มีการปรับพื้นที่เพื่อสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ จนไม่เหลือเค้าโครงของสวนเจ้าสบายแต่อย่างใด 

จากเอกสารและสภาพพื้นที่ปัจจุบัน  สันนิษฐานได้ว่า บริเวณสวนเจ้าสบายประกอบด้วย  ส่วนแปลงทดลองเกษตรอยู่ทางด้านทิศเหนือ  ส่วนสวนไม้ดอก ไม้ประดับอยู่ด้านทิศตะวันออก ทางทิศใต้และทิศตะวันตกจะเป็นสวนผลไม้หรือสวนครัว

เนื่องจากอาคารพระตำหนักเริ่มทรุดโทรม ปี พ.ศ. 2541 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเข้ามาดำเนินการบูรณะเพื่อเตรียมทำเป็นพิพิธภัณฑ์  และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเปิดพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งตรงกับวันสิ้นพระชนม์ครบปีที่ 66 ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

ข้อมูลจาก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ดารารัศมี สายใยรักสองแผ่นดิน. ที่ระลึกในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ 9 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.

จิรชาติ สันต๊ะยศ. “สวนเจ้าสบาย : โครงการหลวงส่วนพระองค์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” เอกสารดิจิตอล(พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์).

นงเยาว์  กาญจนจารี. ดารารัศมี พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี. อนุสรณ์เนื่องในงานฉลองพระอนุสาวรีย์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ค่ายดารารัศมี จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 27 มกราคม 2533.

สำรวจภาคสนามวันที่ 17 พฤษภาคม 2555

หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความ  ปณิตา สระวาสี .“สวนเจ้าสบาย” ใน ภูมิรู้สู้วิกฤต. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2555.
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์

พระตำหนักดาราภิรมย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ตั้งอยู่ริมทางหลวงแม่ริม-สะเมิง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พระราชชายาดารารัศมี โปรดให้ก่อสร้างขึ้นประมาณช่วง พ.ศ. 2470-2472 เพื่อใช้เป็นที่ประทับแทนคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ติดริมแม่น้ำปิง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพระองค์ทรงพำนักที่คุ้มดังกล่าวหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานบรมราชานุญาตให้พระองค์เสด็จกลับมาประทับที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2457

พระองค์ได้เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักนี้จนกระทั่งทรงประชวรด้วยพระอาการพระปัปผาสะ (ปอด) พิการ และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 รวมพระชนมายุได้ 60 ปี 3 เดือน 13 วัน

ในราวพุทธทศวรรษ 2530 ได้มีการดำเนินการก่อสร้างพระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ณ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 5 ค่ายดารารัศมี โดยท่านผู้หญิงฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน และในทศวรรษต่อมามีการดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี (พระตำหนักดาราภิรมย์) โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรีทรงเป็นที่ปรึกษา

ดร.กรรณิการ์ สัจจกุล หนึ่งในคณะดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ เท้าความถึงสภาพของพระตำหนักเมื่อแรกเริ่ม 
“ตอน ตชด. คืนมาโทรมมาก สกปรก กองกำกับตำรวจตระเวนชายแดนเคยใช้เป็นโต๊ะทำงาน ตชด. [ซึ่งเป็นช่วงที่ทางการ] รบกับคอมมิวนิสต์มา 20-30 ปี แล้วข้างล่างคุก ห้องขัง จีนฮ้อ ค้าฝิ่น ค้าเฮโรอีน แล้วตายซับตายซ้อน ตรงนั้น มีประวัติการรบการสงครามโชกโชน นานมากกว่าจะลบภาพเดิมได้”

ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จึงครอบคลุมการบูรณะอาคาร และการจัดสร้างชุดนิทรรศการ “จากนั้นได้ส่งนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้าดำเนินการสำรวจอาคารและพื้นที่ทั้งหมด เพื่อจะบูรณะพระตำหนักดาราภิรมย์ และปรับปรุงภูมิทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 17-22 ตุลาคม พ.ศ. 2540” 

การดำเนินการบูรณะพระตำหนักดาราภิรมย์ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 จนกระทั่งแล้วเสร็จ พ.ศ. 2542 ในระหว่างนั้นมีการระดมทุนด้วยการจัดกิจกรรมการแสดงดนตรี และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อนำเงินเข้า “กองทุนพระตำหนักดาราภิรมย์” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ เพื่อใช้ในการดูแลพระตำหนักดาราภิรมย์อย่างต่อเนื่อง

อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมีไว้ใน “สานจากอธิการบดี” ในงานจัดแสดงเพลงอมตะเทิดพระเกียรติพระราชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2542 ว่า “...ขณะนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการบูรณะพระตำหนักดาราภิรมย์และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งจะเป็นอนุสรณ์ให้ปวงชนรำลึกถึงคุณูปการของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีที่มีต่อแผ่นดินเป็นอเนกอนันต์”

การจัดพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ได้แบ่งการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ไว้ดังนี้
โถงทางเดิน จัดแสดงข้อมูลประวัติการก่อสร้างพระตำหนักดาราภิรมย์ รวมทั้งประมวลภาพเหตุการณ์และกิจกรรมโครงการบูรณะพระตำหนักดาราภิรมย์

ห้องรับแขก จัดแสดงชุดรับแขกซึ่งจำลองมาจากชุดรับแขกเดิมที่คุ้มเจดีย์กิ่ว รวมทั้งชุดกระเบื้องภาพฉายพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (…) นอกจากนี้ ในห้องรับแขกยังแสดงเอกสารแผนภูมิปฐมวงศ์ ที่แสดงความเป็นมาของสายสกุล ณ เชียงใหม่ และรายนามพระประยูรญาติทั้งหมด

ห้องบรรทม จัดแสดงเครื่องเรือนร่วมสมัยที่สำคัญ เช่น ฉากกั้นห้องโบราณจากฝีพระหัตถ์ของพระราชชายาฯ ที่รวบรวมรูปถ่ายมาตกแต่งเตียงบรรทมร่วมสมัย ซึ่งเป็นแม่เจ้าจามรีชายาเจ้าแก้วนวรัฐ โต๊ะหัวเตียง โต๊ะเครื่องแป้ง พร้อมชุดเครื่องแก้วเจียระไน พระฉายาลักษณ์พระราชชายาฯ ในกรอบไม่ฉลุ พระฉายาลักษณ์พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี พระราชธิดา และของใช้ส่วนพระองค์อื่นๆ 

ห้องสรง จัดแสดงเครื่องสุขภัณฑ์รูปแบบตะวันตกที่บูรณะขึ้นใหม่ เช่น อ่างอาบน้ำกระเบื้องเคลือบ โถชักโครกแบบโบราณ

ห้องทรงพระสำราญหรือห้องอเนกประสงค์ จัดแสดงการจำลองชุดโต๊ะเครื่องเสวย จัดแสดงเปียโนที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชุดเครื่องถ้วยเสวยสีชมพู สิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ เช่น เชี่ยนหมากนาก กระโถนสีชมพู พายกะไหล่ทอง ถาดเงิน และกล่องไม้มะค่าประดับนาก ที่มีตราสัญลักษณ์ อ.ด. และจัดแสดงข้อมูลนิทรรศการเกี่ยวกับพระกรณียกิจด้านต่างๆ

ห้องแสดงพระกรณียกิจ จัดแสดงแผนภูมิสายปฐมวงศ์ และพระประวัติซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงกำเนิดในสายสกุล ณ เชียงใหม่ ที่มีความเป็นมายาวนาน และเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเจ้าผู้ครองนครทั้งฝ่ายพระบิดาและพระมารดา รวมทั้ง “...ทรงรับราชการฝ่ายในด้วยความจงรักภักดี ยึดมั่นในการรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ท้องถิ่นล้านนา ขณะเดียวกันก็ทรงเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นของภาคกลาง... ทรงดำรงพระองค์เป็นที่ปรึกษาแก่พระราชวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งทางกรุงเทพฯ และเจ้านายฝ่ายเหนือ... ทรงเป็นหนึ่งในเจ้านายที่เป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญถึงมากที่สุดในพระวงศ์เจ้าเจ็ดตน นอกเหนือจากเจ้าหลวง ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากทรงดำรงเกียรติยศอันสูงสุดแล้ว... พระอุตสาหะที่ทรงเชื่อมโยงอาณาจักรสยามและล้านนาให้ผสานเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน จนรอดพ้นความพยายามแบ่งแยกของประเทศมหาอำนาจตะวันตกดำรงเป็นปึกแผ่นมาตราบเท่าทุกวันนี้”

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงเกี่ยวกับรูปแบบขบวนจำลองการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จเลียบมณฑลภาคพพายัพ และการจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพระกรณียกิจด้านต่างๆ ของพระองค์ ด้านการดนตรี ด้านละครและนาฏศิลป์ ด้านศาสนา ด้านเกษตร

ห้องแสดงเครื่องแต่งกาย จัดแสดงเกี่ยวกับชุดฉลองพระองค์จำลองที่แสดงถึงอัตลักษณ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ว่าเป็นผู้นำด้านการแต่งกายของกุลสตรีภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผ้าซิ่นลายยกดอกทองคำ เชิงซิ่นจกทองคำ และผ้าซิ่นร่วมสมัย เพื่อแสดงความเจริญในด้านศิลปะการทอผ้าของล้านนา ที่สืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามในการจำลองรูปลักษณ์ของการดำเนินชีวิตของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อทรงประทับที่พระตำหนัก กรรณิการ สัจจกุล อธิบายถึงชีวิตของพิพิธภัณฑ์ว่า “เราพยายามจัดให้เหมือนห้องนั่งเล่น เครื่องบริขารทั้งหลายทำให้เหมือนจริง ยามไหนที่มีหมากพลูสด ตั้งไว้เลย ผลไม้สด ดอกไม้สด แล้ว 'ลิฟวิ่ง มิวเซียม' ไกด์ สำคัญ ในการที่จะบอกกล่าวเหมือนพระองค์ประทับอยู่ หลายคนฟัง เหมือนเราเล่านิทาน ละคร มีเสียงเพลงเปิด มีกลิ่นหอมน้ำอบน้ำปรุง มีพวงมาลัยแขวน ไม่ใช่ตายแห้งตายซาก ไม่ใช่มีแต่ของโบราณ แล้วก็ 'แบงกอกดอร์' เราก็ไปหามาใส่ขบวนแห่พระปกเกล้าฯ ให้มันเหมือนกับตอนที่มีชีวิตอยู่ 

การสร้างบรรยากาศ 'ลิฟวิ่ง มิวเซียม' เขาสำคัญในการเดินเรื่อง อันนั้นเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตอนที่ท่านประทับอยู่ ข้างล่างมีอะไร ที่ประทับประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งบรรยากาศสร้างด้วยสีสัน ผลไม้”

ชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องมือการเกษตร ที่ทรงใช้ในการทดลองการเกษตรแผนใหม่ในสวนเจ้าสบาย นอกจากนั้น ยังมีเครื่องทอผ้า ซึ่งใช้ทอผ้าสำหรับพระราชชายาฯ โดยเฉพาะ


ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
ข้อมูลจาก:
การสำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2552
สัมภาษณ์ ดร. กรรณิการ์ สัจจกุล เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552
จิรชาติ สันต๊ะยศ. พระราชชายาเจ้าดารารัศมี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.
การเดินทาง: รถประจำทางสายเชียงใหม่-แม่ริม,เชียงใหม่-แม่แตง,เชียงใหม่-ฝาง
ชื่อผู้แต่ง:
-

พิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์

พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ตั้งอยู่ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2542
ชื่อผู้แต่ง:
-