จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images

ชุดคำค้น 18 คำ

อายุ-จารึก พ.ศ. 1917, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 20, ยุคสมัย-จารึกสมัยอยุธยา, ยุคสมัย-จารึกสมัยอยุธยา-สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1, วัตถุ-จารึกบนดีบุก, ลักษณะ-จารึกบนแผ่นรูปสี่เหลี่ยม, ลักษณะ-จารึกบนแผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-สร้างพระพุทธรูป, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา-หล่อพระพุทธรูป, เรื่อง-ความเชื่อทางศาสนา-นรก-สวรรค์, เรื่อง-ความเชื่อทางศาสนา-นิพพาน, เรื่อง-ความเชื่อทางศาสนา-พระศรีอาริยเมตไตรย, เรื่อง-ความเชื่อทางศาสนา-ชาติหน้า, บุคคล-พ่ออ้าย, บุคคล-แม่เฉา,

จารึกแผ่นดีบุก วัดมหาธาตุ

จารึก

จารึกแผ่นดีบุก วัดมหาธาตุ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 06:23:27 )

ชื่อจารึก

จารึกแผ่นดีบุก วัดมหาธาตุ

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

อย. 2, จารึกแผ่นดีบุกภาษาไทย วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, หลักที่ 42 จารึกแผ่นดีบุกภาษาไทย วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,

อักษรที่มีในจารึก

ไทยอยุธยา

ศักราช

พุทธศักราช 1917 (โดยประมาณ)

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 33 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 18 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 15 บรรทัด

วัตถุจารึก

ดีบุก

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 18.5 ซม. ยาว 27 ซม. หนา 2 มม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “อย. 2”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2501) กำหนดเป็น “จารึกแผ่นดีบุกภาษาไทย วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 กำหนดเป็น “หลักที่ 42 จารึกแผ่นดีบุกภาษาไทย วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
4) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “จารึกแผ่นดีบุก วัดมหาธาตุ”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2500

สถานที่พบ

พระปรางค์วัดมหาธาตุ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้พบ

กองโบราณคดี กรมศิลปากร

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสารศิลปากร ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2501) : 73-75.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 51-55.
3) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 102-107.

ประวัติ

จารึกแผ่นนี้ถูกพบเมื่อ พ.ศ. 2500 จากการขุดค้นกรุฐานพระปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับโบราณวัตถุอีกหลายอย่าง ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบแก้วผลึกสีม่วงซึ่งมีทองคำหุ้มประกอบ พระพุทธรูป พระพิมพ์ และของมีค่าจำนวนมาก รวมไปถึงจารึกลานเงินภาษาไทย (อย. 9) และจารึกลานเงินอีกแผ่นหนึ่งซึ่งเป็นอักษรขอมภาษาบาลี รวมแล้วในกรุพระปรางค์แห่งนี้มีการพบจารึกจำนวน 3 แผ่น ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ การขุดค้นครั้งดังกล่าวมีนายกฤษณ์ อิทโกสัย รองอธิบดี กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมทั้งการขุดค้น ขุดแต่งและบูรณะ คำอ่านจารึกแผ่นดีบุกนี้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารศิลปากร ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2501 ชื่อบทความ “คำจารึกแผ่นดีบุกภาษาไทย วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” และตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 ใน พ.ศ. 2508 โดยเรียกว่า “หลักที่ 42 จารึกแผ่นดีบุกภาษาไทย” ต่อมา มีการพิมพ์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2527 ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย โดยเรียกว่า “จารึกแผ่นดีบุกวัดมหาธาตุ” ทั้ง 3 ครั้งอ่านโดย ฉ่ำ ทองคำวรรณ อนึ่ง วัดมหาธาตุซึ่งเป็นสถานที่พบจารึกนั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเมื่อ พ.ศ. 1917 ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครองราชย์ พ.ศ. 1913-1931) แต่คาดว่าการก่อสร้างคงสำเร็จในสมัยพระราเมศวร (ในการครองราชย์ครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 1931-1938) ถือเป็นวัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งเพราะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า อีกทั้งเป็นที่ประทับของสมเด็จสังฆราชฝ่ายคามวาสี วัดดังกล่าวได้รับการบูรณะหลายครั้ง เช่นในสมัยเจ้าสามพระยา (ครองราชย์ พ.ศ. 1967-1991) และสมัยพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2172-2199) ซึ่งได้บูรณะปรางค์ประธานที่ทลายลงมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ พ.ศ. 2153-2171) วัดมหาธาตุร้างไปภายหลังการเสียกรุงครั้งที่ 2 จนกระทั่งปรางค์ประธานพังลงมาอีกครั้งในสมัย รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เนื้อหาโดยสังเขป

เป็นคำอุทิศส่วนกุศลจากการหล่อพระพุทธพิมพ์เท่าจำนวนวันเกิด การบูชาพระรัตนตรัย และการฟังพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย บิดา ญาติ และตนเอง โดยขอให้ตนได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต เฝ้าพระศรีอารย์ และเมื่อพระองค์เสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ตนได้มาเกิดในตระกูลกษัตริย์ มีปัญญารอบรู้ กล้าหาญ ฯลฯ และถึงแก่นิพพาน ตอนท้ายได้ระบุชื่อและอายุของผู้สร้างพระพิมพ์คือ พ่ออ้ายและแม่เฉา อายุ 75 ปี เนื้อหาในจารึกแผ่นนี้ทำให้ทราบถึงการสร้างพระพิมพ์ในสมัยอยุธยาว่านอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อสืบทอดศาสนาแล้ว ยังมีขนบการสร้างให้มีจำนวนเท่ากับวันเกิดของตนเองดังเช่น พ่ออ้ายและแม่เฉา ซึ่งมีอายุ 75 ปี ได้ระบุจำนวนวันตามอายุของตนว่า “..ญิบหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยวัน..” จึงสร้างพระพิมพ์ตามจำนวนดังกล่าว (หากคำนวนตามความเป็นจริงแล้วจะพบว่าจำนวนวันเกินจากความเป็นจริงไปเล็กน้อย)

ผู้สร้าง

พ่ออ้าย และ แม่เฉา

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากประวัติของวัดมหาธาตุซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 1917 ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครองราชย์ พ.ศ. 1913-1931) ดังนั้นจารึกแผ่นนี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “คำจารึกแผ่นดีบุกภาษาไทย,” ศิลปากร 2, 2 (กรกฎาคม 2501) : 73-75.
2) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “จารึกแผ่นดีบุกวัดมหาธาตุ,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 102-107.
3) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “หลักที่ 42 จารึกแผ่นดีบุกภาษาไทย,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 51-55.
4) ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ทวารวดี : ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543), 103-104.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508)