Travel the World – ดื่มศิลปะ เคล้าวัฒนธรรม แกล้มประวัติศาสตร์

06/01/2010

ตื่นทอง ต้องขุด (คุ้ย)

เมื่อต้องนั่งมองราคาทองคำพุ่งพรวดขึ้นไปแตะหมื่นแปดพันบาทเยี่ยงปัจจุบัน คงไม่ต้องคิดหนักว่า”ทองคำ” อยู่ในโผ “ของมีค่า” หรือไม่ ตามมาด้วยข่าวร้อนฮือเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า สยามประเทศของเรามีแหล่งแร่ทองคำ 76 แห่ง ใน 31 จังหวัด รวมประมาณ 700 ตัน หากสกัดเป็นทองคำบริสุทธิ์จะมีมูลค่าร่วม 1 ล้านล้านบาท

ขณะที่หลายคนตื่นเต้นมีลุ้นไปกับข่าว คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่กังขาว่าเจ้าโลหะนี้มีดีกว่า “วัตถุ”ประเภทอื่นตรงไหน มนุษย์ถึงได้ให้คุณค่าสูงขนาดนั้น?

แน่นอน…มนุษย์ไม่ได้เพิ่งจะมาตื่นทองเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ยกย่องคุณค่าเนิ่นนานตั้งแต่กว่า 4,000 (บ้างก็ว่า 5,000) ปีก่อนคริสตศักราช ที่ทองคำมีหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเองหลังจากถูกมนุษย์นำมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และนับเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความเจริญรุ่งเรือง

แต่เรื่องจุดกำเนิดกลับไม่แน่ชัดนัก สมาคมเหมืองแร่แห่งชาติของสหรัฐอเมริการะบุว่าทองมีคุณค่าเชิงอารยธรรมครั้งแรกที่คาบสมุทรบอลข่าน (Balkans) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป โดยนักโบราณคดีหลายสำนักเชื่อว่าเป็นดินแดนตะวันออกกลาง เพราะเป็นอู่อารยธรรมแรก ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ชัดแจ้งที่สุดคือช่วงเวลาประมาณ 2,500 ปีก่อนกำเนิดศาสนาคริสต์ ซึ่งชนชาติที่ให้ความสำคัญแก่ทองคำอย่างกว้างขวางคืออียิปต์

ส่วนที่มาของชื่อทองคำ หรือ “Gold” ช่างซื่อตรง ไม่พลิกแพลงแสนลีลา เพราะมาจากคำว่า “Geolo” แปลว่า “เหลือง” ถ้าเป็นภาษาลาตินใช้คำว่า “Aurum” แปลว่าทอง ชาวอินคาเรียกทองคำว่า “น้ำตาสุริยัน” (Tears of the Sun)

ว่ากันว่าคุณสมบัติพื้นฐานที่ทำให้ทองคำเลอค่าเหนือโลหะอื่น ๆ ในโลก คือ ความหายาก (rarity) เพราะกว่าจะได้ทองคำมาหนึ่งออนซ์ หรือ 31.167 กรัม ต้องถลุงก้อนแร่ทองคำจำนวนหลายตัน จากเหมืองลึกหลายสิบเมตร ต้นทุนการผลิตจึงสูงลิบลิ่ว

เพราะมีความงามเป็นเครื่องประกัน ด้วยความสวยมันวาว (lustre) เปล่งประกาย นอกจากนี้ทองคำยังมีความคงทน (durable) ซึ่งทองคำบริสุทธิ์ ทนต่อการผุกร่อน (เว้นแต่กับสารเคมีบางชนิด) ไม่เกิดสนิม จะหลอมละลายก็ต้องณ อุณหภูมิสูงตั้ง 1064.43° เซลเซียส เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ (reuseable) และทำให้บริสุทธิ์ (purified) ด้วยการนำมาหลอมใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ทองคำทรงคุณค่าอยู่เสมอ เหมาะแก่การนำมาทำเป็นเครื่องประดับอย่างยิ่ง (ที่มา – สมาคมค้าทองคำ)

เชื่อว่ามีการขุดทองคำขึ้นมาใช้ประโยชน์แล้วกว่า 160,000 ตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคตื่นทอง (หลังปี ค.ศ. 1848) เมื่อค้นพบทองคำในแคลิฟอร์เนียและออสเตรเลีย กระทั่งมาสู่แหล่งผลิตยอดนิยมยุคหลังอย่างแอฟริกาใต้

นับแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มีการใช้ทองคำเข้าเป็นมาตรฐานในระบบเงินตราระดับประเทศ เริ่มจากอังกฤษ จากนั้นทองคำก็กลายเป็นพื้นฐานหลักของระบบเงินตราและเขย่าบัลลังก์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตราบจนทุกวันนี้

สำหรับประเทศไทย ดินแดนของเราเป็นที่รู้จักและขนานนามว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “แผ่นดินทอง” มาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมพม่า ไทย ตลอดจนแหลม มาลายู ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าแต่ก่อนดินแดนนี้ อุดมไปด้วยแร่ทองคำ จนใคร ๆ ก็แห่เข้ามาแสวงหาทองคำและค้าขาย  ไม่ก็เป็นแหล่งผลิตเครื่องใช้สำริดที่มีส่วนผสมของดีบุกในปริมาณสูง ซึ่งมีผิวคล้ายสีทอง (จากหลักฐานเครื่องสำริดที่ขุดค้นได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อ. พนมทวน กาญจนบุรี)  ส่วนอีกสมมติฐานที่เป็นไปได้คือหมายถึงดินแดนทรัพยากรมั่งคั่ง ทำให้ผู้ค้าขายร่ำรวย

ในตำนานชาดก ก็มีเรื่องราว “สุวรรณภูมิ” เช่นกัน นั่นคือ พระมหาชนกเดินทางมาค้าขายที่สุวรรณภูมิ แต่เรือแตกกลางทะเล ด้านพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระธรรมทูตมาเผยแผ่พุทธศาสนาที่นี่ด้วย จากนั้นพระธรรมทูตได้ปราบผีเสื้อสมุทรและสวดพระปริตรป้องกันเกาะ “สุวรรณภูมิ” ไว้ ศูนย์กลางของ “สุวรรณภูมิ” น่าจะอยู่บริเวณพระปฐมเจดีย์จังหวัดนครปฐม จากหลักฐานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่พบว่าพระพุทธศาสนาในแถบนี้รุ่งเรืองที่สุดราว พุทธศตวรรษที่ 11-12

ส่วนเรื่องทองคำกับชาวไทยในเชิงวัฒนธรรมนั้น อาจไม่เก่าแก่เท่ายุคอิยิปต์ แต่ก็มีหลักฐานอ้างว่าเก่ากาลได้ประมาณอาณาจักรเชียงแสน (ช่วงพ.ศ. 1700 – 2400) ตามหลักฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำศิลปะแบบเชียงแสน

คนไทยใช้ทองคำอย่างกว้างขวางในชนชั้นปกครองและการศาสนา แต่ถ้า “ยุคทอง” เพื่อศิลปะและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ต้องเทิดทูนอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ในช่วงพ.ศ.1893-2310 อันอร่ามอุดมไปด้วยเครื่องทองฝีมือเลิศ ยอมรับกันถ้วนทั่วว่าทองคำเป็นสิ่งที่มีค่าเหนือกว่าโลหะและรัตนชาติทั้งมวล สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเบื้องสูงล้วนประดิษฐ์ด้วยทองคำ เช่น เครื่องราชูปโภคและ “พระเครื่องต้น” หรือเครื่องทรงอันเป็นเครื่องประดับในพระเจ้าแผ่นดิน สื่อถึงพระเกียรติยศและบุญบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ พระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปต่างแดน รวมทั้งเครื่องใช้และเครื่องประดับต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างงานพุทธศิลป์อุทิศถวายเป็นพุทธบูชา

ว่ากันว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการส่งเครื่องบรรณาการทองคำมากถึง 46 หีบ แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส และทรงบัญชาให้เอกอัครราชทูตไทยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเหมืองแร่ทองคำกลับมาด้วย

ครั้นผลัดรัชสมัยมาสู่ยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงให้จัดสร้างเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ประกอบพระอิสริยยศแห่งพระเจ้าแผ่นดิน เพราะทองคำเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งรุ่งเรืองอันเป็นศรีสง่าแก่กรุงเทพมหานคร ราชธานีแห่งแผ่นดินใหม่ ซึ่งยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในราชวงศ์จักรีมาทุกรัชกาลจวบจนปัจจุบัน

อีกหนึ่งผลงานอันยิ่งใหญ่ของช่างทองหลวงในยุครัตนโกสินทร์ คือ เครื่องทรงพระทุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไทย โดยเครื่องทรงฤดูร้อนและเครื่องทองฤดูฝนนั้นจัดทำในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ส่วนเครื่องทรงฤดูหนาวถูกสร้างถวายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมามีการจัดสร้างเครื่องทรงพระแก้วมรกตทั้ง 3 ฤดูขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2539 และอัญเชิญใช้แทนเครื่องทรงองค์เดิมมาถึงทุกวันนี้

ผู้ใดมีทอง ย่อมถือได้ว่าผู้นั้นมีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้บัญญัติกฏมณเฑียรบาลในกฏหมายตราสามดวง ว่าด้วยข้อกำหนดในการใช้ทองเป็นเครื่องใช้ และเครื่องประดับไว้ว่า “ผู้ใดใช้เกินบรรดาศักดิ์ที่ตนจะพึงใช้ถือว่าผิดกฏหมาย ต้องรับโทษหนักเบาตามความผิด” ทองจึงแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมไปโดยปริยาย จากการจัด เครื่องใช้และเครื่องประดับทองเป็น 2 ประเภท คือ 1) ของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย และขุนนาง 2) ของสามัญชนทั่วไป

เครื่องทองสุโขทัย/เครื่องทองศรีสัชนาลัย

ในอดีต การเรียนรู้วิชาช่างจากบรรพบุรุษเป็นไปในลักษณะเครือญาติ และสืบทอดต่อๆ กันมา หรือหากจะถ่ายทอดแก่คนนอก ก็ต้องมีความสัมพันธ์กันทางใดทางหนึ่ง ผู้เป็นศิษย์ต้องมารับใช้ครูถึงบ้าน และใช้เวลาฝึกฝนกันนาน เรียกกันว่าเป็น “ช่างชาวบ้าน” หรือช่างพื้นบ้าน โดยครูช่างอาจจะไม่ได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่ลูกศิษย์ทั้งหมดก็ได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการบันทึกวิชาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นนานวันเข้าการถ่ายทอดความรู้ก็เสื่อมลง ยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนก็ยิ่งสูญหาย เพราะลูกหลานไปประกอบอาชีพอื่นๆ กอปรกับมีการออกพระราชบัญญัติการศึกษา ทำให้เด็กต้องเข้าโรงเรียน จนไม่มีเวลามาฝึกฝนเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การถ่ายทอดความรู้แบบช่างชาวบ้านยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น ณ ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ยังมีชุมชนที่ประกอบอาชีพทำทองโดยการถ่ายทอดความรู้แบบโบราณ คือจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่มีตำราและเน้นการปฎิบัติจริง ขณะที่งานทองของเพชรบุรีจะยอมถ่ายทอดงานแก่คนนอกตระกูล ไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันธุ์ทางเครือญาติ

ช่างทองจึงแบ่งกันเป็นสกุล ได้แก่ สกุลช่างทองสุโขทัย สกุลช่างทองเมืองเพชร

ทองสุโขทัย หรือทองรูปพรรณศรีสัชนาลัย หมายถึงผลิตภัณฑ์ทองบริสุทธิ์ 99.99% ผลิตด้วยเครื่องมือง่ายๆ โดยช่างที่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งเครื่องทองจากตำบลท่าชัยและตำบลศรีสัชนาลัยจะได้รับการยกย่องมีชื่อเสียงมาก

การทำทองที่ศรีสัชนาลัยเป็นงานฝีมือล้วนๆ ถอดแบบและลวดลายมาจากเครื่องทองโบราณ ลวดลายประติมากรรมรูปเคารพ ลายรูปปูนปั้นและจิตรกรรมฝาผนัง แม้ต่อมาจะมีการประยุกต์ให้ทันสมัยก็ยังคงลวดลายแห่งความเป็นไทยเอาไว้ โดยจำแนกประเภทใหญ่ๆ ได้ ดังนี้
– ลายพฤกษา เช่น ลายเครือเถา ลายดอกพิกุล ลายดอกบัว
– ลายสิงสาราสัตว์ เช่น ช้าง ม้า นาค หงส์
– ลายไทยประยุกต์ เช่น ลายกนก ลายกระจัง ลายอุบะ
– ลายที่เกิดจากจินตนาการและการเลียนแบบปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น – ลายเทค (จินตนาการจากดวงไฟตามดิสโก้เทค) ลายหัวใจ ลายเสื่อ ลายเกลียวคลื่น เป็นต้น

กรรมวิธีการผลิตของช่างทองสกุลสุโขทัยมีลักษณะเฉพาะตัว คือ สร้อยถัก เป็นการรีดและดึงทองจนได้เส้นเล็กมาร้อยผูกกันตั้งแต่ 2 เส้นขึ้นไป เรียกว่า สร้อยถักสามเสา สี่เสา ห้าเสา หกเสา แปดเสา นอกจากนี้ยังมีการทำลูกประคำติดลาย ประคำลงยา ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ชิ้นงานลักษณะเป็นทรงกลม ข้างในกลวง พร้อมกับการเดินลายบนพื้นผิวแบบไทย เช่น ลายเครือวัลย์ ที่มีเถาไม้กระวัดรัดเกี่ยวเกยอ่อนช้อยงดงาม รวมทั้ง งานฉลุ อีกด้วย

ด้านช่างทองเมืองเพชร ความจริงแล้วก็สืบทอดทักษะมาจากงานช่างสมัยอยุธยา หากแต่มีการพัฒนาต่อยอดสร้างเอกลักษณ์ โดยจัดอยู่ในกลุ่มช่างทองรูปพรรณ (โดยทั่วไปแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ช่างทองรูปพรรณและช่างทำภาชนะต่างๆ) และลวดลายทองรูปพรรณของเมืองเพชร ก็ช่างหลากหลายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ขัดมัน (สร้อยคอ) แบบสี่เสา หกเสา และแปดเสา (การถักห่วงกลมขนาดเล็กๆ จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง) สมอเกลียว ลูกสน เต่าร้าง (ตุ้มหู มีลักษณะคล้ายพวงของผลเต่าร้าง) เป็นต้น

เครื่องทองผลเต่าร้างและสไตล์เมืองเพชร

ลองคัดลวดลายเครื่องทองไทยโบราณมาแต่โดดเด่น จะเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับศรัทธาและความเชื่อทางศาสนา ดังนี้

  • กระดุม หรือ ดอกบัวสัตตบงกช

ดอกบัว หมายถึงความสงบ ศรัทธาและความสง่างาม พุทธศาสนิกชนใช้ดอกบัวบูชาพระพุทธเจ้า เนื่องด้วยคำสอนแห่งพระบรมศาสดาที่ทรงอุปมาเปรียบคน 4 เหล่า ดังดอกบัว 4 ระดับ ทั้งนี้ แหวนดอกบัวมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ จะมีการเรียกลายทองรูปพรรณซึ่งเลียนแบบบัวสัตบงกชในหมู่ช่างทองเมืองเพชรบุรีว่า “กระดุม” เนื่องจากแต่เดิมนำลวดลายนี้ไปทำกระดุมเสื้อราชประแตน รูปทรงโดยรวมคล้ายคลึงกับหัวเม็ดทรงมัน กล่าวคือทรวดทรงกระดุมจะป้อมคล้ายบัวสัตบงกชมากกว่าบัวหลวง ส่วนปลายจะสร้างลายเป็นชั้นๆ เช่นเดียวกับหัวเม็ดทรงมัน ต่อมามีการดัดแปลงลายนี้ให้เป็นเครื่องประดับครบชุด ได้แก่ แหวนซึ่งมีกระดุมเป็นหัวแหวน บ่าช้างเรือนแหวนประดับลายดอกพิกุล สร้อยข้อมือ ต่างหู สร้อยคอ เข็มกลัดและกระดุม 5 เม็ด

  • กำไลหัวบัว และพญานาค

กำไลเหล่านี้จะประดับพลอยนพเก้า อันประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ ถือกันว่าจะยังสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ ส่วนกำไลพญานาคนั้น พญานาคเป็นเทพแห่งน้ำ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์ สร้างสรรค์ขึ้น ด้วยทักษะงานช่างทองหลวงอันหลากหลาย เช่น การสลักดุน การลงยาสี และการประดับพลอยแบบโบราณ

  • ลูกไม้ปลายมือ

เครื่องประดับลูกไม้ปลายมือมีมาแต่สมัยอยุธยา ซึ่งอาจได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย ที่พืชพรรณธัญญาหารมีพร้อมมูลตลอดปี

  • แหวนลูกไม้ประดับรัตนชาติ 3 สี

เพชร คือ ความบริสุทธิ์แห่งปัญญาอันประเสริฐ ทับทิม คือความมั่งคั่งบริบูรณ์ และมรกต คือ ความสงบสุข พลอยนั้นฝังหุ้มแบบโบราณ แต่ละชั้นแต่งลายด้วยลวดเกลียวและเม็ดไข่ปลา และตรงกลางฝังพลอยเม็ดยอดปัจจุบันนิยมประดับพลอย นพเก้าหรือนพรัตน์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่เช่นกัน

  • ปะวะหล่ำ

เครื่องประดับชุดปะวะหล่ำ เป็นงานที่ได้รับอิทธิพลจากชาวจีน โดยความเชื่อว่า โคมไฟให้ความสว่างไสวเปรียบประดุจความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรือง มีลักษณะเด่นที่รูปทรงกระบอกโปร่งหกเหลี่ยม เป็นลวดลายที่แสดงลักษณะเฉพาะของงานเครื่องทองเพชรบุรี บิดเกลียวเป็นรูปดอกจันมีเกสรทำด้วยไข่ปลาตีแบนประดับ อาจประดับเกสรเพียงดอกเดียว หรือประดับเกสรดอกจันทุกดอก (รวม 3 ดอก) ในแต่ละด้าน เครื่องประดับปะวะหล่ำที่ตกแต่งด้วยการฝังอัญมณีคือประดับเกสรของดอกจันทั้ง 6 ด้านด้วยทับทิม เรียกว่า ปะวะหล่ำทรงเครื่อง ซึ่งจะร้อยคั่นด้วยลูกปัดทองเม็ดเรียบเสมอ

  • แหวนและกำไลพิรอด

ในสมัยโบราณ พิรอดคือแหวนเครื่องรางถักด้วยผ้ายันต์หรือสายสิญจน์ เพื่อคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภยันตราย แหวนพิรอดประดับพลอย จะนิยมฝังพลอยนพเก้าและลงยาสีแดงกับเขียว ตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ ว่าจะนำศิริมงคลมาให้ผู้เป็นเจ้าของ จึงนิยมใส่ออกรบ ถือเป็นเครื่องรางแห่งชัยชนะ

  • พลอยนพรัตน์หรือนพเก้า

ในสมัยโบราณ อัญมณีส่วนหนึ่งถูกสงวนไว้สำหรับผู้มีสถานภาพสูงสุดเท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นพรัตน์ (นพเก้า) ได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม ไพลิน โกเมน มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ ซึ่งลัทธิพราหมณ์เชื่อว่าอัญมณีแต่ละชนิดเป็นสัญลักษณ์แทนดาวเคราะห์ในจักรวาลพิภพ นำพาพลังอำนาจเฉพาะแก่ผู้สวมใส่ ดังนั้น แม่ทัพผจะสวมเครื่องทองสะพายบ่าประดับนพรัตน์ยามออกศึก ซึ่งในบันทึกสมัยอยุธยาเล่าว่า นอกจากแม่ทัพจะสวมแหวนประดับนพรัตน์แล้ว ยังสวมแหวนประดับอัญมณีแต่ละชนิดรวมเก้าวง พร้อมสะพายสร้อยพาดบ่าซึ่งประดับนพรัตน์แต่ละชนิดในรูปแบบเดียวกันอีกด้วย

ดังนั้น งานช่างทองไทยที่ได้รับการพัฒนามานับศตวรรษ ย่อมมีลักษณะเด่นสะท้อนภูมิปัญญาและทักษะซึ่งสั่งสมและสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ลวดลายละเอียดวิจิตรเป็นเอกลักษณ์ของงานเครื่องทองดั้งเดิมของไทย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการหลอมรวมของชนหลากเผ่าพันธุ์ในชาติ เป็นศิลปะที่สะท้อนให้เห็นความคิด ความเชื่อและคุณค่าทางสังคมเป็นอย่างดี

เรื่องราวเหล่านี้มีให้อภิเชษฐ์กันในนิทรรศการ “หอเครื่องทองไทย” ณ ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งจัดเป็นศูนย์ประวัติศาสตร์และแหล่งการเรียนรู้เรื่องการทำเครื่องทอง งานช่างทองและลวดลายของสกุลช่างทองไทยสกุลต่างๆ ในอดีตกาล

ผ้ากรองทองทอมือ

ในงานนี้ ผู้ชมจะได้ยล “ผ้ากรองทอง” ผ้าไหมยกทองที่ราคาแพงที่สุดในโลกอีกด้วย เป็นการถักทอเส้นลวดทอง หรือไหมทองเป็นผืนผ้า เติมความบรรเจิดด้วยปีกแมลงทับชิ้นเล็กๆ ทั้งนี้ ผ้ากรองทองนิยมใช้ทำเสื้อครุยของพระมหากษัตริย์ สไบ หรือผ้าทรงสะพัก สำหรับเจ้านายสตรีชั้นสูง

แม้จะขึ้นชื่อว่าแพงที่สุด แต่อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเสื้อผ้ายกทองโบราณเพื่อผู้นำเอเปกกล่าวว่า “ไม่อาจประเมินค่าได้” เพราะความยาก วิจิตร ประณีต อาศัยเวลาศึกษาค้นคว้า ออกแบบการทำไหมด้วยทองคำและ ลวดลายโบราณ โดยนำช่างทองชั้นครูมากถึง 4-5 ท่าน บรรจงร้อยนานถึง 4-5 เดือน จึงเป็นงานทรงคุณค่าแบบ “ทำมือ” (hand made) ล้วนๆ

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผลงานศิลปะหัตถศิลป์ทองไทยจากวิทยาลัยช่างทองหลวง การจำหน่ายเครื่องทองไทยโบราณ การสาธิตทำขนมคาวหวานไทยโบราณเกี่ยวกับทองที่หาทานยาก

แม้งานช่วงวันที่ 12-13 พฤศจิกายน และ 17-18 ธันวาคม 2552 ที่ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ยังมีให้ชมกันอีกครั้งในวันที่ 14-15 มกราคม 2553 พร้อมกับ “เครื่องทองไทยกับอนาคตที่ยิ่งใหญ่” (Thai Gold : The Future and Beyond) ประหนึ่งเชิญชวนความมั่งคั่งให้หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับปีหน้าฟ้าใหม่ ….ห้ามพลาดเด็ดขาด

หมายเหตุ – ขอขอบคุณศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพ

(e-MoF Magazine ปีที่ 5 ฉบับที่ 55)

ให้ความเห็น »

ยังไม่มีความเห็น

RSS feed for comments on this post. TrackBack URI

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .