สภาองค์กรของผู้บริโภคแถลงข่าวผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาแฝง

 

สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดแถลงข่าวผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาแฝง วิจัยชี้ 4 กลุ่มรายการโทรทัศน์มีโฆษณาเกินเวลา ส่อเอาเปรียบผู้บริโภค ด้านตัวแทนผู้บริโภค ระบุ โฆษณาแฝงมีมากเกินไปสร้างความรำคาญ ชี้ ควรลดเวลานำเสนอลง – จัดช่องเฉพาะให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ขณะที่อนุกรรมการฯ สอบ. แนะ กสทช. ต้องตรวจสอบและมีบทลงโทษให้ชัดเจนขึ้น

6 พ.ย.64 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)

จัดงานแถลงข่าวจากงานวิจัย “โฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลา ทางช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” โดยสำรวจสถานการณ์ของการโฆษณาในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสอดส่องและเฝ้าระวังการเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการและเจ้าของสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ผ่านระบบประชุมออนไลน์ (zoom meeting) โดยมีผู้วิจัย นักวิชาการ และตัวแทนผู้บริโภค เข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้

ในการแถลงข่าวมีการนำเสนอรายงานการวิจัย เรื่อง ‘โฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล’ โดย บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ กล่าวถึงสาระสำคัญของการวิจัยครั้งนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กำหนดให้รายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศ 1 ชั่วโมง มีโฆษณาได้ไม่เกิน 12 นาที 30 วินาที เท่ากับว่าจะมีเนื้อหารายการเหลือเพียง 47 นาที 30 วินาที

ผลการวิจัย พบว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา คือ 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมา คือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ

ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี ‘โฆษณา’ ทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยกับการมี ‘โฆษณาแฝง’ และ ‘รายการแนะนำสินค้า’ ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า

และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่าง ๆ หากพบว่า ‘โฆษณา’ และ ‘โฆษณาแฝง’ ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ บุณยาพร ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะให้มีโฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ต้องจำกัดเวลาในการเผยแพร่ รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันควรสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.

ด้านสายลา เจ๊ะไบ๊ ตัวแทนผู้บริโภค กล่าวว่า โฆษณาแฝงและโฆษณาที่มีความถี่มากหรือระยะเวลานานเกินไปถือเป็นการรบกวนการรับชมโทรทัศน์ ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลหรือข่าวสารไม่ครบถ้วน เสียความรู้สึกและเสียบรรยากาศในการรับชม อีกทั้งยังสร้างความความรำคาญจนต้องการเปลี่ยนช่องหนีหรือไม่ต้องการรับชมโทรทัศน์อีกเลย ผู้บริโภคมองว่าการหารายได้จากโฆษณาเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ไม่ควรนานเกินไป เมื่อมีโฆษณาแล้วก็ไม่ควรมีโฆษณาแฝงในเนื้อหารายการอีก

“เราคิดว่าการหารายได้จากโฆษณาเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ก็ไม่ควรนานเกินไป เมื่อมีโฆษณาแล้วก็ไม่ควรมีโฆษณาแฝงในเนื้อหารายการอีกแล้ว เรามองว่าควรลดเวลาโฆษณา อาจจะนำเสนอแบบสั้น ๆ ประมาณ 10 – 15 วินาที ให้กระชับ เข้าใจง่าย มีการแสดงประโยชน์ของสินค้าหรือบริการ โดยไม่ต้องย้ำประโยคเดิมก็ได้” ตัวแทนผู้บริโภค กล่าว

ส่วนชลดา บุญเกษม เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ถึงเวลาที่ กสทช. ต้องหันมาพิจารณาออกมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องโฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า รวมถึงสปอตโปรโมตรายการอย่างจริงจัง

“อาจเปิดพื้นที่หรือช่องทางสำหรับรายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ หรือจัดให้มีช่วงเวลาสำหรับรายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ ซึ่งก็ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างเปิดเผย เพื่อให้มีทางเลือกในการรับชม หรือสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าสามารถรับชมได้อย่างเต็มที่และโดยเสรีด้วยเช่นกัน” เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าว

ขณะที่ โสภิดา วีรกุลเทวัญ ผู้แทนคณะอนุกรรมการ ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. กล่าวว่า กสทช. ควรให้ความจริงจังในการตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่เกี่ยวกับการโฆษณา รวมทั้งมีบทลงโทษที่ชัดเจน เช่น ให้รายการที่กระทำผิดงดออกอากาศชั่วคราว, การลงโทษผู้ผลิตสินค้าที่ลงโฆษณา, มีมาตรการจำกัดเวลาโฆษณาหรือจำกัดประเภทรายการที่โฆษณาได้

นอกจากนี้ ควรมีหน่วยงานที่เฝ้าระวังโฆษณาแฝงหรือควบคุมการโฆษณาในโทรทัศน์โดยเฉพาะที่ทำงานในเชิงรุก มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคร้องเรียน และหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ สอบ. จะจัดส่งผลการศึกษาไปยัง กสทช. และติดตามการพิจารณาออกมาตรการเรื่องระยะเวลา รูปแบบ และวิธีการโฆษณาที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภคในการรับชมรายการต่อไป

รับชม Facebook LIVE แถลงข่าวผลวิจัย ‘โฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลา ทางช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัล’ ย้อนหลัง ที่ https://www.facebook.com/tccthailand/videos/1998078103699584

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน