หลักสูตรระดับปริญญาตรี

1) วท.บ. (เคมี)

ชื่อหลักสูตร > วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี
อักษรย่อ > วท.บ. เคมี (จำนวน 130-142 หน่วยกิต)


ขอบเขตเนื้อหาหลักสูตร
หลักสูตรมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเคมีอินทรีย์ เคมีอนินทรีย์ ชีวเคมี เคมีเชิงฟิสิกส์ เคมีวิเคราะห์ และเคมีประยุกต์ โดยผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งานหรือแก้ปัญหา และพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้

จุดเด่นของหลักสูตร
ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ทางด้านเคมีเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยแบ่งการเรียนในหลักสูตรเป็น 3 โปรแกรม ได้แก่โปรแกรมปกติ โปรแกรมสหกิจศึกษา และโปรแกรมก้าวหน้าทางวิชาการ ซึ่งนิสิตสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ โดยโปรแกรมปกติและโปรแกรมสหกิจศึกษาจะจัดให้นิสิตมีโอกาสฝึกทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งประสบการณ์จากการฝึกทำงานนี้จะช่วยส่งเสริม
ให้นิสิตสามารถพัฒนาความรู้ รวมทั้งทักษะทางด้านเคมีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนโปรแกรมก้าวหน้าทางวิชาการ นิสิตสามารถเรียนรายวิชาของบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) ไว้ล่วงหน้าได้ ทำให้มีเวลาในการทำวิจัย (หากเรียนต่อ ปริญญาโท) มากยิ่งขึ้น

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และต้องผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

แนวทางในการศึกษาต่อ
ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำการเปิดสอนสาขาวิชาเคมีและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

แนวทางในการประกอบอาชีพ
สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายทั้งภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ หรือประกอบอาชีพส่วนตัว เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักวิชาการด้านเคมีในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พนักงานตรวจสอบคุณภาพ พนักงานวิจัยและพัฒนาในโรงงานอุตสาหกรรม ครูสอนวิชาเคมีในสถานศึกษา ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน พนักงานขายสารเคมี อุปกรณ์และเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เจ้าของกิจการ ที่ปรึกษาด้านการวิจัยหรือวิชาการทางด้านเคมี หรืองานอื่น ๆ ที่อาศัยความรู้ทางเคมี ตัวอย่างสถานที่ทำงานเช่น บริษัทเคมีภัณฑ์ โรงงานยาสูบ โรงงานผลิตอาหาร บริษัทนํ้าอัดลม โรงงานนํ้าตาล บริษัทนํ้ามัน โรงงานผลิตเส้นใย โรงงานผลิตผงซักฟอก โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานสี โรงงานกระจก โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานผลิตพลาสติก กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง กรมทรัพยากรธรณี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมพัฒนาที่ดิน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นต้น

2) วท.บ. (นวัตกรรมทางชีวเคมี)

ชื่อหลักสูตร > วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมทางชีวเคมี
อักษรย่อ > วท.บ. นวัตกรรมทางชีวเคมี จำนวนไม่น้อยกว่า 127 หน่วยกิต (โปรแกรมปกติ) หรือ 128 หน่วยกิต (โปรแกรมสหกิจศึกษา)

ขอบเขตเนื้อหาหลักสูตร
ศึกษาเกี่ยวกับสารชีวโมเลกุลชนิดต่างๆ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน และกรดนิวคลีอิก ศึกษาความสัมพันธ์ทางโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ในสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ โครงสร้างและหน้าที่ของเซลล์ กระบวนการเมแทบอลิสมของสารชีวโมเลกุลชนิดต่างๆ การจัดการคุณภาพสำหรับห้องปฏิบัติการ ความปลอดภัยทางชีวภาพ เทคนิคและเครื่องมือทางชีวเคมี นวัตกรรม และการสร้างนวัตกรรม
ทางชีวเคมี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและทักษะผู้ประกอบการ รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ความรู้ทางชีวเคมีในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การเกษตร และอุตสาหกรรม

จุดเด่นของหลักสูตร
หลักสูตรนี้มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถในเนื้อหาวิชาการ และการวิจัยทางสาขาชีวเคมี ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต มีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนากําลังคนที่มีความสามารถทางด้านเคมีชีวภาพ สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve และ New S-Curve) สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal, SDG) โดยวางรายวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และเคมีพื้นฐานอย่างครอบคลุม เน้นความรู้หลักด้านชีวเคมี บูรณาการทางด้านชีววิทยา จุลชีววิทยา และแนวคิดการสร้างนวัตกรรม พัฒนาขึ้นตามแนวคิด outcome-based education (OBE) ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรแบบ active learning เน้นให้ผู้เรียนมีแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมบนฐานชีวภาพ (Bioeconomy, Circular economy, Green economy หรือ BCG) เพื่อเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในระดับท้องถิ่นและของประเทศ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทั้งทักษะทางวิชาการ ทักษะการปฏิบัติงานและทักษะทางสังคมควบคู่กับการมีคุณธรรมและจริยธรรม มีความสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนในรูปแบบสหกิจศึกษา

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าโดยมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับที่มหาวิทยาลัยกำหนด

แนวทางในการศึกษาต่อ
บัณฑิตสาขานวัตกรรมทางชีวเคมี สามารถศึกษาต่อระดับสูงขึ้นในหลายสาขาวิชา เช่น ชีวเคมี ชีวเคมี ทางการแพทย์ ชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล ชีวสารสนเทศทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ นิติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ พันธุวิศวกรรม พิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในหลักสูตรปกติและหลักสูตรนานาชาติในมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ

แนวทางในการประกอบอาชีพ
บัณฑิตสาขานวัตกรรมทางชีวเคมี สามารถประกอบอาชีพในหลายสายงานทั้งในส่วนของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เช่น นักวิชาการ นักวิจัยและพัฒนา นวัตกร นักนิติวิทยาศาสตร์ ที่ปรึกษาทางด้านชีวเคมี ฝ่ายประกันคุณภาพ และฝ่ายควบคุมคุณภาพในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ยา อุตสาหกรรมเคมี พนักงานขายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ขายสารเคมี ขายยา ขายอาหารสัตว์ นอกจากนั้นยังสามารถประกอบอาชีพอิสระ หรือธุรกิจส่วนตัวได้