เทคโนโลยีมีบทบาทในการแก้ปัญหาสังคมอย่างไร

Good Factory Team
Good Factory
Published in
2 min readDec 4, 2016

--

http://cdn.ttgtmedia.com/visuals/

ในยุคปัจจุบันที่โลกหมุนไปไว การเปลี่ยนแปลงรอบตัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและสร้างผลกระทบต่อทุกแง่มุมของชีวิตคน
Good Factory องค์กรที่ทำงานด้านการส่งเสริมการแก้ปัญหาสังคมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงได้จัดกิจกรรมสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับภาคีของ สสส. เพื่อสร้างความเข้าใจและโอกาสในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม

เทคโนโลยี คือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีขึ้นเพื่อจุดประสงค์เฉพาะบางอย่าง
และเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเรื่องของความเท่แต่เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา
ในอดีตสมัยที่คนเรามีความยากลำบากในการเดินทาง จึงมีการคิดค้นเกวียนขึ้นมาเพื่อช่วยให้เดินทางได้สะดวกขึ้น แต่เกวียนก็มีข้อจำกัดเรื่องความช้า ต่อมาจึงมีการพัฒนายานพาหนะอย่างรถยนต์ขึ้น ซึ่งแม้จะทำให้ขนส่งได้เร็วขึ้น แต่ก็มีปัญหาตามมาคือ การสิ้นเปลืองน้ำมัน เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และสร้างปัญหามลภาวะ ล่าสุดจึงเกิดการพัฒนาเป็น Tesla ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ควบคุมการขับได้เอง (self-drive car) และประหยัดน้ำมัน โดยนำการทำงานของคอมพิวเตอร์มาช่วยลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากคน (human error)ในการใช้รถใช้ถนน เป็นต้น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีบทบาทในชีวิตคนเรามากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากแนวโน้มของเทคโนโลยี 7 ประเด็นที่กำลังเป็นเทรนด์ และหลายอย่างก็เริ่มกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน หรือ new normal ในชีวิตเราไปแล้ว

1. การที่ชีวิตเราถูกแวดล้อมไปด้วยคอมพิวเตอร์ (Ubiquitous Computing)

จากเดิมที่คอมพิวเตอร์ (หรือสมัยนั้นคือ mainframe) มีขนาดใหญ่ ราคาแพง
มีความซับซ้อนในการใช้งาน จึงมีใช้เฉพาะในองค์กรที่มีทุนหนาเท่านั้น
ต่อมา คอมพิวเตอร์ก็เริ่มถูกพัฒนาให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ราคาถูกลง ทำให้คนหันมาใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลาย รวมถึง device เช่น smartphone และ tablet และปัจจุบัน ในยุค IoT (Internet of Things) คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีส่วนในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว

เมื่อพูดถึงคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่มีหน้าตาเหมือนคอมพิวเตอร์ในอดีตอีกต่อไป ระบบคอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานที่หลากหลายขึ้น เช่น มีระบบคอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในนาฬิกาเกิดเป็นนาฬิการูปแบบใหม่ที่เรียกว่า smart watch ที่สามารถนับจำนวนก้าวเดินหรือเก็บบันทึกข้อมูลสุขภาพของเราได้ หรืออาจแฝงมาในรูปนวัตกรรมอย่าง NEST ซึ่งเป็น thermostat ที่ใช้ machine learning เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า โดยมี sensor เพื่อจับพฤติกรรมการใช้งานของคนและปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมตามได้ หรือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่อยู่กับขวดยา
ที่ทำหน้าที่ตรวจจับความถี่ในการกินยาและส่งสัญญาณเตือนเพื่อกระตุ้นให้คนรับประทานยาตามกำหนด เช่น ขวดยายี่ห้อ AdhereTech หรือเกษตรกรเองก็อาจใช้ชิปส์ฝังไว้กับสัตว์ในฟาร์มเพื่อคอย monitor ตำแหน่ง ภาวะสุขภาพหรือการตั้งครรภ์ของสัตว์

2. การใช้ข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ (Data Driven)

ทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่เข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายมาก และหลายครั้งที่คนเราใช้ชุดข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจต่างๆ เทคโนโลยีเองก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของเราเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ซื้อของออนไลน์ชื่อดังอย่าง amazon ก็จะมี suggested list ที่คัดสินค้าในหมวดที่น่าจะถูกรสนิยมโดยประมวลเอาจากพฤติกรรมการค้นหารายชื่อหนังสือและการซื้อหนังสือที่ผ่านมา หรืออย่าง HealthMap ที่เป็น platform ในการดึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือแหล่งข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ เช่น การรายงานจากพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ข้อมูลจากข่าว แล้วนำข้อมูลมา plot ลงใน map และแสดงผล โดยผู้ใช้สามารถเชื่อมโยงกับแอพพลิเคชั่น เพื่อตรวจเช็คข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดในแต่ละพื้นที่ก่อนเดินทางได้

3. ความเกี่ยวพันระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์

การเติบโตของวิวัฒนาการด้านหุ่นยนต์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ เแนวโน้มหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การที่ตำแหน่งงานหลายตำแหน่งในบริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่กำลังถูกแทนที่ด้วยแรงงานจักรกล เช่นที่เกิดกับบริษัท FoxConn ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างผลิตให้กับบริษัท Apple โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา มีการแทนที่พนักงานกว่า 50% หรือ 60,000 คน ด้วยการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการผลิต ซึ่งหลายๆบริษัทที่มีโรงงานวางแผนไม่ว่าจะเป็นบริษัท CP ของไทย หรือ บริษัทกูลิโกะ ก็มีแนวโน้มที่จะนำเทรนด์ดังกล่าวไปปรับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน

อีกเแนวโน้มหนึ่งที่กำลังเติบโต คือ การนำหุ่นยนต์มาใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น เช่นในประเทศญี่ปุ่นที่มีปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ขึ้นมาทำหน้าที่ทดแทนการจ้างคน หรือแม้แต่เทคโนโลยีอย่างเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติประจำบ้านที่ก็เป็นหุ่นยนต์เช่นกัน

4. Crowdsourcing and Sharing Economy

ปัจจุบันองค์ความรู้ ทักษะ หรือธุรกิจต่างๆไม่สามารถผูกขาดได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการผูกขาดดังกล่าวด้วย platform ต่างๆที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยน resource และทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ง่ายขึ้น
หลายองค์กรนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้และพลิกแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความสมบูรณ์รอบด้านมากขึ้นโดยต่างจากวิธีเดิมๆอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น Wikipedia ที่เข้ามาแทนที่สารานุกรมรูปแบบเก่าอื่นๆ ด้วยฟังก์ชั่นที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเขียน ตรวจสอบเนื้อหา และปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมข้อมูลได้เพื่อร่วมกันสร้างฐานข้อมูลใหม่ปริมาณมหาศาล และเป็นผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสารานุกรมอย่าง Britannica จำเป็นต้องปรับตัวอย่างยิ่งใหญ่ หรือแม้กระทั่งการเอา gamer มาช่วยกันทำ DNA sequencing ที่ช่วยให้งานที่นักวิจัยใช้เวลาทำเป็น 10 ปีเสร็จได้ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์เท่านั้น

พร้อมไปกับการขยายตัวของเทรนด์ sharing economy ก็ทำให้เกิดบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่น บริษัท UBER ที่เกิดขึ้นเพื่อเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนเมือง โดยเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการหาแท็กซี่ยากและการที่คนชนชั้นกลางที่มีรถยนต์ส่วนตัวอยากหารายได้เพิ่มเติม สามารถผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทผู้ให้บริการแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถแท็กซี่สักคันเดียว

5. รูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ

จากการสำรวจยอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท KPCB พบว่าแอพพลิเคชั่นที่ได้รับยอดดาวน์โหลดสูงสุดส่วนใหญ่ คือ แอพพลิเคชั่นที่ใช้เพื่อส่งข้อความพูดคุยกัน ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นว่า ปัจจุบัน วิวัฒนาการด้านการสื่อสารพัฒนาไปมากจากการสื่อสารแบบตัวต่อตัว ไปสู่การโทรศัพท์ ไปสู่การ chat ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไปจนถึงการใช้ youtube หรือการสื่อสารผ่าน siri หรือ chatbot ที่ใช้เทคโนโลยี Q&A ที่ทันสมัยมาทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดสู่การนำไปใช้เพื่อจัดทำเป็นแคมเปญรณรงค์ต่างๆทางสังคมได้

แม้แต่อดีต CEO ของ Line อย่างคุณ Akira Morikawa ก็ยังเห็นโอกาสจากแนวโน้มดังกล่าวจนออกมาตั้งกิจการใหม่ของตัวเองชื่อ C Channel ที่จับกระแสการสื่อสารด้วยสื่อวิดีโอผ่าน smartphone มาทำเป็นธุรกิจ โดยจะทำให้คนสามารถใช้ smart phone ของตัวเองถ่ายวีดีโอและนำมาตัดต่อและเผยแพร่สู่สังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว โดยหวังว่า video chat จะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะมาแทนที่ text chat ซึ่งจะเปลี่ยนกรอบคิดและผลักดันให้ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง

6. โลกเสมือน vs โลกจริง

กระแส Pokemon Go! ได้ทำให้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนทั่วไปมากขึ้น AR คือเทคโนโลยีที่เป็นการผสานโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน โดยอาศัยการทำงานระหว่าง software ควบคู่กับ device ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดภาพเสมือนแบบ real-time ที่แสดงผลแบบสามมิติเกิดขึ้นซ้อนกับภาพจริง และกระแสที่มาแรงไม่แพ้ AR คือ Virtual Reality (VR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผลิตสิ่งแวดล้อมเสมือนจริงขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์และทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในสิ่งแวดล้อมนั้นๆได้โดยที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่ง Mark Zuckerburg ได้ประกาศชัดเจนว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นเทรนด์สำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น และได้ลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เทคโนโลยี VR สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ในมุมการเรียนรู้ นักศึกษาสามารถเรียนรู้วิธีการทำ Lab แบบเสมือนจริงได้ผ่านการใส่แว่น VR โดยไม่ต้องทำการทดลองจริง

7. การเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเทคโนโลยี

ปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนด้วย เช่น application iClip ที่ใช้หลักจิตวิทยาควบคู่ไปกับเทคโนโลยี โดยจะมีการเป็น challenge ต่างๆ เช่น ถ้าผู้เล่นงดการสูบบุหรี่ต่อเนื่องเป็นเวลาตามจำนวนวันที่กำหนด จึงจะสามารถปลดล็อคเกมส์ได้ และผู้ใช้สามารถนำเงินที่ชนะจาก challenge ไปซื้อของได้จริง หรือ GCC (Global Corporate Challenge) ที่เป็นการกระตุ้นให้คนในบริษัทใหญ่ต่างๆรวมทีมกันเพื่อแข่งกันเดินให้มากขึ้น โดยมีการขึ้น rank ระหว่างบริษัทเพื่อกระตุ้นความรู้สึกอยากแข่งขัน

คงไม่มีเวลาไหนดีไปกว่าเวลานี้อีกแล้ว ที่เราจะมองเห็นโอกาสในการแก้ปัญหาและพัฒนางาน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาติดตามกันตอนต่อไปว่า Good Factory ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย สสส. จะร่วมมือและนำเทคโนโลยีมาต่อยอดใช้ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพอย่างไร

--

--