COUNCIL OF ENGINEERS THAILAND

Council of Engineers Thailand

Council of Engineers Thailand

AATTN8A ออกแบบอาคารที่ทำการสภาวิศวกรแห่งใหม่ของประเทศไทย โดยตั้งใจเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนในชุมชนลาดพร้าวเข้ามาใช้งาน

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: DOF SKY | GROUND

(For English, press here)

ทั้งที่พื้นที่สาธารณะคือองค์ประกอบสำคัญของเมืองที่ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สังเกตได้จากประเทศที่เจริญแล้วมักมีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวมากพอในการรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้คน แต่เมื่อตัดภาพกลับมาที่เมืองไทย จะพบว่าพื้นที่สาธารณะในทุกวันนี้ยังถือว่ามีน้อยนักหากเทียบกับจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่

ตลอดระยะเวลากว่าสองชั่วโมงครึ่งที่ได้สนทนากับ อติวิชญ์ กุลงามเนตร สถาปนิกผู้ก่อตั้ง ativich / studio หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบอาคารที่ทำการสภาวิศวกรแห่งใหม่ เราได้แต่พยักหน้าเห็นด้วย ก่อนจะคัดไฮไลต์ที่เกี่ยวกับการออกแบบอาคารที่เน้นหนักในเรื่องการประหยัดพลังงานและพื้นที่สาธารณะทั้งในบริบทของย่านและเมืองไทยมาเล่าสู่กันฟัง

Council of Engineers Thailand

Council of Engineers Thailand

อติวิชญ์เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า เมื่อสังเกตดีๆ จะพบว่าวิวัฒนาการของเมืองนั้นเกิดควบคู่มากับพื้นที่เศรษฐกิจในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นตลาด ร้านรวงตามท้องถนน หรือกระทั่งห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ รวมตัวกันเกิดเป็นย่านและความคึกคักในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ ตลอดเส้นถนนลาดพร้าวซอย 1 จนถึงซอย 150 แม้ต้นสายจะเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวและปลายสายเป็นเดอะมอลล์บางกะปิ แต่ระหว่างเส้นทางซ้าย-ขวาบนนถนนเส้นนี้กลับเต็มไปด้วยตึกร้างมากมาย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากความคับคั่งของรถยนต์บนถนนที่มีเพียง 2 เลนเล็กๆ ทำให้ไม่สามารถจอดรถเพื่อแวะซื้อของได้อย่างสะดวก ไปจนถึงความแออัดของชุมชน อาคารที่ทำการสภาวิศวกรแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ปากซอยลาดพร้าว 54 หรือย่านโชคชัย 4 จึงมีแนวคิดที่ปักธงในเรื่องของการออกแบบอาคารให้สามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะในเวลาเดียวกัน เพื่อหวังฟื้นคืนชีวิตให้ชุมชนกลับมาคึกคัก และทำให้สถาปัตยกรรมเกิดประโยชน์กับชุมชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

Council of Engineers ThailandCouncil of Engineers Thailand
Council of Engineers Thailand

“ก่อนส่งผลงานเข้าร่วมประกวดแบบในรอบแรก นอกจากโจทย์ที่ได้รับแล้วก็ยังมีความตั้งใจแทรกคีย์หลักเข้าไปอีก 3 เรื่อง คือ 1. เราจะพยายามออกแบบสวนให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน 2. เราต้องการออกแบบอาคารให้คุยกับเมืองได้ เพราะถนนลาดพร้าวรถติดมาก และต้องการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนสามารถเข้ามาใช้งานได้โดยไม่รู้สึกเคอะเขิน 3. อยากให้พื้นที่การทำงานภายในสำนักงานมีรูปแบบใหม่ๆ ที่ต่างไปจากการทำงานรูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย แต่ก็ยังตอบโจทย์ฟังก์ชันในแต่ละส่วนของคนทำงานได้อยู่ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ใช่โจทย์ที่ได้รับมาแต่แรก (หัวเราะ) แต่เป็นการคิดสนุกของเราเองว่าอยากทำอะไรแบบฉีกกฎไปเลย นี่จึงกลายเป็นที่มาให้แบบที่เราทำทั้งหมดเกิดขึ้นจากความตั้งใจในการที่จะนำเอาความเป็นตัวแทนของวิศวกรและองค์ความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ และตีความให้เป็นแนวคิดในการออกแบบที่เรามองสะท้อนกลับมาเรื่องของเมืองและชุมชน ผ่านงานสถาปัตยกรรม” อติวิชญ์ขยายความเข้าสู่แนวคิดในการออกแบบอาคารครั้งนี้

Council of Engineers Thailand

Council of Engineers Thailand

แน่นอนว่าความคิดเรื่องเมืองและชุมชน จริงๆ แล้วมีคนเป็นหัวใจสำคัญ อติวิชญ์จึงเริ่มจากการตั้งคำถามว่าทำอย่างไรให้คนในเมืองมีความรู้สึกว่าพื้นที่นี้เปิดให้สามารถเข้ามาใช้ได้

ด้วยความที่ต้องการเปิดพื้นที่ของอาคารให้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่และพื้นที่สาธารณะ ตัวอาคารจึงถูกวางให้ขยับถอยเข้าไปจากทางเท้าริมถนนค่อนข้างมาก เพื่อให้เกิดพื้นที่การใช้งานดังกล่าว รวมถึงการออกแบบตัวอาคารให้ดูลอยขึ้นเพื่อให้พื้นที่ชั้นล่างดูโปร่งมากขึ้น ไม่เป็นอาคารที่มีลักษณะดูทึบๆ ตันๆ ส่วนพื้นที่ข้างอาคารที่อยู่ติดกับซอยเล็กๆ อีกฝั่ง ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าหรือให้ชุมชนสามารถมาเช่าค้าขายได้ตลอดเวลาแม้อาคารสภาวิศวกรส่วนสำนักงานจะปิดทำการอยู่ “เราอยากให้คนกลับมาเดินบนเมือง เปิดไฟสว่างๆ ดูไม่เปลี่ยว รวมถึงจากการสำรวจเราพบว่าเลยไปอีกไม่กี่ร้อยเมตรจากอาคารของเราจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียน ป.1 – ม.6 เด็กๆ ก็ต้องเดินย้อนกลับมาขึ้นรถไฟฟ้าโดยเดินผ่านหน้าอาคารของเราด้วย พื้นที่สาธารณะของเราเลยจะเกิดประโยชน์มากๆ หากน้องๆ เข้ามานั่งเล่นที่สวนหรือใช้งานห้องสมุด ไปจนถึงการนั่งรอผู้ปกครองมารับ”

Council of Engineers ThailandCouncil of Engineers ThailandCouncil of Engineers Thailand
Council of Engineers Thailand

สำหรับการใช้งานในพื้นที่ส่วนสำนักงาน อติวิชญ์เล่าว่าได้กำหนดแนวคิดเพื่อแบ่งพื้นที่การใช้งานของอาคารไว้ 2 ส่วน ได้แก่ for today พื้นที่ชั้น 1 ถึงชั้น 4 และ for tomorrow คือพื้นที่ชั้น 5 ถึงชั้น 7 ความแตกต่างของพื้นที่ทั้ง 2 โซน เกิดจากการศึกษาข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้งานจริง โดยพื้นที่ชั้น 1 ถึงชั้น 4 คือพื้นที่ที่จะถูกใช้งานในทุกๆ วันทำการ หรือถูกใช้งานบ่อย ส่วนชั้น 5 ถึง ชั้น 7 จะเป็นพื้นที่ที่เปิดใช้งานช่วงเวลามีกิจกรรมโดยเพาะ เช่น ห้องประชุม และห้องสัมมนาขนาดใหญ่ หรือห้องของคณะกรรมการบริหารสภาวิศวกร ที่มีการใช้งานเฉพาะเจาะจงเป็นช่วงเวลาชัดเจน

Council of Engineers Thailand

Council of Engineers Thailand

ทั้งนี้ในการแบ่งพื้นที่รูปแบบดังกล่าวยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการประหยัดและการบริหารการใช้พลังงาน เพราะพื้นที่ชั้นบนที่ไม่ค่อยได้ใช้งานก็จะถูกปิดเอาไว้หรือไม่มีการเปิดระบบปรับอากาศและไฟฟ้า ทำให้ไม่เสียพลังงานโดยใช่เหตุ ต่างจากพื้นที่ชั้น 1 ถึงชั้น 4 ที่มีความตั้งใจให้สามารถเปิดให้บริการได้ตลอดเวลา เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปได้มีโอกาสเข้ามาใช้งานได้ สถาปนิกยังได้ออกแบบให้มีทางออกสู่พื้นที่สวนสีเขียวในทุกๆ ชั้น ซึ่งเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะไหลเชื่อมต่อขึ้นมาจนถึงชั้น 4 เพื่อผู้ที่ใช้งานอาคารสามารถเดินออกมาพักผ่อนได้ตลอดเวลา ทั้งยังได้ประโยชน์ในเรื่องของร่มเงาต้นไม้ เมื่อโตเต็มที่ก็จะช่วยเป็นแผงบังแสงแดดและความร้อน ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติให้กับพื้นที่ภายในอาคารชั้น 1 ถึงชั้น 4 ได้ในเวลาเดียวกัน

ขณะที่พื้นที่ชั้นบนที่ไม่มีต้นไม้จากสวนช่วยบดบังแสงแดด หรือต้นไม้ไม่สามารถโตสูงถึงได้ ก็ได้มีการออกแบบให้มีผนังอลูมิเนียมเจาะรูคลุมอีกหนึ่งชั้นที่ทำหน้าที่เป็นแผงบังแดดยื่นออกมาจากผนังและกระจกของอาคาร เพื่อเว้นระยะให้ลมสามารถพัดผ่านและพัดไอความร้อนที่กรองไว้ไม่ให้โดนตัวอาคาร ส่วนโครงสร้างที่ยึดติดอยู่หลังแผงอลูมิเนียมถูกออกแบบให้เป็นทางเดินสำหรับการบำรุงรักษาและทำความสะอาดกระจก

Council of Engineers Thailand

Council of Engineers Thailand

Detail

“ในเรื่องของดีเทลและแพทเทิร์นเล็กๆ ของตัวแผงอลูมิเนียม จะห่อหุ้มอาคารให้มองเห็นเป็นเสมือนงานประติมากรรมสีขาวที่แอบซ่อนงานวิศวกรรมที่ซับซ้อนไว้ภายใน วางตัวอยู่บนเนินไม้สีเขียว เป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์แห่งอนาคตของส่วน for tomorrow แต่อีกทางหนึ่ง เราก็ต้องการออกแบบให้มีความกลมกลืนกับย่าน ซึ่งแถวลาดพร้าวมีอาคารโมเดิร์นของไทยอยู่เยอะเหมือนกัน เราเลยนำดีเทลครีบคอนกรีตมาใช้เป็นแพทเทิร์นในส่วนล่างของอาคารที่มีความสูงพอๆกับอาคารพาณิชย์ข้างๆ และให้ต้นไม้จริงๆ ทำหน้าที่บังแดดให้และให้ร่มเงา ตรงนี้ก็จะประหยัดได้ทั้งงบและอ้างอิงในเรื่องของการประหยัดพลังงานหรืออาคารเขียวไปด้วยในตัว”

Council of Engineers ThailandCouncil of Engineers Thailand

“อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญสำหรับสภาวิศวกรคือการเป็นตัวแทนของวิศวกรไทย ผ่านการสร้างและประยุกต์นวัตกรรมทางวิศวกรรมต่างๆ เข้ามาในงานออกแบบ ซึ่งในผลงานของพวกเราตั้งใจที่จะสื่อสารให้ทุกคนเห็นความสำคัญของวิศวกร สัมผัสความหลากหลายของสาขาวิชาที่เมื่อผสานรวมกัน กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพ หนึ่งในนั้นคือรูปแบบของโครงสร้างที่ดูซับซ้อนและท้าทาย ด้วยพื้นที่ยื่นลอยออกมาแบบไม่มีเสารับน้ำหนักซึ่งซ่อนตัวอยุ่หลังเปลือกคลุมอาคาร เพราะตรงนี้ถ้าเข้าไปดูโครงสร้างด้านในก็จะเห็นเลยว่ามีโครงสร้าง truss และโครงสร้างเหล็กกำลังออกแรงดึง แขวนพื้นให้ลอยอยู่ด้วยกำลังมหาศาลที่อยู่ในนั้น (หัวเราะ) และยังมีอีกหลายส่วนที่งานวิศวกรแขนงต่างๆ ไปประยุกต์อยุ่กับงานออกแบบ”

Council of Engineers ThailandCouncil of Engineers Thailand

สำหรับส่วนที่อยากแสดงในเชิงนวัตกรรมที่ทันสมัยอีกส่วนหนึ่ง คือส่วนของโลโก้บนอาคาร ทางสถาปนิกได้ออกแบบเป็นโลโก้เฟืองดิจิทัลหมุนอยู่ที่ผนังภายนอกอาคาร แทนการติดตั้งโลโก้เฟืองไปที่ผนังแบบทื่อๆ เหมือนอาคารสำนักงานแบบโบราณทั่วไป ซึ่งเป็นความตั้งใจจะสื่อถึงเรื่องนวัตกรรมทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความตั้งใจแรกของทางสถาปนิกตอนส่งผลงานเข้าประกวดแบบ ที่ต้องการฉีกกฎจากโจทย์เกือบทั้งหมดโดยนำเสนอเป็นแนวคิดหลัก 3 ข้อตามที่อติวิชญ์ได้เล่ามาข้างต้น เพื่อที่จะนำเสนอให้อาคารแห่งนี้ให้เป็นได้ทั้งพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะให้กับชุมชนจริงๆ

Council of Engineers Thailand

Council of Engineers Thailand

อติวิชญ์เล่าว่าตอนผลงานผ่านเข้ารอบแล้วต้องเริ่มอิงตาม TOR ซึ่งก็ต้องมีเรื่องของทีมงานเข้ามา ตอนนั้นตนเองก็คิดอยู่นานว่าจะเลือกทีมงานอย่างไรดี เพราะแบบที่ทำไว้ไม่ได้มีแต่งานตึกขนาดใหญ่อย่างเดียว แต่ยังมีแลนด์สเคปขนาดใหญ่ และยังมีเรื่องอาคารประหยัดพลังงานอีกด้วย อติวิชญ์จึงนึกถึงอาจารย์ ศัลยเวทย์ ประเสริฐวิทยาการ จาก Atelier of Architects กับ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร ที่เคยร่ำเรียนด้วยตอนอยู่มหาวิทยาลัย จึงได้ติดต่อเข้าไปทาบทามด้วยความตั้งใจอยากทำงานกับทั้ง 2 ท่าน ปรากฎว่าทีมที่อติวิชญ์พยายามฟอร์มขึ้นมาก็ได้กลายเป็นทีมที่ทุกคนมากันด้วยใจจนกลายเป็นชื่อทีม AATTN8A (ativich / studio x Atelier of Architects x TeamSQ x TeamG x Next2nd x 8.18studio x Africvs) ในที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงไฮไลต์ที่คัดมาจากบทสนทนาเรื่องการออกแบบอาคารที่ทำการสภาวิศวกรแห่งใหม่เท่านั้น เชื่อว่าชุมชนในย่านโชคชัย 4 และเด็กๆ ที่เรียนอยู่แถวนั้นคงจะมีแลนด์มาร์กแห่งใหม่ให้ไปนั่งเล่นในช่วงวันหยุดนอกจากการนัดกันไปห้างสรรพสินค้าใกล้เคียง ส่วนเราที่เป็นฝ่ายนั่งฟังก็เหมือนได้ย้อนกลับไปคิดตามในแต่ละแง่มุม พร้อมกับพยักหน้าทุกครั้งเมื่ออติวิชญ์ขยี้เรื่องพื้นที่สาธารณะในเมืองไทย ซึ่งเชื่อว่านักออกแบบคนอื่นๆ ก็คงมีแนวคิดในเรื่องนี้ไม่ต่างกัน และในอนาคตเราอาจได้เห็นอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ มีการแบ่งปันพื้นที่ให้เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือแม้แต่การปรับปรุงพื้นที่รกร้างในประเทศไทยบางพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะ ให้ผู้คนได้ออกมาใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติใกล้บ้านกันมากขึ้นอย่างแน่นอน

Council of Engineers Thailand

facebook.com/ativichstudio
facebook.com/AtelierofArchitects
sqarchitects.com
facebook.com/8.18Studio
next-2nd.com
africvs.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *