ใส่ความเห็น

เกษตรอินทรีย์

เกษตรอินทรีย์ คือ ระบบการเกษตร (Farming System) ที่ใช้หลักการความสมดุลทางนิเวศวิทยาของธรรมชาติมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการผลิตการเกษตร โดยผสมผสานกิจกรรมความหลากหลายทางชีวภาพของ พืช ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ ฯลฯ ให้เกิดการเกื้อกูลและหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในระบบนิเวศของไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลีกเลี่ยงการใช้ปัจจัยการผลิตที่ต้องนำเข้าจากภายนอกฟาร์ม ปฏิเสธการใช้ปัจจัยที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน สารปฏิชีวนะ ฯลฯ ที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค อนุรักษ์และปรับปรุงสภาพแวดล้อมการเกษตรไปพร้อมๆ กับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

การเกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture) ในบางโอกาสเรียกว่า การทำฟาร์มโดยชีวภาพ (biological farming) หรือการทำฟาร์มด้วยหลักการทางนิเวศวิทยา (ecological farming) โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม การเกษตรอินทรีย์จึงจัดอยู่ภายใต้การเกษตรที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ระบบหนึ่ง
(ชนวน, มปป)
chumphon1
คำจำกัดความของเกษตรอินทรีย์

ในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการให้คำจำกัดความของการเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลายทั้งในระดับองค์กรและบุคคลต่างๆ แต่ในความหลากหลายมีความหมายที่ไปในทิศทางเดียวกันคือ
1. คณะกรรมการว่าด้วยอาหาร ของ FAO/WHO(Codex Alimentarius commission,1999). ได้ให้คำจำกัดความของการเกษตรอินทรีย์ไว้ดังนี้
“เกษตรอินทรีย์ เป็นระบบการทำฟาร์มที่ให้ความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพโดยการจัดระบบนิเวศมากกว่าการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกฟาร์ม เป็นระบบที่ให้ความสำคัญในศักยภาพและผลกระทบของการเกษตรที่มีต่อ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยงดเว้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช สารกันบูด สารปรุงแต่ง ยารักษาโรคปศุสัตว์ พันธุ์พืชและสัตว์ที่มีการดัดแปลงทางพันธุกรรม และสารกัมตภาพ ทั้งนี้โดยการปรับปรุงวิธีการโดยเน้นการจัดการสภาพนิเวศให้เหมาะสมในแต่ละแห่งซึ่งมีความแตกต่างกัน(site-specific management) เพื่อที่จะรักษาและเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินและการป้องกันศัตรูพืชในระยะยาว”

2. สหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า ไอโฟม(IFOAM) ย่อมาจาก(International Federation of Organic Agricultural Movement) ได้ให้คำจำกัดความของเกษตรอินทรีย์ใน 4 หลักการคือ
ด้านสุขอนามัย (health)
ด้านนิเวศวิทยา (ecology)
ด้านความเป็นธรรมและเสมอภาค (fairness)
ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (cares)
(ชนวน, มปป)

หลักการทางด้านสุขอนามัย
“เกษตรอินทรีย์ควรรักษาและเพิ่มพูนสุขอนามัยของ ดิน พืช สัตว์ มนุษย์ และจักรวาล ซึ่งรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่แยกออกจากกัน”

หลักการทางด้านนิเวศวิทยา
“เกษตรอินทรีย์ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่มีการหมุนเวียนเป็นวงจร โดยใช้ประโยชน์ รักษาและเพิ่มพูน ให้มีความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว”

หลักการทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
“เกษตรอินทรีย์ควรมีการจัดการบนพื้นฐานของความรับผิดชอบและระมัดระวังในการปกป้องสุขภาพ และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต” (ชนวน, มปป)

จากการศึกษาคำจำกัดความที่หลากหลายทั้งในต่างประเทศและในประเทศสรุปได้ดังนี้

เกษตรอินทรีย์ คือ การเกษตรที่ใช้หลักการพึ่งพิงความสมดุลตามธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวม เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดระบบนิเวศการเกษตรที่ยั่งยืนสามารถให้ผลผลิตที่ดีในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืนระยะยาวถึงชั่วลูกชั่วหลานผสมผสานระบบการเกษตรทุกระบบที่ส่งเสริมและปรับปรุง สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อผลิตอาหารและปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีพ ที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ใช้หลักการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตรให้เกิดการผสมผสานเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเป็นองค์รวม มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุดหลีกเลี่ยงการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกระบบนิเวศเกษตร (ยกเว้นกรณีจำเป็น)

ใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นชีวภัณฑ์ และสารอินทรีย์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิต รวมทั้งสารอินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ปฏิเสธการใช้ปัจจัยที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์รวมทั้งพันธุ์ที่ผ่านการปรับเปลี่ยนทางพันธุกรรม (GMO=Genetic Modified Organisms) (ชนวน, มปป)

ความแตกต่างระหว่างการเกษตรอินทรีย์กับเกษตรปฏิวัติเขียว

เกษตรอินทรีย์
1. ใช้หลักและแนวคิดการเกษตรแบบองค์รวม ในระบบนิเวศเกษตรที่มี พืช สัตว์ ประมง ป่าไม้ ดิน น้ำ สังคมและเศรษฐกิจ ที่มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างมีบูรณาการโดยให้ความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีทันสมัย
2. เน้นการผสมผสานให้เกิดความหลากหลายเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่าง พืช สัตว์ ประมง ป่าไม้ ในระบบไร่นาสวนผสมวนเกษตร และเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
3. ใช้พันธุ์ที่คัดเลือกให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นที่แตกต่างกันปฏิเสธการใช้พันธุ์ที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO)
4. เน้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่เกิดจากการหมุนเวียนใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่ในฟาร์มและในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งเน้นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและลดต้นทุนการผลิต
5. เน้นการใช้แรงงานคน สัตว์ และเครื่องทุ่นแรงขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงานรวมทั้งการใช้หลักการธรรมชาติในการจัดการศัตรูพืช การปรับปรุงดิน ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. มีเป้าหมายการผลิตเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค การรักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน

เกษตรปฏิวัติเขียว
1. ใช้หลักและแนวคิดการเกษตรแบบแยกส่วนโดยเน้นความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น แยกพืช สัตว์ ประมง ป่าไม้ ดิน น้ำ สังคมและเศรษฐกิจออกจากกัน ให้เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแนวทางของเทคโนโลยีทันสมัยแบบตะวันตก
2. เน้นการผลิตแบบเชิงเดี่ยวที่แยก พืช สัตว์ ประมง ออกจากกันเป็นชนิดเดียวในพื้นที่ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ในลักษณะของเกษตรอุตสาหกรรม
3. ใช้พันธุ์ที่ได้จากการผสมและคัดเลือกโดยหลักการทางพันธุศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงเป็นประการสำคัญ
4. เน้นการเพิ่มผลผลิตจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้จากภายนอก เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน ฯลฯ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
5. ใช้เครื่องทุ่นแรงจากพลังงานการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการประกอบกิจการ
6. มีเป้าหมายเพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีกำไรเป็นตัวเงินเป็นเครื่องชี้วัด เพื่อการค้าและส่งออกไปต่างประเทศเป็นอันดับแรก ที่เหลือจึงใช้บริโภคภายในประเทศ
(ชนวน, มปป)

เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย

การเกษตรอินทรีย์ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการวิวัฒนาการของมนุษยชาติตั้งแต่โบราณ จากหลักฐานทางวิชาการ เกษตรอินทรีย์ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยแรกของการที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เมื่อประมาณ 1,000 ปี มาแล้ว ทั้งนี้ด้วยเหตุผลเนื่องจากในสมัยแรกของการทำการเกษตรของมนุษย์นั้น มนุษย์ได้อาศัยหลักการอยู่ร่วมกันและการพึ่งพิงของสรรพสิ่งทั้งที่มีชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ ปราศจากการนำเอาปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ใดๆ มาใช้ในการผลิต ความสมดุลของธรรมชาติได้เกิดขึ้นและคงอยู่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ด้วยขบวนการของการอยู่ร่วมกัน การเสริมสร้างสนับสนุนของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกัน การแข่งขัน การต่อสู้ทำลาย การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และนำมาซึ่งการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันในระบบเกษตรตามธรรมชาติในสมัยโบราณ

โดยตามธรรมชาติสรรพสิ่งทั้งหลายต่างมีปฏิสัมพันธ์ทั้งเกื้อกูลและควบคุมซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดังที่เกิดขึ้นในสภาพนิเวศป่าไม้ตามธรรมชาติ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดระบบเกษตรอินทรีย์ ที่ใช้หลักการทางนิเวศวิทยา โดยที่ในสภาพระบบนิเวศป่าไม้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ดินจะได้รับการปรับปรุงจากการถับถมของเศษพืช เศษซากสัตว์ ทำให้ดินเกิดความอุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการระบาดของศัตรูพืชเนื่องจากมีสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติช่วยควบคุมทำลายศัตรูพืช ทำให้จำนวนศัตรูพืชไม่เกิดการระบาดจนทำให้เกิดความเสียหาย

ตราบจนกระทั่ง มนุษย์มีความต้องการผลผลิตจากการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จนกระทั่งได้กลายเปลี่ยนเป็นการค้าขายเพื่อผลกำไรสูงสุดทั้งในระดับประเทศและเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ มีผลทำให้ระบบการผลิตการเกษตรต้องเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นระบบการผลิตหลายอย่างเพื่อความพอเพียงในความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน เป็นการผลิตที่มุ่งให้ได้ผลผลิตเพื่อป้อนตลาด มีการปรับเปลี่ยนจากระบบการเกษตรผสมผสานตามแนวทางของการอาศัยความสมดุลตามธรรมชาติมาเป็นระบบการผลิตเพียงอย่างเดียว ในพื้นที่ติดต่อกันอย่างกว้างขวาง เป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาซึ่งการบุกเบิกพื้นที่ป่าไม้เพื่อนำมาใช้ในการเกษตรมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบทำให้ความสมดุลตามธรรมชาติถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการเกษตรที่ใช้หลักการของระบบนิเวศธรรมชาติไปสู่ระบบการเกษตรที่ต้องนำปัจจัยการผลิตจากภายนอก เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมนพืชและสัตว์เข้ามาในการเพิ่มผลผลิตอย่างในปัจจุบัน (ชนวน, มปป)

การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยเกิดจากปัจจัย 4 ประการ คือ
ปัจจัยแรก คือ ความตระหนักถึงสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มของประชาชนที่มีการศึกษาที่ได้รับข้อมูลของสาเหตุการเจ็บป่วย และเสียชีวิต ด้วยโรคมะเร็งที่มีผลมาจากการบริโภคอาหารที่เป็นสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืชที่มีข้อมูลที่พิสูจน์ว่าส่วนใหญ่เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง คนจำนวนมากเริ่มระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีสารตกค้างมากขึ้น โดยพยายามหาซื้อพืชผักที่ปลอดจากสารพิษซึ่งมีขายไม่มากในราคาที่สูงกว่าพืชธรรมดา ทำให้เกิดความต้องการผลผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การเกษตรอินทรีย์เพิ่มความสำคัญมากขึ้น
ปัจจัยที่สอง ได้แก่ปัจจัยการผลิตการเกษตรที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้มีราคาสูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ในขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนที่สมควร เกษตรกรจึงพยายามหาทางออกที่สามารถจะรอดพ้นจากสภาพการขาดทุนและหนี้สิน ในขณะเดียวกันกลุ่มขององค์กรเอกชนได้พัฒนา เกษตรกรรมทางเลือกที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการเกษตรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ และสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้จำนวนมาก การเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันของเกษตรกรได้ทำให้การเกษตรทางเลือกเป็นหนทางนำสู่เกษตรอินทรีย์ได้ขยายออกไปมากขึ้นตามลำดับ
ปัจจัยที่สาม ความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมที่ถูกปนเปื้อน จากสารพิษที่ใช้ในการเกษตรซึ่งมีผลทำให้สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเป็นอาหารของประชาชนในชนบทได้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งประสบการณ์การเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีข้อมูลทางวิชาการจำนวนมากได้พิสูจน์ว่าเป็นสาเหตุของ การทำให้ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ และการเกิดศัตรูพืชระบาดมากขึ้น และเป็นต้นเหตุของการใช้สารเคมีที่เป็นพิษมากขึ้น และเป็นต้นเหตุของการใช้สารเคมีที่เป็นพิษมากขึ้น การเกษตรทางเลือกซึ่งเน้นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์จึงได้รับการพัฒนาจนนำไปสู่การเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
ปัจจัยที่สี่ ความต้องการสินค้าอินทรีย์ของตลาดต่างประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ได้เพิ่มทวีมากขึ้น รวมทั้งราคาผลผลิตอินทรีย์ในตลาดต่างประเทศสูงกว่าราคาผลผลิตธรรมดาประมาณ 20-30 % จึงเป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการส่งออกสินค้าการเกษตรและหน่วยราชการของกระทรวงพาณิชย์ในต่างประเทศ ได้มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์มากขึ้นในประเทศไทย
(ชนวน, มปป)

สถานการณ์เกษตรอินทรีย์ของโลก
สถานการณ์เกษตรอินทรีย์ของโลกมีแนวโน้มของการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 จนปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีการผลิตเกษตรอินทรีย์ จำนวน 120 ประเทศ มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 20 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีการผลิตเกษตรอินทรีย์มากที่สุด และในปี ค.ศ. 2005/2006 พบว่าในทวีปเอเชียประเทศอื่น และในละตินอเมริกา ประเทศอาร์เจนตินามีอัตราส่วนการผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างราดเร็ว
ประเทศต่างๆ ที่เป็นผู้นำในการเกษตรแบบปฏิวัติเขียวมาก่อนในอดีตและในปัจจุบันก็ยังเป็นประเทศที่มีผลประโยชน์มหาศาลจากอุตสาหกรรมเคมีเกษตร เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ แต่ประเทศเหล่านี้กลับกลายเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบใช้สารเคมีมาเป็นการเกษตรอินทรีย์โดยรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้ประกาศเป็นนโยบายที่จะให้มีการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง เนื่องจากเหตุผลในปัจจุบันที่ประชาชนเกิดความวิตกกังวลในเรื่องปัญหาสุขภาพ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมุ่งเน้นทิศทางการพัฒนาให้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป มีแผนการที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมจากการผลิตในระบบเกษตร(เกษตรปฏิวัติเขียว)ไปเป็นการเกษตรในระบบอินทรีย์จนถึงระดับร้อยละ 20 ของพื้นที่การผลิตทางการเกษตรกรรมทั้งหมด ในการผลักดันนโยบายได้จัดทำแผนการส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ การกำหนดมาตรการต่างๆ และการจัดทำโครงการรองรับ เช่น ให้การช่วยเหลืออุดหนุนเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ การให้บริการความรู้ การส่งเสริมการตลาด รวมทั้งการจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานการติดฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์
สถาบันต่างๆ เช่น SOEL, IFOAM, FiBL และ FAO ได้มีความตื่นตัวและให้ความสนใจในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติของการผลิตเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากรายงานความร่วมมือของสถาบันในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและสรุปผลข้อมูลของการเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกไว้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ในหนังสือ The World of Organic Agriculture : Statistic & Emerging Trend 2006 นอกจากนี้ FAO หรือ สถาบันอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ประกาศให้ระบบเกษตรอินทรีย์เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาชนบทแบบยั่งยืนที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ธนาคารโลก หรือ World Bank และศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศได้มีการสนับสนุนให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อให้มีความสามารถในการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าสู่การค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศที่กำลังพัฒนาแล้วกำลังเติบโตเพิ่มขึ้นมาก เป็นผลให้เกิดการกระจายสินค้าไปยังตลาดค้าปลีก มีแนวโน้มในทิศทางกว้างขวางและเป็นระบบ โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่และบริษัทในเครือนำผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ออกวางจำหน่ายมากขึ้นเป็นการรองรับความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นในประเทศแคนาดา บริษัทล็อบลอร์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดมีการขยับตัวเข้าสู่วงการเกษตรอินทรีย์ในเชิงรุก รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายยังมีการพัฒนาการผลิต โดยพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ให้เป็นส่วนหนึ่งในภาคธุรกิจของตน จากการสำรวจพบว่าช่องทางการตลาดของอาหารเกษตรอินทรีย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วเมื่อช่วงทศวรรษที่แล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในท้องถิ่นและตลาดค้าเกษตรอินทรีย์รายย่อยถึง ร้อยละ 93 แต่ในปัจจุบัน ช่องทางการตลาดได้เปลี่ยนแปลงไป คือสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ขยายตัวไปในตลาดซุปเปอร์มาเกตมากกว่าตลาดสินค้าย่อย แบ่งออกเป็น ซุปเปอร์มาร์เกต 25-50% ร้านค้าเฉพาะผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ 25-40% ขายตรง 10-40%
การสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติทั่วโลก ปี ค.ส. 2005-2006 ของ The Foundation Ecology & Agriculture : SOLE และ The Research Institure : FiBL (สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์) พบว่า สถานการณ์เกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีพื้นที่ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ได้มีการตรวจรับรองมาตรฐาน มีพื้นที่รวม 193.75 ล้านไร่ หรือประมาณ 31 ล้านเฮกเตอร์ รวมถึงพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตร 123.13 ล้านไร่ หรือประมาณ 19.7 ล้านเฮกเตอร์ ทั่วทั้งโลกมีการผลิตเกษตรอินทรีย์ประมาณ 316.875 ล้านไร่ หรือประมาณ 51 ล้านเฮกเตอร์ ประเทศที่มีพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์สูงอันดับหนึ่ง ได้แก่ ภูมิภาคออสเตรเลีย-แปซิฟิก มีพื้นที่การผลิตรวม 75.63 ล้านไร่ (12.1 ล้านเฮกเตอร์) รองลงมาได้แก่ ประเทศจีน มีพื้นที่การผลิตรวม 21.88 ล้านไร่ (3.5 ล้านเฮกเตอร์) อันดับสาม ได้แก่ประเทศอาร์เจนตินา มีพื้นที่การผลิตรวม 17.5 ล้านไร่ (2.8 ล้านเฮกเตอร์) หากจำแนกพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ ตามระดับภูมิภาค พบว่า ทวีปยุโรปมีสัดส่วนของพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ต่อพื้นที่การเกษตรทั้งหมดสูงมากเป็นอันดับหนึ่ง หากพิจารณาด้านการมีจำนวนของฟาร์มผลิตเกษตรอินทรีย์มากที่สุด
องค์กรเพื่อการวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์(FiBL)สำรวจข้อมูลการจำแนกพื้นที่ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์ในภาพรวมของพื้นที่ใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบเป็นร้อยละกับพื้นที่ทั้งหมดที่ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์โดยรวมของโลกดังต่อไปนี้
1. พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงเหมาะแก่การเพราะปลูกพืชรายปี(Arable Land) มีปริมาณพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 13 ของพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด
2. พื้นที่ที่มีการผลิตเกษตรอินทรีย์ไม้ยืนต้นอย่างถาวร(Perman Crops) มีปริมาณพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 5 ของพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด
3. พื้นที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนจากเกษตรกระแสหลักไปสู่เกษตรอินทรีย์ยังไม่มีการตรวจรับรองมาตรฐาน และการผลิตอื่นๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากป่า มีปริมาณพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 52 ของพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด
4. พื้นที่ที่ใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีปริมาณพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด

ในสถานการณ์ปัจจุบันของโลก การเกษตรอินทรีย์มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการขยายตัวในระดับเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 20 ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักๆ ได้แก่ กระแสความนิยมในการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชากรโลกได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาการเจ็บป่วยที่เกิดจากพิษของสารเคมีที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และมีผลกระทบไปถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้ ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เกษตรกรได้ประสพปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงมากขึ้นได้แก่ปัจจัยการผลิตการเกษตรที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้มีราคาสูงขึ้น อย่างมากและรวดเร็วในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ในขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนที่สมควร เกษตรกรจึงพยามหาทางออกที่สามารถจะรอดพ้นจากสภาพการขาดทุนและหนี้สิน ในขณะที่กลุ่มขององค์กรเอกชนได้พัฒนาเกษตรกรรมทางเลือกที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการเกษตรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์และสามารถปลดหนี้สินได้จำนวนมาก การเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันของเกษตรได้ทำให้การเกษตรอินทรีย์ได้ขยายออกไปมากขึ้นตามลำดับ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ได้มีส่วนผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลต้องฟังเสียง และตอบสนองการเรียกร้องในสิ่งที่เป็นความปลอดภัยต่อชีวิต และสิ่งแวดล้อมของประชาชน จึงมีผลทำให้รัฐบาลและสถาบันต่างๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนาแล้วและสถาบันระดับโลกได้กำหนดเป็นนโยบาย และแผนการพัฒนาเพื่อการสนับสนุนการผลิตเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ระบบการผลิต จนได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่แต่เดิมเป็นผู้นำเทคโนโลยีการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว เช่น สหรัฐ ยุโรป ฯลฯ ซึ่งจะมีผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกต่อไป(ชนวน, มปป)

การใช้จุลินทรีย์ในการเกษตรอินทรีย์
มนุษย์รู้จักการนำเอาจุลินทรีย์มาใช้ในการเกษตรนับพันปีโดยเฉพาะใช้ในการแปรรูปผลผลิต การผลิตอาหาร การปรับปรุงบำรุงดิน การป้องกันกำจัดโรค และศัตรูพืช ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการพัฒนาการใช้จุลินทรีย์ในการเกษตรมากขึ้น ซึ่งแบ่งประเภทของจุลินทรีย์ได้เป็น 5 ประเภทคือ
1. ประเภทที่ใช้ในการผลิตอาหาร เช่น เห็ดชนิดต่างๆ
2. ประเภทที่ใช้ในการแปรรูปผลผลิต เช่น ยีส เชื้อรา ฯลฯ
3. ประเภทที่ใช้ในการปรับปรุงดิน เช่น ไรโซเบียม ไมโครไรซ่า ฯลฯ
4. ไวรัส
5. แบคทีเรีย

ใส่ความเห็น