ถ่านอัดแท่งอนามัยและน้ำส้มควันไม้
Charcoal Briquette and Wood Vinegar
             

          พลังงานเชื้อเพลิง “ถ่าน” นับเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในครัวเรือนเพื่อประกอบอาหารประเภทปิ้ง ย่าง ฯลฯ ในอดีตเราจะคุ้นเคยกับถ่านไม้เท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการผลิตถ่านอัดแท่งโดยใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น ผักตบชวา มาอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งเรียกว่า “เชื้อเพลิงเขียว” และถ่านจากแกลบ รวมทั้งการนำถ่านไม้มาอัดแท่งเพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านการให้ความร้อนที่สูงและสม่ำเสมอมากขึ้น การส่งเสริมใช้ถ่านไม้นอกจากจะเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว การผลิตถ่านที่มีคุณภาพยังจะช่วยให้อาหารปิ้งย่างมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ในกระบวนการเผาถ่านนอกจากถ่านแล้วยังมีน้ำส้มควันไม้เป็นผลพลอยได้ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม

          ถ่านอัดแท่งอนามัย ได้มาจากกระบวนการผลิตถ่านที่ใช้อุณหภูมิในการเผาสูงประมาณ 700 - 800 องศาเซลเซียส เพื่อไล่น้ำมันดินให้ออกไปจากถ่าน (ปกติกระบวนการเปลี่ยนไม้เป็นถ่านจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ที่อุณหภูมิ 400 องศาเซลเซียส แต่ยังมีปริมาณคาร์บอนเสถียรต่ำและมีน้ำมันดินเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่สูงมาก) ทำให้ถ่านมีความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น และเมื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารก็ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างอยู่ในอาหารประเภทปิ้งย่าง อีกทั้งยังผ่านกระบวนการบดและอัดเป็นก้อนทำให้ถ่านที่ได้มีความหนาแน่นสม่ำเสมอ เมื่อติดไฟจะทำให้มีความร้อนสม่ำเสมอ ควบคุมความร้อนง่าย ไฟไม่แตกประทุ และมีควันน้อย คุณสมบัติของถ่านอัดแท่งอนามัย เป็นถ่านที่ให้ค่าความร้อนสูง สะอาด เพราะมีปริมาณคาร์บอนเสถียรสูง สารระเหยต่ำ ควันน้อย ขี้เถ้าน้อย  อาหารที่ปิ้งย่างมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ประหยัดและสะดวก เพราะมีความหนาแน่นสูง ติดไฟนาน

          ขั้นตอนการผลิตถ่านอัดแท่งประกอบไปด้วย การบดถ่านโดยนำถ่านที่เผาได้มาบดเป็นผง หลังจากนั้นทำการผสมถ่านโดยใช้ผงถ่าน 10 กิโลกรัม แป้งมัน 0.5  กิโลกรัม และน้ำ 3 ลิตร และนำผงถ่านที่ได้ผสมเรียบร้อยแล้วเข้าเครื่องอัดแท่ง หลังจากนั้นนำถ่านอัดแท่งที่ได้นำไปอบที่อุณหภูมิ 80-100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 48 ชม. หรือผึ่งแดดให้แห้ง

          ข้อดีของถ่านอัดแท่ง คือ สามารถนำวัสดุต่าง ๆ ที่เหลือใช้จากการเกษตรมาผลิตถ่านได้ เช่น กะลามะพร้าว กะลาปาล์ม ซังข้าวโพด แกลบ ใบไม้ ขี้เลื่อยชานอ้อย และเศษไม้ปลายไม้ ฯลฯ   สามารถกำหนดความแน่นของถ่านได้ตามต้องการ และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เนื่องจากถ่านมีรูปร่างและขนาดเหมือนกันทุกก้อน  และสามารถกำหนดค่าความร้อนและอายุการใช้งานของถ่านอัดแท่งได้ โดยการนำวัสดุต่าง ๆ มาผสมเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ค่าความร้อนที่ต้องการ

          สำหรับน้ำส้มควันไม้ เป็นพลอยได้จากการกระบวนการเผาถ่าน โดยการเก็บน้ำส้มควันไม้จะทำเมื่ออุณหภูมิปล่องควันเตาถ่านอยู่ในช่วง 80-120 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงที่สารอินทรีย์ที่สะสมอยู่ในเปลือกและแก่นไม้ซึ่งอยู่ในรูปแป้งเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน สลายตัวกลายเป็นไอ เมื่อไอกระทบอากาศที่เย็นภายในท่อควบกลั่นไอซึ่งต่อจากปล่องระบายควันจากเตา  ทำให้ไอของสารอินทรีย์ที่ได้กลั่นตัวเป็นของเหลว เรียกว่า  น้ำส้มควันไม้ดิบ เมื่อนำไปบรรจุในภาชนะตั้งทิ้งไว้นานประมาณ 3 – 6 เดือน แยกเอาส่วนที่เป็นน้ำส้มควันไม้ออกจากน้ำมันเบาและน้ำมันดินออกมาใช้ประโยชน์

          น้ำส้มควันไม้เป็นของเหลวมีสีน้ำตาล มีกลิ่นไม้ และมีรสเปรี้ยว องค์ประกอบทางเคมีของน้ำส้มไม้ดิบ พบว่า มีสารประกอบอินทรีย์เคมีมากกว่า 200 ชนิด  สารประกอบที่สำคัญ ได้แก่ น้ำ 85 % กรดอินทรีย์ประมาณ 3 % และสารอินทรีย์อื่นๆอีกประมาณ 12 % ซึ่งกรดอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำส้มไม้มีหลายชนิด ที่สำคัญ คือ กรดอะซิติก (acetic acid) กรดฟอร์มิค (กรดมด) ฟอร์มาลดิไฮด์ (formaldehyde) เอธิลเอ็นวาเลอเรต (ethyl-n-valerate) เมทธานอล (methanol) น้ำมันทาร์ (tar) อะซีโตน (acetone) และฟีนอล (phenol) ฯลฯ สำหรับคุณสมบัติของน้ำส้มควันไม้จะมีค่า pH อยู่ในช่วง 1.5-3.7 มีค่าความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1.005  มีสีเหลืองหรือน้ำตาลแดง ใสและไม่มีสารแขวนลอย

          ประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้ใช้ได้ทั้งในครัวเรือน เกษตร และปศุสัตว์ เช่น ผสมน้ำ 20 เท่า จะช่วยป้องกันปลวกและมด พ่นลงดินจะช่วยทำลายจุลินทรีย์ ไส้เดือนฝอย ทาผิวหน้าไม้ที่เป็นเชื้อรา ผสมน้ำ 50 เท่า พ่นหรือราดพื้นดินช่วยป้องกันปลวก มด และสัตว์มีพิษต่างๆ ผสมน้ำ 100 เท่า ใช้ราดโคนต้นไม้ รักษาโรคราและโรคเน่า ผสมน้ำ 200 เท่า ใช้ฉีดพ่นใบขับไล่แมลงทุกๆ 7-15 วัน ป้องกันเชื้อรา รดโคนต้นไม้เพื่อเร่งการเจริญเติบโต เพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ฉีดในฟาร์มปศุสัตว์เพื่อลดกลิ่นและแมลง ฯลฯ ผสมน้ำ 500 เท่า ใช้ฉีดผลอ่อน เพื่อช่วยขยายให้ผลโตขึ้นหลังจากติดผล 15 วัน และก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน ทำให้รสชาติหวานขึ้น ผสมน้ำ 1,000 ลิตร ใช้ผสมสารเคมีช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีลงประมาณ 50 % เนื่องจากทำให้เกิดการละลายที่ดี ฯลฯ

คณะผู้วิจัย
นายณัฐวัฒน์ คลังทรัพย์ นายอนุชา ทะรา และ นายปิยะวัฒน์ จามรโชติสิน
สถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.08-9748-7746