ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือกล

13.2K



ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือกล

 
เครื่องมือกล
 

    เครื่องมือกลในฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือกล ซึ่งร้อยละ 90 พบว่าโรงงาน สถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ มีการใช้งานเกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ ชนิดประเภทต่างๆ เกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงหรือก่อสร้าง ติดตั้ง ดัดแปลงหรือใช้ในการปรับแต่งเครื่องจักรในกระบวนการผลิต

    ซึ่งการทำงานกับเครื่องมือ อุปกรณ์ด้วยความปลอดภัย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานจะนำเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆไปใช้งาน ควรที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้งานและ ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อจะได้ใช้งานเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย และสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด

    ตามที่กฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง มาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน เกี่ยวกับเครื่องจักร ซึ่งกฎหมายกล่าวถึงนิยามความหมายของ เครื่องจักร เอาไว้อย่างชัดเจนและยังหมายรวมถึงเครื่องมือกล ด้วยจากความหลากหลายในการออกแบบ ผลิต และการนำไปใช้งาน ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถเลือกใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะงาน

     การปลูกฝังวิธีการทำงานด้วยความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากเกินความสามารถสำหรับผู้ปฏิบัติงาน และจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือ อุปกรณ์ มีความหลากหลาย ซึ่งแต่ละชนิด แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันทั้งวิธีการเคลื่อนย้าย วิธีการใช้งาน วิธีการจัดเก็บและตรวจสอบ บำรุงรักษาผู้ปฏิบัติงานจึงต้องศึกษาทำความเข้าใจ เรียนรู้ ฝึกให้เกิดความชำนาญในการใช้งานที่ถูกต้องและปลอดภัยพร้อมทั้งตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้ปฏิบัติงานใกล้เคียงด้วย

ชนิดและประเภทของเครื่อง มืออุปกรณ์ สามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆดังต่อไปนี้

1.1 เครื่องมือที่อาศัยกำลังจากผู้ใช้งาน (Hand tool)

     “เครื่องมือ” หมายถึง อุปกรณ์ในการทำงานที่ใช้งานโดยอาศัยกำลังจากแขนและมือโดยปกติจะมีขนาดเล็กน้ำหนักเบาพอดีกับมือหรือกำลังของคนที่ใช้เพื่อให้เหมาะสมและสะดวกในการใช้งาน

 
เครื่องมือที่อาศัยกำลังจากผู้ใช้งาน (Hand tool)
 

 1.2 เครื่องมือกลชนิดเคลื่อนย้ายได้ (Portable power tool)

    “เครื่องมือกลชนิดเคลื่อนย้ายได้” หมายถึง เครื่องมือกลขนาดเล็กที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งไม่ได้ยึดติดตายอยู่กับที่เหมือนเครื่องมือกลทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ดังนั้นจึงมีความคล่องตัวและสะดวกในการใช้งานจึงมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย

 
เครื่องมือกลชนิดเคลื่อนย้ายได้ (Portable power tool)
 

 1.3 ความหมายของเครื่องมือกล (Machine tools)

    “เครื่องมือกล” หมายถึง เครื่องมือที่ทำงานโดยอาศัยพลังงานจากไฟฟ้าเครื่องยนต์และต้นกำลังอื่นๆปกติจะมีขนาดใหญ่มีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยมือใช้สำหรับเปลี่ยนหรือแปรรูปวัสดุด้วยการเฉือนกัดขัดหรืออัดขึ้นรูปมีใช้งานมากในโรงงานแปรรูปไม้โรงงานซ่อมสร้างเครื่องจักรและโรงกลึงทั่วไป

 
ความหมายของเครื่องมือกล (Machine tools)
 

     ลักษณะการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายจากการใช้เครื่องมือและเครื่องมือกล

เราสามารถแบ่งการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องมือหรือเครื่องมือกลได้เป็น 3 สาเหตุดังนี้

1. เกิดจากความบกพร่องของเครื่องมือหรือเครื่องกล ได้แก่

    - การออกแบบไม่เหมาะสม เช่น เครื่องมือมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไปมีน้ำหนักมากไปด้ามจับหรือมือถือไม่มีวัสดุกันลื่นส่วนเครื่องมือกลไม่มีอุปกรณ์ป้องกันบริเวณที่อันตราย
    - วัสดุที่ใช้ทำไม่เหมาะสม เช่น ใช้สายไฟฟ้าหรือฉนวนหุ้มป้องกันไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานสายส่งลมหรือสายส่งแก๊สทำจากยางหรือพลาสติกที่ไม่ได้มาตรฐาน
    - สภาพเครื่องมือหรือเครื่องมือกลชำรุด เช่น ไขควงปากฉีกขาดหรือด้ามแตกร้าวสกัดหัวบานหรือปลายทื่อตู้เชื่อมเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ท่อหรือถังบรรจุก๊าซมีสภาพรั่วบวมหรือบุบ

 
ความบกพร่องของเครื่องมือหรือเครื่องกล
 

 2. เกิดจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน

    - ใช้เครื่องมือไม่ถูกกับงาน เช่น ใช้ประแจแทนค้อนใช้ไขควงหรือตะไบแทนเหล็กงัด

    - ใช้เครื่องมือกลที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย (Safe Guard) ไม่มีสายดิน

    - ใช้เครื่องมือหรือเครื่องกลที่ชำรุด เช่น ไขควงหรือตะไบไม่มีด้ามค้อนหรือตะไบด้ามแตกร้าวสว่านหรือเครื่องเจียระไนแบบมือถือฉนวนที่หุ้มภายในชำรุด

    - มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้ใช้ แต่ไม่ยอมสวมใส่ขณะปฏิบัติงานกับเครื่องมือหรือเครื่องมือกลที่มีเศษวัสดุกระเด็นแสงจ้าเสียงดังหรือฝุ่นมาก

    - สวมใส่สิ่งอื่นแทนอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเช่นใช้แว่นตากรองแสงธรรมดากับกระดาษแข็งแทนหน้ากากเชื่อม

 
การกระทำที่ไม่ปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน
 

  3. เกิดจากสภาพแวดล้อมบริเวณการทำงานไม่ปลอดภัย

    - เครื่องมือหรือเครื่องมือกลขณะปฏิบัติงานก่อให้เกิดเสียงดังความร้อนสูงฝุ่นมากมีสารเคมีหรือสารพิษทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน
    - พื้นที่บริเวณที่ปฏิบัติงานมีช่องเปิดเป็นหลุมมีน้ำขังลื่นทำให้ปฏิบัติงานลำบากหรือยุ่งยาก
    - การวัดวางเครื่องมือกลไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยหรือหนาแน่นเกินไป
    - บริเวณที่ปฏิบัติงานมีสารไวไฟหรือวัตถุระเบิดการใช้เครื่องมือกลที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะต้องมีระบบป้องกันการเกิดประกายไฟและห้ามการเชื่อมด้วยไฟฟ้าและแก๊สอย่างเด็ดขาด
    - บริเวณที่ปฏิบัติงานคับแคบมีพื้นที่จำกัดหรือไม่มีอากาศถ่ายเทการปฏิบัติงานต้องมีการระบายอากาศช่วย
    - สภาพการทำงานมีลักษณะบังคับให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในท่าทางที่ก่อให้เกิดการเมื่อยล้าได้ง่ายเช่นงานที่ต้องก้มหรือโน้มตัวไปข้างหน้าหรือข้างหลังเป็นเวลานานๆต้องเงยหน้าตลอดเวลาเป็นต้น
    - บริเวณที่ปฏิบัติงานไม่มั่นคงหรือไม่แข็งแรงทำให้เสี่ยงต่อการพังทลายหรือตกจากที่สูงเช่นการใช้เครื่องมือหรือเครื่องมือกลชนิดเคลื่อนย้ายได้นั่งบนร้านหรือหลังคาที่ไม่แข็งแรง

 
สภาพแวดล้อมบริเวณการทำงานไม่ปลอดภัย
 

 หลักการนำไปใช้งานที่ถูกต้องและปลอดภัย
    การใช้ไขควงอย่างถูกต้องและปลอดภัยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ห้ามใช้ไขควงแทนสกัดหรือเหล็กนำศูนย์ และเหล็กงัด
2. สำหรับผู้ถนัดขวา ให้ใช้มือขวาจับด้าม มือซ้ายจับที่แกนแล้วออกแรงบิดด้วย
3. มือขวา ส่วนมือซ้ายประคอง ถ้ากำลังไม่พอให้ใช้ ประแจปากตายช่วย
4. ห้ามใช้ค้อนตอกที่ด้ามไขควง ยกเว้นไขควงที่ใช้ค้อนตอกได้
5. หลังจากใช้งานต้องทำความสะอาดเก็บไว้ที่แห้งปราศจากน้ำมันและจารบี

    การใช้ประแจอย่างถูกต้องและปลอดภัยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ปากประแจต้องไม่ชำรุด
2. เมื่อสวมประแจเข้ากับหัว Bolt หรือ Nut ปากประแจต้องสวมแน่นพอดี การจับประแจสำหรับผู้ถนัดมือขวาให้ใช้มือขวาจับปลายประแจ ส่วนมือซ้ายหาที่ ยึดให้มั่นคง ร่างกายต้องอยู่ในสภาพมั่นคงและสมดุล
3. เลือกใช้ประแจที่มีขนาดของปากและความยาวของด้ามเหมาะสม กับการใช้งาน
4. การใช้ประแจปากปรับได้ ต้องปรับปากประแจให้แน่นกับหัว Bolt และNut ก่อนออกแรงขัน
5. หลังจากใช้งานควรทำความสะอาดก่อนจัดเก็บ
6. การจัดเก็บประแจควรจะมีสถานที่เก็บ และปราศจากจารบีหรือน้ำมัน

    การใช้คีมอย่างถูกต้องและปลอดภัยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. เลือกใช้คีมให้ตรงกับลักษณะงาน
2. ส่วนปากของคีมต้องคม
3. การจับคีมควรให้ด้ามคีมอยู่ที่ปลายนิ้วทั้ง4และใช้อุ้มมือหรือนิ้วหัวแม่มือกดด้ามคีม
4. ไม่ควรใช้คีมขัน Bolt หรือ Nut
5. ควรหยอดน้ำมันหล่อลื่นที่จุดหมุนของคีม
6. หลังใช้งานควรทำความสะอาดให้เรียบร้อย

        การใช้ค้อนช่างกลอย่างถูกต้องและปลอดภัยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. เลือกใช้ค้อนให้เหมาะสมกับงาน
2. ความยาวของด้ามค้อนต้องเหมาะสมกับน้ำหนักของตัวค้อน และด้ามต้องเหมาะสมกับมือผู้ใช้
3. ตัวค้อนและด้ามค้อนต้องยึดกันแน่น ควรทดสอบโดยการโยกตัวค้อนไปมา
4. ขณะใช้งานด้ามค้อนและหน้าค้อน ห้ามเปื้อนน้ำมันหรือจาระบี
5. ควรตรวจสอบด้ามค้อนต้องไม่มีรอยแตกร้าว หน้าค้อนเมื่อสัมผัสกับชิ้นงานต้องตั้งฉาก และมือต้องจับปลายด้ามค้อน

 

ข้อมูลและรูปภาพ : http://www.npc-se.co.th/

 

sendLINE

Comment