เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 15:49:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 88710 views

ระบบการขนถ่ายวัสดุ (Material Handling System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโซ่อุปทานองค์กร

ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมีกระบวนการผลิตหรือกระบวนการแปลงสภาพจากปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ วัตถุดิบ เครื่องจักร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets)

ระบบการขนถ่ายวัสดุ  (Material Handling System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโซ่อุปทานองค์กร
บูรณะศักดิ์ มาดหมาย 
Buranasak_madmaiy@yahoo.com

 
ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมีกระบวนการผลิตหรือกระบวนการแปลงสภาพจากปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ วัตถุดิบ เครื่องจักร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) เช่น แรงงาน ระบบการจัดการ ข่าวสาร ทรัพยากรที่ใช้จะต้องมีคุณสมบัติและประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสม และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เพื่อให้สินค้าสำเร็จรูปสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ในท้องตลาด โดยผ่าน กระบวนการแปลงสภาพ (Conversion Process)

เป็นขั้นตอนที่ทำให้ปัจจัยนำเข้าที่ผ่านเข้ามามีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ได้แก่ กระบวนการผลิตในโรงงาน การขนส่ง การเก็บเข้าคลังสินค้า การค้าปลีก การค้าส่ง การติดต่อสื่อสาร และสุดท้ายจนมาเป็น ผลผลิต (Output) เป็นผลได้จากระบบการผลิตที่มีมูลค่าสูงกว่าปัจจัยนำเข้าที่รวมกัน อันเนื่องมาจากที่ได้ผ่านกระบวนการแปลงสภาพ ผลผลิต สินค้า (Goods) และบริการ (Service)

 


โดยภายในกระบวนการแปลงสภาพปัจจัยนำเข้าให้กลายเป็นสินค้าและบริการดังกล่าว เมื่อพิจารณาในแง่ของการทำงานภายในโรงงานอุตสาหกรรม มักจะเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลากับการเคลื่อนที่ การเคลื่อนย้ายวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตทั้ง 3 องค์ประกอบ คือ ปัจจัยนำเข้า (Input), กระบวนการแปลงสภาพ (Conversion Process) และผลผลิต (Output) โดยการเคลื่อนย้ายดังกล่าวเรียกกันว่า การขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) ที่จะลำเลียงส่วนต่าง ๆ ทั่วทั้งกระบวนการผลิต

ตั้งแต่การนำวัตถุดิบมาถึงโรงงาน ผ่านกระบวนการผลิต จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ หากขาดการขนถ่ายวัสดุแล้วการผลิตจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นการวิเคราะห์การขนถ่ายวัสดุจึงไม่ได้หมายถึงการกำจัดการขนถ่ายให้หมดไป หากแต่จะพยายามลดปัญหาให้น้อยลง โดยสรุปก็คือทำอย่างไรให้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัด ฉะนั้น การขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) จึงเป็นเรื่องของกระบวนการผลิตขององค์กรที่ต้องให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อการบริหารโซ่อุปทานในการผลิตของโรงงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิภาพ


ระบบการขนถ่ายวัสดุ (Material Handling System)

ระบบการขนถ่ายวัสดุ (Material Handling System) คือ การจัดเตรียมสถานที่ทำงานให้มีตำแหน่งประจำของวัสดุแต่ละชนิด และการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายวัสดุเหล่านั้น เพื่อนำไปผ่านกระบวนการหรือกิจกรรมที่เพิ่มมูลค่า ทั้งนี้ต้องอำนวยความสะดวกต่อการผลิต ซึ่งการที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ต้องอาศัยทักษะและความรู้ในการสรรหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการขนถ่ายวัสดุการใช้ให้เหมาะสมกับงาน

 นอกจากความรู้และทักษะในการเลือกใช้แล้วยังต้องมีความรู้และทักษะในการออกแบบสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วย โดยองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาในการขนถ่ายวัสดุ ได้แก่ การเคลื่อนที่ (Motion) เวลาที่ต้องขนถ่าย (Time) ปริมาณในการขนถ่าย (Quantity) และเนื้อที่ที่จะใช้สำหรับอุปกรณ์ในการขนถ่าย (Space)

 


Material Handling จึงเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย วัตถุดิบ และสินค้าคงคลังในระหว่างการผลิต รวมถึงการขนย้ายตัวสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว ภายในโรงงานหรือคลังสินค้า เพื่อลดระยะทาง ปริมาณการเคลื่อนย้ายให้ได้มากที่สุด โดยแก้ไขกระบวนการที่เป็นคอขวดให้มีการไหลได้ดีขึ้น เป็นวิธีการที่จะประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นต้นทุนหนึ่งของโรงงานอุตสาหกรรม

 เนื่องจากการเคลื่อนย้ายวัสดุแต่ละครั้งสถานประกอบการต้องหาวิธีการลดจำนวนการเคลื่อนย้ายวัตถุต่าง ๆ ให้มากที่สุด เนื่องจากทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย จะมีต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายวัตถุต่าง ๆ ดังนั้นหากสามารถลดค่าใช้จ่ายในด้านนี้ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อชิ้นลดลงด้วย และยังเป็นการบริหารโซ่อุปทานของสินค้าได้ด้วย

วิธีการเคลื่อนย้ายวัสดุของโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบถึงแม้ว่า การเคลื่อนย้าย วัตถุดิบ และสินค้าคงคลังในระหว่างการผลิต รวมถึงการขนย้ายตัวสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วจะไม่ได้เป็นขั้นตอนการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าโดยตรง แต่การบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายโดยการจัดระบบการขนถ่ายวัสดุ (Material Handling System) ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่แต่ละโรงงานอุตสาหกรรมต้องหาวิธีการที่ดีที่สุด

เพราะเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีสินค้า พื้นที่การผลิต พื้นที่เก็บวัสดุ สินค้า หรือกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน ฉะนั้น การจัดระบบการขนถ่ายวัสดุจึงแตกต่างกันหรืออาจเหมือนกันได้ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ว่าเป็นวิธีไหนที่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถบริหารกิจกรรมการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมการขนถ่ายขนย้ายเนื่องจากการดำเนินการขนถ่ายอย่างไร้ประสิทธิภาพอาจก่อให้เกิดปัญหาการขนย้ายสินค้าโดยไม่จำเป็น ปัญหาสินค้าสูญหายเสียหาย ปัญหาความพอใจของลูกค้าลดลง ปัญหาความล่าช้าในการผลิต ปัญหาคนงานและเครื่องจักรถูกปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ โดยไม่ได้ทำงาน


ขอบเขตการขนย้ายวัสดุ

ในการขนย้ายวัสดุนั้นเราสามารถดำเนินการได้หลายขอบเขตซึ่งสามารถแบ่งออกได้ ดังต่อไปนี้

1.  การขนย้ายบริเวณพื้นที่ทำงาน
     การขนย้ายประเภทนี้ เป็นลักษณะของการทำงานที่ต้องการมาขนย้ายวัสดุเข้าออกในพื้นที่การทำงาน จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่มีการผลิตเกิดขึ้น อาทิ พื้นที่การประกอบสินค้า พื้นที่การผลิตชิ้นงานเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตต่อไป ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าตลอดเวลาหรือมีความถี่มากในการขนย้าย เพราะบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่จำกัด บางโรงงานไม่สามารถนำวัสดุเพื่อประกอบชิ้นงานมารวมไว้ได้มาก จะต้องทยอยการเคลื่อนย้ายวัสดุมาต่อเนื่อง เพื่อมิให้เกิดปัญหาคอขวด (Bottle Neck) ในการผลิต


2.  การขนย้ายภายในสายการผลิต
     ในกระบวนการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่อง (Continuous Process หรือ Continuous Flow Production) เป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวในปริมาณที่มากมายอย่างต่อเนื่องโดยใช้เครื่องจักรเฉพาะอย่าง ซึ่งมักจะเป็นการผลิตหรือแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขั้นตอนต่อไป เช่น การกลั่นน้ำมัน การผลิตสารเคมี การทำกระดาษ ฯลฯ ทำให้มีสถานีการผลิตหลายแห่งด้วยกัน


3.  การขนย้ายระหว่างสายการผลิต
     เมื่อกกระบวนการผลิตในโรงงานเสร็จสิ้นจนได้วัตถุดิบเพื่อใช้ประกอบในขั้นตอนต่อไป การขนส่งวัสดุก็จะเริ่มขึ้นเพื่อนำชิ้นงานไปยังกระบวนการผลิตในสายการผลิตถัดไป ทั้งนี้ การขนย้ายระหว่างสายการผลิตจะไม่ได้คำนึงถึงการขนถ่ายภายในของแต่ละสายการผลิต เช่นการขนถ่ายวัสดุจากสายการผลิตไปยังสถานประกอบการ เป็นต้น

 

 

4.  การขนย้ายระหว่างฝ่ายในโรงงาน
     โรงงานอุตสาหกรรมมักจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของทุกฝ่าย ตั้งแต่การวางแผนเริ่มการผลิตซึ่งต้องมีความเกี่ยวข้องกับลูกค้าที่ได้สั่งซื้อสินค้าของโรงงาน ฝ่ายขายซึ่งมีหน้าที่ประสานงานกับลูกค้าว่าจะเป็นลูกค้าระดับองค์กร หรือลูกค้าทั่วไปจะต้องมีหน้าที่ส่งคำสั่งซื้อรวมมาให้กับฝ่ายผลิตเพื่อที่จะวางแผนการผลิต เมื่อฝ่ายผลิตทราบปริมาณความต้องการของลูกค้าในสินค้าแล้ว

ก็จะเริ่มกระบวนการวางแผนการผลิตในโรงงานเพื่อให้สามารถทำการผลิตได้ทันตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ก่อนจะเริ่มต้นการผลิตก็ต้องมีการสั่งซื้อวัสดุ หรือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิต โดยส่งข้อมูลไปยังฝ่ายจัดซื้อเพื่อวางแผนการสั่งซื้อตามระบบของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ให้ทันตามความต้องการของฝ่ายผลิตและเริ่มการผลิตสินค้าจนเป็นสินค้าสำเร็จรูปนำสินค้าดังกล่าวมายังคลังสินค้าเพื่อรอส่งมอบให้กับฝ่ายขาย เพื่อส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าต่อไป


ฉะนั้น การดำเนินกิจกรรจะเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายในโรงงานและเกี่ยวข้องกับการขนย้ายระหว่างฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายขาย

 


5. การขนย้ายระหว่างโรงงาน  
ในการผลิตสินค้าบางชนิดในอุตสาหกรรมนั้น ได้แบ่งเป็นหลายโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า ชิ้นส่วนที่นำมาประกอบรวมเป็นสินค้าสำเร็จรูป โรงงานหนึ่งอาจทำหน้าที่ในการผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้กับอีกโรงงานเพื่อนำมาใช้ในการผลิตจนเป็นสินค้าสำรูปรูป (Finish Goods) เรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับการขนย้ายระหว่างโรงงานจนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โดยเฉพาะถ้าเป็นกรณีที่อยู่ต่างพื้นที่กัน การขนย้ายจึงเกี่ยวข้องกับการขนส่ง (Transportation) โดยตรงการจัดการระบบโลจิสติกส์จึงต้องถูกนำมาใช้ในการขนย้ายระหว่างโรงงาน ซึ่งลักษณะการขนย้ายระหว่างโรงงาน โดยโรงงานต้นน้ำ (Down Stream) ที่ทำหน้าที่ในการผลิตวัตถุดิบหรือวัสดุที่ใช้ในการผลิตจึงต้องมีแผนกที่จะขนส่งสินค้า วัตถุดิบดังกล่าว เพื่อนำไปส่งให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องนำสินค้า วัตถุดิบดังกล่าวใช้ไปผลิตต่อ ก็จะมีแผนกรับสินค้ารองรับอยู่แล้ว โดยปกติโรงงานอุตสาหกรรมมีกิจกรรมการขนย้ายการรับการส่งสินค้าหรือวัตถุดิบอยู่แล้ว

 


6.  การขนย้ายระหว่างองค์กร
เมื่อผู้ผลิตสินค้าได้ทำการผลิตสินค้าสำเร็จรูปออกมาแล้วการขนส่งและเคลื่อนย้ายสินค้าดังกล่าวจึงเกิดขึ้น หลายบริษัทได้ดำเนินการใช้บริการผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้า เพื่อตัดปัญหาเรื่องต้นทุนและการดำเนินการออกไปโดยมักใช้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเป็นผู้รับผิดชอบในการขนส่งสินค้าเพื่อส่งสินค้าไปยังลูกค้าต่อ ๆ ไป โดยการขนย้ายในระดับบริษัทที่แต่ละบริษัทก็ทำหน้าที่เพิ่มมูลค่าเพื่อผลกำไรของตนเอง 

 

 

7.  การขนย้ายในระบบการขนส่ง
การขนย้ายในระบบการขนส่งถือว่าเป็นลักษณะการขนส่งที่ครบกระบวนซัพพลายเชนของการบริหารการผลิต ที่เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบที่ได้มาจากผู้ผลิตวัตถุดิบ (Suppliers) ขนย้ายไปยังไปโรงงานผู้ผลิตสินค้า (Manufacturers) เพื่อนำมาทำการผลิตสินค้าเกิดการขนย้ายภายในโรงงานในขณะที่เริ่มต้นกระบวนการผลิต โดยเมื่อทำการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป ก็จะขนย้ายสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตไปตัวแทนจำหน่ายเพื่อนำไปจำหน่ายและกระจายให้กับผู้ค้าส่ง

และจากผู้ขายส่งไปยังผู้ค้าปลีก จากผู้ค้าปลีกไปยังสุดท้ายคือ ลูกค้าที่บริโภคสินค้า นอกจากนั้นในกระบวนการผลิต นอกจากนั้นในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตเราก็มักจะพบปัญหาการผลิตซึ่งยังมีของเสียหรือเศษวัสดุ ของเสียจากโรงงานที่ยังต้องมีการกำจัดให้หมดไปตามมาตรฐานที่ทางภาครัฐกำหนดไว้

 

 

 ระบบการเคลื่อนย้ายวัสดุ (Material Handling) 

เมื่อทราบถึงลักษณะขอบเขตการขนย้ายวัสดุสินค้าแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมเองก็ต้องหาวิธีการและการเลือกใช้ระบบการเคลื่อนย้ายซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือการขนย้ายอยู่หลายอย่างที่สามารถจัดหาและนำมาพัฒนาสร้างเป็นระบบของโรงงานอุตสาหกรรมได้ ปัจจุบันการเคลื่อนย้ายวัสดุสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้ในแต่ละประเภท ดังต่อไปนี้


1. การเคลื่อนย้ายโดยเครื่องจักร เป็นระบบการเคลื่อนย้ายวัสดุที่ได้มีการนำเอาเครื่องมือในการขนย้ายหลายชนิดเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องจักรแบบธรรมดาที่ไม่ได้มีกลไกซับซ้อนมากนัก เครื่องมือขนย้ายที่มีการใช้กันมากในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายวัสดุ ได้แก่ 

- รถยก (Forklift Truck)  เป็นเครื่องมือที่สามารถยกของและย้ายของนำไปกองได้ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่ง รถยกนี้มีหลายแบบและหลายขนาด แต่โดยทั่วไปจะมี 4 ล้อ ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า บังคับเลี้ยวด้วยล้อหลัง ยกของด้วยส้อมที่ติดอยู่ด้านหน้า และยกของขึ้นด้วยระบบไฮดรอลิก สามารถยกของได้สูงประมาณ 20 ฟุต รถยกนี้เหมาะสำหรับการเคลื่อนย้ายวัสดุระยะทางใกล้ ๆ เช่น ภายในโรงงานและต้องใช้แรงงานคนประกอบในการจัดเก็บของที่ขนย้ายด้วย ดังนั้นจึงไม่นิยมใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายที่มีระยะทางไกล และไม่ใช้กับการเคลื่อนย้ายวัสดุที่มิใช่เป็นสิ่งของที่มีรูปทรงมาตรฐาน หรือวัสดุที่ไม่มีการบรรจุภัณฑ์เพื่อการเคลื่อนย้าย  

 

 

  
- รถลากจูงประกอบรถพ่วง (Tractor-trailer) เป็นเครื่องมือที่ประกอบด้วย รถพ่วง 4 ล้อ ที่มีลักษณะคล้ายรถเข็นหรือเกวียนหลาย ๆ คันเชื่อมต่อกันที่จุดต่อ เคลื่อนที่โดยการใช้แรงคนเพียงคนเดียวหรือรถลากจูงเพียง 1 คัน ก็สามารถลากจูงรถพ่วงได้หลายคัน รถลากจูงประกอบนี้ใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายวัสดุที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสามารถขนวัสดุได้ทีละหลายชนิด

 


 - ปั้นจั่น (Crane) เป็นเครื่องจักรที่มีกำลังในตัวเอง ใช้ทำการยกสิ่งของได้ในพื้นที่จำกัดซึ่งเครื่องมือหรือเครื่องจักรประเภทอื่นเข้าไม่ถึง ปั้นจั่นมี 2 ชนิดคือ ปั้นจั่นชนิดคานยกหมุนไม่ได้และชนิดคานยกหมุนได้ ปั้นจั่นชนิดคานยกหมุนไม่ได้โดยปกติจะติดตั้งอยู่บนรถแทรกเตอร์ โดยมีคานยกยื่นออกมาเหนือล้อหน้า คานยกสามารถหันเหได้โดยการหมุนตัวของรถแทรกเตอร์ ส่วนปั้นจั่นชนิดคานยกหมุนได้จะติดตั้งอยู่บนรถ เรียกว่า รถปั้นจั่น ซึ่งคานยกที่ติดตั้งอยู่สามารถหมุนได้โดยที่ตัวรถไม่ได้หมุน 

 


-รางเลื่อน (Conveyor) เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันมากในการขนย้ายวัสดุ รางเลื่อนนี้ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับยานพาหนะใด รางเลื่อนมีหลายชนิดทั้งที่มีกำลังขับเคลื่อนและชนิดที่ไม่มีกำลังขับเคลื่อน รางเลื่อนชนิดที่มีกำลังขับเคลื่อน ได้แก่ รางเลื่อนชนิดสายพาน (Belt Conveyor) ซึ่งมีลักษณะเป็นสายพานวงรอบ ไม่มีปลายสุด ติดตั้งอยู่บนโครงเหล็กขับเคลื่อนด้วยแรงฉุดของเครื่องยนต์หรือไฟฟ้ารางเลื่อนชนิดที่ไม่มีกำลังขับเคลื่อน ได้แก่ รางเลื่อนที่หมุนโดยแรงงานคน หรือรางเลื่อนที่อาศัยแรงถ่วงของโลก เช่น รางเลื่อนชนิดใช้ล้อกลิ้ง (Wheel Conveyor) และรางเลื่อนชนิดลูกกลิ้ง (Roller Conveyor) 


    


รางเลื่อนชนิดสายพาน (Belt Conveyor)

 

 

รางเลื่อนชนิดลูกกลิ้ง (Roller Conveyor)  
      
    
   
รางเลื่อนชนิดใช้ล้อกลิ้ง (Wheel Conveyor)

 
ทั้งนี้ จากตัวอย่างเครื่องมือข้างต้นปัจจุบันได้มีผู้ผลิตเครื่องมือหลายชนิดเข้ามาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เราสามารถพบเห็นเครื่องมือต่าง ๆ มากมาย เข้ามาใช้ในกิจการ โดยการนำเครื่องจักรมากกว่าหนึ่งชนิดเข้ามาใช้ประกอบกันในการเคลื่อนย้าย เช่น Chain Conveyor/Chute Conveyor/Taper Roller Conveyor/Caster Ball Conveyor การใช้รถยกสำหรับยกของในแนวดิ่ง แล้วใช้รถลากจูงประกอบรถพ่วงในการเคลื่อนย้ายและขนส่งวัสดุในแนวนอน เป็นต้น  


2. การเคลื่อนย้ายอัตโนมัติ เป็นความพยายามที่จะใช้ความเป็นอัตโนมัติ ทดแทนการลงทุนในแรงงานคนที่มีอยู่ค่อนข้างมากในระบบการเคลื่อนย้ายโดยใช้เครื่องจักรระบบการเคลื่อนย้ายอัตโนมัตินี้ได้นำเอาเครื่องมือเครื่องจักรมาประกอบกันจนเป็นระบบการทำงาน ที่มีความซับซ้อนโดยอาศัยคอมพิวเตอร์จัดโปรแกรมควบคุมการทำงานของชุดเครื่องจักร การใช้ระบบเคลื่อนย้ายอัตโนมัติจะทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและประหยัดเวลา

 ในปัจจุบันนี้ เครื่องจักรในระบบเคลื่อนย้ายอัตโนมัติที่ใช้กันอยู่มี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเป็นระบบเคลื่อนย้ายวัสดุตามสายพานตั้งแต่เป็นวัสดุนำเข้าผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนเป็นวัสดุนำออก เช่น ระบบเคลื่อนย้ายที่ใช้ในการบรรจุน้ำอัดลม ตั้งแต่เริ่มนำขวดเปล่าเข้ามา จนกระทั่งบรรจุใส่ลังพร้อมจะส่งไปจำหน่าย เป็นต้น ส่วนชนิดที่สองเป็นระบบเคลื่อนย้ายอัตโนมัติที่จัดทำขึ้นสำหรับใช้เคลื่อนย้ายวัสดุขึ้นเก็บในที่สูง โดยเครื่องจักรจะทำงานอัตโนมัติในการเก็บของและนำของออกจากที่เก็บ 


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายเป็นจำนวนมาก โรงงานอุตสาหกรรมคงต้องหาวิธีและจัดการระบบการขนย้ายรวมทั้งการพิจารณาเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการขนย้ายวัสดุเข้ามาใช้ในองค์กร โดยไม่เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีศักยภาพต่ำกับปริมาณวัสดุ หรือสินค้าที่ต้องการขนส่งทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการขนย้าย หรือการเลือกอุปกรณ์ขนส่งที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณงานทำให้สูญเสียต้นทุน เพราะการพิจารณาใช้อุปกรณ์ช่วยในการขนถ่ายวัสดุถือเป็นการลงทุนในอุปกรณ์การขนถ่ายวัสดุนั้นไม่ได้ช่วยเพิ่มค่า (Add Value) แก่สินค้าที่ผลิตแต่อย่างใด เพียงแต่การเลือกใช้อุปกรณ์การขนถ่ายวัสดุที่เหมาะสมจะช่วยให้เกิดประโยชน์มากมาย เช่น เพิ่มความคล่องตัวและทำให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิต ช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อวัสดุในระหว่างขนถ่าย

ซึ่งทั้งนี้ จะมีผลกระทบไปสู่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และนำไปสู่การลดต้นทุนในการผลิตและผลกำไรโดยรวม จากแนวทางข้างต้นในระบบการเคลื่อนย้ายวัสดุ (Material Handling) ทั้งการเคลื่อนย้ายโดยเครื่องจักร และการเคลื่อนย้ายโดยอัตโนมัติ เราสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการขนย้ายตามลักษณะงานได้ดังต่อไปนี้


1. งานเคลื่อนย้ายบ่อย ระยะทางไม่ไกลมากนัก

ในลักษณะงานที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้งหรือต่อเนื่องขณะที่มีการผลิต และมีระยะทางในการขนย้ายที่ระยะทางไม่ไกลมากนัก การใช้รางเลื่อน (Conveyor) เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันมากในการขนย้ายวัสดุ และมีความเหมาะสมกับลักษณะการเคลื่อนย้ายลักษณะนี้ เพราะลักษณะของอุปกรณ์ง่ายต่อการทำงาน เช่น ทั้งสามารถทำงานด้วยเครื่องจักรขับเคลื่อน เช่น รางเลื่อนสายพาน หรือรางเลื่อนที่แบบใช้แรงงานคนหรือแรงงานที่ใช้แรงโน้มถ่วง ได้แก่ รางเลื่อนที่ เช่น รางเลื่อนชนิดใช้ล้อกลิ้ง (Wheel Conveyor) และรางเลื่อนชนิดลูกกลิ้ง (Roller Conveyor) สามารถใช้กับงานที่เคลื่อนย้ายได้บ่อย ๆ และต้องใช้ระยะทางไม่มาก เนื่องจากถ้ามีระยะทางไกลเกินไปจะเกี่ยวข้องกับต้นทุนของรางเลื่อนที่ต้องเพิ่มมากขึ้นตามระยะทาง การเลือกใช้รางเลื่อนกับพื้นที่ไกลเกินไปอาจไม่เหมาะสมมากนัก ต้องเลือกใช้อุปกรณ์อื่นที่เหมาะสมเข้ามาใช้แทน


2. งานเคลื่อนย้ายที่สามารถเปลี่ยนแปลงการขนย้ายได้

ในความเป็นจริงการขนย้ายในโรงงานอุตสาหกรรมจะมีลักษณะที่มีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ เพื่อความเหมาะสมกับงานและเวลาที่ใช้ การใช้ Industrial Vehicles จะมีความเหมาะสม โดยมีทั้งแบบลากจูง ใช้แรงดัน หรือขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ เช่น รถเข็น รถลากจูงแบบมีขบวนพ่วง รถยกปากส้อม ฯลฯ อุปกรณ์ประเภทนี้สามารถใช้เคลื่อนย้ายทั้งแบบหนึ่งจุดเริ่มต้น-หนึ่งจุดหมาย (Single Load) ซึ่งการขนย้ายแต่ละครั้งมีจุดเริ่มต้น และที่หมายเพียงอย่างละจุดเท่านั้น อุปกรณ์ที่ใช้อาจเป็นรถเข็น หรือรถยกปากส้อม และการเคลื่อนย้ายแบบหลายจุดเริ่มต้น-หลายจุดหมาย (Multiple Loads) ซึ่งจะมีหลายจุดเริ่มต้น และหลายจุดหมายในแต่ละครั้งของการขนย้าย เช่น อาจมีการหยิบของจากหลาย ๆ จุด ไปส่งยังหลาย ๆ ที่ โดยอุปกรณ์ในการขนย้ายได้แก่ รถลากจูงแบบมีพ่วง หรือรถเข็น

ในความเป็นจริงการขนย้ายในโรงงานอุตสาหกรรมจะมีลักษณะที่มีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ เพื่อความเหมาะสมกับงานและเวลาที่ใช้ การใช้ Industrial Vehicles จะมีความเหมาะสม โดยมีทั้งแบบลากจูง ใช้แรงดัน หรือขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ เช่น รถเข็น รถลากจูงแบบมีขบวนพ่วง รถยกปากส้อม ฯลฯ อุปกรณ์ประเภทนี้สามารถใช้เคลื่อนย้ายทั้งแบบหนึ่งจุดเริ่มต้น-หนึ่งจุดหมาย (Single Load) ซึ่งการขนย้ายแต่ละครั้งมีจุดเริ่มต้น และที่หมายเพียงอย่างละจุดเท่านั้น อุปกรณ์ที่ใช้อาจเป็นรถเข็น หรือรถยกปากส้อม และการเคลื่อนย้ายแบบหลายจุดเริ่มต้น-หลายจุดหมาย (Multiple Loads) ซึ่งจะมีหลายจุดเริ่มต้น และหลายจุดหมายในแต่ละครั้งของการขนย้าย เช่น อาจมีการหยิบของจากหลาย ๆ จุด ไปส่งยังหลาย ๆ ที่ โดยอุปกรณ์ในการขนย้ายได้แก่ รถลากจูงแบบมีพ่วง หรือรถเข็น


3. งานที่ต้องการการจัดเก็บและเรียกใช้วัสดุหลากหลายแบบ ในหิ้งจัดเก็บที่หนาแน่นมาก ๆ
    
การใช้อุปกรณ์แบบ Automated storage/retrieval systems (AS/RS) จะใช้ในการขนย้ายวัสดุ โดยการนำวัสดุไปเก็บ (Store) และนำวัสดุออกมา (Retrieve) แบบอัตโนมัติ จากที่จัดเก็บประเภทหิ้งจัดเก็บ (Storage Rack) โดยมีตำแหน่ง/บริเวณที่เครื่อง AS/RS มารับวัสดุไปจัดเก็บ (Pickup Station) และจุดที่นำวัสดุจากหิ้งจัดเก็บไปส่งเมื่อวัสดุนั้นถูกเรียกใช้ (Deposit Station) อุปกรณ์แบบ AS/RS จะมีทั้งแบบใช้ AS/RS เครื่องเดียวต่อการจัดเก็บ 1 ช่องทาง (Aisle) ใช้ AS/RS เครื่องเดียวต่อการจัดเก็บหลายช่องทาง หรือใช้ AS/RS หลายเครื่องในการจัดเก็บ 1 ช่องทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของพื้นที่
     
จัดเก็บ ความถี่ในการจัดเก็บและเรียกใช้วัสดุ โดยทั่วไปแล้วปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการจัดเก็บและเรียกใช้ของอุปกรณ์แบบ AS/RS จะพิจารณาจากลักษณะโครงสร้างของหิ้งที่ใช้จัดเก็บ ความเร็วในการเคลื่อนของอุปกรณ์ AS/RS ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ  


 4. งานที่ต้องจัดวัสดุเป็นชุด แยกออกจากกัน 
                                                                                                    
อุปกรณ์ Carousels อุปกรณ์ประเภทนี้มีลักษณะการเคลื่อนคล้ายกับประเภท Conveyor คือ เคลื่อนไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่อุปกรณ์ประเภทนี้จะหมุนวนรอบ เช่น การเคลื่อนย้ายที่มีหิ้งหรือชั้นเก็บของไปตามสายพานเป็นรอบ ลักษณะการเคลื่อนมีทั้งแบบหมุนวนในแนวราบและในแนวดิ่ง

     การใช้อุปกรณ์แบบ Automated storage/retrieval systems (AS/RS) จะใช้ในการขนย้ายวัสดุ โดยการนำวัสดุไปเก็บ (Store) และนำวัสดุออกมา (Retrieve) แบบอัตโนมัติ จากที่จัดเก็บประเภทหิ้งจัดเก็บ (Storage Rack) โดยมีตำแหน่ง/บริเวณที่เครื่อง AS/RS มารับวัสดุไปจัดเก็บ (Pickup Station) และจุดที่นำวัสดุจากหิ้งจัดเก็บไปส่งเมื่อวัสดุนั้นถูกเรียกใช้ (Deposit Station) อุปกรณ์แบบ AS/RS จะมีทั้งแบบใช้ AS/RS เครื่องเดียวต่อการจัดเก็บ 1 ช่องทาง (Aisle) ใช้ AS/RS เครื่องเดียวต่อการจัดเก็บหลายช่องทาง หรือใช้ AS/RS หลายเครื่องในการจัดเก็บ 1 ช่องทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของพื้นที่      จัดเก็บ ความถี่ในการจัดเก็บและเรียกใช้วัสดุ โดยทั่วไปแล้วปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการจัดเก็บและเรียกใช้ของอุปกรณ์แบบ AS/RS จะพิจารณาจากลักษณะโครงสร้างของหิ้งที่ใช้จัดเก็บ ความเร็วในการเคลื่อนของอุปกรณ์ AS/RS ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ                                                                                                       อุปกรณ์ Carousels อุปกรณ์ประเภทนี้มีลักษณะการเคลื่อนคล้ายกับประเภท Conveyor คือ เคลื่อนไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่อุปกรณ์ประเภทนี้จะหมุนวนรอบ เช่น การเคลื่อนย้ายที่มีหิ้งหรือชั้นเก็บของไปตามสายพานเป็นรอบ ลักษณะการเคลื่อนมีทั้งแบบหมุนวนในแนวราบและในแนวดิ่ง


5. งานที่สามารถควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ความมีประสิทธิภาพ

อุปกรณ์ Automated Guided Vehicle Systems (AGV) อุปกรณ์ประเภท AGV มีลักษณะคล้ายอุปกรณ์ประเภท Industrial Truck แตกต่างที่ AGV ถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ และถูกกำหนดเส้นทางการเดินทางที่ชัดเจน ไม่ต้องใช้คนขับ การเลือกใช้อุปกรณ์ประเภท AGV มักต้องลงทุนสูง ทั้งค่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุม การติดตั้งเส้นทางซึ่งอาจมีการฝังสายไว้ใต้พื้นตามเส้นทาง และตัวรถ AGV เอง การควบคุมอุปกรณ์ประเภท AGV สามารถควบคุมได้หลาย ๆ คันโดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเพียงชุดเดียว และ AGV แต่ละคันสามารถสื่อสารถึงกันได้ เช่น เพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันเอง หรือเพื่อป้องกันการกีดขวางการจราจร หากอีกคันยังอยู่ในจุดรับส่งวัสดุ    


6. งานจำกัดพื้นที่ ไม่ได้ทำการขนย้ายเป็นประจำ วัสดุมีขนาดรูปร่างขนาดต่างกัน
     
อุปกรณ์ประเภทปั้นจั่นและลูกรอก มีความเหมาะสมกับลักษณะงานที่มีความจำกัดสำหรับพื้นที่ในแนวราบ การขนถ่ายกระทำเป็นครั้งคราวไม่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และวัสดุที่ถูกขนถ่ายมีรูปร่างที่แตกต่างไม่แน่นอน เช่น การขนย้ายชิ้นส่วนขนาดใหญ่ในโรงงานที่มีพื้นที่ในแนวราบที่จำกัดสามารถใช้ลูกรอกติดตั้งบนเพดานเพื่อการขนย้าย ในบางครั้งอุปกรณ์ประเภทนี้สามารถใช้ในการขนย้ายวัสดุที่มีน้ำหนักมาก เช่น แม่พิมพ์ เครื่องจักร ชิ้นงานขนาดใหญ่ ฯลฯ


7. งานที่มีปริมาณมาก อยู่ที่สูง

งานชนิดนี้ควรใช้หุ่นยนต์ ที่มีการควบคุมสั่งการทำงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์อัตโนมัติสามารถทำงานได้หลายรูปแบบมีปริมาณงานจำนวนมากต่อเนื่องหรือจะเป็นงานที่อยู่ในที่ค่อนข้างสูง เช่น การเคลื่อนหรือหมุนวัสดุในการเชื่อมชิ้นส่วน

ฉะนั้น การจัดการระบบการขนถ่ายวัสดุถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในองค์กรการผลิต ถึงแม้ว่า การขนถ่ายวัสดุจะไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าก็ตาม แต่ก็มีผลต่อการบริการการผลิตของโรงงานได้เช่นกัน การจัดระบบการขนย้ายหรือการเคลื่อนย้าย วัสดุ วัตถุดิบ สินค้า ฯลฯ โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องพิจารณาให้รอบคอบในการเลือกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถลดปัญหาการหยุดกระบวนการผลิต การซ่อมบำรุง ลดต้นทุนในการผลิต และความสูญเสียในรูปแบบของพลังงานที่ใช้ระยะยาวของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ภาพรวมซัพพลายเชนขององค์กรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
   

ข้อมูลอ้างอิงใช้ประกอบการเขียน
 www.ismed.or.th, อ.สุรพงษ์ ศิริกุลวัฒนา 
 
www.poonengineering.com
 siamsafety.com
 siamsafety.com
 siamsafety.com
 siamsafety.com
 
www.siamsafty.com
 thaisafetywork.comwww.thaisaftywork.com
 
www.cssyes.com
 www.goshelving.com.au/conveyors_gravity.htm
 www.webstaff.kmutt.ac.th

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด