ข้อบังคับสมาคม

🌏   ข้อบังคับสมาคม

ข้อบังคับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี

หมวดที่ 1
ความทั่วไป
ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี อักษรย่อว่า สก.อบ. และเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า SPORTS ASSOCIATION OF UBONRACHATHANEE PROVINCE ใช้อักษรย่อว่า SAUP.


ข้อ 2. ตราเครื่องหมายของสมาคมกีฬา มีลักษณะเป็นดังนี้ อักษรภาษาไทย สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานีอยู่ด้านบน และอักษรภาษาอังกฤษ SPORTS ASSOCIATION OF UBONRACHATHANEE PROVINCE อยู่ด้านล่าง  ขั้นด้วยห่วง 3 ห่วงสีขาว เหลือง และเขียวภายในวงกลมใหญ่สองวงซ้อนกัน วงกลมเล็กในมีดอกบัว  สีชมพู ใบบัวสีเขียว บนพื้นน้ำสีน้ำเงิน


ตราเครื่องหมายของสมาคม

ข้อ 3. ที่ตั้ง สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ เลขที่ 14/1 ถนนสุริยาตร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี 34000 เปิดทำการในวันจันทร์–วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.          เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ข้อ 4. มีคำจำกัดความในข้อบังคับ ดังนี้
          สมาคม  หมายความว่า  สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี
          สมาชิก  หมายความว่า  ผู้ที่สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานีรับเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ซึ่งอาจมีชื่อเรียกต่างกัน
          คณะกรรมการบริหาร  หมายความว่า  คณะกรรมการบริหาร  สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี
กรรมการ  หมายความว่า   คณะกรรมการบริหารสมาคมที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกสมาคม  มอบหมายให้เป็นกรรมการบริหารสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี
          จ้าหน้าที่  หมายความว่า  บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกสมาคมหรือผู้ที่นายกสมาคมมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในกิจการของสมาคม
          นักกีฬา   หมายความว่า   นักกีฬาเยาวชนแห่งชาติ / นักกีฬาแห่งชาติ / กีฬาคนพิการ
          นักกีฬาเยาวชนแห่งชาติ         หมายความว่า  นักกีฬาที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี ในปีที่แข่งขัน และเป็นนักกีฬาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย สังกัดสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี
          นักกีฬาแห่งชาติ         หมายความว่า   นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแห่งชาติประจำปีและเป็นนักกีฬาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย สังกัดสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี
-๒-

ผู้ฝึกสอนกีฬา  หมายความว่า  บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี
          ผู้ตัดสินกีฬา  หมายความว่า   บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย หรือการกีฬาแห่งประเทศไทย
          สวัสดิการ    หมายความว่า    การให้ความช่วยเหลือเงิน ทรัพย์ สิน สิทธิหรือประโยชน์อื่นใดแก่ นักกีฬาและครอบครัว เพื่อการยังชีพและให้ความหมายถึงเงินค่าตอบแทน รางวัลค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษาที่ให้กับนักกีฬา ผู้ฝึกสอน


หมวดที่ 2
วัตถุประสงค์
ข้อ 5. วัตถุประสงค์ของสมาคมกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี
          5.1 ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และเผยแพร่กีฬาขั้นพื้นฐาน กีฬามวลชน กีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพของจังหวัดอุบลราชธานี
          5.2 ให้มีการจัดการแข่งขันกีฬา
          5.3 ส่งเสริมและช่วยเหลือสมาชิก
          5.4 ให้สวัสดิการแก่นักกีฬาและครอบครัว ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสมาคม
          5.5 ให้การสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์และอื่นๆ แก่สมาชิกของสมาคมเพื่อดำเนินกิจกรรมทางด้านกีฬา
          5.6 เป็นศูนย์กลางในการสร้างและสรรหานักกีฬาที่มีความสามารถเพื่อเป็นตัวแทนของจังหวัดและประเทศชาติตามนโยบายคณะกรรมการกีฬาจังหวัด ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย           พ.ศ. 2558

5.7 เป็นศูนย์กลางในการประสานงานความร่วมมือกับจังหวัดและร่วมมือกับการกีฬาประเทศหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ในการประสานงาน กำกับ และดูแลเกี่ยวกับกีฬาของจังหวัด เป็นสมาชิกของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
          5.8 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรกีฬาของจังหวัด ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2528 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน กำกับ และดูแลเกี่ยวกับกีฬาของจังหวัด เป็นสมาชิกของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
          5.9 ไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง
          5.10 ไม่จัดตั้งโต๊ะบิลเลียด





-๓-

หมวดที่ 3
สมาชิก
ข้อ 6. สมาชิกของสมาคมมี 2 ประเภท คือ
          6.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
          6.2 สมาชิกสามัญ ได้แก่ ชมรมกีฬา สโมสร สมาคม บริษัท ห้างร้าน นิติบุคคล มูลนิธิ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษาบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา

ข้อ 7 . สมาชิกต้องประกอบด้วยคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
          7.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ เว้นแต่สมาชิกวิสามัญ
          7.2 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
          7.3 มีคุณสมบัติ หรือประสบการณ์เหมาะสมกับการดำเนินการเกี่ยวกับกีฬา หรือการส่งเสริมกีฬาภายในขอบเขตวัตถุประสงค์ของสมาคม และมีความประพฤติเรียบร้อย
          7.4 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
          7.5 ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
          7.6 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่โทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
          7.7 หากสมาชิกเป็นนิติบุคคล ต้องเป็นนิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย
          7.8 ไม่เป็นผู้ที่คณะกรรมการของสมาคม มีมติลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก หรือคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยมีมติเห็นสมควรให้พ้นจากสมาชิกของสมาคม อันเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบของสมาคมที่นำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม หรือประพฤติตนเป็นปรปักษ์ต่อสมาคม

ข้อ 8. ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี
          8.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น
          8.2 สมาชิกสามัญ จะต้องเสียค่าลงทะเบียน ครั้งแรก 100 บาท ค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีๆ        ละ 100 บาท

ข้อ 9. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๑ คนและให้เลขาธิการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15  วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคม จะได้คัดค้านการสมัครนั้นเมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขาธิการนำใบสมัคร และหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

-๔-

กรณีสมาชิกสามัญ ได้แก่ชมรมกีฬาฯ ในการยื่นใบสมัครต้องแนบเอกสารระเบียบข้อบังคับของชมรมฯ พร้อมรายชื่อคณะกรรมการบริหารชมรมฯ ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ และเมื่อมีมติรับเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ให้นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชมรมกีฬาฯ นั้น

ข้อ 10. ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม ในจำนวนเงินปีละ 100 บาท ให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการและสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายในกำหนดก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิกและให้ถือวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปี เป็นวันที่สมาชิกต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี

ข้อ 11. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีหนังสือตอบรับหนังสือเชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ 12. การสิ้นสุดสมาชิกภาพ
          12.1 ตาย
          12.2 ลาออกโดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม และคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาอนุมัติให้ลาออก
          12.3 ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกตาม ข้อ 7
          12.4 คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติด้วยเสียงข้างมากให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกด้วยเหตุ ประพฤติตนนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม หรือประพฤติตนเป็นปรปักษ์กับสมาคม
          12.5 ไม่ชำระเงินค่าบำรุงสมาคม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรซึ่งเหรัญญิกได้มีหนังสือทวงถามแล้ว
          12.6 สมาชิกที่เป็นนิติบุคคล สิ้นสุดการดำเนินงานตามที่กฎหมายกำหนด

ข้อ 13. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
          13.1 มีสิทธิเข้าในสถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
          13.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
          13.3 มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
          13.4 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
          13.5 สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละหนึ่งคะแนนเสียง ทั้งนี้สมาชิกสามัญที่มีสิทธิออกเสียงได้ต้องเป็นสมาชิกภาพก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 60 วัน
          13.6 มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
-๕-
         
13.7 มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อยหนึ่งในสามของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
13.8 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
          13.9 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเป็นเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
          13.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม
          13.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
          13.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
          13.13 มีหน้าที่ป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่สมาคม
          13.14 มีหน้าที่ต้องแจ้งรายชื่อและสถานที่ตั้งของสมาชิกที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้สมาคมทราบเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้งภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ เพื่อที่สมาคมจะแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นให้การกีฬาแห่งประเทศไทยทราบต่อไป


หมวดที่ 4
การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อที่ 14. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารและดำเนินงานของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย    9 คน อย่างมากไม่เกิน 19 คนโดยนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯในตำแหน่งต่างๆ  ดังต่อไปนี้
14.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม
          14.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจกรรมสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่นายกสมาคมมอบหมาย และทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่ของนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
          14.3 เลขาธิการ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม
          14.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคมเป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย บัญชี งบดลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
          14.5 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิก  ในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
          14.6 ปฏิคม มีหน้าที่ในการต้อนรับแขกของสมาคมเป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม

-๖-
         
14.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
14.8 กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสมซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดไห้มีขึ้นโดยจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินข้อบังคับสมาคมข้อ 14 วรรค 1 ได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

ข้อ 15. กรรมการของสมาคมจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
          15.1 มีสัญชาติไทย
15.2 มีคุณสมบัติหรือประสบการณ์เหมาะสมกับการดำเนินกิจการเกี่ยวกับกีฬาหรือส่งเสริมกีฬาภายในกรอบวัตถุประสงค์ของสมาคม
          15.3 ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
          15.4 ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
          15.5 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกหรือพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
          15.6 ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกนายกสมาคมฯ ปลดออกจากการเป็นกรรมการบริหารสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี หรือคณะกรรมการกีฬาแห่งประเทศไทย มีความเห็นสมควรให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการของสมาคมอันเกิดมาจากไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ หรือการกระทำใดๆที่มีความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม

ข้อ 16. คณะกรรมการบริหารได้มาจากวิธีการ ดังต่อไปนี้
นายกสมาคมต้องมาจากการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งให้ถือปฏิบัติโดยที่ประชุมเลือกตั้งประธานชั่วคราวมีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและสมาชิกที่ถูกต้องและมีสิทธิ์ลงคะแนนโดยผ่านนายทะเบียนให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งนายกสมาคมโดยสมาชิกสมาคมในที่ประชุมเป็นผู้เสนอชื่อที่จะเข้ารับเลือกเป็นนายกสมาคมและสมาชิกรับรองอย่างน้อย 5 คน ซึ่งผู้ถูกเสนอชื่อจะอยู่ในที่ประชุมหรือไม่ก็ได้ แต่บุคคลถูกเสนอชื่อหากไม่อยู่ในที่ประชุมจะต้องมีหนังสือตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษร การเลือกตั้งโดยวิธีเปิดเผยหรือวิธีอื่นตามมติส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนและให้ถือว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมและนายกสมาคม ดำเนินการสรรหากรรมการตามกำหนด

ข้อ 17. คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ4ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่า และคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ




-๗-

ข้อ 18. ถ้าตำแหน่งกรรมการสมาคมต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้นายกสมาคมฯ แต่งตั้งสมาชิกคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควร ให้ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น การแต่งตั้งคณะกรรมการของสมาคมขึ้นใหม่ทั้งชุดหรือ การเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคมให้กระทำตามข้อบังคับของสมาคม และสมาคมต้องนำไปจดทะเบียนต่อนาย
ทะเบียนสมาคมฯ ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ภายใน 30 วัน นับแต่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม และต้องแจ้งให้การกีฬาแห่งประเทศไทยทราบพร้อมแนบหลักฐานภายใน 7 วัน นับแต่นายทะเบียนรับจดทะเบียน

ข้อ 19. กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
          19.1 ตาย
          19.2 ลาออก
          19.3 ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับและตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
          19.4 นายกสมาคมมีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่ง
          19.5 เป็นผู้มีความประพฤติ และปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสียและคณะกรรมการสมาคมมีมติให้ออก   โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการของสมาคม
          19.6 ขาดการประชุมคณะกรรมการบริหารติดต่อกัน 3 ครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ข้อ 20. กรรมการบริหารคนใดประสงค์จะลาออกจากการเป็นกรรมการบริหาร ให้ยื่นใบลาออกต่อนายกสมาคม และให้นายกสมาคมฯ แจ้งต่อต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อทราบ

ข้อ 21. คณะกรรมการบริหารมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
21.1 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคมเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ให้มีอำนาจตั้งชมรมกีฬาที่ขึ้นต่อสมาคม
          21.2 มีอำนาจในการออก กฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศเพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศที่ออกมาต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับของสมาคม
          21.3 มีอำนาจจัดสรรงบประมาณ อุปกรณ์ และอื่นๆ ให้แก่สมาชิกของสมาคมเพื่อดำเนินกิจการของสมาคม
          21.4 มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ช่วยปฏิบัติงานในกิจการของสมาคมโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือค่าป่วยการตามที่เห็นสมควร และมีอำนาจถอดถอนเจ้าหน้าที่
          21.5 มีอำนาจลงโทษ ลบชื่อสมาชิกออกจากสมาคม เนื่องสมาชิกนั้นประพฤติตนในทางที่เสื่อมเสียมาสู่สมาคม
          21.6 มีอำนาจลงโทษเจ้าหน้าที่ นักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน/ผู้ชี้ขาด ที่ฝ่าฝืนหรือละเมิดประกาศข้อบังคับระเบียบ คำสั่งของสมาคมจนทำให้เกิดความเสียหายแก่สมาคมและประเทศชาติ
          21.7 รักษาระเบียบ ข้อบังคับของสมาคมกีฬาให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
         
-๘-

21.8 แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นการแต่งตั้งชั่วคราวหรือเพื่อให้ปฏิบัติกิจการงานใดงานหนึ่งจนสำเร็จก็ได้ แต่จะต้องไม่เกินวาระของคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้ง
21.9 มีหน้าที่จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารเดือนละ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อยเพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
          21.10 แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของสมาคม
          21.11 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือประชุมใหญ่วิสามัญ
          21.12 รับผิดชอบในการบริหารกิจการของสมาคม รวมทั้งสมาคมและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
          21.13 มีหน้าที่จัดทำเอกสาร และเก็บเอกสารที่เกี่ยวกับการบริหารทะเบียนสมาชิกของสมาคม    ซึ่งพร้อมที่จะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อรับการร้องขอ
21.14 มีหน้าที่จัดทำบันทึกรายงานการประชุมต่างๆ ของสมาคมเพื่อจัดส่งให้กรรมการบริหาร สมาชิกและหน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี ซึ่งเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว พร้อมทั้งจะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานต่อไปด้วย
          21.15 มีหน้าที่จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ตามคำร้องขอของสมาชิกตามข้อ 12.7 ซึ่งจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือร้องขอ
          21.16 มีหน้าที่อื่นๆ ตามข้อบังคับกำหนดไว้

ข้อ 22. สมาคมต้องดำเนินการให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารเดือนละ ๑ ครั้งเป็นอย่างน้อย เพื่อพิจารณาวาระเรื่องการบริหารสมาคม การกำหนดวันประชุมให้นายกสมาคมเป็นผู้กำหนดและให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดการประชุมให้กรรมการบริหารได้ทราบโดยแจ้งเป็นหนังสือพร้อมระเบียบวาระการประชุมและปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานสมาคมไม่น้อยกว่า 7 วัน

ข้อ 23. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงถือว่าครบองค์ประชุมมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 24. ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร หากนายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งซึ่งอยู่ในที่ประชุมนั้นทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น








-๙-

หมวดที่ ๕
การประชุมใหญ่

ข้อ ๒๕ การประชุมของสมาคมมี ๒ ประเภท คือ
          ๒๕.๑ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี
          ๒๕.๒ การประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ ๒๖ คณะกรรมการบริหารต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในเดือนมีนาคมของทุกปี    โดยมีระเบียบวาระเรื่องการประชุมที่สำคัญอย่างน้อย ดังนี้
          ๒๖.๑ เสนอแผนงาน/ โครงการประจำปี
          ๒๖.๒ รับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของปีที่ผ่านมา
          ๒๖.๓ รายงานผลการปฏิบัติงานของสมาคมกีฬาในรอบปีที่ผ่านมา
          ๒๖.๔ รายงานบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชี งบดุลของปีที่ผ่านมาโดยผ่านการตรวจสอบบัญชี                      ที่ได้รับอนุญาตและเสนอให้ที่ประชุมใหญ่รับรอง
          ๒๖.๕ เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เมื่อครบกำหนดตามวาระ
          ๒๖.๖ แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี
          ๒๖.๗ เปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อบังคับของสมาคม
          ๒๖.๘ พิจารณาลบชื่อสมาชิกจากทะเบียนสมาคม เนื่องจากสมาชิกนั้นประพฤติไปในทางเสื่อมเสียมาสู่สมาคมหรือประเทศชาติ
          ๒๖.๙ เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี) ตามที่ปรากฏในระเบียบวาระการประชุม

ข้อ ๒๗ การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุคณะกรรมการ เห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดจะทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการของสมาคมให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใดเมื่อคณะกรรมการของสมาคมได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ                         โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

ข้อ ๒๘. การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ ให้เลขาธิการสมาคมเป็นผู้แจ้งให้สมาชิกและการกีฬาแห่ง    ประเทศไทยได้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมระเบียบวาระการประชุมและรายละเอียดตามสมควร โดยระบุ       วัน  เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน ทั้งนี้ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่







-๑๐-

ข้อ ๒๙. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุม                 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิก           เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกพอสมควรและต้องประกาศการขยายเวลา              ให้ทราบทั่วกันในขณะนั้น แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยายออกไปแล้ว ยังมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ครบ     องค์ประชุมก็งดการประชุมและให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นออกไป และให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายใน 14 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบ           องค์ประชุม

ข้อ ๓๐ การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๓๑ สมาชิกจะมอบอำนาจให้สมาชิกผู้ใดเข้ามาประชุม และออกเสียงลงคะแนนแทนตนก็ได้                 โดยรับมอบแทนได้คนละ ๑ เสียง พร้อมมีหนังสือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ ๓๒ ในการประชุมใหญ่ของสมาคมถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคม ไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น


หมวดที่ ๖
การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ ๓๓ สมาคมมีอำนาจกระทำกิจกรรมต่างๆภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ ตามข้อบังคับหมวดที่ ๒             ข้อ ๕ และอำนาจเช่นนี้ รวมถึง
          ๓๓.๑ ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพย์สินต่างๆจากการสร้าง ซื้อ จัดหา                  แลกเปลี่ยน โอนหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินตลอดจนทรัพย์สิน ที่มีผู้อุทิศให้      
                 เพื่อประโยชน์แก่กิจการของสมาคม
          ๓๓.๒ รายได้ของสมาคม ประกอบด้วย
              ๓๓.๒.๑ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
              ๓๓.๒.๒ รายได้จากทรัพย์สินของสมาคม
              ๒๓.๒.๓ เงินอุดหนุนจากจังหวัด หรือ การกีฬาแห่งประเทศไทย
              ๒๓.๒.๔ รายได้จากการจัดการแข่งขันกีฬา
              ๒๓.๒.๕ รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
              ๒๓.๒.๖ ค่าบำรุงจากสมาชิก
              ๒๓.๒.๗ รายได้อื่นๆ

ข้อ ๓๔ การเงินและทรัพย์สินทั้งหมด ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารของสมาคม                   ถ้ามีเงิน (เงินสด) เงินของสมาคมให้นำฝากไว้ในธนาคารพาณิชย์ที่คณะกรรมการเห็นสมควรในนาม           ของสมาคม
-๑๑-

ข้อ ๓๕ ผู้มีอำนาจการลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม ต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม                 หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคมร่วมกับเหรัญญิกหรือเลขาธิการสมาคมพร้อมกับประทับตรา            ของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ ๓๖ ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคม ได้ครั้งละไม่เกิน ..๑๕๐,๐๐๐... บาท                         (...หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท...) และเสนอให้กรรมการทราบในการประชุมคราวถัดไป ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องเสนอให้กรรมการทราบ และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้จ่ายได้ ครั้งละไม่เกิน ...๕๐๐,๐๐๐.....บาท                         (.ห้าแสนบาท...) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายมากกว่านี้ จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ ๓๗ ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินของสมาคม  ไว้ได้ไม่เกิน ..๓๐,๐๐๐..บาท (..สามหมื่นบาท...)          ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวย

ข้อ ๓๘ เหรัญญิกต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือ             การจ่ายทุกครั้ง ต้องจัดทำหลักฐานการรับและจ่ายเงิน  และให้เหรัญญิกเก็บไว้โดยครบถ้วน เพื่อการตรวจสอบไม่น้อยกว่า ๕ ปี จึงทำลายได้ การทำลายเอกสารดังกล่าวนี้ ต้องขออนุมัติ ต่อคณะกรรมการบริหารก่อน จึงดำเนินการได้สำหรับหลักฐานการรับเงินค่าบำรุงสมาชิกให้นายทะเบียนเป็นผู้เก็บรักษาและทำลายโดยให้ถือปฏิบัติตามความในวรรคแรก การบัญชีตามปกติให้แยกประเภท ดังนี้
          ๓๘.๑ ประเภทรายได้ทั่วไป
          ๓๘.๒ ประเภทเงินค่าบำรุงสมาชิก

ข้อ ๓๙ ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมต้องเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ ๔๐ ผู้ตรวจสอบบัญชีมีอำนาจเรียกเอกสาร ที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการ                    และสามารถเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ ๔๑ คณะกรรมการต้องให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจสอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ ๗
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคมฯ


ข้อ ๔๒  ข้อบังคับสมาคมนี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด มติในการแก้ไขข้อบังคับสมาคม ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุม  และสมาคมต้องนำข้อบังคับที่แก้ไขเพิ่มเติมไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ภายใน 14 วัน นับแต่วันลงมติ เมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียนแล้วจึงมีผลใช้บังคับได้ และให้สมาคมแจ้งหลักฐานใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนการแก้ไขเพิ่มเติม (สค.๕) ให้การกีฬาแห่งประเทศไทยภายใน 7 วัน



-๑๒-

ข้อ ๔๓ สมาคมนี้ย่อมเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมเท่านั้น ยกเว้นเป็นการเลิกด้วยเหตุผลของกฎหมาย      มติของที่ประชุมเป็นใหญ่ในการเลิก สมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกสามัญ                ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมดและองค์ประชุมจะต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด

ข้อ ๔๔ หากสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตามเมื่อชำระ บัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วหากมีเงินสด และ/หรือทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดก็ให้ตกเป็นของ........เพื่อให้เป็นประโยชน์ในด้านการส่งเสริมกีฬาของจังหวัดอุบลราชธานี


หมวดที่ 
บทเฉพาะกาล


ข้อ ๔๕ ข้อบังคับใดที่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ถือเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๔๖ ให้คณะกรรมการชุดปัจจุบันอยู่ดำรงตำแหน่งจนถึงครบวาระ
         
          ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตร ๘๔  แห่ง  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน 


ประกาศณวันที่    เดือน กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๖๐



ลงชื่อ..................................................
  (นายพงษ์ศักดิ์    มูลสาร)
นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี