สื่อประกอบการเรียน วิชาเครื่องมือวัดไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรียบเรียงโดย: อ.รัชวิทย์ เมธีโชติเศรษฐ์ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง
มัลติมิเตอร์

     มัลติมิเตอร์ (Multimeter) เป็นมิเตอร์ที่มีโครงสร้างมาจากมิเตอร์มูฟเมนต์เหมือนกันใช้สภาวะการทำงาน เมื่อมีกระแสไหลผ่านมิเตอร์มูฟเมนต์เหมือนกัน ส่วนที่แตกต่าง กันของมิเตอร์เหล่านี้ คือ วงจรเบื้องต้นที่ถูกนำมาใช้ต่อเข้ากับส่วนเคลื่อนไหวของมิเตอร์มูฟเมนต์ หากนำเอาวงจรเบื้องต้นของมิเตอร์เหล่านั้นมารวมสร้างไว้ด้วยกัน มิเตอร์เหล่านี้ จะถูกเรียกรวมกันว่ามัลติมิเตอร์ (Multimeter) หรือ VOM (Volt – Ohm – Milliammeter) รูปร่างของมัลติมิเตอร์ แสดงดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 แสดงมัลติมิเตอร์

     จากรูปที่ 1 เป็นมัลติมิเตอร์แบบมาตรฐานที่ถูกผลิตขึ้นมาจำหน่าย เพื่อการใช้งานทั่วไป ภายในตัวมัลติมิเตอร์สามารถใช้เป็นมิเตอร์ได้ 4 ชนิด คือ ดีซีโวลต์มิเตอร์ (DCV) เอซีโวลต์มิเตอร์ (ACV) ดีซีมิลลิแอมมิเตอร์ (DCmA) และโอห์มมิเตอร์ () นอกจากนี้ยังสามารถนำไปวัดค่าปริมาณไฟฟ้าอื่น ๆ ได้อีกหลายอย่าง เช่น วัดความดังของสัญญาณ เสียงเป็นต้น

การเลือกใช้งานมัลติมิเตอร์
     มัลติมิเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้งานมากหลายชนิด หลายลักษณะและหลายบริษัทผู้ผลิตทำให้มีรุ่นของมัลติมิเตอร์ถูกผลิตออกจำหน่ายมากมาย แต่ละรุ่นแต่ละแบบอาจมี รายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไปมัลติมิเตอร์บางรุ่นถูกสร้างให้สามารถวัดค่าปริมาณไฟฟ้าบางชนิดได้เป็นพิเศษกว่าปกติ เช่น วัดแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงและแรงดันไฟฟ้า กระแสสลับได้ต่ำเป็นพิเศษ บางรุ่นอาจจะวัดกระแสไฟฟ้าได้สูงเป็นพิเศษได้อีกด้วย
     การที่มัลติมิเตอร์แต่ละรุ่นมีคุณสมบัติแตกต่างกันย่อมมีผลต่อราคาที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น การเลือกซื้อและเลือกใช้งานต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับงานที่จะนำมัลติมิเตอร์ ไปใช้

ส่วนประกอบของมัลติมิเตอร์
     มัลติมิเตอร์แต่ละรุ่นแต่ละแบบแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันไปในส่วนความละเอียดของเครื่องบ้าง แต่การใช้งานการวัดค่าการอ่านค่าจะไม่แตกต่างกัน ดังนั้น การทำความ เข้าใจในการใช้งานมัลติมิเตอร์เพียงรุ่นใดรุ่นหนึ่งก็สามารถนำหลักการไปใช้งานได้กับมัลติมิเตอร์รุ่นอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

ส่วนประกอบของสเกลหน้าปัดมัลติมิเตอร์
     สเกลหน้าปัดของมัลติมิเตอร์แต่ละรุ่นแต่ละแบบและแต่ละบริษัท มีความแตกต่างทั้งส่วนตำแหน่งสเกลตัวเลขกำกับบนค่าสเกล ระยะความห่างของสเกล และปริมาณไฟฟ้า ที่แสดงค่าไว้บนสเกล แต่การวัดค่าการอ่านค่าต้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น การศึกษาทำความเข้าใจลักษณะสเกลหน้าปัดของมัลติมิเตอร์เพียงรุ่นเดียวก็สามารถนำไป ประยุกต์ใช้งานได้ กับสเกลหน้าปัดของมัลติมิเตอร์ทุกรุ่นได้สเกลหน้าปัดของมัลติมิเตอร์ แสดงดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 สเกลหน้าปัดของมัลติมิเตอร์

จากรูปที่ 2 สเกลหน้าปัดของมัลติมิเตอร์ ประกอบด้วยสเกล ตามหมายเลข ดังนี้

หมายเลข 1 สเกล เป็นสเกลสำหรับอ่านเมื่อใช้วัดค่าความต้านทาน
หมายเลข 2 สเกล DCV , A เป็นสเกลสำหรับอ่านค่า เมื่อใช้ย่านการวัดแรงดันกระแสตรง และย่านการวัดกระแสตรง
หมายเลข 3 สเกล ACV เป็นสเกลสำหรับอ่านค่า เมื่อใช้ย่านการวัดแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับ
หมายเลข 4 สเกล hfe เป็นสเกลสำหรับอ่านค่าเมื่อใช้วัดค่าอัตราการขยายกระแสตรง
หมายเลข 5 สเกล ICEO และLI (A , mA) เป็นสเกลสำหรับอ่านค่า เมื่อใช้วัด ICEO ของทรานซิสเตอร์และค่า LI
หมายเลข 6 สเกล LV (V) เป็นสเกลสำหรับอ่านค่า เมื่อใช้วัดค่าแรงดันตกคร่อมจุดวัดขณะใช้ย่านวัดความต้านทาน
หมายเลข 7 สเกล dB เป็นสเกลสำหรับอ่านค่า เมื่อใช้วัดค่าเดซิเบล
หมายเลข 8 เป็นแถบเงาสำหรับช่วยในการอ่านค่าให้เที่ยงตรงย่านการวัดและสวิตช์เลือก

สวิตช์เลือก
     สวิตช์เลือกของมัลติมิเตอร์แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สวิตช์เลือกกระแสตรง และสวิตช์เลือกกระแสสลับ สวิตช์เลือกกระแสตรงเป็นสวิตช์เลือกหมวดการวัดค่ากระแสและแรงดัน ประเภทกระแสตรง สวิตช์เลือกกระแสสลับเป็นสวิตช์เลือกหมวดการวัดค่ากระแส และแรงดันไฟฟ้าประเภทกระแสสลับ

ย่านการวัด
     สวิตช์เลือกย่านการวัดเป็นสวิตช์เลือกการวัดทางไฟฟ้าในแต่ละชนิดดังแสดงในรูปที่ 3



รูปที่ 3 สวิตช์เลือกย่านการวัดของมัลติมิเตอร์

สวิตช์เลือกย่านวัดประกอบด้วยย่านการวัด ดังนี้

ก. ย่านการวัดค่าความต้านทาน คือ R x 1 , R x 100 , R x 10k
ข. ย่านการวัดค่ากระแส คือ ย่าน 1 mA , 10 mA , 100 mA , 500 mA
ค. ย่านการวัดแรงดันไฟฟ้า 2.5 V., 10 V., 50 V., 250 V., 500 V. ใช้ร่วมกับสวิตช์เลือก AC , DC เพื่อเลือกแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงหรือแรงดันไฟฟ้า    กระแสสลับ

ปุ่มปรับศูนย์โอห์ม
     เป็นปุ่มปรับที่ปรับให้เข็มของมัลติมิเตอร์อยู่ที่ศูนย์โอห์ม เพื่อทำการวัดค่าความต้านทาน และปุ่มนี้ต้องทำการปรับให้อยู่ที่ศูนย์โอห์มทุกครั้งที่มีการเปลี่ยน ย่านการวัด
R x 1 , R x 100 , R x 10k

การนำมัลติมิเตอร์ไปวัดไดโอด
(นักเรียนมีพื้นฐานความรู้เรื่องไดโอดมาจากวิชาอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้นมาแล้ว)
     การนำมัลติมิเตอร์ไปวัดไดโอดนั้น จะต้องตั้งย่านการวัดที่ย่านการวัดค่าความต้านทานหรือโอห์มมิเตอร์ ไดโอดเป็นอุปกรณ์จำพวกสารกึ่งตัวนำ ประกอบด้วย สารกึ่งตัวนำ
2 ชนิด คือ สารชนิด P และสารชนิด N ต่อชนกันการทำงานของไดโอดมี 2 สภาวะ คือ การจัดไบอัส (Bias) ซึ่งมีอยู่ 2 สภาวะ คือ การให้ไบอัสตรงและไบอัสกลับ ไบอัสตรง
ไดโอดนำกระแสเสมือนเป็นการต่อสวิตช์ และไบอัสกลับไดโอดจะไม่นำกระแสเสมือนไดโอดเป็นสวิตช์ขณะตัด (Off) จากคุณสมบัติดังกล่าว เมื่อนำไดโอดไปวัด ด้วยโอห์มมิเตอร์ สภาวะการทำงานของไดโอดจะเหมือนกับสวิตช์ เมื่อไบอัสตรงไดโอด นำกระแสโอห์มมิเตอร์จะมีค่าความต้านทานต่ำ เมื่อไบอัสกลับไดโอดไม่นำกระแส โอห์มมิเตอร์จะวัดได้ค่า ความต้านทานสูง การนำโอห์มมิเตอร์ไปวัดไดโอดแสดงดังรูปที่ 4


รูปที่ 4 การใช้มัลติมิเตอร์ย่านการวัดโอห์มมิเตอร์วัดไดโอด

     จากรูปที่ 4 เป็นการตรวจวัดไดโอดด้วยโอห์มมิเตอร์ย่านของโอห์มมิเตอร์ที่ใช้ในการวัดถ้าเป็นการจ่ายไบอัสตรงเข็มโอห์มมิเตอร์จะอยู่ทางด้านขวามือ (เข็มขึ้น) และขณะจ่าย ไบอัสกลับเข็มของโอห์มมิเตอร์จะไม่ขึ้น จากการวัดดังกล่าว แสดงว่าไดโอดอยู่ในสภาพดี

  ดาวน์โหลด (Download)
ผู้เรียบเรียง: อ.รัชวิทย์ เมธีโชติเศรษฐ

วิทยาลัยเทคนิคลำปาง เลขที่ 15 ถ.ท่าคราวน้อย ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ. ลำปาง 52100
โทร 0-5422-3006 โทรสาร 0-5422-4426 E - mail : [email protected]