เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 นางสาวอรพินทร์  เพชรทัต  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงาน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ของสถานศึกษาภาครัฐ และเอกชน ในสังกัดอาชีวศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช (อศจ.นครศรีธรรมราช) โดยมี เรืออากาศโท สมพร  ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา(กอศ.) นายประชา  ฤทธิผล  ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช  นายไชยเชษฐ์  ย้อยยางทอง  ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช และคณะ  ผู้บริหารสถานศึกษาภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม  การรายงานผลการปฏิบัติงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.)

นางสาวอรพินทร์ กล่าวว่า จากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในโครงการพาน้องกลับมาเรียน กระทรวงศึกษาธิการ มีความพยายามในการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้เรียน ที่หลุดจากระบบการศึกษาจากสาเหตุ หรือปัจจัยทางเศรษฐกิจ และหนึ่งในสาเหตุที่เด็กหลุดจากระบบและควรติดตามคือกลุ่มเด็กติดเกมส์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็มีแนวทางที่จะส่งเสริมดำเนินการในลักษณะของการสร้างอาชีพ ให้เข้าสู่การเป็นกีฬา ESports ด้านการดำเนินการในโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ สถานศึกษาอาชีวะก็มีความพร้อมในการรองรับผู้เรียน ด้านสถานศึกษาปลอดภัย ให้บูรณาการลูกเสือจิตอาสาดูแลความปลอดภัยหน้าสถานศึกษา ทางข้ามม้าลาย ให้มีการจัดตั้งกรวยสร้างสัญลักษณ์ แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึงการให้ข้อมูลด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูแก่ครูและบุคลากรอาชีวศึกษา

เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ยังได้กล่าวชื่นชมศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยียานยนต์ ที่ อศจ.นครศรีธรรมราช เริ่มขับเคลื่อนรองรับ มาตั้งแต่ปี 2563  และมีผู้เรียนในสาขางานยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อพัฒนาและผลิตกำลังคนให้มีสมรรถนะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ เพื่อปรับ Mindset ให้กับผู้ปกครอง และประชาชนในการเรียนอาชีวศึกษา โดยเบื้องต้นสามารถเริ่มจาก “ห้องเรียนอาชีพ” ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning

ด้านเรืออากาศโทสมพร  กล่าวระหว่าง นำเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ เข้าเยี่ยมชมศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management (CVM)  ด้านพาณิชย์นาวีที่ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช ว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช มีจุดประสงค์ในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  โดยการปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้  ให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ  และสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 9001-2010  และมาตรฐาน STCW 2010 ซึ่งวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช  ได้รับการรับรองมาตรฐานการบริหารงานคุณภาพ ISO 9001-2015 จากบริษัท  Global group จำกัด  และได้รับรองหลักสูตรจากกองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนายประจำเรือฝ่ายช่างกล หลักสูตรต้นกลและรองต้นกล และหลักสูตรฝึกอบรมพื้นฐานคนประจำเรือ แล้ว

นายไชยเชษฐ์  ย้อยยางทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการต่อเรือนครศรีธรรมราช กล่าวว่า วิทยาลัยได้นำหลักสูตรของ สอศ. มาบูรณาการให้สอดคล้องเหมาะสมกับหลักสูตร IMO Model Course  ซึ่งเป็นหลักสูตรมาตรฐานสากล  นักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรดังกล่าวมาแล้ว เมื่อจบหลักสูตร จะได้รับประกาศนียบัตร 2 ใบ
คือ ที่ออกให้โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ ที่ออกโดยกรมเจ้าท่า  ซึ่งนักศึกษาสามารถนำประกาศนียบัตรเข้าทำงานบนเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments